โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากห้องซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ได้ยินยอมอนุญาตให้จำเลยอยู่อาศัย ต่อมาโจทก์ต้องการห้องคืน จึงบอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายและส่งมอบห้องคืนให้โจทก์แล้ว แต่จำเลยกลับปฏิเสธ และไม่ยอมส่งมอบห้องคืน จึงขอให้บังคับขับไล่และเรียกค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยเข้าหุ้นส่วนกันรับเหมาทำการก่อสร้างโจทก์ได้ตกลงให้จำเลยและครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่ในตึกพิพาทของโจทก์ในฐานะจำเลยเป็นหุ้นส่วน และให้ถือว่าตึกนี้เป็นสำนักงานของหุ้นส่วน ต่อมาได้มีการคิดบัญชีหุ้นส่วน ปรากฏว่าโจทก์จะต้องจ่ายเงินให้จำเลย 74,145 บาท 50 สตางค์ โจทก์จึงตกลงมอบตึกพิพาทให้จำเลยมีสิทธิเช่าอยู่ 15 ปี คิดค่าเช่าเดือนละ 60 บาท เป็นส่วนหนึ่งของการใช้เงินแก่จำเลยโดยตีราคา 20,000 บาท และโจทก์จะคิดบัญชีแบ่งเป็นเงินสดให้จำเลยอีก 54,152 บาท 50 สตางค์ แล้วโจทก์จะหักเอาค่าเช่าทั้ง 15 ปีไว้ก่อนคืนเงินสดส่วนที่เหลือหักไว้ให้จำเลย จำเลยขอถือเอาคำให้การเป็นฟ้องแย้ง ขอบังคับให้โจทก์รับชำระค่าเช่าจากจำเลย โดยหักจากเงินที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยสำหรับค่าเช่า 15 ปี เงิน 10,800 บาท แล้วให้โจทก์ใช้เงินที่เป็นหนี้จำเลย 43,352 บาท 50 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยแต่วันฟ้อง ห้ามโจทก์ทำการรอนสิทธิการเช่าในตึกพิพาท
ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การ ไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาขอให้รับฟ้องแย้ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งของจำเลยในข้อที่อ้างว่า โจทก์ตกลงให้จำเลยได้เช่าห้องพิพาทมีกำหนด 15 ปี ค่าเช่าเดือนละ 60 บาทเพราะจำเลยยอมหักหนี้ให้โจทก์ 20,000 บาทนั้น เห็นว่าเงินจำนวนดังกล่าวที่จำเลยยอมหักหนี้ให้โจทก์นี้ เป็นเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะหรือเงินกินเปล่าที่จำเลยยอมให้โจทก์ในการเช่าห้องพิพาท เท่ากับเป็นการเช่าโดยมีเงินค่าแป๊ะเจี๊ยะหรือเงินกินเปล่านั่นเอง จึงเป็นสัญญาเช่าธรรมดา ไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทนนอกเหนือจากสัญญาเช่าธรรมดา เมื่อการเช่าไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 จึงไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยข้อนี้ไว้
ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยข้อที่ว่า โจทก์จำเลยเข้าหุ้นส่วนกันเมื่อคิดบัญชีแล้วโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยอยู่ ขอให้บังคับให้โจทก์ชำระหนี้ให้จำเลย เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมซึ่งเป็นเรื่องจำเลยมีสิทธิอยู่ในห้องพิพาทของโจทก์หรือไม่ แต่ฟ้องแย้งข้อนี้เป็นเรื่องเข้าหุ้นส่วนกัน ขอบังคับให้ชำระหนี้อันเนื่องมาจากการเป็นหุ้นส่วน เป็นอีกเรื่องหนึ่งคนละอย่างกันไม่เกี่ยวข้องกัน พอที่จะรวมการพิจารณาชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ฟ้องข้อนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นฟ้องแย้ง
พิพากษายืน