โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้จ้างนายเจียร มีแก้ว เป็นลูกจ้างทำงานในหน้าที่ซ่อมเครื่องมือกล ต่อมาวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๓ โจทก์สั่งให้นายเพียรไปซ่อมรถบดดินของโจทก์ นายเจียรนั่งรถยนต์คันหนึ่งไปเพื่อซ่อมรถบดดินนั้น รถยนต์เสียระหว่างทาง จึงหยุดซ่อม เมื่อแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ผู้แทนโจทก์บอกให้นายเจียรไปซ่อมรถบดดิน นายเจียรไม่ยอมไปแล้วกลับบ้านเสีย วันรุ่งขึ้นก็ไม่ไปทำการซ่อม ทั้งไม่รายงานให้ทราบ เป็นความผิดฐานชัดคำสั่งโจทก์โดยจงใจ และทิ้งหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงสั่งเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ และไม่จ่ายเงินค่าล่วงเวลาวันอาทิตย์ เพราะนายเจียรตกลงกับโจทก์ว่า จะทำงานวันอาทิตย์ชดเชยวันที่นายเจียรขาดงาน นายเจียรได้ร้องต่อจำเลย จำเลยสั่งให้โจทก์จ่ายเงินให้นายเจียร ๒,๒๔๐ บาท อันเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอน
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องกรมแรงงาน คำสั่งของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ขอให้เรียกกระทรวงมหาดไทย และนายรังสฤษฎ์เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลอนุญาต
จำเลยร่วมทั้งสองให้การต่อสู้มีสารสำคัญเช่นเดียวกับจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อได้รับคำสั่งแล้วนายเจียรได้ไปกับนายชนินท์ทันทีและโดยดีในรถยนต์คันเดียวกัน เมื่อรถยนต์เกิดเสียซึ่งไม่ใช่เพราะความผิดของนายเจียร นายเจียรก็ช่วยแก้ไขอยู่จนกระทั่งเวลา ๑๖ น. เศษ จึงใช้การได้ ที่นายเจียรไม่เดินทางต่อไปเพื่อซ่อมรถบดก็เพราะเห็นว่าจวนหมดเวลาทำงานตามปกติ (๑๗ น.) ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่านายเจียรขัดคำสั่งโจทก์ โจทก์จึงต้องจ่ายเงินค่าชดเชยแก่นายเจียรลูกจ้าง
ฎีกาโจทก์อีกข้อหนึ่งมีว่า การที่นายเจียรขอทำงานชดใช้วันขาดงานในวันหยุดนั้น ไม่เป็นโมฆะตามมาตรา ๑๑๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะนายเจียรทำงานด้วยความสมัครใจ เพื่อหวังได้ค่าจ้างและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดเวลาทำงาน ฯลฯ ลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๐๑ ข้อ ๑๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อ ๙ แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๐๗) เรื่องกำหนดเวลาทำงาน ฯลฯ มีความว่า "ถ้าให้ลูกจ้างประจำดังต่อไปนี้ทำงานในวันหยุดงานตามประเพณีนิยมหรือในวันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้ดังนี้ (๑) ลูกจ้างรายเดือน ลูกจ้างรายสัปดาห์ ลูกจ้างรายวัน ลูกจ้างรายชั่วโมงหรือลูกจ้างระยะเวลาอย่างอื่น ไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของค่าจ้างในวันหรือชั่วโมงทำงานปกติ โดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างเป็นรายวัน หรือเป็นรายชั่วโมง ฯลฯ" ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างในเรื่องค่าแรงงาน จึงกำหนดอัตราค่าแรงงานไว้มิให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง ถือว่าข้อกำหนดดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นบทบังคับเด็ดขาดซึ่งจะตกลงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ โจทก์นำสืบว่ามีการตกลงระหว่างโจทก์กับนายเจียรลูกจ้างไม่คิดค่าล่วงเวลาเพราะนายเจียรขอทำงานในวันหยุดชดใช้วันทำงานปกติที่ขาดงาน ศาลฎีกาเห็นว่าหากมีการตกลงดังกล่าวจริงข้อตกลงนั้นก็ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๓ ใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในนายเจียรลูกจ้าง
ฉะนั้น เมื่อโจทก์ไม่จ่ายค่าชดเชยและค่าล่วงเวลาให้แก่นายเจียรลูกจ้างและจำเลยได้ออกคำสั่งที่ ๕๕/๒๕๑๖ ให้โจทก์จ่าย คำสั่งนั้นจึงชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกฟ้องโจทก์
พิพากษายืน