โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2499 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยกับพวกที่เป็นพลเรือนอีก 4 คน สมคบกับปล้นทรัพย์ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 301 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2477 (ฉบับที่ 4) มาตรา 7 กับขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย 12 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ประกอบ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 8 กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยปล้นทรัพย์จริงตามฟ้อง แต่จำเลยทำผิดในขณะใช้กฎหมายลักษณะอาญาต้องปรับบทลงโทษตามกฎหมายที่ใช้ในขณะทำผิดพิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 301
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวน โจทก์นำสืบโดยเจ้าทรัพย์ทั้ง 5 คนและพยานโจทก์อีกคนหนึ่งเบิกความว่า จำเลยกับพวกทำการปล้นเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2499 เวลา 02.00 น.ซึ่งรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 16 มิ.ย.2499
วันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง คือคืนวันที่ 14 มิ.ย.2499 ในระยะเวลาที่ล่วงเลย 24.00 น.ของวันที่ 14 มิ.ย.แล้ว เริ่มระยะเวลาของวันใหม่คือวันที่ 15 มิ.ย. เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 01.00 น. ถึง 06.00 น. อันเป็นเวลากลางคืนก่อนเที่ยงของวันที่ 15 มิ.ย. 2499 นั้นส่วนวันเวลาที่โจทก์นำสืบคือเวลา 02.00 น. ของคืนวันที่ 15 มิ.ย. 2499 ซึ่งรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 16 มิ.ย. 2499 เป็นเวลากลางคืนอีกคืนหนึ่ง คือคืนของวันรุ่งขึ้นจากวันเกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง
ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจึงต่างกับฟ้อง ซึ่งข้อเท็จจริงในข้อวันเวลาเกิดเหตุนี้ย่อมเป็นสาระสำคัญของคำฟ้องและการพิจารณาและจำเลยได้หลงข้อต่อสู้ว่าตามวันเวลาที่โจทก์ฟ้อง จำเลยเป็นเวรยามอยู่ในกรมกองทหาร ย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องคดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยถึงข้อเท็จจริงต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง