คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อดิศักดิ์ ปัตรวลี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 192 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในเครือข่ายยาเสพติด ผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และการพิจารณาเหตุบรรเทาโทษ
จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด 1,164 เม็ด และชนิดเกล็ดสีขาว 14 ถุง รวมทั้งสองชนิดคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 6,277.21 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ประกอบกับพฤติกรรมที่จำเลยอยู่ในเครือข่ายยาเสพติด ทำหน้าที่รับเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากถึงครั้งละหลายแสนเม็ดและชนิดเกล็ดสีขาวครั้งละหลายกิโลกรัมมาเก็บรักษาไว้หลายครั้งแล้ว ทั้งยังเป็นผู้ทำหน้าที่จัดการจำหน่ายส่งให้แก่ผู้ค้ารายย่อยในเครือข่ายยาเสพติดในพื้นที่อำเภอพุนพินและพื้นที่ใกล้เคียง พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไปตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสาม (2) จำเลยนำเจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวนหนึ่งที่ท่าทรายซึ่งเป็นลานที่มีกองทราย มีโรงซ่อมรถ มีที่พักอยู่ห้องเดียว ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจทราบอยู่แล้วว่าจำเลยมีที่พักอยู่ที่ท่าทรายดังกล่าว และนำตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางอีกจำนวนหนึ่งที่ห้องแถวซึ่งทราบภายหลังว่าตรงกับที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ของจำเลย และจำเลยให้การในชั้นสอบสวนระบุที่อยู่ดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของจำเลย จึงอยู่ในวิสัยที่เจ้าพนักงานตำรวจจะสามารถตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางได้เอง ไม่อาจถือว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 เมื่อพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะทางเศรษฐกิจของจำเลยและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว กรณียังไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการเฉพาะราย อันศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 152 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 646/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมีและค้าเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต: ศาลฎีกายืนตามฟ้องและคำพิพากษาเดิม
แม้ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องเครื่องวิทยุคมนาคมและสถานีวิทยุคมนาคมที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 จะออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ตาม แต่ก็มิใช่กฎหมายที่ศาลจะรู้เองได้ ถือได้แต่เพียงเป็นประกาศที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยไม่ได้ต่อสู้เป็นประการอื่น จึงต้องรับฟังตามที่ปรากฏในฟ้องและคำรับสารภาพ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1184/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: ศาลอาญา รับฟ้องคดีทุจริต หลังศาลอาญาคดีทุจริตเปิดทำการแล้ว เป็นการไม่ชอบ
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ภายหลังเมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางเปิดทำการแล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 10 ได้บัญญัติว่า "เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาพิพากษา" จากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วว่า เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเปิดทำการแล้ว ศาลชั้นต้นอื่นจะรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไว้พิจารณาและพิพากษามิได้ การที่ศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาจึงเป็นการไม่ชอบตามบทกฎหมายดังกล่าว และกรณีไม่ต้องด้วย มาตรา 16 วรรคสาม แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมอันศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) จะใช้ดุลพินิจรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาได้ และศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) ซึ่งเป็นศาลที่ไม่มีเขตอำนาจคดีนี้ ไม่อาจโอนคดีไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับในเรื่องของการโอนคดีไว้ ทั้งการที่ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 11 ว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ไม่อาจนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10, 11, 13 มาปรับใช้แก่คดีได้ เนื่องจากตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติไว้ว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ศาล" หมายความว่า ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหารหรือศาลอื่น เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกับศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) ต่างเป็นศาลยุติธรรม กรณีจึงมิใช่เรื่องระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าว อันจะนำมาปรับใช้กับคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งเท็จ/เปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท: จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็น/ผู้เสียหายให้ความยินยอม ศาลยืนตามอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 กรรมการคนหนึ่งของบริษัท ช. ลงลายมือชื่อในรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและ/หรือมติพิเศษ (แบบ บอจ.4) โดยระบุชื่อโจทก์เป็นกรรมการที่ออกจากตำแหน่ง เป็นการลงลายมือชื่อในนามของจำเลยที่ 1 เอง มิได้เป็นการปลอมลายมือชื่อผู้อื่นในเอกสารและไม่ใช่การเพิ่มเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารปลอม แม้ไม่มีตราประทับของบริษัท ช. ก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำในนามของบุคคลอื่น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4126/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมความในคดีอาญาต้องเกิดขึ้นหลังการกระทำความผิด สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งไม่ระงับคดีอาญา
การยอมความในความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคสอง และมาตรา 39 (2) นั้น ต้องเป็นการยอมความที่กระทำภายหลังจากความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว มิใช่กระทำกันไว้ล่วงหน้าก่อนการกระทำความผิดเกิด เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครสวรรค์ โดยจำเลยตกลงผ่อนชำระหนี้ค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ หากจำเลยผิดนัด จำเลยตกลงส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ และศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาตามยอม ภายหลังจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจังหวัดนครสวรรค์ออกหมายบังคับคดี ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดรถยนต์ที่จำเลยเช่าซื้อจากโจทก์ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่น และไม่สามารถติดตามกลับคืนมาได้ เช่นนี้ การยอมความดังกล่าวข้างต้นจึงทำขึ้นก่อนที่จำเลยจะนำรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์ไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่นซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องคดีนี้ ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็ไม่ปรากฏข้อความว่าโจทก์จำเลยตกลงยอมความในคดีส่วนอาญา สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งจึงไม่มีผลทำให้คดีอาญาระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน, หน่วงเหนี่ยวกักขัง, และกรรโชกทรัพย์ ร่วมกันกระทำผิดและรับผิดทางแพ่ง
