คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 369

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 805 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อไม่สมบูรณ์ ผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา ส่งมอบทรัพย์สินไม่ได้จดทะเบียน ผู้เช่าซื้อมีสิทธิบ่ายเบี่ยงชำระค่าเช่าซื้อ
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อไม่เหมาะสมแก่การใช้งาน จำเลยมีสิทธิบ่ายเบี่ยงไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ได้โดยไม่ถือว่าผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ติดตามทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยและจำเลยมิได้โต้แย้งสัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันโดยปริยาย เมื่อเหตุแห่งการสิ้นสุดของสัญญาสืบเนื่องมาจากความผิดของโจทก์ที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้จำเลยจดทะเบียนรถที่เช่าซื้อต่อกรมการขนส่งทางบกและได้ความว่าเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสูญหายไป การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเพิกเฉยต่อการจดทะเบียนรถที่เช่าซื้อให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ปรากฏจากข้อนำสืบของโจทก์ว่าตามปกติประเพณีในการทำสัญญาเช่าซื้อที่ถือปฏิบัติกันมาผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถบรรทุกหรือรถหางพ่วงพร้อมอุปกรณ์โดยทั่วไปจะถือว่าตนมีหน้าที่เพียงส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้ใช้ประโยชน์เท่านั้น ส่วนการดำเนินการทางทะเบียนและเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนซึ่งตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จะมีอยู่และต้องจัดการอย่างไรไม่ใช่ข้อสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงดังเช่นที่โจทก์ปฏิบัติ ประกอบกับปรากฏว่าเอกสารต่าง ๆ ของสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ทำกับผู้บริโภครายอื่นสูญหายอีกจำนวนมาก ข้อเท็จจริงที่กล่าวมานับว่าการประกอบธุรกิจของโจทก์ย่อหย่อนมิได้กระทำไปด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 ดังนี้ เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยายกับทั้งโจทก์มีพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าขาดราคา เบี้ยปรับ ค่าติดตามรถบรรทุกที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบริการทางการศึกษา - การผิดสัญญาและค่าเสียหาย - การคืนเงินค่าแรกเข้าและรักษาสภาพนักเรียน
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยจัดการสอนโครงการนานาชาติไม่เป็นไปตามที่โฆษณา แม้จำเลยจะเป็นส่วนราชการ การใช้จ่ายเงินใด ๆ ต้องเสนอของบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ก็ตาม แต่จำเลยเปิดการเรียนการสอนโครงการนานาชาติขึ้นนอกเหนือหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายและค่าเล่าเรียนในอัตราสูง ย่อมไม่อาจนำข้ออ้างที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการมายกเว้นหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามคำโฆษณาได้ จึงต้องถือว่าจำเลยผิดสัญญาให้บริการทางการศึกษา ในส่วนที่โจทก์ขอค่าแรกเข้าหรือเงินบริจาคคืน นั้น แม้เงินค่าแรกเข้าจะตกเป็นของจำเลย แต่โจทก์ชำระเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยตามสัญญาให้บริการทางการศึกษาซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยจึงมีหน้าที่ชำระหนี้ตอบแทนตามสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ค่าแรกเข้าเป็นเงินที่จำเลยเรียกเก็บเพียงครั้งเดียวเพื่อใช้ในการทัศนศึกษาของแต่ละคน แต่บุตรโจทก์ได้รับค่าสูท 1 ชุด ค่าสมัครสอบ TOEFL Junior 1 ครั้ง 500 บาท จัดติว 30 ชั่วโมง แต่ยังไม่ได้ไปทัศนศึกษายังต่างประเทศ และยังไม่ได้ทดสอบภาษาอีกหลายครั้ง โจทก์จึงได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยผิดสัญญาดังเหตุข้างต้น กรณีถือว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าแรกเข้าหรือเงินบริจาคคืนอันเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 ส่วนที่โจทก์ชำระค่ารักษาสภาพการเป็นนักเรียนให้แก่จำเลย 5,000 บาท นั้น เพื่อให้เด็กชาย ช. ยังคงมีสถานะเป็นนักเรียนโครงการนานาชาติของจำเลยในระหว่างที่เด็กชาย ช. ไปเรียนต่อยังต่างประเทศ ถือเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง ไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือคืนเงินได้ ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยคืนเงินค่ารักษาสภาพการเป็นนักเรียนแก่โจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724-5725/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาต่างตอบแทนและตัวแทน: การรับผิดจากความประมาทเลินเล่อและการปลอมแปลงเอกสาร
