พบผลลัพธ์ทั้งหมด 186 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5854/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบรถยนต์ที่ใช้ซ่อนเร้นขนย้ายบุหรี่เถื่อนตาม พ.ร.บ.ศุลกากร
คดีนี้ฟ้องโจทก์บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งบุหรี่ของกลางอันเป็นสินค้าที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร และบรรยายฟ้องตอนท้ายว่าจำเลยใช้รถยนต์ของกลางดังกล่าวในการบรรทุกซ่อนเร้นและขนย้ายบุหรี่ของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีและมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพทั้งจำเลยฎีกายอมรับว่าเก็บบุหรี่ของกลางไว้ภายในตู้ลำโพงภายในห้องโดยสารรถยนต์ที่จำเลยตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อการประกวดแข่งขันเครื่องเสียงติดรถยนต์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยใช้รถยนต์ของกลางในการซ่อนเร้นขนย้ายบุหรี่ของกลาง ประกอบกับการขนย้ายบุหรี่ของกลาง 200 ซอง จากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรหรือมีบุหรี่ของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีไว้ในครอบครองดังกล่าว หากไม่มีรถยนต์ของกลางบรรทุกบุหรี่ของกลางจำนวนมากถึง 200 ซอง ย่อมไม่สามารถขนย้ายบุหรี่ของกลางจำนวนดังกล่าวให้รอดพ้นจากการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ได้สำเร็จ ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยมิใช่เป็นการใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะในการสัญจรตามปกติโดยทั่วไป แต่เป็นการใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดโดยใช้ซ่อนเร้นและขนย้ายบุหรี่ของกลางอันพึงต้องริบตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4208/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ครบถ้วนตามอุทธรณ์ จำเป็นต้องยกคำพิพากษาเพื่อส่งกลับไปพิพากษาใหม่
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินกับ ร. มีกำหนดเวลา 10 ปี และเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ทั้งมีข้อตกลงว่า หากสัญญาสิ้นสุดแล้วให้ต่อสัญญาออกไปอีก 5 ปี แต่ ร. ถึงแก่ความตายแล้ว ขอให้จำเลยซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. จดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งว่า โจทก์ผิดสัญญาเนื่องจากไม่ชำระค่าเช่าและขุดดินโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้โจทก์ชำระค่าเช่า ส่งมอบที่ดินคืน และกลบที่ดินคืนสู่สภาพเดิม โจทก์ให้การขอให้ยกฟ้องแย้ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีและยกฟ้องแย้ง จำเลยอุทธรณ์ทั้งในส่วนของฟ้องเดิมและฟ้องแย้ง ประเด็นแห่งคดีจึงมีทั้งในส่วนของฟ้องเดิมและฟ้องแย้ง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 คงวินิจฉัยสรุปความว่า สัญญาเช่าที่ดินเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาที่มีผลบังคับ 10 ปี ซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีเฉพาะในส่วนของฟ้องเดิม แม้จะกล่าวในตอนท้ายว่า อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นตามอุทธรณ์ของจำเลยอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องหมายถึงประเด็นอื่นเฉพาะในส่วนของฟ้องเดิมเท่านั้น ไม่ใช่ประเด็นในส่วนของฟ้องแย้งที่ว่า โจทก์ผิดสัญญาเนื่องจากไม่ชำระค่าเช่าและขุดดินโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นในส่วนของฟ้องแย้งให้ครบถ้วนตามอุทธรณ์ของจำเลย จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ได้กล่าวหรือแสดงคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) แม้ศาลฎีกาแผนกคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา แต่เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุอันสมควร ศาลฎีกาย่อมยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 นั้นเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 252 เมื่อวินิจฉัยดั่งนี้ ที่โจทก์ฎีกาจึงไม่ต้องวินิจฉัยให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4713/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: ศาลสั่งเพิกถอนการให้ที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์คืนได้
กรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 357 วรรคหนึ่ง นั้น เมื่อปรากฏว่าการบังคับคดีดังกล่าวจะสำเร็จบริบูรณ์ต่อเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการในโฉนดที่ดิน โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิขอให้ศาลสั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนให้ได้ ศาลจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินเพิกถอนรายการจดทะเบียนการให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยและให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวคืนแก่โจทก์ โดยเจ้าพนักงานที่ดินมีหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนไปตามคำสั่งศาลตามมาตรา 357 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4129/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เบิกความเท็จ-ฟ้องเท็จ: คำพิพากษาถึงที่สุดผูกพัน-ขาดเจตนา-ไม่มีมูลฟ้อง
