คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชูเกียรติ ดิลกแพทย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 29 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3683/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดมูลค่าสรรพสามิตจากราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม: ความชอบด้วยกฎหมายและหลักเกณฑ์
พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมของโจทก์ตามแบบแจ้งราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม (แบบ ภษ.01-44) สอดคล้องกับราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี จำเลยจึงชอบที่จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 (1) วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ประกาศกำหนดมูลค่าของสินค้าเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีได้ มูลค่าของสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลมเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีต้องกำหนดจากราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมของสินค้าในตลาดปกติ กล่าวคือ พิจารณาจากราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมของเครื่องดื่มน้ำอัดลมในตลาดปกติโดยส่วนใหญ่ตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งพยานจำเลยเบิกความถึงหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติในการพิจารณาเพื่อหาราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติว่าพิจารณาจากสัดส่วนเปรียบเทียบกับราคาขายปลีกของสินค้า คือ ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติของเครื่องดื่มไม่ควรน้อยกว่าร้อยละ 75 ของราคาขายปลีก หากน้อยกว่า จำเลยอาจประกาศกำหนดมูลค่าสินค้าได้ เป็นไปตามหนังสือกรมสรรพสามิต ลับมาก ด่วนมาก ที่ กค 0622/190 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ที่มาจากการศึกษาวิเคราะห์ภาพรวมของราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม ราคาขายที่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมขายไปจริง ราคาขายปลีกในท้องตลาด และข้อมูลจากงบการเงินของผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าประเภทเครื่องดื่มน้ำอัดลมและถัวเฉลี่ยตามหลักวิชาแล้วสรุปว่า สัดส่วนราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมต่อราคาขายปลีกไม่ควรน้อยกว่าร้อยละ 75 และจำเลยได้ใช้เกณฑ์ดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติในการหาราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติและประกาศกำหนดมูลค่าสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลมตั้งแต่ปี 2549 รวมทั้งในการออกประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าเครื่องดื่มที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี (ฉบับที่ 1/2556) ลงวันที่ 8 มกราคม 2556 แสดงว่าจำเลยได้ประกาศกำหนดมูลค่าของสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลมของโจทก์ โดยพิจารณาจากราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติตามสภาพความเป็นจริงของลักษณะการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องดื่มน้ำอัดลม และอาศัยการเปรียบเทียบต้นทุน ราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม ราคาขายปลีกแนะนำ และราคาขายปลีกของผู้ประกอบอุตสาหกรรมรายอื่นกับโจทก์ การออกประกาศกรมสรรพสามิตดังกล่าวจึงชอบแล้ว
จำเลยพิจารณาราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมของโจทก์เปรียบเทียบกับราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมของผู้ประกอบอุตสาหกรรมสินค้าประเภทเดียวกันรายอื่นก่อนมีหนังสือทบทวนราคาขายไปยังโจทก์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้แสวงหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องและเปิดโอกาสให้โจทก์ได้ทราบข้อเท็จจริงเพื่อโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานแล้ว เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าว หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับข้อเท็จจริงที่ว่าสัดส่วนราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมต่อราคาขายปลีกของโจทก์ต่ำกว่าเครื่องดื่มน้ำอัดลมรายอื่นและจำเลยจะพิจารณาออกประกาศกำหนดมูลค่าเครื่องดื่ม โจทก์ก็สามารถส่งเอกสารเพื่อโต้แย้งหรือพิสูจน์ที่มาของรายละเอียดโครงสร้างราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมได้ นอกจากนี้หนังสือขอให้ทบทวนราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม ออกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ส่วนประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดมูลค่าเครื่องดื่มที่ผลิตในราชอาณาจักรเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี (ฉบับที่ 1/2556) ออกเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 โจทก์จึงมีเวลาในการโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานต่อจำเลยนานถึง 2 เดือนเศษก่อนที่จำเลยจะออกประกาศกำหนดมูลค่าเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นระยะเวลาพอสมควร ประกาศดังกล่าวจึงชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 29 และมาตรา 30
