โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2526 จำเลยจ้างนายบุญเพ็งพิณพงษ์ บุตรของโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งพนักงานรับจ่าย ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 2,780 บาทค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท รวมเป็นเงิน 3,180 บาท ต่อมาวันที่ 22สิงหาคม 2531 จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างนายบุญเพ็งอ้างว่านายบุญเพ็งหย่อนสมรรถภาพเนื่องจากลาป่วยเกินข้อบังคับว่าด้วยการลา พ.ศ. 2526ของจำเลย โดยนายบุญเพ็งไม่มีความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 และไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2531 นายบุญเพ็งถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นมารดาและผู้จัดการมรดกของนายบุญเพ็งจึงนำคดีนี้มาฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 19,080 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า นายบุญเพ็งเป็นลูกจ้างของจำเลยได้รับค่าจ้างและค่าครองชีพตามฟ้อง จำเลยไม่ได้เลิกจ้างนายบุญเพ็ง แต่ได้มีคำสั่งให้ออกจากงานเพราะนายบุญเพ็งป่วยจนไม่อยู่ในสภาพที่จะทำงานให้จำเลยได้ต่อไป ทั้งนายบุญเพ็งลาป่วยจนครบ 90 วันตามข้อบังคับของจำเลย และจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 16,620 บาท ซึ่งมีจำนวนมากกว่าค่าชดเชย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามฟ้องซ้ำอีก ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่านายบุญเพ็งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญเพ็ง นายบุญเพ็งเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยเข้าทำงานเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2526 ได้รับเงินเดือนสุดท้ายรวมกับค่าครองชีพแล้วเป็นเงิน 3,180 บาท จำเลยมีคำสั่งที่46/2531 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2531 ให้นายบุญเพ็งออกจากงานเพราะนายบุญเพ็งป่วยด้วยโรคกระดูกส้นเท้าแตก มีอาการบาดทะยัก เป็นผลให้มีอาการของสมองฝ่อจนไม่อยู่ในสภาพที่จะทำงานให้จำเลยได้ต่อไป และนายบุญเพ็งลาป่วยจนครบ 90 วัน ตามข้อบังคับของจำเลยแล้ว จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบุญเพ็งจำนวน 16,620 บาท จำเลยมีข้อบังคับองค์การแก้วว่าด้วยการลา พ.ศ. 2526 เอกสารท้ายคำให้การ และมีข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ พ.ศ. 2521 ตามเอกสารหมาย ล.1 หากจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามฟ้อง ค่าชดเชยจะเป็นเงินจำนวน 19,080บาท แล้วโจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การที่จำเลยมีคำสั่งให้นายบุญเพ็งออกจากงานเพราะเหตุเจ็บป่วยจนไม่อยู่ในสภาพที่จะทำงานต่อไปได้ตามคำสั่งที่ 46/2531 ลงวันที่ 22 สิงหาคม2531 เป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 วรรคสองเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้โจทก์มิใช่ค่าชดเชย จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเรียกร้องค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยของนายบุญเพ็ง จำนวน 19,080 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2531 (วันเลิกจ้าง)จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วจำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยให้นายบุญเพ็งออกจากงานเพราะนายบุญเพ็งป่วยด้วยโรคกระดูกส้นเท้าแตก มีอาการบาดทะยักซึ่งทำให้มีอาการสมองฝ่อ ไม่อาจทำงานให้จำเลยต่อไปได้ นายบุญเพ็งจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนั้น เห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 ได้กำหนดว่านายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน
(4) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
(5) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
กรณีที่นายบุญเพ็งป่วยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานได้ตามปกตินั้น เป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพร่างกายโดยธรรมชาติ แม้นายบุญเพ็งจะลาป่วยจนครบ 90 วัน แล้วยังไม่สามารถมาทำงานได้ตามปกติ ข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการลา พ.ศ. 2526 ข้อ 9ก็กำหนดเพียงให้สิทธิผู้บังคับบัญชารายงานขออนุมัติเลิกจ้างหรือให้ออกได้เท่านั้น ถือไม่ได้ว่านายบุญเพ็งกระทำการเข้าข้อยกเว้นข้อหนึ่งข้อใดตามประกาศดังกล่าว ข้อ 47 เมื่อจำเลยเลิกจ้างนายบุญเพ็งจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.