โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 16084 เป็นของนางสาวสมจิต พงศ์จารุสถิต จำเลยได้บุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินทั้งแปลงโดยปลูกเรือนกล้วยไม้และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ นางสาวสมจิตได้บอกกล่าวหลายครั้ง จำเลยก็ไม่ออกไป ต่อมานางสาวสมจิตได้ขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ได้บอกกล่าวแก่จำเลยให้รื้อเรือนกล้วยไม้และสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยเพิกเฉยขอให้ศาลพิพากษาและบังคับให้จำเลยรื้อเรือนกล้วยไม้และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 16084 ของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องต่อไป จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 16084 ได้แบ่งแยกออกมาจากโฉนดเลขที่ 13282 ซึ่งตอนที่ยังไม่ได้แบ่งแยกนั้น จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายหรือวางมัดจำกับนายปัญจะ เกตุวงษ์ ทายาทของนายสมจิตร เกตุวงษ์ เมื่อวันที่26 พฤษภาคม 2515 และได้ชำระเงินค่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว ที่ดินที่ตกลงซื้อคือที่ดินตามแผนที่แปลงหมายเลข 414 ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ออกโฉนด จำเลยได้เข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินแปลงนี้ตั้งแต่ก่อนทำสัญญาจะซื้อขาย โดยตกลงกันว่าเมื่อแบ่งแยกโฉนดแล้วก็จะจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยปรากฏตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายและแผนที่การจองที่ดินท้ายคำให้การ ตั้งแต่ได้ชำระเงินค่าที่ดินเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2515 แล้ว จำเลยได้เข้าครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหมายเลข 414 เนื้อที่ 95 ตารางวา ซึ่งต่อมาได้แบ่งแยกออกเป็นโฉนดเลขที่ 16084 โดยได้เข้าล้อมรั้ว ก่อสร้างแท็งก์น้ำและปลูกบ้านเต็มเนื้อที่ ด้วยความสงบและเปิดเผยตลอดมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ผู้ร้อง (ที่ถูกเป็นจำเลย) จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 16084 แล้ว โจทก์และนางสาวสมจิตซึ่งอยู่กันเยี่ยงสามีภริยาได้ตกลงซื้อที่ดินแปลงหมายเลข 415 ตามแผนที่จองต่อมาเมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 13282 ได้แบ่งแยกโฉนดออกเป็นแปลงย่อยเสร็จ ผู้จัดการมรดกของนายสมจิตร เกตุวงษ์ ได้โอนสับที่ดินกันโดยได้โอนโฉนดเลขที่ 16084 ตามแผนที่จองแปลงที่ 414 ซึ่งจำเลยซื้อและได้เข้าทำประโยชน์อยู่แล้วให้แก่นางสาวสมจิต อันเป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยได้เรียกร้องให้นางสาวสมจิตโอนโฉนดกันให้ถูกต้องตามที่ได้ตกลงไว้แต่เดิม แต่นางสาวสมจิตเพิกเฉย นางสาวสมจิตจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 16084 ต่อมานางสาวสมจิตได้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ซึ่งเป็นสามีของตนโดยไม่สุจริตเมื่อนางสาวสมจิตไม่มีสิทธิในที่ดิน โจทก์ผู้รับโอนจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 16084 ให้จำเลย หากโจทก์ไม่ยินยอมขอถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาเพื่อนำไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินแปลงหมายเลข 414เป็นของนางสาวสมจิต แต่นายปัญจะ เกตุวงษ์ โอนสับสนกับที่ดินแปลงหมายเลข 415 ให้แก่นางสาวสมจิต เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2516นางสาวสมจิตได้ทักท้วง นายปัญจะจึงได้แก้ไขในวันเดียวกันให้นางสาวสมจิตได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 16084 ซึ่งเป็นแปลงหมายเลข 414 ต่อมาวันที่ 27 มิถุนายน 2516 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 7 วัน นับจากวันที่นายปัญจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงหมายเลข 414 ให้แก่นางสาวสมจิต นายปัญจะได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 16083 คือแปลงหมายเลข 413 ให้จำเลย แสดงว่าที่ดินของจำเลยมิได้โอนสับสนกับที่ดินของนางสาวสมจิต