ประกาศของจำเลยมีการระบุข้อกฎหมายที่อ้างอิง คือ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 8 (1) วรรคสาม จึงชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง (2) แม้ประกาศของจำเลยจะมิได้แสดงให้ชัดเจนว่าการกำหนดมูลค่าเพื่อถือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี โดยคำนวณจากราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติของสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลม เป็นการกำหนดจากต้นทุนประเภทใด ที่ราคาเท่าใด บวกกำไรในอัตราเท่าใด หรือราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมในตลาดปกติคือราคาใดและมีที่มาอย่างไรตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่โจทก์ทราบข้อเท็จจริงตามหนังสือขอให้ทบทวนราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมแล้วว่า จำเลยได้เปรียบเทียบราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม ราคาขายปลีกที่แนะนำตามแบบแจ้งราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม (แบบ ภษ.01-44) กับราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม ราคาขายปลีกที่แนะนำของผู้ประกอบอุตสาหกรรมรายอื่นในสินค้าประเภทเดียวกัน และพบว่าสัดส่วนราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรมต่อราคาขายปลีกของโจทก์ต่ำกว่ารายอื่น ซึ่งหากไม่มีเหตุผลอันสมควร จำเลยอาจออกประกาศกำหนดมูลค่าเครื่องดื่มต่อไป โจทก์จึงทำหนังสือชี้แจงและส่งหลักฐานเพื่อประกอบการชี้แจงทั้งสามครั้งได้ ประกอบกับหลังจากจำเลยประกาศกำหนดมูลค่าเครื่องดื่มแล้ว โจทก์ก็อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว เมื่อพิจารณาเนื้อหาในอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของโจทก์ ก็พบว่าโจทก์สามารถทำคำอุทธรณ์โดยแสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลต่าง ๆ เพื่อโต้แย้งการกำหนดมูลค่าสินค้าเครื่องดื่มน้ำอัดลมตามประกาศได้อย่างละเอียดพร้อมเหตุผล ถือว่าโจทก์ได้รู้ข้อเท็จจริงและข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนซึ่งเป็นเหตุผลในการออกประกาศกำหนดมูลค่าเครื่องดื่มดังกล่าวแล้ว จึงเป็นกรณีที่เหตุผลในการออกคำสั่งทางปกครองเป็นที่รู้กันอยู่แล้วไม่จำต้องระบุอีกตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 37 วรรคสาม (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3370/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-นับโทษคดีเช็ค: การฟ้องคดีเช็คใหม่ที่ไม่เป็นฟ้องซ้ำ และประเด็นการนับโทษเมื่อคดีก่อนถอนฟ้อง
คดีก่อน โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมเช็ค 3 ฉบับ ที่จำเลยสั่งจ่ายพร้อมสัญญากู้เงินก่อนทำหนังสือรับสภาพหนี้และสั่งจ่ายเช็คตามฟ้อง เมื่อเช็คที่โจทก์ทั้งสองนำไปฟ้องจำเลยในคดีก่อนเป็นเช็คคนละฉบับกับที่มาฟ้องเป็นคดีนี้ ซึ่งเป็นการกระทำต่างกัน แม้จำเลยจะออกเช็คเพื่อชำระหนี้อันมีหนี้มาจากหนี้กู้ยืมเช่นเดียวกันก็ตาม โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2623/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจใบอนุญาตมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่: ตีความกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่จำเลยเมื่อไม่มีข้อห้ามชัดเจน
พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 49 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 กำหนดว่า ผู้ใดประสงค์จะเป็นมัคคุเทศก์ก็ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์จากนายทะเบียน การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งถือเป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการประกอบอาชีพ และมีการกำหนดโทษทางอาญาไว้ตามมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น การพิจารณาว่าใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ บัตรสีชมพู มีเงื่อนไขห้ามนำเที่ยวทางทะเลชายฝั่งในพื้นที่ที่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ จึงต้องตีความบทกฎหมายดังกล่าวตลอดจนข้อกำหนดในกฎกระทรวงโดยเคร่งครัด จะตีความเพื่อขยายความให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง เมื่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 ซึ่งคู่ความนำสืบรับกันว่ามีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ ข้อ 1 กำหนดว่า ให้ยกเลิกความในข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "ข้อ 1 การอนุญาตให้เป็นมัคคุเทศก์ แบ่งเป็นสองประเภท ดังนี้ (1) มัคคุเทศก์ทั่วไป หมายความว่า มัคคุเทศก์ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับงานนำเที่ยวครอบคลุมในทุกสาขา สำหรับนำนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยใช้ภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศ (2) มัคคุเทศก์เฉพาะ หมายความว่า มัคคุเทศก์ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับงานนำเที่ยวเฉพาะสาขา เช่น สาขาประวัติศาสตร์ โบราณคดี และการนำเที่ยวป่า เป็นต้น อันเป็นการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจในสาขานั้น ๆ ตามที่นักท่องเที่ยวต้องการจะทราบ..." และ ข้อ 2 กำหนดว่า ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 5 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "ข้อ 5 ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ก็มีสองประเภท ดังนี้ (1) ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ทั่วไป ให้ใช้ได้ทั่วราชอาณาจักรตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต (2) ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะ ให้ใช้ได้เฉพาะงานนำเที่ยวเฉพาะสาขาและตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต" จะเห็นว่าไม่มีข้อความตอนใดที่กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ให้ได้ความชัดเจน ทั้งที่เหตุผลในการออกกฎกระทรวงท้ายกฎกระทรวงระบุว่า "มัคคุเทศก์เฉพาะปฏิบัติงานนำเที่ยวได้เฉพาะสาขาหรือเฉพาะพื้นที่.." แสดงถึงเจตนารมณ์ในการออกกฎกระทรวงที่ต้องการแยกเงื่อนไขในการใช้ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะสาขาและเฉพาะพื้นที่ออกจากกัน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเงื่อนไขการใช้ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวซึ่งระบุว่าให้ใช้ได้เฉพาะงานนำเที่ยวเฉพาะสาขาจะหมายความรวมถึงใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ด้วยหรือไม่ ประกอบกับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ของจำเลย ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขห้ามนำเที่ยวเฉพาะสาขาด้วยแล้ว กรณีจึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยว่า ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ บัตรสีชมพู ซึ่งออกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2539) ไม่มีเงื่อนไขที่กำหนดห้ามนำเที่ยวทางทะเลชายฝั่งในพื้นที่ที่ได้รับใบอนุญาต เมื่อพิจารณาเงื่อนไขในการใช้ใบอนุญาตมัคคุเทศก์ชนิดต่าง ๆ มัคคุเทศก์เฉพาะทางทะเลชายฝั่ง บัตรสีเหลือง สามารถนำเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2535/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทความผิดอาญาตามกฎหมายใหม่ที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด และการกำหนดโทษตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด โดยขณะกระทำความผิด การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) เมื่อฐานความผิดตามมาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องปรับบทความผิดตามกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดตามมาตรา 3 แต่ระวางโทษตามมาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ที่ใช้ในภายหลังมีระวางโทษเท่ากับมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ในส่วนระวางโทษตามกฎหมายที่ใช้ในภายหลังจึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องกำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองห้องชุด, การรับผิดของลูกหนี้ร่วม, ดอกเบี้ยผิดนัด, การบังคับชำระหนี้
ข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของ จ. ว่า จำเลยที่ 4 ปลอมลายมือชื่อตน ทำรายงานการประชุมเท็จ และนำห้องชุด 20 ห้องของจำเลยที่ 5 ไปจดทะเบียนจำนองกับโจทก์ตามฟ้อง และ จ. มาฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นคดีอาญาและคดีแพ่งดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วหรือไม่ ผลแห่งคดีเป็นเช่นไร ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 4 ดังกล่าวนั้น ก็เป็นเรื่องการดำเนินการภายในของจำเลยที่ 5 ไม่มีผลผูกพันโจทก์ โดยโจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองห้องชุด 20 ห้อง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างไร ข้ออ้างของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวจึงใช้ยันโจทก์ไม่ได้ โจทก์มิอาจทราบได้ว่าจำเลยที่ 4 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 5 ดังที่จำเลยที่ 5 ฎีกา ประกอบกับโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 5 โดยชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนองเพิ่มหลักทรัพย์เป็นประกันโดยไม่เพิ่มวงเงิน รวม 20 ห้องชุด และตามสัญญาค้ำประกัน ตามที่โจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2154/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับสถานพยาบาลที่เจ้าของดำเนินกิจการเอง ต้องประเมินตามรายรับจริงและหลักเกณฑ์ที่กำหนด
โจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองจึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยมีอำนาจประเมินค่ารายปีและค่าภาษีพิพาท โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ซึ่งจําเลยมีคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 1856/2550 เรื่อง การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 และบันทึกข้อความของกรุงเทพมหานครที่ กท. 1302/222 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 เรื่อง การกำหนดอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางเพื่อใช้ประกอบในการประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน ข้อ 19 โรงพยาบาล โพลีคลินิกระบุให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีโดยนํารายรับจริงจากค่าห้องพักผู้ป่วยรวมตลอดปี ตามรายละเอียดที่ผู้รับประเมินแจ้ง หรือตรวจสอบจากงบแสดงฐานะการเงินของโรงพยาบาลนั้น ๆ หักด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่รวมอยู่ด้วย (เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าฯ) ในอัตราร้อยละ 20 อันเป็นวิธีการกำหนดค่ารายปีตามบันทึกข้อความดังกล่าวของจําเลยเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางประกอบการประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งกำหนดอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางแบ่งตามประเภทของทรัพย์สินรวม 19 ประเภท โดยโรงเรือนของโจทก์จัดอยู่ในประเภท 19 โรงพยาบาล โพลีคลินิก และได้จําแนกประเภทของโรงพยาบาล โพลีคลินิก ออกเป็น 2 ประเภทอีกด้วย คือ 1.