คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ม. 157

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 99 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษทางอาญา: การอ้างบทเพิ่มโทษโดยไม่ระบุชัดเจน ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการเพิ่มโทษแล้ว
การที่ศาลชั้นต้นอ้างบทเพิ่มโทษตามมาตรา 160 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ไว้ในคำพิพากษาถือได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งแล้ว เพียงศาลชั้นต้นไม่ได้ระบุข้อความว่าให้เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งซึ่งเป็นเพียงการไม่สมบูรณ์ชัดเจนเท่านั้น หาทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยเหตุที่ยังมิได้เพิ่มโทษจำเลย แต่อย่างไรก็ดีที่ถูกศาลชั้นต้นต้องกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยเสียก่อน แล้วจึงเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 54

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4293/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษคดีขับรถในขณะเมาสุราฯ จำเลยฎีกาว่าต้องลงโทษฐานประมาท แต่ศาลฎีกาเห็นว่าบทขับรถเมาฯ โทษหนักกว่า
ในขณะที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท ส่วนความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท แม้บทกฎหมายที่ระวางโทษในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวมีระวางโทษจำคุกขั้นสูงเท่ากัน คือ จำคุกไม่เกินสิบปีแต่ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ มีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำสามปีด้วย ความผิดดังกล่าวจึงมีโทษหนักกว่าความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 จึงต้องลงโทษจำเลยฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (2) (4), 157, 160 ตรี การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ มาตรา 42 (2), 160 ตรี วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 3 ปี อันเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ได้แก้ไขบทมาตราแห่งความผิดเพียงแต่ปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องเท่านั้นจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6101/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้เสียหายและทายาทในคดีอาญา และการพิจารณาโทษจำคุกโดยรอการลงโทษ
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ป.อ. มาตรา 291, 300, 390 แล้วโจทก์ร่วมทั้งสามยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโดยระบุคำร้องว่า บ. และ ป. บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของดาบตำรวจ ร. โดย น. มารดา และ น. ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของดาบตำรวจ ร. จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมทั้งสามในฐานะผู้สืบสันดานและภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหายและเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ร่วมทั้งสามเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กาย จึงไม่ถูกต้อง และเมื่อโจทก์ร่วมทั้งสามสามารถเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท โจทก์ร่วมทั้งสามจึงมีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงให้ไม่รอการลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ และเมื่อคดีขึ้นมาที่ศาลฎีกาแล้วจึงเห็นสมควรสั่งให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5178/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม เหตุมิได้ขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลฎีกามีอำนาจแก้โทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 จำคุก 4 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 กับผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี คดีส่วนอาญาจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความประมาทของ ภ. ผู้เสียหายและ ก. ผู้ตายที่ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทไม่เว้นระยะห่างให้มากพอที่จะหยุดรถได้ทัน ทำให้รถจักรยานยนต์ทั้งสองคันชนท้ายรถบรรทุกพ่วงที่จำเลยขับจนเป็นเหตุให้ ฐ. และ ก. ถึงแก่ความตาย ภ. ได้รับอันตรายสาหัส ย. ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษหรือการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน เมื่อจำเลยมิได้ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง หรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ฎีกาของจำเลยในคดีส่วนอาญาจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง สำหรับฎีกาของจำเลยในคดีส่วนแพ่งที่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 กับผู้ร้องที่ 2 และที่ 4 นั้น เมื่อคดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาในคดีส่วนแพ่ง จึงต้องห้ามฎีกาในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15แม้คดีจะต้องห้ามฎีกาดังกล่าวมาข้างต้น เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ที่ปรากฏในคดี โทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดยังไม่เหมาะสมแก่รูปคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดไว้โดยการรอการลงโทษจำคุกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3706/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด
ในคดีอาญาทั่วไป คดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ไม่มีบทบัญญัติให้การฎีกาจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา การฎีกาจึงอยู่ในบังคับตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 216 และมาตรา 221 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยไม่ได้ยื่นเป็นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คำร้องขออนุญาตฎีกาของจำเลยจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ไม่มีผลให้ฎีกาของจำเลยขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปรียบเทียบปรับความผิดลหุโทษทางจราจร ไม่กระทบสิทธิฟ้องคดีอาญาฐานขับรถประมาททำให้ผู้อื่นได้รับอันตราย