การที่จะเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 จะต้องได้ความว่าผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนประสงค์ทำกิจการร่วมกัน หากผลประกอบการมีกำไรก็แบ่งกำไรกัน หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน แต่ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงแบ่งกำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศคงมีแต่ข้อตกลงให้โจทก์แบ่งรายได้ค่าพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที รายได้ดังกล่าวมิใช่กำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้เป็นการร่วมกิจการโดยมุ่งประสงค์จะแบ่งกำไร จึงไม่มีลักษณะเป็นหุ้นส่วนกัน
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งโจทก์ไม่อาจเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการได้ ด้วยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหุ้นส่วน จำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อลูกค้าและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการ อันเป็นการร่วมกันทำผิดหน้าที่ของหุ้นส่วนและตัวแทน เป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลละเมิดและปฏิบัติผิดสัญญา แม้ความรับผิดในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่ความรับผิดตามสัญญาไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยทั้งสองผิดสัญญาระหว่างปี 2544 ถึงปี 2547 นับถึงวันฟ้องทั้งสองสำนวนวันที่ 24 มิถุนายน 2553 และ 19 พฤศจิกายน 2553 ตามลำดับ ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และได้ทำข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เข้ากับชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์แบบอัตโนมัติ โดยแบ่งรายได้จากค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที ต่อมาจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ากับชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 แบ่งรายได้จากค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 2 เป็นรายนาทีเช่นกัน ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 โดยโจทก์มีหน้าที่ต้องเปิดให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากค่าใช้บริการให้จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานของผู้ใช้บริการ หากจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการจนโจทก์ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการได้ ย่อมเป็นการละเมิดและผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ลูกค้าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยอัตโนมัติ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยปฏิเสธไม่ให้ลูกค้าของจำเลยที่ 2 ใช้บริการ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนโดยปริยายของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการขอใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ลักษณะการให้บริการของจำเลยทั้งสองยังถือได้ว่าร่วมกันให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยผ่านชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ด้วย แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วน กับขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาตัวแทน แต่เนื้อหาของข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนและตัวแทนโดยปริยาย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองไว้ครบถ้วนแล้ว เพียงแต่โจทก์ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนและตัวแทน ศาลก็มีอำนาจที่จะปรับบทกฎหมายให้ตรงกับคำบรรยายฟ้อง เนื้อหาของข้อตกลง และสัญญาดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการ อันเป็นผลโดยตรงทำให้โจทก์ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนในการทำสัญญากับผู้ใช้บริการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 812 จำเลยที่ 1 คู่สัญญาต่างตอบแทนกับโจทก์ และร่วมกับจำเลยที่ 2 ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5091/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทน การบังคับชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย และอำนาจฟ้องของทายาท