จำเลยได้บุกรุกเข้ามาในที่ดินของนางสาวสมจิต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2520จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ การที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับนายปัญจะจำเลยยังไม่เป็นเจ้าของที่ดิน จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 16084 โจทก์ซื้อที่ดินจากนางสาวสมจิตโดยสุจริตเพราะโจทก์และนางสาวสมจิตเป็นสามีภริยากันโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์โอนที่ดินพิพาทคือที่ดินแปลงที่ 414 ตามโฉนดเลขที่ 16084 ตำบลธารเกษม อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีเนื้อที่ 96 ตารางวาให้แก่จำเลย หากโจทก์ไม่ยอมโอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นเป็นอันรับฟังได้โดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า เดิมที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 13282 ตำบลธารเกษม (ขุนโขลน) อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี มีเนื้อที่ 50 ไร่ เมื่อปี พ.ศ. 2515 นายปัญจะและนายสมหมายกับพวกซึ่งเป็นเจ้าของรวมได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวมาจัดสรรขายโดยแบ่งเป็นแปลงเล็กกว่า 50 แปลง ปรากฏตามแผนผังตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 การออกโฉนดที่ดินเป็นแปลงเล็กได้เสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2516 เจ้าของที่ดินจึงได้จัดการโอนโฉนดที่ดินแปลงเล็กดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ ที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 16084 แปลงหมายเลข 414 เนื้อที่ 96 ตารางวา เป็นที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 13282 ที่ดินโฉนดเลขที่ 16083แปลงหมายเลข 413 เนื้อที่ 96 ตารางวา เป็นแปลงหนึ่งที่อยู่ติดกับที่ดินพิพาท นอกจากนั้นยังมีที่ดินโฉนดเลขที่ 16085 แปลงหมายเลข 415เนื้อที่ 96 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 16089 แปลงหมายเลข 419เนื้อที่ 96 ตารางวา และแปลงอื่น ๆ อยู่ติดกับที่ดินพิพาทเรียงตามลำดับเลขที่โฉนดและเลขที่ดิน จำเลยและนางสาวสมจิตต่างก็เป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรดังกล่าว เมื่อเจ้าของเดิมโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยและนางสาวสมจิต ปรากฏว่าจำเลยได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่16083 แปลงหมายเลข 413 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2516 ส่วนนางสาวสมจิตได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 16084 แปลงหมายเลข 414
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 16084 จนได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้วหรือไม่ ซึ่งโจทก์ฎีกาว่า โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนางสาวสมจิตเมื่อวันที่6 สิงหาคม 2525 นางสาวสมจิตได้รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายปัญจะเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2516 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยให้ออกจากที่ดินพิพาทยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะการครอบครองของจำเลยขาดตอนไม่ต่อเนื่องกัน ส่วนที่จำเลยอ้างสัญญาจะซื้อขายที่ดินแปลงพิพาทมาเป็นเจตนาในการครอบครองและแสดงความเป็นเจ้าของนั้น จำเลยเป็นเพียงผู้เข้าครอบครองแทนนายปัญจะเท่านั้น เมื่อนายปัญจะนำที่ดินพิพาทมาขายให้แก่นางสาวสมจิต โดยนางสาวสมจิตซื้อมาโดยสุจริต นางสาวสมจิตจึงได้กรรมสิทธิ์ ดังนั้น ปัญหาข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า นางสาวสมจิตได้รับการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาจากนายปัญจะเมื่อใด ในข้อนี้โจทก์ฎีกาว่า นางสาวสมจิตได้รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายปัญจะเมื่อวันที่ 20มิถุนายน 2516 จำเลยมิได้แก้ฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ตัวโจทก์เบิกความว่า นางสาวสมจิตซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายปัญจะ โจทก์ได้ตรวจดูหลักหินของทางราชการที่ปักไว้ ปรากฏว่าตรงกับโฉนดที่ดินและได้จดทะเบียนโอนกันเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2516 นายสมหมายเกตุวงษ์ เจ้าของรวมในที่ดินที่จัดสรรเบิกความเป็นพยานจำเลยว่าความจริงนายสมหมายตั้งใจโอนที่ดินเลขที่ 413 ให้จำเลยส่วนที่ดินเลขที่ 414 ให้โจทก์ (คงหมายถึงนางสาวสมจิต) การโอนที่ดินแปลงเลขที่ 413 กระทำหลังจากการโอนที่ดินแปลงเลขที่ 414เพียง 7 วัน และปรากฏจากสำเนาภาพถ่ายโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.2ว่า การจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงเลขที่ 413 ให้แก่จำเลยกระทำเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2516 จึงรับฟังได้ว่า การจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงเลขที่ 414 ให้แก่นางสาวสมจิตได้กระทำเมื่อวันที่ 20มิถุนายน 2516 ตรงตามฎีกาโจทก์ ส่วนปัญหาเรื่องการที่จำเลยเข้าไปครอบครองใช้ที่ดินพิพาทก่อนออกโฉนดแล้วเสร็จนั้น นายสมหมายเบิกความว่า ตอนพาจำเลยไปดูที่ดิน นายสมหมายได้บอกจำเลยแล้วว่าอย่าเพิ่งล้อมรั้วถาวร เพราะหากโฉนดออกมาแล้วผิดพลาดจะมีปัญหาและที่ดินแปลงที่ชี้ให้จำเลยดูตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นแปลงเลขที่เท่าใด ต่อมาได้มีการทำสัญญากันก็ไม่ได้ระบุแปลงเลขที่เพราะขณะนั้นโฉนดยังไม่ออก จึงเห็นได้ชัดว่าก่อนออกโฉนดเสร็จยังไม่รู้ว่าที่ดินแปลงเลขที่เท่าใดอยู่ตรงไหน และจะตรงกับโฉนดเลขที่เท่าใดดังนั้น การเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก่อนจำเลยได้รับโอนกรรมสิทธิ์ จึงเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของเดิมศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินพิพาทแปลงหมายเลข 414 ก็ดี ที่ดินแปลงหมายเลข 413 หรือแปลงอื่น ๆ ก็ดี ที่จัดสรรแบ่งแยกจากที่ดินแปลงเดิมออกเป็นแปลงเล็ก จะถือว่ากรรมสิทธิ์เหนือที่ดินแต่ละแปลงแยกออกจากที่ดินแปลงเดิมก็ต่อเมื่อการแบ่งแยกโฉนดได้กระทำแล้วเสร็จและผู้ซื้อที่ดินเหล่านั้นจะได้กรรมสิทธิ์ก็ต่อเมื่อเจ้าของเดิมผู้จัดสรรได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อแล้ว ก่อนเวลานั้นต้องถือว่ากรรมสิทธิ์ยังอยู่กับเจ้าของเดิม ดังนั้นแม้จะฟังว่าจำเลยได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2515อันเป็นวันทำสัญญาจะซื้อขายและชำระค่าที่ดินเรียบร้อย ก็ต้องถือว่าจำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของเดิมจำเลยจะอ้างการครอบครองปรปักษ์เหนือที่ดินพิพาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าวยันแก่เจ้าของเดิมหาได้ไม่ และจำเลยจะอ้างการครอบครองปรปักษ์ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวยันแก่นางสาวสมจิตก็มิได้ เพราะกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินพิพาทยังมิได้ตกเป็นของนางสาวสมจิต ทั้งนี้โดยนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1915/2520 ระหว่างนางสาวกานดา อริยพงศ์โจทก์ นายพิศาล รัตตกุล กับพวก จำเลย จำเลยจะอ้างการครอบครองปรปักษ์ยันแก่นางสาวสมจิตได้ก็ต่อเมื่อเจ้าของเดิมได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินพิพาทให้แก่นางสาวสมจิตแล้ว เมื่อนางสาวสมจิตได้รับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินพิพาทในวันที่ 20 มิถุนายน 2516 ดังนั้นอายุความการครอบครองปรปักษ์ของจำเลยนับถึงวันที่ 8 มีนาคม 2526 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยอายุความได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ในกรณีเช่นนี้เมื่อฟังได้ว่าโจทก์จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินพิพาทจากนางสาวสมจิตเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2525 จะโดยสุจริตคือรู้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอยู่หรือไม่ก็ตาม โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์และมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น"
พิพากษากลับ ให้จำเลยรื้อเรือนกล้วยไม้และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 16084 ของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องต่อไป ยกฟ้องแย้งของจำเลย