คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เสถียร ศรีทองชัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 27 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5854/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบรถยนต์ที่ใช้ซ่อนเร้นขนย้ายบุหรี่เถื่อนตาม พ.ร.บ.ศุลกากร
คดีนี้ฟ้องโจทก์บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลยฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งบุหรี่ของกลางอันเป็นสินค้าที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร และบรรยายฟ้องตอนท้ายว่าจำเลยใช้รถยนต์ของกลางดังกล่าวในการบรรทุกซ่อนเร้นและขนย้ายบุหรี่ของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีและมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพทั้งจำเลยฎีกายอมรับว่าเก็บบุหรี่ของกลางไว้ภายในตู้ลำโพงภายในห้องโดยสารรถยนต์ที่จำเลยตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อการประกวดแข่งขันเครื่องเสียงติดรถยนต์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยใช้รถยนต์ของกลางในการซ่อนเร้นขนย้ายบุหรี่ของกลาง ประกอบกับการขนย้ายบุหรี่ของกลาง 200 ซอง จากนอกราชอาณาจักรเข้ามาในราชอาณาจักรหรือมีบุหรี่ของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีไว้ในครอบครองดังกล่าว หากไม่มีรถยนต์ของกลางบรรทุกบุหรี่ของกลางจำนวนมากถึง 200 ซอง ย่อมไม่สามารถขนย้ายบุหรี่ของกลางจำนวนดังกล่าวให้รอดพ้นจากการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ได้สำเร็จ ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยมิใช่เป็นการใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะในการสัญจรตามปกติโดยทั่วไป แต่เป็นการใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดโดยใช้ซ่อนเร้นและขนย้ายบุหรี่ของกลางอันพึงต้องริบตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4410/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับสภาพหนี้และการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค การสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ที่บังคับได้
หนังสือรับสภาพหนี้มีข้อความชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ 467,000 บาท จำเลยยอมชำระหนี้ดังกล่าวโดยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยและโจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือดังกล่าวด้วย หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่โจทก์สามารถนำไปฟ้องร้องให้จำเลยรับผิดทางแพ่งได้โดยตรง การที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงเป็นการสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค เนื่องจากลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่ให้ไว้แก่ธนาคารโดยจำเลยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4128/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบรถยนต์ของกลางในคดีศุลกากร ต้องพิจารณาปริมาณของกลางและเจตนาการใช้ยานพาหนะ
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนรถยนต์ของกลางเพียงว่า รถยนต์เป็นยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ในการกระทำผิดโดยใช้ลำเลียงขนส่งบุหรี่ของกลาง โดยไม่ได้บรรยายว่าใช้ยานพาหนะในการซ่อนเร้นบุหรี่ของกลางด้วย แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองใช้ยานพาหนะของกลางในการซ่อนเร้นบุหรี่ของกลาง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์ให้ศาลริบยานพาหนะที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการขนย้ายของที่โดยสภาพหรือจำนวนไม่สะดวกหรือไม่อาจขนย้ายได้หากปราศจากยานพาหนะในการขนย้าย ดังนั้น แม้คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ แต่เมื่อพิจารณาปริมาณบุหรี่ของกลางที่ไม่ได้เสียภาษีอากรและไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรซึ่งมีจำนวนและน้ำหนักเพียงเล็กน้อย โดยสภาพและจำนวนบุหรี่ของกลางไม่ถึงกับต้องใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะในการขนย้าย ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะใส่หรือวางบุหรี่ของกลางไว้ในรถยนต์ของกลาง แต่เมื่อยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการใช้ยานพาหนะในการซ่อนเร้นจึงยังถือไม่ได้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงและยังถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้ยานพาหนะในการขนย้ายบุหรี่ของกลางตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 จึงไม่อาจริบรถยนต์ของกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3306/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ค่าชดเชย ดอกเบี้ย และวันหยุดพักผ่อนประจำปี
ระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย หมวดที่ 10 ระเบียบวินัยและมาตรการในการลงโทษทางวินัย ข้อ 14 กำหนดโทษสำหรับพนักงานที่กระทำผิดวินัยไว้ทั้งสิ้น 7 ประการ โดยไม่มีเรื่องการลงโทษปรับเงิน แต่การที่โจทก์ลงโทษปรับเงินผู้ใต้บังคับบัญชานั้นเกิดจากมติของที่ประชุมพนักงานขาย อีกทั้งโจทก์เบิกความยอมรับว่า ในการทำงานโจทก์ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย และทราบว่าจำเลยมีปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน รวมทั้งโจทก์ได้ลงชื่อในเอกสารความผูกพันส่วนตัวของข้าพเจ้าต่อ "ปรัชญาและสำนึกในการปฏิบัติงาน" (The spirit & The Letter หรือ S&L) ไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่า โจทก์ทราบอย่างดีว่าจำเลยให้ความสำคัญกับการที่พนักงานของจำเลยทุกคนซึ่งรวมถึงตัวโจทก์จะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับการทำงานซึ่งรวมถึงการลงโทษพนักงานที่กระทำความผิดอย่างเคร่งครัด การที่โจทก์ประชุมพนักงานขายแล้วมีมติให้ลงโทษปรับพนักงานที่กระทำความผิด ซึ่งเป็นโทษที่ไม่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับการทำงานของจำเลยเป็นการกระทำโดยพลการ จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่การจะพิจารณาว่าการกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่นั้น ต้องคำนึงถึงลักษณะของการกระทำ พฤติการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เป็นแต่ละกรณีไปว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ เมื่อโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการภาค มีหน้าที่ดูแลพนักงานขายและบริหารยอดขาย และทางสอบสวนของจำเลยไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าโจทก์นำเงินของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปรับมาได้ไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์หรือบุคคลอื่นอย่างชัดเจน ทั้งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้แย้งว่า พนักงานที่ถูกลงโทษปรับเงินเป็นพนักงานที่กระทำความผิดหรือปฏิบัติงานคลาดเคลื่อน บกพร่องจริง การลงโทษปรับประมาณครั้งละ 300 บาท แสดงว่าโจทก์ลงโทษปรับเงินเพื่อต้องการให้พนักงานปฏิบัติให้ถูกต้องตามหน้าที่และระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกรณีที่ร้ายแรง และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เคยตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อน จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5)
โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง เมื่อจำเลยไม่ชำระภายในกำหนด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้าง โจทก์ยังคงเหลือวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิจำนวน 1.5 วัน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เลิกจ้างตามส่วนให้แก่โจทก์ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง โดยโจทก์มีสิทธิได้รับเงินจำนวนดังกล่าวเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง ตามมาตรา 70 วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่ชำระภายในกำหนด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 888/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงื่อนไขคุมความประพฤติในการเยียวยาโจทก์ต้องชัดเจนและเป็นไปได้ กรณีคดีเช็ค
จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 (1) (2) และ (5) ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้รอการกำหนดโทษและคุมความประพฤติของจำเลยที่ 2 ไว้ มีกำหนด 2 ปี และกำหนดเงื่อนไขในการเยียวยาโจทก์ร่วม โดยให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินตามเช็คที่ค้างชำระอยู่แก่โจทก์ร่วมภายในระยะเวลารอการกำหนดโทษ โดยให้ชำระทุก 3 เดือน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นต้นไป โดยนำมาวางต่อศาลชั้นต้นหรือโดยวิธีการที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนดตาม ป.อ. มาตรา 56 วรรคสอง (10) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ระบุว่าจำนวนยอดหนี้ตามเช็คพิพาทที่ค้างชำระอยู่เป็นจำนวนเท่าใด จึงเป็นการยากที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ ทั้งจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งมาโดยตลอดว่าได้มีการชำระหนี้เงินต้นบางส่วนแก่โจทก์ร่วมแล้ว โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของโจทก์ร่วมหลายครั้งตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 แม้ศาลล่างทั้งสองจะฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้ต้นเงิน แต่จำนวนยอดหนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ร่วมมีเพียงใดนั้น โจทก์ร่วมจะต้องไปฟ้องร้องบังคับเป็นคดีแพ่งต่างหาก ซึ่งในการพิจารณาคดีแพ่งดังกล่าวศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีนี้อันเป็นคดีอาญา เนื่องจากการฟ้องร้องคดีแพ่งดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 แต่อย่างใด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า คดีแพ่งดังกล่าวมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ไม่อยู่ในบังคับบัญญัติมาตรา 46 แห่ง ป.วิ.อ. การกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติในการเยียวยาโจทก์ร่วมจึงไม่เป็นไปตามควรแก่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 418/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หมิ่นประมาททางออนไลน์: การตั้งคำถามโดยไม่สุจริตถือเป็นการยืนยันข้อเท็จจริง
จำเลยโพสต์ในเพจองค์กรพลังชาวพุทธว่า "#ข่าวนี้จริงหรือไม่? มีมูลหรือเปล่า? สาเหตุแท้จริงเรื่องนี้มาจากอะไร? ทำไมท่านวันนอร์?? ถึงได้ทำแบบนี้? ท่านวันนอร์? จะชี้แจงสังคมอย่างไร? #สังคมไทยกำลังเคลือบแคลง?? และจำเลยตัดต่อข้อความลงบนรูปโจทก์มีข้อความว่า "จริงหรือไม่? วันนอร์นำทีมกลุ่มวาดะห์รับบริจาคเงินช่วยเหลือโจรใต้..." จำเลยโพสต์ในเพจองค์กรพลังชาวพุทธว่า "#มันแปลกดีนะ?? เป็นไปได้อย่างไร? ท่านวันนอร์!! มีบ้านใหญ่โตสุดหรู?? แต่อยู่อย่างปลอดภัย!! อยู่อย่างเป็นสุข!! โจรชั่วมุสลิม BRN!! ไม่เคยไปรบกวน?? เป็นเพราะอะไร? เป็นเพราะอะไร?" "#มันแปลกดีนะ!! เป็นเพราะอะไร? นายวันนอร์ปลอดภัย!! ตลอด 20 ปี?? ทหาร, พระ, ผู้บริสุทธิ์ตาย! เกือบหมื่นศพ? นายวันนอร์มีวิธีอย่างไร? ถึงปลอดภัย? #ไม่เคยมีข่าวถูกคุกคามสักครั้ง "#แปลกไหมครับ? เป็นไปได้อย่างไร? ใครอธิบายได้บ้าง? โจรชั่วกบฏมุสลิม Brn!! ก่อเหตุฆ่าพระ ทหารและผู้บริสุทธิ์ ฯลฯ เกือบหมื่นศพ!!.. มาเกือบ 20 ปี!! แต่ไม่เคยเกิดเหตุร้ายใดใดกับนายวันนอร์ ครอบครัวและบริวาร รวมทั้งทรัพย์สินเลยสักครั้ง?????...." เห็นว่า การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 นั้น ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาใส่ความผู้อื่นในลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ด้วยการเผยแพร่ข้อความไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป และข้อความนั้นตามความรู้สึกของวิญญูชนโดยทั่วไปถึงขั้นทำให้ผู้อื่นนั้นน่าจะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยโพสต์และข้อความที่จำเลยนำมาใส่บนรูปโจทก์ในเพจเฟซบุ๊กของจำเลยและองค์กรพลังชาวพุทธแล้ว ทำให้วิญญูชนโดยทั่วไปที่พบเห็นและอ่านแล้ว มีความรู้สึกหรือเข้าใจได้ว่า โจทก์เป็นคนไม่ดี เกี่ยวข้องกับขบวนการ BRN ซึ่งเป็นขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันส่งผลให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังได้ ลักษณะการใส่ความของจำเลยก็เป็นการโพสต์ข้อความซ้ำแล้วซ้ำอีก บ่งชี้ถึงเจตนาของจำเลยว่าเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงตามที่โพสต์ไป ที่จำเลยอ้างว่า การโพสต์ของจำเลยมีลักษณะเป็นการตั้งคำถามต่อโจทก์ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง และเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม เห็นว่า แม้จำเลยจะเพิ่มข้อความว่า จริงหรือไม่ ในลักษณะเป็นคำถามก็ตาม พฤติการณ์เช่นนี้บ่งชี้ได้ว่า จำเลยตั้งคำถามโดยไม่สุจริตใจและมีเจตนาเพื่อจะหลีกเลี่ยงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 จึงมิใช่กรณีไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงตามที่จำเลยต่อสู้ ส่วนเรื่องการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมนั้น เมื่อจำเลยได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับตัวโจทก์และต้องการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่จำเลยนำสืบ แต่จำเลยไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่นอนก่อนที่จะโพสต์ข้อความ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เคยสอบถามปัญหาดังกล่าวต่อโจทก์โดยตรงมาก่อน จำเลยก็ยังมีวิธีการที่จำเลยจะดำเนินการหรือร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบได้อีกหลากหลายวิธี โดยไม่มีเหตุที่จะต้องตั้งคำถามในลักษณะกล่าวหาใส่ร้ายโจทก์เช่นนี้ การกระทำของจำเลยเห็นได้ว่ามีเจตนาที่ต้องการประจานโจทก์ให้ได้รับความอับอายขายหน้า จึงเป็นการใส่ความโจทก์ในประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 หาใช่มีเจตนาเพียงต้องการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม อันจะทำให้จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) ไม่
อนึ่ง คดีนี้จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ศาลชั้นต้นรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงลดโทษให้จำเลย แทนที่จะลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าการลดโทษแต่ละกระทงเสียก่อนแล้วจึงรวมโทษเข้าด้วยกันตาม ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4887/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนมรดกโดยผู้จัดการมรดก การแบ่งมรดก และผลกระทบต่อสิทธิทายาทอื่น
เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินทั้ง 7 แปลงไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 เมื่อ ช. ซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์มรดกย่อมตกแก่ทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1620 และ 1629 ซึ่งทายาทโดยธรรมของ ช. คือโจทก์ทั้งห้าและจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่งมรดกในส่วนของตนได้
แม้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและนำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่นำที่ดินไปแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นตามสิทธินั้น เป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งห้าผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคาร และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมไม่ทำให้จำนองเสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3853/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของหน่วยงานรัฐต่อละเมิดของเจ้าหน้าที่ กรณีขายทอดตลาดโดยประมาทเลินเล่อ และการปรับอัตราดอกเบี้ยผิดนัด
เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ธนาคาร อ. ผู้รับจำนองทราบก่อนการขายทอดตลาด เป็นเหตุให้ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด ด้วยเหตุดังกล่าว เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ในเรื่องสำคัญและเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องมีความระมัดระวังในเรื่องนี้เพราะเป็นหน้าที่ของตนตามกฎหมาย แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวัง ย่อมเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ความรับผิดทางละเมิดในกรณีเช่นนี้จึงตกอยู่แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 285 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่เป็นกรณีที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เนื่องจากมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ บัญญัติว่า "บรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับใด ๆ ในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน" ดังนั้น ในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กล่าวคือ มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้ บัญญัติว่า "หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้..." กรณีจึงไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า ข้อ 4 ของหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน มีผลยกเว้นความรับผิดทางละเมิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ เพียงใด เนื่องจาก ป.วิ.พ. มาตรา 285 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ได้บัญญัติในเรื่องนี้ไว้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อ 4 ของหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน ได้ระบุยกเว้นความรับผิดของเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้ กรณียังฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีและจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 285 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ดังนั้น กรณีต้องรับฟังว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่โจทก์โดยความประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3620/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับ การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ข้อ 10 (1) สโมสรรัฐสภาไม่ได้เป็นนิติบุคคลที่อยู่ในหน้าที่ควบคุมดูแลของโจทก์และมิได้เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตามประกาศรัฐสภา โดยผู้จัดการสโมสรรัฐสภาและคณะกรรมการสโมสรรัฐสภามีอำนาจดูแลและจัดการบริหารทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา อนุมัติการจ่ายเงินของสโมสรรัฐสภา และจัดการซึ่งกิจการโดยทั่วไปของสโมสรรัฐสภา โจทก์มิได้เป็นคณะกรรมการสโมสรรัฐสภาหรือผู้จัดการสโมสรรัฐสภา จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานหรือจัดการทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา คำสั่งแต่งตั้งให้จำเลยเป็นประธานกรรมการสโมสรรัฐสภา และผู้จัดการสโมสรจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มิได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะมีอำนาจเข้าบริหารกิจการและทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา โจทก์ในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินหรือเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของสโมสรรัฐสภา การเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาหรือไม่ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิด ทั้งการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการอันเป็นผลเสียหายแก่รัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ การกระทำความผิดของจําเลยที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำต่อรัฐซึ่งเป็นอำนาจของหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดดังกล่าวตาม ป วิ อ. มาตรา 28 (1) โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147, 151, 157, 334 และ 335

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2483/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาหลังจำหน่ายคดีแล้ว ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา อุทธรณ์ไม่ต้องห้าม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ย่อมมีผลทำให้คดีเสร็จไปจากศาลชั้นต้นแล้ว ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณานับแต่โจทก์ถอนฟ้องและเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าว อันเป็นคำสั่งที่เกิดขึ้นภายหลังมีคำสั่งจำหน่ายคดีแล้ว คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา อุทธรณ์ของจำเลยไม่ต้องห้ามและคำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่เป็นที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 และ 198 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4
of 3