ส. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับจำเลย โดย ส. ชำระราคารวมมัดจำให้แก่จำเลยแล้ว 1,691,272 บาท คงมีหนี้ค้างชำระ 22,828 บาท ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสี่ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ส. กับจำเลยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายแสดงความประสงค์จะเลิกสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายยังมีความประสงค์ที่จะให้มีการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้ต่อกัน ดังนี้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งคู่สัญญาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ต่อกัน หากบังคับฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ก็ต้องบังคับให้อีกฝ่ายชำระหนี้ตอบแทนได้ แม้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยมิได้มีคำขอท้ายฟ้องเสนอขอชำระราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เหลือให้แก่จำเลยตามสัญญาก็ตาม เนื่องจากโจทก์ทั้งสี่เข้าใจว่า ส. ได้ชำระราคาให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วเช่นนี้ ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทั้งสี่จึงมีอำนาจฟ้อง และศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญา โดยบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ทั้งสี่ และกำหนดให้โจทก์ทั้งสี่ร่วมกันชำระราคาบ้านและที่ดินให้แก่จำเลยได้ เพราะเป็นเรื่องการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน กรณีไม่เป็นการพิพากษาเกินกว่าคำขอของโจทก์ทั้งสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15668/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทน: ข้อพิพาทจากการร่วมประกอบการก่อสร้าง การแบ่งผลกำไรตามสัดส่วนการลงทุน
การที่จำเลยมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ประมูลงานและทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนกับกรมสามัญศึกษาและให้โจทก์ทั้งสามก่อสร้างโดยโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ลงทุนและรับค่าจ้างในนามจำเลย หากโจทก์ทั้งสามขาดเงินทุนและจำเลยออกเงินทดรองจ่ายไป โจทก์ทั้งสามจะใช้คืนพร้อมดอกเบี้ย ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นตัวแทนของโจทก์ทั้งสามในการทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา เพราะจำเลยยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจ้างก่อสร้างกับกรมสามัญศึกษา แต่การที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยต่างต้องลงทุนและก่อสร้าง และจำเลยยังต้องรับผิดตามสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นการตกลงร่วมกันประกอบกิจการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สัญญานี้ย่อมบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 และ 369 แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นตัวแทน แต่เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นเรื่องตกลงร่วมกันประกอบการโดยต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จึงเป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนไปว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาตัวแทน ศาลย่อมมีอำนาจใช้บทบัญญัติเรื่องสัญญาต่างตอบแทนบังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 134 มิใช่การพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15016/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทน (การให้บริการซอฟต์แวร์) ไม่ใช่สัญญาซื้อขาย จำเลยมีหน้าที่ชำระเงินเมื่อได้รับบริการครบถ้วน
สัญญาการให้สิทธิและการบริการทั้งสองฉบับเป็นสัญญาที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้ซอฟต์แวร์ระบบบริหารจัดการโรงแรมโดยจำเลยยินยอมจ่ายค่าตอบแทน ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งซึ่งมีผลผูกพันคู่สัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ไม่ใช่สัญญาซื้อขาย จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุที่ทรัพย์สินซึ่งซื้อขายชำรุดบกพร่องมาเป็นเหตุปฏิเสธไม่ชำระเงินแก่โจทก์ได้
สำหรับวัตถุประสงค์ของสัญญานั้นปรากฏข้อความในตอนต้นของสัญญาการให้สิทธิและการบริการทั้งสองฉบับว่า จำเลยประสงค์จะได้รับการจัดหา การติดตั้ง การบำรุงรักษา และสิทธิการใช้ระบบบริหารโรงแรมตามที่ระบุในภาคผนวก ก ซึ่งคือระบบซอฟต์แวร์ทั้งสี่ระบบ เมื่อโจทก์ได้จัดหา ติดตั้ง บำรุงรักษา และให้สิทธิจำเลยใช้ระบบซอฟต์แวร์ทั้งสี่ระบบตามสัญญาแล้ว ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ตรงตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาการให้สิทธิและการบริการทั้งสองฉบับซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนในส่วนของตนแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาสัญญาให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7019/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติสัมพันธ์ซื้อขาย vs. ตัวแทน สัญญาค้ำประกันขอบเขตความรับผิดชอบ
โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 รับสลากกินแบ่งรัฐบาลตามสิทธิของโจทก์จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกรมสามัญศึกษาจังหวัดเลย จำกัด เพื่อนำไปขายต่อให้บุคคลภายนอก มีลักษณะเป็นสัญญาตัวแทน โจทก์ผูกพันที่จะต้องชำระค่าสลากกินแบ่งแก่สหกรณ์ฯ แต่ในส่วนที่โจทก์มอบสลากกินแบ่งรัฐบาลของตนให้จำเลยที่ 1 นำไปขายต่อให้บุคคลอื่นแล้วนำกำไรหรือส่วนต่างจากการขายมาแบ่งปันระหว่างกันนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 นำสลากกินแบ่งรัฐบาลของโจทก์ไปจำหน่ายแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องนำเงินต้นทุนค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลไปชำระให้แก่สหกรณ์ฯ เพื่อที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดถัดไปจากสหกรณ์ฯ นำไปจำหน่ายต่อ จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะมีนิติสัมพันธ์บังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลคืนแก่โจทก์ทุกงวดนอกเหนือจากการแบ่งกำไรส่วนหนึ่งที่โจทก์จะได้รับจากการจำหน่ายสลาก ทั้งปรากฏว่ามีสมาชิกสหกรณ์อีกหลายคนมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการในลักษณะเดียวกันเป็นกิจจะลักษณะเหมือนเป็นผู้อยู่ในวงการซื้อขายโดยตรง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้สร้างกิจการขึ้นมาโดยหวังกำไรจำนวนมากจากส่วนต่างของราคาขายในแต่ละงวดหลังจากแบ่งปันกำไรบางส่วนให้โจทก์และผู้มอบหมายคนอื่นแล้ว เมื่อสภาพการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลมีนัยการกำหนดราคาขายไม่ต่ำกว่าต้นทุน การตั้งราคาขายเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดและตกลงกับผู้ซื้อโดยอาศัยอำนาจของตนเอง เมื่อพิจารณาประกอบกับจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยินยอมรับสภาพหนี้ค่าสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่สหกรณ์แล้ว ตามพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ตัวแทนขายในนามโจทก์
หนังสือสัญญากู้ที่จำเลยที่ 1 ทำให้ไว้แก่โจทก์ จึงมีที่มาจากมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้ และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4568/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเร่งรัดหนี้สิน: ผู้รับจ้างไม่ต้องชดใช้หนี้ที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้
ตามสัญญารับดำเนินการข้อ 2.1 และ 2.2 มีใจความโดยสรุปว่า จำเลยที่ 1 จะเร่งรัดดำเนินการเก็บเงินที่ลูกหนี้ของโจทก์ค้างชำระโดยใช้ใบเสร็จรับเงินของโจทก์เป็นหลักฐานในการรับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทุกสัปดาห์ หากจำเลยที่ 1 ยึดหน่วงเงินไว้ไม่ส่งมอบภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริต นอกจากนี้ตามสัญญาข้อ 2.3 ยังระบุว่า หากจำเลยที่ 1 สามารถติดตามเร่งรัดหนี้สินและส่งมอบเงินให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 2,841,051 บาท โจทก์จะโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อลูกหนี้ของโจทก์ 1,529,796 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทนไม่มีข้อความในสัญญาตอนใดกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ในกรณีไม่สามารถเก็บเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ได้ แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ว่ามุ่งประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เร่งรัดติดตามหนี้สินให้แก่โจทก์เพียงอย่างเดียวรวมทั้งมีหน้าที่ส่งมอบเงินที่เรียกเก็บให้แก่โจทก์ทุกสัปดาห์ มิฉะนั้นจำเลยที่ 1 ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 มอบเงินที่เก็บได้ให้แก่โจทก์แล้ว แต่ยังไม่สามารถเก็บเงินได้อีก 1,099,529.55 บาท จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ส่งผลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17523/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทนผิดนัดชำระหนี้ จำเลยมีสิทธิไม่ส่งมอบโฉนด ผู้ฟ้องไม่มีอำนาจฟ้อง
ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยทั้งโจทก์และจำเลยต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาต่อกัน หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดประพฤติผิดสัญญาอีกฝ่ายย่อมมีสิทธิงดเว้นหรือเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ เมื่อโจทก์ไม่เคยชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินให้แก่จำเลยนับแต่ทำสัญญาเป็นต้นมา การที่จำเลยยอมทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ไปดำเนินการรวมโฉนดและแบ่งแยกที่ดินนั้นถือว่าเป็นการผ่อนผันให้โจทก์ติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินเบื้องต้น แต่ที่ไม่ยอมส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 8 ฉบับ ไปด้วยก็สืบเนื่องจากโจทก์ผิดนัดชำระดอกเบี้ยแก่จำเลยตามสัญญา กรณีจะฟังว่าจำเลยประพฤติผิดสัญญาหาได้ไม่
การที่จำเลยฟ้องโจทก์เพื่อให้ชำระหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง โจทก์จำเลยได้ตกลงขอให้ศาลจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์ชำระเงินกู้ 14,000,000 บาท แก่จำเลย แต่แล้วโจทก์เพิกเฉยเป็นเหตุให้จำเลยขอศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดที่ดินที่จำนองทั้ง 8 แปลง ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ให้เห็นว่า โจทก์เองเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญามาแต่แรก การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและประวิงคดีที่จำเลยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองให้ล่าช้าออกไปนั้นเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17245/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประเมินราคาทรัพย์สิน: ความรับผิดชอบของผู้ประเมินต่อความเสียหายจากราคาที่ไม่ถูกต้อง
สัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 มีข้อตกลงในข้อ 6 ว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดในการสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินหรือรายงานผลการก่อสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเกิดโดยความประมาทเลินเล่อ จงใจ หรือทุจริต ซึ่งมีผลให้มูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินราคาสูงขึ้น หรือต่ำกว่าตามปกติที่เป็นจริง หรือผิดไปจากวิชาชีพการประเมินราคา โดยจำเลยที่ 1 ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ความรับผิดดังกล่าวนั้นจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่โจทก์เป็นผู้กำหนดขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ประเมินราคาหลักประกันลูกค้าของโจทก์ทั้งสามรายไม่ถูกต้อง โดยประเมินราคาหลักประกันลูกค้ารายที่ 1 และที่ 2 สูงกว่าความเป็นจริง และรายที่ 3 ไม่ได้รายงานผลการปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำถนนสาธารณะซึ่งต้องไม่ประเมินราคาสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ทำให้ราคาประเมินสูงกว่าความเป็นจริงอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญา ถือเป็นการผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า สตอ. ส. จสต. อ. และ ว. ลูกค้าของโจทก์ผิดนัดชำระหนี้ และโจทก์ได้ฟ้องบังคับคดีขายทอดตลาดหลักประกันแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ โดยคณะทำงานดำเนินการเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ได้กำหนดวิธีชดใช้ค่าเสียหาย เงื่อนไขหลุดพ้นความรับผิดชอบ และการฟ้องบังคับคดีลูกหนี้ตามเอกสารหมาย จ.16 ข้อ 3.3.1 และข้อ 3.3.2 ว่า กรณีลูกหนี้ผ่อนชำระปกติให้บริษัทประเมินรับสภาพหนี้เอาไว้ก่อน ยังไม่ต้องชำระค่าเสียหาย ถ้าลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ลดลงจนหลักประกันคุ้มยอดหนี้ ให้ถือว่าบริษัทประเมินหลุดพ้นจากการรับสภาพหนี้ และกรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ให้ฟ้องบังคับคดีและเอาหนี้ส่วนที่ขาดจากบริษัทประเมินตามที่ได้รับสภาพหนี้ไว้ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยประเมินราคาหลักประกันสูงกว่าความเป็นจริงและไม่รายงานสภาพที่แท้จริงของหลักประกัน ย่อมทำให้โจทก์ใช้ราคาประเมินดังกล่าวมาเป็นฐานในการคำนวณวงเงินกู้และอนุมัติเงินกู้ให้แก่ลูกค้าสูงกว่ามูลค่า ที่แท้จริงของหลักประกัน ทำให้เกิดความเสี่ยงในการได้รับชำระหนี้คืนในส่วนยอดหนี้ที่เกินกว่าราคาหลักประกันมีผลถึงการประกอบกิจการโดยรวมของโจทก์ กรณีย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้แล้ว หาใช่เป็นกรณีที่ความเสียหายที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้น แต่ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 890,000 บาทนั้น ค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์กำหนดตามข้อสัญญาที่ว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่โจทก์เป็นผู้กำหนดขึ้น และโจทก์กำหนดตามราคาประเมินหลักประกันของลูกค้าทั้งสามรายที่สูงกว่าความเป็นจริง กรณีจึงเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ซึ่งศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
of 81