โรงพยาบาล โพลีคลินิก ที่สร้างอาคารเอกเทศเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ และ 2.โรงพยาบาล โพลีคลินิก ที่ดัดแปลงต่อเติมมาจากตึกแถว หลักเกณฑ์การกำหนดค่ารายปีพื้นที่ส่วนห้องพักผู้ป่วย ดังนั้น วิธีการกำหนดค่ารายปีของจําเลยตามบันทึกข้อความดังกล่าว จําเลยกำหนดขึ้นโดยคํานึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของมาตรา 8 วรรคสาม เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยมีแนวทางปฏิบัติเดียวกันในการเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน กรณีโรงเรือนที่มีลักษณะพิเศษที่หาค่าเช่าไม่ได้ หรือที่เจ้าของใช้ประกอบกิจการเอง แต่การประเมินค่ารายปีและค่าภาษีสำหรับปีภาษีพิพาทแก่โจทก์ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยไม่ถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เมื่อพิเคราะห์บัญชีและเอกสารของโจทก์จะเห็นได้ว่า มีการลงรายการทางบัญชีแต่ละช่วงเวลาโดยระบุชื่อนามสกุลของผู้ป่วยไว้อย่างละเอียด มีการลงบัญชีแยกประเภทไว้อย่างสมบูรณ์โดยมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองความถูกต้อง และรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของ พ. มีข้อมูลรายได้สุทธิสอดคล้องถูกต้องตรงกับงบการเงินซึ่งจําเลยไม่เคยโต้แย้งถึงความถูกต้องแท้จริงของเอกสารทางบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต จึงน่าเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการรายรับจริงจากค่าห้องพักผู้ป่วยรวมตลอดปีตามแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน โจทก์ประกอบกิจการสถานพยาบาล มีรายได้หลายประเภท เช่น ค่ายา ค่าแพทย์ ค่าอุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ค่าอาหาร รายได้จากผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้นอนพักห้องผู้ป่วย รายได้จากผู้ป่วยในที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และรายได้ค่าบริการรักษาทางการแพทย์อื่น ๆ กำไรของแต่ละประเภทของปีภาษีย่อมแตกต่างกันไปแล้วแต่การให้บริการของโจทก์ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยประเมินค่ารายปีและภาษีจากราคาค่าห้องหรือค่าเตียงแต่ละประเภทคูณด้วยจำนวนครั้งที่ใช้ห้องหรือเตียงในแต่ละประเภทในปี 2557 และ 2558 ตามข้อมูลที่โจทก์นําส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเปรียบเทียบสัดส่วนหรือค่าเฉลี่ยระหว่างรายได้ค่าห้องพักผู้ป่วยกับรายได้รวมหรือกำไรหลายปีมาเทียบแล้วนํามากำหนดค่ารายปีของปีภาษี 2558 และปีภาษี 2559 เป็นหลักเพื่อเรียกเก็บค่าภาษีแล้วบวกเพิ่มอีกร้อยละ 6.54 และร้อยละ 0.23 ตามลำดับ โดยให้เหตุผลว่าโจทก์แสดงค่าห้องพักผู้ป่วยน้อยกว่าความเป็นจริงจึงไม่ใช่ค่าเช่าอันสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ทั้งที่โจทก์แจ้งรายได้ค่าห้องพักผู้ป่วยจริงประจำปีภาษี 2558 จำนวน 32,993,614.42 บาท และประจำปีภาษี 2559 จำนวน 31,865,492.21 บาท โดยโจทก์มีรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองว่าได้ทำการตรวจสอบรายได้ค่าห้องและส่วนลดค่าห้องของโจทก์สำหรับปี 2557 และปี 2558 แล้ว ทั้งจําเลยไม่เคยโต้แย้งหรือนําสืบถึงความไม่น่าเชื่อถือของรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั้งสองฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีจึงรับฟังได้ว่าโจทก์มีรายได้ค่าห้องพักรับจริงในปี 2557 เป็นเงิน 32,993,614.42 บาท และปี 2558 เป็นเงิน 31,865,492.21 บาท การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยจึงไม่ชอบ ส่วนที่จําเลยอ้างว่าคณะกรรมการพิจารณาคําร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่มีมติให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานโดยกำหนดค่ารายปีจากจำนวน ห้องพักผู้ป่วยและจำนวนเตียงคนไข้ที่มีการใช้งานในปี 2557 และปี 2558 ตามข้อมูลที่โจทก์อ้างส่ง โดยค่ารายปีห้องพักผู้ป่วยของโจทก์แยกต่างหากจากรายได้ค่าอาหาร จึงต้องกำหนดค่ารายปีพื้นที่ส่วนห้องพักผู้ป่วยต้องหักด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่รวมอยู่ด้วยในอัตราร้อยละ 20 ตามหลักเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนดไว้ดังกล่าว จากข้อมูลตารางสรุปที่แสดงรายละเอียดอัตราค่าเช่าห้องพักที่โจทก์จัดทำขึ้น จึงกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีจากห้องจำนวน 214 ห้อง จำนวนเตียงที่เปิดให้ใช้ 257 เตียง ในหนึ่งปี 365 วัน เมื่อคำนวณรายได้จากห้องพักผู้ป่วยแยกตามประเภทห้องผู้ป่วยโดยกำหนดราคาจากห้อง ห้องละ 300 บาท ถึง 4,600 บาท คูณจำนวนผู้ป่วยที่เข้าพัก (เตียง) ในปีภาษี 2558 จะมีรายรับจากห้องพักผู้ป่วยในปี 2557 เท่ากับ 102,405,200 บาท หักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 20 (กรณีไม่รวมค่าอาหาร) ตามหลักเกณฑ์ที่จําเลยกำหนดไว้จะได้ค่ารายปีเป็นเงินเท่ากับ 81,924,160 บาท คิดเป็นค่าภาษีเท่ากับ 10,240,520 บาท และในปีภาษี 2559 จะมีรายรับจากห้องพักผู้ป่วยในปี 2558 เท่ากับ 99,155,400 บาท หักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 20 (กรณีไม่รวมค่าอาหาร) ตามหลักเกณฑ์ที่จําเลยกำหนดไว้จะได้ค่ารายปีเป็นเงินเท่ากับ 79,324,320 บาท คิดเป็นค่าภาษีเท่ากับ 9,915,540 บาท เห็นว่า วิธีการที่จําเลยใช้กำหนดค่ารายปีเป็นการกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีแตกต่างจากแนวปฏิบัติ เมื่อคําชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังคงนําการประเมินค่ารายปีที่ไม่ชอบโดยนํารายได้ค่าห้องพักรวมกับค่าส่วนลดทางการค้าและค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมเข้าด้วยกันเป็นฐานในการประเมินหาได้ประเมินตามแนวปฏิบัติ โดยนํารายรับจริงจากค่าห้องพักผู้ป่วยรวมตลอดปีตามรายละเอียดที่ผู้ประเมินแจ้ง หรือตรวจสอบจากงบแสดงฐานะการเงินของสถานพยาบาลนั้น ๆ หักด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่รวมอยู่ เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งอํานวยความสะดวกอื่น ๆ ในห้อง ในอัตราร้อยละ 20 คําชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงไม่ชอบด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2127/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วม กรณีประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย และการคำนวณค่าขาดไร้อุปการะ
แม้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต่างคนต่างขับรถโดยประมาท แต่ความประมาทของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นหนี้อันมิอาจแบ่งแยกจากกันได้ จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 ประกอบมาตรา 291 เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยร่วมเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล 14,631 บาท แก่โจทก์แล้ว จึงเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 292 โจทก์มิอาจเรียกค่ารักษาพยาบาลจำนวนเดียวกันนี้จากจำเลยที่ 1 ได้อีกเพราะจะเป็นการซ้ำซ้อนกัน
ค่าใช้จ่ายของญาติผู้ตายที่เดินทางมาช่วยจัดการศพ และค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีกรรมลอยอังคารและทำบุญถวายพระเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ นอกเหนือไปจากค่าปลงศพ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคหนึ่ง
ขณะเกิดเหตุ โจทก์มีอายุ 48 ปี ส่วนผู้ตายกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาสถิติประยุกต์ มหาวิทยาลัย ท. หากผู้ตายไม่ถึงแก่ความตายย่อมมีโอกาสจบการศึกษาและประกอบอาชีพมีรายได้จากการทำงาน เห็นควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะในอัตราเดือนละ 14,000 บาท เป็นเวลา 15 ปี
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี หรือ อัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1585/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึด/อายัดทรัพย์เพื่อชำระภาษีค้างชำระ: ระยะเวลา 10 ปี เริ่มนับเมื่อใด และการยึดทรัพย์เกินจำนวนหนี้
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ ส. และ ม. มีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ในนามคณะบุคคล ส. ป. และ ม. สำหรับปีภาษี 2539 ปีภาษี 2540 ปีภาษี 2541 (ครึ่งปี) และปีภาษี 2541 และถึงกำหนดชำระแล้ว แต่ทั้งสามคนมิได้เสียภาษีอากรดังกล่าวแต่อย่างใด ภาษีอากรซึ่งต้องเสียย่อมถือเป็นภาษีอากรค้างตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคหนึ่ง แม้เพื่อให้ได้รับชําระภาษีอากรค้าง อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรได้ แต่เมื่อคดีนี้โจทก์ยังอุทธรณ์การประเมิน และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์ได้นําคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ระยะเวลา 10 ปี ในการยึดและอายัดจึงยังไม่อาจเริ่มนับแต่วันแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้ โดยหลังจากโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว โจทก์ ส. และ ม. อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552 และต่อมาโจทก์ได้ฟ้องจําเลยขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลาง และได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 การนับระยะเวลา 10 ปี จึงต้องนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อเจ้าพนักงานของจําเลยมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 วันที่ 20 กันยายน 2560 วันที่ 3 ตุลาคม 2560 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 จึงเป็นการมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คำสั่งยึดอายัดทรัพย์สินและประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวจึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
คำสั่งอายัดที่ให้อายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในบัญชีเงินฝากธนาคาร นั้น จำนวนเงินดังกล่าวเป็นการอายัดสิทธิเรียกร้องของโจทก์ระบุจำนวนเต็มตามจำนวนหนี้ภาษีอากรค้างที่โจทก์และคณะบุคคลคงค้างชําระ ณ วันที่มีคำสั่งอายัดว่า ห้ามโจทก์และธนาคารจําหน่าย จ่าย โอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นใด นอกจากนําส่งเป็นแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายจําเลยนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งอายัด และหรือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่มีเงินฝากเข้ามาในบัญชีภายหลังได้รับคำสั่งอายัด หาได้หมายความว่าเป็นจำนวนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ในขณะนั้นไม่ ทั้งได้ความจาก ส. นิติกรชํานาญการของจําเลยว่า เจ้าพนักงานของจําเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษีที่เป็นคณะบุคคลไว้ 3 ราย มิใช่บังคับโจทก์เพียงผู้เดียว เมื่อรวมรายการทรัพย์สินที่ได้มีการยึดและอายัดไว้ทั้งหมดแล้ว พบว่าทรัพย์สินของผู้ค้างชําระภาษีที่ได้มีการยึดและอายัดไว้มีราคาประเมินรวม 153,357,884.52 บาท ซึ่งก็ยังมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะชําระหนี้ภาษีอากรค้าง ณ ปี 2561 ซึ่งมีจำนวน 920,047,432.25 บาท ซึ่งจําเลยก็ได้ให้การไว้เช่นนี้ แต่โจทก์ไม่ได้นําสืบโต้แย้งถึงการยึดและอายัดทรัพย์สินจำนวนและมูลค่าดังกล่าวให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จําเลยยึดและอายัดทรัพย์สินของโจทก์เกินกว่าจำนวนหนี้ภาษีอากรค้าง