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และมาตรา 390 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 90 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390 เพื่อให้ความผิดทั้งหมดรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 ได้ แม้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วก็ตาม การเปรียบเทียบปรับย่อมไม่ชอบ คดีอาญาไม่เลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 390 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7426-7427/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความรับผิดทางอาญาและค่าสินไหมทดแทนจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การนำข้อเท็จจริงจากคดีแพ่งมาใช้ในคดีอาญา
ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โดยไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้นำข้อเท็จจริงที่ได้จากคำพิพากษาของคดีในส่วนแพ่งมาฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาได้ การที่ข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยจึงคงเพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาคดีส่วนแพ่งมารับฟังในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แล้วพิพากษายกคำร้องของ ว. บิดาผู้ตายที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12458/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานเด็กที่สอบสวนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงในชั้นศาล ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้
การที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำ อ. พยานซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี และบันทึกโดยไม่แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยแถลงยอมรับข้อเท็จจริงในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า อ. ให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การไว้จริง ศาลจึงรับฟังตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในคำให้การดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้ และชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 226 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8155/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รถพยาบาลฉุกเฉินผ่านสัญญาณไฟแดงได้หากลดความเร็ว การฟ้องต้องระบุเหตุประมาทชัดเจน
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทรัพย์สินเสียหายตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 โดยบรรยายถึงการกระทำโดยประมาทของจำเลยว่า ก่อนจำเลยขับรถเข้าทางร่วมทางแยกที่เกิดเหตุ สัญญาณจราจรในทางเดินรถของจำเลยเป็นสัญญาณจราจรไฟสีแดง จำเลยต้องหยุดรถเพื่อให้รถอื่นที่ได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวขับผ่านทางร่วมแยกไปก่อน และเมื่อทางเดินรถของจำเลยได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวแล้ว จึงค่อยขับรถเข้าทางร่วมทางแยก แต่จำเลยขาดความระมัดระวังขับเลี้ยวขวาโดยฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับมาในทางร่วมทางแยกซึ่งผู้ตายได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียว เป็นการบรรยายฟ้องโดยอ้างเหตุประมาทว่า จำเลยขับรถเข้าทางร่วมทางแยกโดยฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงเท่านั้น แต่ทางพิจารณาได้ความว่า รถคันที่จำเลยขับเป็นรถพยาบาลของทางราชการซึ่งจำเลยได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ขับรถนำผู้ป่วยไปส่งยังโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง โดยขณะเกิดเหตุจำเลยเปิดไฟหน้ารถและเปิดสัญญาณไฟขอทางบนหลังคารถอันเป็นรถฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4 (19) ซึ่งจำเลยผู้ขับย่อมมีสิทธิขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใดๆ ที่ให้รถหยุดได้ เพียงแต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควรแก่กรณีตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 75 (4) วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยซึ่งขับรถฉุกเฉินจึงมีสิทธิขับรถผ่านสัญญาณจราจรไฟสีแดงได้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยขับรถโดยประมาทฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงเท่านั้น ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าวให้เป็นพฤติการณ์ที่แสดงถึงการขับรถโดยประมาทของจำเลยไว้ด้วย แม้จะฟ้งว่าจำเลยขับรถผ่านสัญญาณจราจรไฟสีแดงโดยมิได้ลดความเร็วให้ช้าลงและมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้เพราะไม่ใช่การกระทำโดยประมาทตามที่โจทก์ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6505/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ในชั้นพิจารณา ศาลต้องยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อสาระสำคัญของการกระทำความผิดว่าจำเลยกระทำโดยประมาทด้วยการขับรถด้วยความเร็วสูงเกินสมควรและไม่ชะลอความเร็วเมื่อถึงสี่แยก แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยจอดรถอยู่ที่สี่แยกและเพิ่งขับรถเคลื่อนที่เมื่อได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวแล้วชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 1 เพราะมองไม่เห็นมิใช่เพราะการขับรถเร็วหรือไม่ชะลอความเร็วตามฟ้อง ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้อง ทั้งเป็นข้อสาระสำคัญ ศาลต้องยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 10