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 เป็นเรื่องที่ผู้กระทำความผิดนำเอาความอันเป็นเท็จไปเบิกความต่อศาลในคดีใดคดีหนึ่งซึ่งความเท็จนั้นต้องเป็นข้อสำคัญแก่คดีที่เข้าเบิกความเป็นพยานต่อศาลนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เบิกความอันเป็นเท็จไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1554/ 2562 ของศาลชั้นต้น แล้วจำเลยที่ 3 นำคําเบิกความที่จำเลยที่ 1 เคยเบิกความอันเป็นเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว ไปยื่นในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.242/2563 ของศาลชั้นต้น โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้าเบิกความรับรองยืนยันข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด จึงถือว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4741/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายมีข้อห้ามโอน & การครอบครองแทนเจ้าของ: สิทธิเรียกร้อง & กรรมสิทธิ์
แม้ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายในสิบปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2553 และโจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 ภายในเวลาสิบปีตามข้อกำหนดห้ามโอนก็ตาม แต่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาต่างรู้ว่าที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนและตกลงกันว่าจะโอนให้แก่กัน ณ สำนักงานที่ดินมะขาม ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 อันเป็นเวลาภายหลังพ้นข้อกำหนดห้ามโอนในวันที่ 30 สิงหาคม 2563 แล้วเช่นนี้ สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทย่อมเป็นเพียงสัญญาจะซื้อขาย มิใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การที่จำเลยครอบครองดูแลทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่โจทก์จะขายให้แก่จำเลย ถือได้ว่าจำเลยยึดถือที่ดินพิพาทนั้นไว้ในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครอง มิใช่เป็นการครอบครองเพื่อตนเอง ตราบใดที่จำเลยมิได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 การครอบครองที่ดินของจำเลยจึงเป็นการยึดถือแทนโจทก์เท่านั้น มิใช่เป็นการถือสิทธิครอบครองเด็ดขาดเป็นของตนในฐานะเจ้าของไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเสร็จเด็ดขาดในระหว่างที่มีข้อกำหนดห้ามโอนตามกฎหมายอันเป็นการฝ่าฝืน ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ และมีผลให้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงมีผลสมบูรณ์และบังคับกันได้ในลักษณะเป็นสัญญาจะซื้อขายอันเป็นบุคคลสิทธิ และเป็นเรื่องที่จำเลยชอบที่จะว่ากล่าวเอาความแก่โจทก์ต่อไปตามบทบัญญัติว่าด้วยผลแห่งหนี้และสัญญา และเมื่อการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยเป็นการครอบครองแทนโจทก์เช่นนี้ จำเลยย่อมไม่อาจอ้างอายุความการได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ขึ้นยันแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3687/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อพิพาทซื้อขายที่ดิน การบอกเลิกสัญญา ลาภมิควรได้ ค่าเสียหาย และดอกเบี้ยผิดนัด
โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว คู่สัญญาจำต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม
หลังจากที่มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแล้ว จำเลยทั้งสองยินยอมอนุญาตให้โจทก์เข้าพัฒนาที่ดินได้ทันทีและโจทก์ก็เข้าพัฒนาที่ดินโดยการปรับที่ดิน ถมดิน ก่อสร้างถนนและท่อระบายน้ำอันเป็นสาธารณูปโภคบ้างแล้ว ถนนและท่อระบายน้ำดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่ตกติดไปกับที่ดินที่จะซื้อจะขายกันอันเป็นประโยชน์ในการจัดสรรต่อไป กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้มาซึ่งทรัพย์คือถนนและท่อระบายน้ำที่โจทก์ก่อสร้างขึ้นนั้น โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์นั้นเสียเปรียบ ลักษณะลาภมิควรได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนทรัพย์นั้นให้แก่โจทก์ แต่เมื่อสภาพทรัพย์ดังกล่าวเป็นสิ่งก่อสร้างลักษณะตรึงตรากับที่ดินอย่างถาวร โดยสภาพย่อมไม่อาจคืนทรัพย์นั้นได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนโดยใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์
หลังจากที่มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแล้ว จำเลยทั้งสองยินยอมอนุญาตให้โจทก์เข้าพัฒนาที่ดินได้ทันทีและโจทก์ก็เข้าพัฒนาที่ดินโดยการปรับที่ดิน ถมดิน ก่อสร้างถนนและท่อระบายน้ำอันเป็นสาธารณูปโภคบ้างแล้ว ถนนและท่อระบายน้ำดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์ที่ตกติดไปกับที่ดินที่จะซื้อจะขายกันอันเป็นประโยชน์ในการจัดสรรต่อไป กรณีย่อมถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้มาซึ่งทรัพย์คือถนนและท่อระบายน้ำที่โจทก์ก่อสร้างขึ้นนั้น โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์นั้นเสียเปรียบ ลักษณะลาภมิควรได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนทรัพย์นั้นให้แก่โจทก์ แต่เมื่อสภาพทรัพย์ดังกล่าวเป็นสิ่งก่อสร้างลักษณะตรึงตรากับที่ดินอย่างถาวร โดยสภาพย่อมไม่อาจคืนทรัพย์นั้นได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนโดยใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2478/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เงินมัดจำต้องส่งมอบในวันทำสัญญา การริบเงินต้องเป็นไปตามกฎหมาย
เงินมัดจำคือเงินที่มอบให้แก่กันในวันทำสัญญา แม้คู่กรณีจะระบุไว้ในสัญญาว่าโจทก์ได้ให้เงินมัดจำแก่จำเลย 1,000,000 บาท โดยแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ งวดแรกชำระในวันทำสัญญา 500,000 บาท แต่ในวันทำสัญญาโจทก์ก็มิได้มอบเงิน 500,000 บาท แก่จำเลย คงให้จำเลยในวันหลัง เงิน 500,000 บาทนี้ จึงหาใช่เงินมัดจำตามกฎหมายไม่ แม้หากฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยก็หาอาจริบเงินดังกล่าวในฐานะเป็นการริบเงินมัดจำได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2311/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความสมบูรณ์ของฟ้องอาญา: การบรรยายฟ้องที่ชัดเจนเพียงพอต่อการเข้าใจข้อหา
ฟ้องใดจะเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมหรือไม่ต้องพิจารณาจากฟ้องที่โจทก์ยื่นต่อศาล คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเป็นใจความสำคัญว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 เวลากลางวัน จำเลยกับ ช. จำเลยที่ 1 และ ส. จำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1990/2562 ของศาลชั้นต้น ซึ่งให้การรับสารภาพและศาลพิพากษาลงโทษแล้ว ร่วมกันบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ บริเวณป่าบ้านผักกาด โดยการใช้รถไถ 1 คัน ทำการโค่นล้มทำลายต้นไม้ขนาดต่าง ๆ และต้นไม้อื่น ๆ ปรับไถพื้นที่ป่าและทำการแผ้วถางต้นไม้ออก เพื่อปรับพื้นที่ซึ่งเป็นป่าในบริเวณดังกล่าว เป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 54 ตารางวา คิดเป็นค่าเสียหายของรัฐ 145,722.73 บาท อันเป็นการร่วมกันทำลายป่าและร่วมกันเข้าไปยึดถือครองครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฟ้องโจทก์ได้ระบุชัดแล้วว่าจำเลยกับ ช. จำเลยที่ 1 และ ส. จำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1990/2562 ของศาลชั้นต้น ซึ่งให้การรับสารภาพและศาลพิพากษาลงโทษแล้ว ร่วมกันเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ บริเวณป่าบ้านผักกาดซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ส่วนข้อเท็จจริงอื่นและพยานหลักฐานเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถทำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่จำต้องกล่าวมาในฟ้อง การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ไม่ใช่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมตามที่จำเลยอ้างในฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยอมความในคดีหมิ่นประมาท: เงื่อนไขการเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันและการระงับสิทธิในการฟ้อง
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 บัญญัติว่า "สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้...(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย...." และตาม ป.อ. มาตรา 333 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติอยู่ในหมวดความผิดฐานหมิ่นประมาทว่า "ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้..." ดังนั้น ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ซึ่งบัญญัติอยู่ในหมวดความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ จึงเป็นความผิดต่อส่วนตัวซึ่งยอมความกันได้ เมื่อปรากฏว่า ข้อเท็จจริงตามบันทึกการไกล่เกลี่ยยอมความ ข้อ 1 กำหนดว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยถอนค้ำประกัน 1,500,000 บาท โดยให้เปลี่ยนบุคคลอื่นค้ำประกันแทนภายในเดือนเมษายน 2560 และข้อ 4 กำหนดว่า หากจำเลยไม่หาคนเปลี่ยนค้ำประกันได้ภายในเดือนเมษายน 2560 โจทก์จะนำคดีหมิ่นประมาทนี้มาดำเนินคดีกับจำเลยภายในอายุความ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้มีเจตนาจะสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที แต่กลับมีเงื่อนไขกำหนดให้จำเลยเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้จากโจทก์เป็นบุคคลอื่นเป็นผู้ค้ำประกันแทนให้แล้วเสร็จโดยมีกำหนดเวลาให้จำเลยดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2560 หากจำเลยไม่ดำเนินการโจทก์จะดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทแก่จำเลยภายในอายุความ เมื่อปรากฎว่าจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้จำเลยยังมิได้เปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้จากโจทก์เป็น ร. หรือบุคคลอื่นแทนโจทก์ การที่จำเลยดำเนินการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยต่อธนาคาร ก. จากโจทก์เป็น ร. ก็เป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งที่จำเลยมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบันทึกการไกล่เกลี่ยยอมความ แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันเงินกู้เป็นบุคคลอื่นแทนโจทก์เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ในระหว่างโจทก์ดังกล่าว กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความตามกฎหมาย อันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4041/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งศาลให้คดีมีมูลไม่ใช่ข้อผูกพัน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณายกฟ้องได้หากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
ป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่า คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นความผิดตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูล ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามทางไต่สวนไม่เป็นความผิด และพิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาตลอดไปจนถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ซึ่งมีผลเท่ากับยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 213 และมาตรา 215 จึงชอบแล้ว