โจทก์มีเงินภาษีที่ค้างชําระในฐานะที่เป็นบุคคลในคณะบุคคล ส. ป. และ ม. ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 56 วรรคสอง โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดในเงินภาษีที่ค้างชําระร่วมกับ ส.และ ม. ทั้งหมด หาใช่รับผิดเพียง 1 ใน 3 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 814/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกักยึดสินค้านำเข้าที่สงสัยแหล่งที่มา และความผิดสำแดงเท็จ ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนที่จะนำของใด ๆ ไปจากอารักขาของศุลกากร ผู้นำของเข้าต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้ และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร กับต้องยื่นใบขนสินค้าโดยถูกต้อง และเสียภาษีอากรจนครบถ้วนหรือวางเงินไว้เป็นประกัน การขอวางเงินประกันให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด คดีนี้เหตุที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกักและยึดรถยนต์โดยสารที่พิพาทไว้ก็เพื่อตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของสินค้า โดยมีการสืบสวนทราบว่ารถยนต์โดยสารที่พิพาททั้งหมดมีต้นทางส่งออกมาจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมายังประเทศมาเลเซีย และทางราชการของประเทศมาเลเซียได้ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) สำหรับรถยนต์โดยสารที่พิพาทให้กับบริษัท อ. หลังจากนั้น รถยนต์โดยสารที่พิพาทถูกจัดส่งมายังประเทศไทย พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่ากรณีเป็นการสำแดงประเทศกำเนิดของสินค้าเป็นเท็จ (Form D) และใช้สิทธิลดอัตราอากรของที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอาเซียนเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 99 และมาตรา 27 ซึ่งตามคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 16/2558 เรื่อง หลักเกณฑ์และพิธีการการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากอาเซียน ข้อ 4 วิธีปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ศุลกากร (2.8) กำหนดว่า กรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยในถิ่นกำเนิดสินค้าว่า สินค้าที่นำเข้าไม่อยู่ในข่ายได้รับยกเว้นอากรหรือลดอัตราอากร...หากสินค้านั้นมิได้เป็นสินค้าต้องห้ามหรือต้องกำกัดในการนำเข้าและไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉ้อฉลให้ท่าหรือที่หรือด่านศุลกากรหรือสำนักงานศุลกากรสั่งการปล่อยสินค้าไปก่อน โดยให้วางประกันให้คุ้มค่าภาษีอากร ส่วนหลักเกณฑ์ประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2556 ข้อ 2 01 09 09 การปฏิบัติเกี่ยวกับข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าที่ตรวจพบความผิดหรือที่มีการจับกุมและของยังไม่ได้ตรวจปล่อยจากอารักขาศุลกากร ข้อ (1) กำหนดว่า เมื่อมีการตรวจพบความผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และของยังไม่ได้ตรวจปล่อยพ้นไปจากอารักขาศุลกากร ให้หน่วยงานที่ตรวจพบความผิดดังกล่าวส่งเรื่องที่ตรวจพบความผิดไปให้หน่วยบริการศุลกากรทำการประเมินราคาและอากรของที่ตรวจพบความผิด เพื่อเรียกเก็บค่าภาษีอากรที่ขาดและค่าปรับ ให้ครบถ้วนก่อนตรวจปล่อยของต่อไป หากผู้นำของเข้าไม่ยินยอมชำระค่าภาษีอากรที่ขาดและค่าปรับ (หากมี) ให้แจ้งหน่วยงานด้านคดีส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ในกรณีที่ผู้นำของเข้ามีความประสงค์จะขอให้ตรวจปล่อยของออกไปก่อนแล้วพิจารณาความผิดภายหลัง เมื่อได้ทำการประเมินอากรของที่ตรวจพบความผิด และได้ค่าภาษีอากรที่ขาดแล้วให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำหนดยอดเงินประกันให้คุ้มค่าภาษีอากรที่ขาดและกำหนดเงินค่าเปรียบเทียบปรับค่าภาษีอากร ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยเร็ว ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาเปรียบเทียบงดการฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ข้อ 1 03 03 01 (10) กำหนดให้ความผิดฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากร หรือความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากรให้ปรับสองเท่าของอากรที่ขาด และให้ชำระค่าภาษีอากรที่ขาดให้ครบถ้วน พร้อมเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทยที่ขาด (ถ้ามี) ดังนั้น เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉ้อฉลในการนำเข้ารถยนต์โดยสารที่พิพาท หากโจทก์ต้องการนำรถยนต์โดยสารที่พิพาทออกไปจากอารักขาของจำเลย โจทก์จึงต้องวางประกันค่าภาษีอากรและค่าปรับสองเท่าของอากรที่ขาดให้ครบถ้วนก่อนที่จะนำสินค้าพิพาทออกไปจากอารักขาของจำเลยได้ หาใช่แต่เพียงวางเงินประกันให้คุ้มค่าภาษีอากรอย่างเดียวไม่ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งให้โจทก์วางประกันค่าภาษีและค่าปรับดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์ไม่วางประกันค่าภาษีอากรและค่าปรับดังกล่าว ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยดำเนินคดีอาญาแก่โจทก์ คดีอยู่ระหว่างการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดังนั้น การที่พนักงานศุลกากรของจำเลยกักยึดสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าไว้เพื่อดำเนินคดีแก่โจทก์ในความผิดฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรจึงเป็นการกักยึดสินค้าไว้โดยมีเหตุอันควรสงสัยที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 24 และ 25 ให้อำนาจไว้ และสินค้าพิพาทที่ถูกกักยึดนี้ก็เป็นของใด ๆ อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 27 อันอาจถูกศาลริบได้ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 17 ซึ่งพนักงานศุลกากรของจำเลยมีอำนาจกักยึดไว้ได้จนกว่าคดีอาญาถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 85 วรรคสาม ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยไม่เคยกล่าวหาว่าโจทก์ฉ้อฉลนั้น ปรากฏว่าจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่าสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าเป็นการสำแดงประเทศกำเนิดของสินค้าที่ตัวสินค้าเป็นเท็จเป็นเหตุให้ค่าภาษีอากรขาดอันเป็นความผิดฐานสำแดงเท็จ แต่ ช. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์อ่านบันทึกแล้วไม่ประสงค์จะลงนาม การกักยึดสินค้าพิพาทจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจขอให้ตรวจปล่อยสินค้าพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 813/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าบริการเชื่อมต่อระบบกับ RIM เป็นค่าตอบแทนการใช้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญาตามอนุสัญญาภาษีซ้อน
ป.รัษฎากร มาตรา 70 กำหนดให้บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทนั้นเสียภาษี โดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแล้วนำส่งจำเลย ดังนั้น หาก RIM Canada หรือ RIM Singapore ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) RIM Canada หรือ RIM Singapore จึงเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามกฎหมาย โดยมีโจทก์เป็นผู้มีหน้าที่หักภาษีและนำส่งจำเลย หากโจทก์ไม่ได้หักภาษีและไม่ได้นำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่ต้องหักนำส่งแก่จำเลยภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับ RIM Canada หรือ RIM Singapore ผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่ไม่ได้หักและไม่ได้นำส่ง ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง และต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 27 เมื่อสัญญาซื้อขายฉบับหลักระหว่าง RIM Canada กับโจทก์พร้อมคำแปล ข้อ 6 กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบและต้องจ่ายภาษีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องหรืออยู่ภายใต้สัญญานี้ รวมถึงภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยเมื่อหักภาษีแล้ว RIM Canada หรือ RIM Singapore จะต้องได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินที่ออกตามใบแจ้งหนี้ โจทก์จึงต้องมีหน้าที่ออกภาษีเงินได้ให้ RIM Canada หรือ RIM Singapore ตามข้อผูกพันในสัญญา เงินดังกล่าวเป็นเงินของโจทก์ แม้โจทก์ไม่ใช่ผู้มีเงินได้ตามมาตรา 70 แต่เมื่อโจทก์ชำระภาษีแก่จำเลยและ RIM Canada หรือ RIM Singapore ได้รับเงินของโจทก์เท่าจำนวนเงินที่ออกตามใบแจ้งหนี้ไปแล้ว หากปรากฏว่า RIM Canada หรือ RIM Singapore ไม่มีภาระต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกคืนเงินในส่วนที่โจทก์ชำระค่าภาษีแก่จำเลยได้
โจทก์กับ RIM Canada ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศและมิได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย ร่วมเป็นคู่สัญญาทำสัญญาซื้อขายฉบับหลัก Master Supply Agreement โดยให้หมายความรวมถึงตาราง ใบสั่งซื้อ เอกสารแนบท้าย และสิ่งที่แนบมาใด ๆ หรือเอกสารที่อ้างถึงในหรือตามตารางที่มีการซื้อขาย สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ตามสัญญา หมายความถึง อุปกรณ์มือถือ อุปกรณ์เชื่อมโยงและซอฟต์แวร์ที่ระบุไว้ในตารางเอ รวมถึงใบอนุญาตในการเข้าถึงเครือข่ายและซอฟต์แวร์ใด ๆ ของ RIM โหลดลงหรือฝังตัวอยู่ในมือถือหรืออุปกรณ์พกพา พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ การแก้ไขข้อผิดพลาด (BUG) การปรับปรุง การอัปเกรด โดย RIM จัดเตรียมให้แก่โจทก์ ตัวแทนจำหน่าย หรือผู้ใช้บริการ แต่ไม่รวมบริการการโทร (Airtime Service) เพราะบริการการโทร (Airtime Service) เป็นบริการโดยโจทก์ไม่ใช่ RIM ตามคำจำกัด ความในสัญญาซื้อขายฉบับหลักพร้อมคำแปล เมื่อซอฟต์แวร์ที่ระบุไว้ในตารางเอ หมายความรวมถึงใบอนุญาตในการเข้าถึงเครือข่าย (Access license) ดังนั้น Service Access บริการเข้าใช้ตามที่กำหนดในตารางเอ และบริการอื่นที่ RIM อาจให้บริการแก่โจทก์ตามตารางดี - 1 และ Service Access Fees ค่าธรรมเนียมที่อธิบายในตารางเอ ย่อมหมายถึง ค่าธรรมเนียมที่ RIM เรียกเก็บจากการอนุญาตให้ใช้ซอฟต์แวร์การเข้าถึงเครือข่าย ซึ่งตารางเอ ข้อ 6 สัญญาซื้อขายฉบับหลักพร้อมคำแปล ได้กำหนดการแก้ปัญหาระบบ BlackBerry และอธิบายไว้ด้วยว่า BlackBerry Enterprise Server Software ประกอบด้วยซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่การเชื่อมต่อกับเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน BlackBerry ผ่านทางอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งข้อความไปยัง