ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ขอบเขตอำนาจประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 และการนิยามค่าจ้าง รวมถึงค่าล่วงเวลา
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ข้อ 2 ที่ให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจกำหนดการจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างนั้น คำว่า'ค่าจ้าง' มิได้มีบทนิยามไว้ จึงต้องเข้าใจตามความหมายสามัญคือหมายถึงสินจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้ หรือนัยหนึ่งหมายถึงสินจ้างที่ให้ตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง
ประกาศของกระทรวงมหาดไทยที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ2 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ได้กำหนดบทนิยามคำว่า 'ค่าจ้าง''ค่าล่วงเวลา'และ'ค่าล่วงเวลาในวันหยุด' ขึ้นเพื่อสะดวกแก่การดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ในส่วนที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างโดยจำแนกชื่อค่าจ้างหรือสินจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างและหลักเกณฑ์การจ่ายต่างกันไปตามเวลาหรือวันที่ลูกจ้างทำงานให้ คำว่า 'ค่าล่วงเวลา'และ'ค่าล่วงเวลาในวันหยุด'เป็นค่าจ้างหรือสินจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานเกินเวลาปกติ หรือทำงานในวันหยุดในอัตราพิเศษ อันมีลักษณะและหลักเกณฑ์ในการจ่ายต่างกับคำว่า 'ค่าจ้าง' ตามที่กำหนดไว้ในประกาศของกระทรวงมหาดไทยส่วนที่บทนิยามคำว่า 'ค่าจ้าง'ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยไม่รวม'ค่าล่วงเวลา'และ 'ค่าล่วงเวลาในวันหยุด' เพราะได้มีบทนิยามไว้อีกส่วนหนึ่งต่างหาก ฉะนั้น คำว่า 'ค่าล่วงเวลา' และ'ค่าล่วงเวลาในวันหยุด' จึงเป็นค่าจ้างตามความมุ่งหมายในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 ประกาศของกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดการปฏิบัติในเรื่องการจ่ายค่าจ้างโดยจำแนกชื่อสินจ้างต่างกันไปจึงไม่ได้ออกนอกเหนืออำนาจที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 กำหนดให้