โจทก์ฟ้องว่า เจ้าของที่นามีโฉนด ๓ แปลง ได้ยกแปลงที่ ๑ โฉนดที่ ๔๘๐ ให้โจทก์ที่ ๑ แปลงที่ ๒ โฉนดที่ ๔๘๕ ให้โจทก์ที่ ๒ แปลงที่ ๓ โฉนดที่ ๔๗๗ ให้บิดามารดาจำเลย ผู้รับทุกคนได้เข้าครอบครองตั้งแต่ยกให้ ต่อมาเจ้าของจัดการโอนให้ผู้รับ แต่โอนโฉนดผิดไขว้แปลง ผู้รับก็สำคัญผิด จึงต่างครอบครองมากว่า ๑๐ ปี จนได้กรรมสิทธิ์แล้วทุกคนโจทก์ที่ ๒ ได้ขายให้โจทก์ที่ ๓ ครึ่งหนึ่งต่อมาโจทก์ที่ ๒ - ๓ ฟ้องจำเลยให้โอนโฉนดแลกเปลี่ยนกัน ที่สุดศาลพิพากษาตามยอมว่า ที่ดินโฉนดที่ ๔๘๐ เป็นของโจทก์ที่ ๒ - ๓ ที่ดินโฉนดที่ ๔๘๕ เป็นของจำเลย โจทก์ที่ ๒ - ๓ สำคัญว่าตนจะได้ที่ดินที่ตนครอบครอง จำเลยรู้ความจริงฉวยโอกาสเอาเปรียบโจทก์ ขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินโฉนดที่ ๔๘๕ เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ ๒ และ ๓ ให้จดทะเบียนโอนแก้โฉนดเสียให้ตรง และให้คำพิพากษาตามยอมเป็นอันไม่ใช้บังคับ
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ ๑ มิได้เสียหายหรือเกี่ยวข้องกับที่ดินโฉนดที่ ๔๘๕ ของจำเลย ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ ๒ - ๓ ยอมความแล้ว จะฟ้องอีกไม่ได้
ศาลเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยาน แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า ชื่อเจ้าของตามโฉนดที่ ๔๘๐ เป็นชื่อโจทก์ที่ ๒ และ ๓ ต่อมาศาลพิพากษาตามยอมว่า ที่ดินโฉนดที่ ๔๘๐ เป็นของโจทก์ที่ ๒ และ ๓ ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่า ขณะโจทก์ที่ ๒ และ ๓ ทำยอมความกับจำเลย ที่ดินโฉนดที่ ๔๘๐ มีชื่อโจทก์ที่ ๒ และ ๓ ถือกรรมสิทธิ์อยู่ โจทก์ที่ ๒ และ ๓ ย่อมมีสิทธิทำยอมได้ เมื่อภายหลังยอมความแล้ว ถ้าโจทก์ที่ ๑ มีสิทธิดีกว่าโจทก์ที่ ๒ และ ๓ ประการใด ก็ชอบที่จะว่ากล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕(๒) โจทก์ที่ ๑ จะมาฟ้องจำเลยหาได้ไม่
ปัญหาที่ว่า การใช้สิทธิของจำเลยไม่สุจริต โจทก์ที่ ๒ และ ๓ มีสิทธิฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๘ บัญญัติว่า ในคดีที่คู่ความประนีประนอมยอมความกัน ให้ศาลพิพากษาไปตามนั้น และห้ามอุทธรณ์ เว้นแต่(๑) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล มาตรา ๑๔๕ บัญญัติว่า คำพิพากษาให้ผูกพันคู่ความนับแต่วันพิพากษาจนถึงวันที่ได้ถูกเปลี่ยนแก้ไข กลับ หรืองดเสีย ตามนัยของกฎหมาย ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสิทธิของโจทก์เป็นสิทธิทางอุทธรณ์ฎีกา มิใช่นำคดีมาฟ้องเช่นคดีนี้
ปัญหาที่ว่า ฟ้องของโจทก์ที่ ๒ และ ๓ เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่าไม่ใช่แต่เป็นกรณีใช่สิทธิผิดทาง
พิพากษายืน.