คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วินัย เรืองศรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 45 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินต่อเนื่องยาวนานทำให้มีสิทธิในที่ดิน แม้มีการออกโฉนดไม่ชอบ
การครอบครองที่จะให้ได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ต้องเป็นการครอบครองทรัพย์สินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ ทั้งจะต้องเป็นการครอบครองในลักษณะที่เป็นปรปักษ์ต่อสิทธิของผู้อื่น กล่าวคือ เจ้าของเดิมจะต้องยังคงมีสิทธิอยู่ในทรัพย์สินนั้น ๆ ถ้าไม่มีสิทธิหรือสิทธิที่มีอยู่สิ้นไปแล้ว การที่คนใหม่เข้ามาใช้สิทธิครอบครองในทรัพย์สินแทน ก็หาใช่เป็นการครอบครองปรปักษ์ไม่
ถ. และ ส. ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่บิดาผู้ร้องตั้งแต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าที่ยังไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ ต่อมาที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องบรรยายคำร้องขอโดยยืนยันความเป็นเจ้าของสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเช่นนี้ ผู้ร้องก็ไม่อาจอ้างการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1382 ได้ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นโมฆะ แม้มีสัญญาซื้อขายและทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่า สัญญาจะซื้อจะขายในส่วนของที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิทั้งสองแปลงเป็นโมฆะเนื่องจากที่ดินสาธารณประโยชน์ไม่อาจซื้อขายกันได้ ดังนี้ โจทก์ย่อมมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นว่าสัญญาจะซื้อจะขายในส่วนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ไม่ได้ตกเป็นโมฆะตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขและวินิจฉัยไปตามภาระการพิสูจน์ที่ถูกต้องได้
ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิทั้งสองแปลงเป็นที่ชายตลิ่งที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 การมีหรือการได้สิทธิครอบครองในที่ดินจึงต้องอาศัยการยึดถือครอบครองตามความเป็นจริง หาอาจโอนกันได้ดังเช่นสิทธิครอบครองที่รัฐให้การรับรองสิทธิแล้วไม่ ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิทั้งสองแปลงและสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยทั้งสองให้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายในส่วนดังกล่าวได้ และเมื่อโจทก์ยังไม่ได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่บนที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิทั้งสองแปลงดังกล่าว ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง จึงไม่อาจฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิทั้งสองแปลงดังกล่าวได้เช่นกัน
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิทั้งสองแปลงฐานลาภมิควรได้นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาจะซื้อจะขาย มิได้ตั้งประเด็นในเรื่องลาภมิควรได้และขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนเงินค่าที่ดินแต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าที่ดินให้แก่โจทก์ได้
สำหรับที่โจทก์ขออ้างส่งสำเนาคำฟ้อง แผนที่วิวาท สำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความและสำเนาคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 556/2560 ของศาลชั้นต้นเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นพยานเพิ่มเติมนั้น เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารที่โจทก์ขอให้ใช้ประกอบดุลพินิจของศาลฎีกาในข้อที่โจทก์ฎีกาว่า สิทธิครอบครองในที่ดินสาธารณประโยชน์สามารถโอนให้แก่กันได้ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานในประเด็นแห่งคดีแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่ต้องขออนุญาตระบุเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินมีเงื่อนไข เมื่อผู้รับบริจาคไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้
หนังสือแสดงความประสงค์เรื่อง การอุทิศที่ดินให้กับทางราชการหรือยินยอมให้ทางราชการเข้าไปดำเนินการเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทำขึ้นระหว่างโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้บริจาคกับจำเลยในฐานะผู้รับบริจาค แม้จะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองและจำเลยในฐานะเป็นบุคคลสิทธิ จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ระบุไว้ในหนังสือแสดงความประสงค์ดังกล่าว เมื่อการยกให้ แก่จำเลยเป็นการยกให้โดยมีเงื่อนไข ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจะตกเป็นของทางราชการและตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ต่อเมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว จำเลยไม่ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ภายในระยะเวลาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในหนังสือแสดงความประสงค์ ก็ต้องถือว่าที่ดินพิพาทยังไม่ตกเป็นของทางราชการและไม่ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1433/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในสัญญาซื้อขาย แม้การโอนกรรมสิทธิ์ถูกขัดขวางจากการกระทำของลูกจ้าง (จำเลยที่ 2) การปลอมเอกสารไม่ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิด
โจทก์ไม่ได้ตกลงโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยร่วมเนื่องจากจำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จะขายจึงมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ตามกำหนด ย่อมถือว่าเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา และเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 จะยกเรื่องตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจขึ้นกล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ นอกจากนี้เมื่อการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ต้องไปว่ากล่าวกันเอง หาใช่เป็นเรื่องเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากการชำระหนี้ไม่
การกระทำของจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในมูลละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็ก การฟังข้อเท็จจริงใหม่ของศาลอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ และการแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า อวัยวะเพศของผู้ร้องที่ 1 มีขนาดเล็ก อวัยวะเพศของจำเลยทิ่มถูกบริเวณอวัยวะเพศของผู้ร้องที่ 1 ทำให้ผู้ร้องที่ 1 เข้าใจว่าสอดใส่เข้าไป จึงเป็นเพียงการพยายามกระทำชำเราเท่านั้น และพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องข้อ 1 (2) ถึงข้อ 1 (28) และข้อ 1 (29) ถึงข้อ 1 (37) ฐานพยายามกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องข้อดังกล่าวว่าอวัยวะเพศของจำเลยล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้ร้องที่ 1 เป็นการกระทำชำเราสำเร็จแล้ว ถือเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฟังข้อเท็จจริงใหม่ซึ่งแตกต่างจากศาลชั้นต้น แต่เมื่อคดีนี้โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 863/2563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 814/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิด พ.ร.บ.เช็ค: การออกเช็คเพื่อชำระหนี้จริง & เจตนาออกเช็คเพื่อใช้หนี้
การออกเช็คที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบการกระทำความผิด การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินกู้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว คำฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
เช็คมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย ทั้งจำนวนเงินและวันที่ลงในเช็คตรงตามหนังสือรับสภาพหนี้ เมื่อโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงินตามปกติแสดงว่าจำเลยออกเช็คไว้ล่วงหน้าให้เป็นการชำระหนี้ มิใช่เพียงเพื่อประกันหนี้ จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คมอบให้โจทก์เป็นผู้กรอกวันเดือนปีในเช็คต่อหน้าจำเลยด้วยความยินยอมเห็นชอบของจำเลย ถือว่าจำเลยเป็นผู้ออกเช็คดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2563 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การช่วยเหลือคนต่างด้าวผิดกฎหมายเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาต ถือเป็นความผิดฐานซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือ
ขณะถูกจับกุม น. และ ร. ไม่มีหนังสือเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมายเป็นหลักฐานเหมือนเช่น ส. และ จ. โดยมีเพียงสำเนาหนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างมาแสดงเท่านั้น หนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างดังกล่าวออกโดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสงครามเพื่อรับรองว่า น. และ ร. ทำงานรับจ้างกับ ธ. นายจ้างที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งแม้ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการอนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงานตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จะมิได้กล่าวถึงกรณีที่คนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานในราชอาณาจักรสามารถเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตทำงานได้หรือไม่ แต่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2561 ข้อ 4 กำหนดว่า การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวตามประกาศนี้เป็นอันสิ้นผลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (3) ออกนอกเขตท้องที่กรุงเทพมหานครหรือจังหวัดที่ได้จัดทำทะเบียนประวัติหรือจังหวัดที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ดังนี้ เมื่อ น. และ ร. ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานกับนายจ้างที่จังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น น. และ ร. จึงไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือไปไหนมาไหนได้ตามอำเภอใจอีกทั้ง น. และ ร. ได้แจ้งความประสงค์ไว้ในสำเนาหนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างว่าจะเข้ารับการตรวจสัญชาติในกรุงเทพมหานคร แต่ น. และ ร. กลับว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้ขับรถจากจังหวัดสมุทรสงครามไปส่งที่ชายแดนไทย - กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เพื่อกลับไปเยี่ยมญาติที่ประเทศกัมพูชาแต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน ซึ่งการที่ น. และ ร. เดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ และไม่ได้ไปรับการตรวจสัญชาติในกรุงเทพมหานคร แต่ว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้ขับรถไปส่งที่ชายแดนไทย - กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ 4 (3) จึงมีผลให้การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวสิ้นผลไป การที่จำเลยทั้งสองขับรถกระบะของกลางนำพา น. และ ร. จากจังหวัดสมุทรสงครามไปส่งที่ชายแดนไทย - กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี โดยรู้อยู่แล้วว่า น. และ ร. เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายพ้นจากการจับกุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มัดจำสูงเกินส่วน-สิทธิริบ-ความผิดสัญญา-ดุลพินิจศาล-ลดหย่อนมัดจำ
บทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เป็นกฎหมายที่ประสงค์จะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้วางมัดจำ ศาลจึงสามารถนำบทบัญญัติมาตรานี้มาปรับใช้กับสัญญาทั่ว ๆ ไปที่มีการให้สิ่งใดเป็นมัดจำได้ หาจำกัดเฉพาะสัญญาที่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เท่านั้นไม่ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อบทบัญญัติมาตรา 7 ส่วนท้าย บัญญัติไว้ว่า "...ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้" จึงเป็นดุลพินิจของศาลที่จะปรับลดมัดจำที่สูงเกินส่วนลงหรือไม่ก็ได้ มิได้บังคับศาลให้ต้องลดมัดจำเสมอไป ประกอบกับใน ป.พ.พ. มาตรา 377 ซึ่งเป็นบทกฎหมายทั่วไป ได้บัญญัติในเรื่องมัดจำไว้ว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย" และมาตรา 378 บัญญัติไว้ว่า "มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้ (2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น (3)..." การปรับลดมัดจำจึงต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของมาตรา 377 ที่ต้องการให้มัดจำเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญา รวมทั้งต้องคำนึงถึงว่าฝ่ายที่วางมัดจำมีส่วนผิดหรือไม่ด้วย ซึ่งก็ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในแต่ละคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป
of 5