โจทก์ฟ้องว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงเชื่อม อายุ ๑๒ ปี ซึ่งเป็นบุตรเลี้ยง และอยู่ในความปกครองของจำเลยจนสำเร็จความใคร่ ๑ ครั้ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๑, ๒๘๕
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยทำผิดจริง พิพากษาว่าจำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๑ จำคุก ๓ ปี และลงโทษให้หนักขึ้นอีก ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๒๘๕ คงจำคุกไว้ ๔ ปี
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยทำผิดจริง แต่ไม่เห็นด้วยศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นตาม มาตรา ๒๘๕ เพราะจำเลยมิใช่บิดาเด็กหญิงเชื่อมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๓๘ (๑) เด็กหญิงเชื่อมย่อมอยู่ในความปกครองของนางมามารดา ไม่ใช่อยู่ในความปกครองของจำเลยซึ่งเป็นบิดาเลี้ยง พิพากษาแก้ว่า จำเลยผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ ให้จำคุก ๓ ปี
โจทก์ฎีกาในข้อกฎหมายว่า ความผิดของจำเลยเข้าบทบัญญัติมาตรา ๒๘๕ ประมวลกฎหมายอาญา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีนี้ศาลล่างฟังว่า เด็กหญิงเชื่อมเป็นบุตรติดนางมามารดามาแล้ว นางมาสมรสกับจำเลย ฉะนั้น อำนาจปกครองเด็กหญิงเชื่อมจึงตกอยู่แก่นางมามารดา ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๔๐ หากถือว่าเด็กหญิงเชื่อมอยู่ในความปกครองของจำเลยก็ย่อมเป็นการฝืนกฎหมาย โจทก์อ้างว่าตาม มาตรา ๒๘๕ มีความหมายถึงผู้อยู่ในความปกครองโดยพฤตินัยด้วย หากหมายถึงผู้ปกครองตามกฎหมายก็น่าจะบัญญัติไว้ให้ชัดว่าเป็นผู้อยู่ในความปกครองโดยชอบด้วยกฎหมายไว้ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ามีกฎหมายบัญญัติถึงความเป็นผู้ปกครองไว้แล้ว ฉะนั้น เมื่อมีกฎหมายอื่นกล่าวถึงความปกครองก็ย่อมหมายถึงความปกครองตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หากต้องการให้มีความหมายนอกเหนือก็ย่อมจะมีระบุไว้เป็นพิเศษ ศาลฎีกาจึงไม่เห็นมีเหตุที่จะแปลกฎหมายดังที่โจทก์อ้าง
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์