เมื่อในคดีส่วนอาญาศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันในการกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้ร้องที่ 2 และฐานกรรโชกทรัพย์ผู้ร้องที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้กำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้มา โดยผู้ร้องทั้งสองไม่ได้ฎีกามาด้วยนั้น ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1592/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การก่อสร้างในพื้นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยไม่ได้รับอนุญาต และการหมดอายุความของคดี
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นที่ดินราชพัสดุ เป็นที่ดินของรัฐ และเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามที่ดินเพื่อการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรี ประชาชนไม่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรี ดังนั้น การที่จำเลยยึดถือครอบครองและปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างโดยปราศจากเหตุอันจะอ้างตามกฎหมายได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เกิดเหตุได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจากเหตุโกรธเคืองและวางแผนทำร้าย, ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษา
การที่จำเลยทั้งสองกับพวกใช้อาวุธปืนยิงกราดไปที่บริเวณบ้านทั้งจุดที่ผู้เสียหายทั้งสามยืนและนั่งอยู่ในครั้งแรกจนถึงจุดที่หลบซ่อนอยู่ภายในตัวบ้าน จำเลยทั้งสองย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายทั้งสามหรือบุคคลอื่นภายในบ้านได้ แม้กระสุนปืนจะไม่ถูกผู้ใด การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ถือได้ว่ามีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าช่วงเวลาที่จำเลยทั้งสองกับพวกมีเรื่องกับผู้เสียหายที่ 2 จนถึงช่วงเวลาเกิดเหตุ มีระยะเวลาห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมง จึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองกับพวกตระเตรียมอาวุธปืนเพื่อใช้ในการกระทำความผิดมาล่วงหน้าและนัดหมายกับพวกไปรวมตัวกันที่สถานีบริการน้ำมันเพื่อจะไปที่บ้านที่เกิดเหตุเพราะยังขุ่นเคืองอยู่ ซึ่งเมื่อจำเลยทั้งสองไปถึงบ้านที่เกิดเหตุก็ได้ใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในบ้านทันทีโดยมีการวางแผนและตระเตรียมไว้ล่วงหน้า จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7041/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราและพรากเด็กจากผู้ปกครองเพื่ออนาจาร จำเลยมีความผิดฐานต่างๆ
แม้บ้านที่ผู้เสียหายที่ 1 พักอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 กับบ้านจำเลยอยู่ใกล้กันเพียงมีถนนคั่น และผู้เสียหายที่ 1 ไปหาน้องต่างบิดาที่บ้านจำเลยชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อวิ่งเล่นแล้วกลับมาที่บ้าน ระหว่างนี้ถือว่าผู้เสียหายที่ 1 ยังอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 โดยไม่คำนึงว่าบ้านอยู่ห่างกันหรืออยู่ใกล้ไกลเพียงใด และจำเลยทราบดีว่าผู้เสียหายที่ 2 ห้ามและไม่ยินดีให้ผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านจำเลย การที่จำเลยเรียกผู้เสียหายที่ 1 ไปจากบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่กับน้องให้เข้าไปหาในห้องนอนแล้วกระทำชำเรา กับเรียกผู้เสียหายที่ 1 ให้เข้าไปในห้องน้ำและกระทำชำเรา แม้ห้องนอนหรือห้องน้ำกับบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่กับน้องจะเป็นบริเวณบ้านเดียวกัน แต่การกระทำของจำเลยแสดงว่ามีเจตนาพาผู้เสียหายที่ 1 จากบริเวณหนึ่งไปอีกบริเวณหนึ่งแล้ว ทั้งเมื่อจำเลยขี่จักรยานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่คลองท้ายหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านจำเลย 200 ถึง 300 เมตร เพื่อกระทำชำเรา ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยแต่ละครั้ง เป็นการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ 1 ออกไปจากความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ทำให้การปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 และเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3857/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินส่วนตัวซื้อที่ดินร่วมกับคู่สมรสมีสิทธิบอกล้างได้
จำเลยแก้ฎีกาอ้างข้อเท็จจริงว่าคุ้นเคยสนิทสนมกับ ฉ. และได้โทรศัพท์ขอบคุณ ฉ. ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ได้นำสืบในชั้นพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกา ก็ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
เงินที่ ฉ. บิดาของโจทก์โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยมีจำนวนมากถึง 13,500,000 บาท ไม่ใช่จำนวนเล็กน้อยที่ ฉ. จะยกให้แก่จำเลยถึงกึ่งหนึ่งโดยเสน่หา ทั้งจำเลยไม่เคยโทรศัพท์ติดต่อขอเงินจาก ฉ. แม้ ฉ. จะเป็นบิดาของโจทก์แต่ก็หาเป็นข้อระแวงว่าจะเบิกความช่วยเหลือโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ ดังนั้นเงินจำนวนดังกล่าวที่ ฉ. โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเป็นเงินที่ ฉ. ให้โจทก์โดยเสน่หาอันเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินและอาคารพิพาท เช่นนี้ ที่ดินและอาคารพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ตกลงให้จำเลยจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทร่วมกัน และให้ใส่ชื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวม จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างเป็นสามีภริยา ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากัน หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469
การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันอยู่ ถือว่าเป็นการบอกล้างภายในกำหนดตามกฎหมายข้างต้น โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ให้โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม
อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่งตามตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ศาลชั้นต้นมิได้กำหนด ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้ชัดแจ้ง
of 20