คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 243 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 288 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9751/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย และอำนาจศาลฎีกาในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาวันที่ 20 มิถุนายน 2556 โจทก์ที่ 1 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 18 กันยายน 2556 ต่อมาโจทก์ที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกับโจทก์ที่ 2 จึงเป็นการยื่นอุทธรณ์มาภายในกำหนดที่ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้โจทก์ที่ 1 ไม่ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1), (2) ประกอบมาตรา 247 แต่เนื่องจากโจทก์ทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยถึงโจทก์ที่ 2 ใหม่ด้วยตามรูปคดี ศาลฎีกาจึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8689/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีผิดบุคคล การยึดทรัพย์เจ้าของที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ศาลต้องไต่สวนและเพิกถอนการบังคับคดี
ตามคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของผู้ร้องโดยไม่ชอบเพราะผู้ร้องไม่ได้เป็นลูกหนี้โจทก์ ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 มีชื่อและชื่อสกุลซ้ำกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมีคำขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีเสียทั้งหมดตั้งแต่มีการยึดทรัพย์ หาใช่เป็นคำร้องขัดทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไม่ และตามคำร้องดังกล่าวเป็นคำร้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) บัญญัติให้เสนอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีตามมาตรา 302
การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของผู้ร้องซึ่งมิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้กระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการมาทั้งหมดย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว ก็ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาใช้บังคับแก่ผู้ร้องได้ เพราะผู้ร้องมิใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ การขายทอดตลาด รวมทั้งกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดีเสียทั้งหมดเพื่อให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่เห็นสมควร ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และมาตรา 296 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องโดยมิได้ไต่สวนคำร้องเสียก่อน และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยไม่ชอบ
เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.ว่าด้วยการพิจารณา จึงต้องยกคำสั่งและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8614/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ครบถ้วน ศาลฎีกายกคำพิพากษาให้พิจารณาใหม่ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ยื่นอุทธรณ์มาคนละฉบับ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยเพียงอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 6 โดยไม่มีเนื้อหาวินิจฉัยถึงอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ได้วินิจฉัยคดีตามฟ้องอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 240 คดีมีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้วให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาและพิพากษาใหม่ทั้งหมดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจทนายในการอุทธรณ์ฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อความถูกต้อง
พ. ทนายโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ว่าความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ปรากฏว่าใบแต่งทนายความดังกล่าวไม่ได้ระบุให้ทนายโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ได้ ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ที่ทนายโจทก์ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะต้องแก้ไขความบกพร่องในข้อนี้เสียก่อน แม้ฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จะยื่นโดยชอบแล้วก็ตาม การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ไปพร้อมกันและมีคำพิพากษาโดยที่ยังมิได้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียให้ถูกต้อง เป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาตามมาตรา 243 (2) เป็นการไม่ชอบและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5275/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกายกคำพิพากษาเดิม สั่งให้สืบพยานเพิ่มเติม กรณีข้อพิพาทอำนาจกรรมการและเจตนาซื้อขายที่ดิน
ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงเพียงพอวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นพิพาทข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผูกพันโจทก์หรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยรับฟังข้อเท็จจริงตามรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ทั้ง ๆ ที่โจทก์แถลงว่าเป็นเอกสารที่เป็นเท็จ และวินิจฉัยประเด็นพิพาทข้อหลังว่าเมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน จำเลยที่ 2 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน ต้องรับฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริต ดังนี้ เท่ากับศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากคำฟ้องและคำให้การของคู่ความ อันจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง แต่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำแถลงรับของคู่ความทั้งสองฝ่าย และนำข้อเท็จจริงที่คู่ความยังโต้เถียงกันมาวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นพิพาททั้งสองข้อ และที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคู่ความทั้งสองไม่ติดใจสืบพยานแล้วนั้น ประเด็นข้อพิพาทข้อแรก การที่คู่ความไม่ติดใจสืบพยาน จึงหมายความแต่เฉพาะในข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันตามที่บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาเท่านั้น มิได้หมายความว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยานใด ๆ เสียทีเดียว ส่วนข้อความตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าประเด็นพิพาทข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายและข้อความต่อไปที่ว่า เมื่อทนายโจทก์และทนายจำเลยที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน กรณีจึงไม่ต้องสืบพยาน เห็นได้ชัดว่าเป็นเพียงคำสั่งที่ให้มีผลว่า ก่อนศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยเบื้องต้นในปัญหานั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง มิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผลต่อคู่ความอันจะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่โจทก์จะต้องโต้แย้งไว้เพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยยังมีข้อโต้เถียงกันว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เป็นการกระทำโดยนอกเหนืออำนาจและนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ จึงสมควรที่จะให้คู่ความทุกฝ่ายได้สืบพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีมานั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา จึงมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานของคู่ความให้สิ้นกระแสความ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12122/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องกรณีถูกโต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดิน: การยื่นขอออกโฉนดถือเป็นการโต้แย้งสิทธิ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ซึ่งมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ต่อมาปรากฎว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงวางทะเบียนในเอกสารสิทธิดังกล่าวไปเป็นของจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดในที่ดินดังกล่าวพร้อมนำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดที่ดิน ตามคำฟ้องดังกล่าวโจทก์แสดงว่า โจทก์อ้างความเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า แต่ต่อมาปรากฏว่ามีชื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองในทะเบียนที่ดิน แล้วจำเลยทั้งสองยังยื่นเรื่องขอออกโฉนดและนำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดให้แก่จำเลยทั้งสองการกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน และกำลังดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์โดยตรงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าถูกจำเลยทั้งสองกระทำการโต้แย้งสิทธิในที่ดินอย่างไร โจทก์จึงไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิแล้วพิพากษายกฟ้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เนื่องจากคดีนี้ยังมิได้มีการสืบพยานจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ต่อไป ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8018/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลงหนี้ใหม่และการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้และบรรยายในคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความว่า ก่อนมีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อพร้อมทั้งส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้จำเลยร่วมแล้ว โดยโจทก์ให้ความยินยอมเป็นหนังสือและทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่กับจำเลยร่วม อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 มาเป็นจำเลยร่วม จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ย่อมมีผลเป็นการยกฟ้องจำเลยร่วม จำเลยทั้งสามยังคงอุทธรณ์ว่า จำเลยร่วมเป็นผู้ต้องรับผิดต่อโจทก์ มิใช่จำเลยทั้งสาม จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งโจทก์และเป็นอุทธรณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยร่วมด้วยเช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยร่วมยังเป็นคู่ความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามโดยสั่งให้ส่งสำเนาแก่โจทก์ แต่ไม่ได้ส่งสำเนาแก่จำเลยร่วมเพื่อแก้อุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 235 และการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไปโดยมิได้มีคำสั่งให้แก้ไขเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาดังกล่าวเสียก่อนกับการที่ศาลชั้นต้นไม่นัดจำเลยร่วมมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยมิชอบ เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา จึงต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วย้อนสำนวนกลับไปดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบด้วยมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7234/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 235 และผลกระทบต่อการพิจารณาคดี
หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตรวจคืนหลักประกันแก่ผู้ค้ำประกัน และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินจำนวน 71,000 บาท มาคืนต่อศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องโต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์คำพิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโฉนดที่ดินอันเป็นหลักประกันคืนจากผู้ค้ำประกัน เพื่อโจทก์จะได้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป และให้นำเงินจำนวน 71,000 บาท ที่โจทก์รับไปแล้วมาหักทอนกับค่าเสียหายตามคำพิพากษาอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ค้ำประกัน ต้องถือว่าผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยอุทธรณ์ด้วย การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ โดยไม่สั่งให้ส่งนำเนาอุทธรณ์แก่ผู้ค้ำประกัน จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 235 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาคดีไปโดยไม่สั่งให้ศาลชั้นต้นแก้ไขให้ถูกต้อง ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา ศาลฎีกาจึงต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 243 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 969/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีเมื่อคู่ความถึงแก่ความตายระหว่างการพิจารณาคดี ศาลต้องดำเนินการตามกฎหมายเพื่อหาผู้แทน
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานเจ้าหน้าที่ว่า ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้แก่ตัวโจทก์ไม่ได้เพราะโจทก์เสียชีวิต หากโจทก์ถึงแก่ความตายจริงก็ต้องถือว่าโจทก์ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ คดีจะดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไปได้ก็ต่อเมื่อมีบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะ และศาลจะต้องมีคำสั่งในการที่จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนตามนัยมาตรา 42 และ 44 แห่ง ป.วิ.พ. ก่อน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีไปโดยที่ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าวนั้น เป็นการมิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาตามมาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 เป็นการไม่ชอบ และการที่โจทก์ถึงแก่ความตายขณะคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ย่อมเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะมีคำสั่งเกี่ยวกับการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8167/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบันทึกคำให้การด้วยวาจาในคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ต้องทำตามแบบพิมพ์ที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นเป็นกระบวนการไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นรับฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก คดีนี้จำเลยแสดงความจำนงที่จะให้การด้วยวาจาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 196 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 193 วรรคสาม ศาลชั้นต้นย่อมมีหน้าที่ต้องจัดให้เจ้าพนักงานศาลจดบันทึกรายละเอียดของคำให้การลงในแบบพิมพ์บันทึกคำให้การด้วยวาจาคดีมโนสาเร่ (แบบ ม.2 ) แล้วอ่านให้จำเลยฟังและให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้ ทั้งนี้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 9 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พุทธศักราช 2477 ข้อ 2 การที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่จดคำให้การด้วยวาจาของจำเลยลงในรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งเป็นเอกสารที่บันทึกข้อความเกี่ยวด้วยเรื่องที่ได้กระทำในการนั่งพิจารณาหรือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นของศาลตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 48 โดยไม่ได้จัดให้เจ้าพนักงานศาลจดบันทึกรายละเอียดคำให้การของจำเลยลงในแบบพิมพ์ ม.2 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 เมื่อปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ศาลฎีกาจำต้องส่งสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247
of 29