และส่งข้อความระหว่างมือถือ BlackBerry หรือเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์อีเมลองค์กร ส่วน BlackBerry Handheld Software ประกอบด้วยซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่การเชื่อมต่อกับเครือข่ายไร้สายของผู้ให้บริการไร้สายที่สนับสนุนโดย RIM เพื่อป้องกันปัญหาในการส่งและรับข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สาย ช่วยตรวจสอบและเรียกดูข้อความอีเมล การนัดหมาย ชื่อผู้ติดต่อ งาน และบันทึกตามที่อธิบายไว้ในคู่มือการติดตั้งระบบมือถือ BlackBerry Handheld Software ดังนั้น ค่าตอบแทนจำนวน 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 อุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อเดือนสำหรับผู้ใช้บริการลูกค้าองค์กร สำหรับการเชื่อมโยงผ่าน BlackBerry Enterprise Server Software หรือการเชื่อมต่อผ่าน BlackBerry Enterprise Server Software และ BlackBerry Internet Service (BIS) ผ่าน Frame relay หรือ Lease Lines และค่าตอบแทนจำนวน 7 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 อุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อเดือนสำหรับผู้ใช้บริการลูกค้ารายย่อย เฉพาะการเชื่อมโยงผ่าน BlackBerry Internet Service (BIS) ผ่าน Frame relay หรือ Lease Lines แม้สัญญาจะเรียกเป็นค่าบริการ แต่ก็เป็นค่าตอบแทนการอนุญาตให้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ทำหน้าที่การเชื่อมต่อกับเครือข่าย นอกจากนี้ข้อกำหนดตามสัญญา ข้อ 19 ยังมีข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาตามสัญญาซื้อขายฉบับหลักพร้อมคำแปล กำหนดข้อจำกัดการอนุญาตให้ใช้สิทธิ โดยภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญานี้ RIM ให้สิทธิแก่โจทก์เป็นการเฉพาะตัวและไม่สามารถโอนสิทธิให้ผู้อื่นได้ ข้อจำกัดในการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายโดยมีเงื่อนไขว่าผู้จัดจำหน่ายจะต้องตกลงเข้าทำสัญญาที่ไม่มีข้อจำกัดน้อยกว่าสัญญานี้ และโจทก์ต้องไม่ดำเนินการและต้องควบคุมดูแลให้ตัวแทนจำหน่าย ไม่ส่งเสริม ทำการตลาด แจกจ่ายหรือขายสินค้านอกพื้นที่ กำหนดข้อจำกัดการใช้สิทธิว่า โจทก์จะต้องไม่ใช้และทำซ้ำสินค้าและบริการ (รวมเอกสาร) นอกเหนือจากที่ระบุในสัญญานี้ โจทก์จะต้องไม่แก้ไขคำแจ้งลิขสิทธิ์ที่บรรจุอยู่หรือที่เกี่ยวข้องกับสินค้า บริการ เอกสารของ RIM หรือการตลาดหรือวรรณกรรมอื่น ๆ ที่จัดหาโดย RIM ไม่ว่าทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใด และมีข้อกำหนดที่ RIM อนุญาตให้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าแบบสิทธิส่วนบุคคล และไม่สามารถโอนให้บุคคลอื่นได้ ห้ามทำซ้ำ แจกจ่าย และห้ามแสดงเครื่องหมายการค้าของ RIM ในที่สาธารณะ การใช้งานเครื่องหมายการค้าของ RIM จำกัดเพียงการใช้งานตามสัญญานี้ โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิและจะไม่ได้รับสิทธิการเป็นเจ้าของ RIM ยังคงมีสิทธิ กรรมสิทธิ์และประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้าและบริการของตน โจทก์ซึ่งได้รับอนุญาตจะแนบใบแจ้งสงวนสิทธิ์ไม่ว่าลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า หรือกรรมสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องในสินค้าหรือบริการของ RIM โจทก์หรือตัวแทนรวมทั้งพนักงาน ผู้รับจ้าง หรือผู้กระทำการแทนจะไม่ได้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับสินค้า ต้นแบบสินค้า ซึ่งรวมสิทธิบัตรการออกแบบอุตสาหกรรม งานต้นแบบ ลิขสิทธิ์ ความลับทางการค้าหรือ mask works โจทก์หรือผู้กระทำการแทนจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ ประโยชน์ หรือสิ่งอื่นใดในสินค้าหรือต้นแบบสินค้าที่โอนยังโจทก์ตามสัญญานี้ โจทก์จะไม่ขาย ให้เช่า อนุญาตเช่าช่วง จำหน่าย มอบหมายหรือโอนสิทธิในสินค้า เปิดเผยผลการเทียบเคียงราคาหรือการทดสอบอื่นใดที่คล้ายคลึงกับสินค้าของ RIM แก่บุคคลที่สาม แก้ไข แปลหรือดัดแปลงสินค้า ลบหรือทำลายซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจาก RIM การจำหน่ายซอฟต์แวร์โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจาก RIM และหรือการขายสื่อที่เผยแพร่ซอฟต์แวร์โดยโจทก์เป็นไปตามเงื่อนไขของใบอนุญาต RIM โจทก์จะแจ้งให้ RIM ทราบทันที หากมีการละเมิดตามข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นว่า โจทก์และ RIM ทำสัญญาซื้อขายสินค้าเป็นอุปกรณ์มือถือ อุปกรณ์เชื่อมโยงและซอฟต์แวร์ โดยเจตนาหรือมีวัตถุประสงค์หลักของสัญญาคือ RIM อนุญาตให้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าและสิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์มาตรฐาน รวมถึง BlackBerry Enterprise Server (BES) Software License และ BlackBerry End User หรือ Software License Agreement โดยที่ RIM ยังคงเป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้าและซอฟต์แวร์ของ RIM ที่โหลดลงหรือฝังตัวอยู่ในมือถือหรืออุปกรณ์พกพา ดังนั้น ในการจ่ายเงินค่าตอบแทนการเชื่อมโยงหรือเข้าสู่ระบบบริการ (Service Access Fees) ให้แก่ RIM ดังกล่าว แม้จะกำหนดในสัญญาว่าเป็นค่าบริการ แต่ถือว่าเป็นค่าตอบแทนการให้ใช้หรือสิทธิในการใช้อุปกรณ์ทางอุตสาหกรรมหรือเพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ (DTA) ข้อ 12 และเป็นการจ่ายเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (3) ไม่ใช่เป็นเพียงการให้บริการรับส่งข้อมูลการติดต่อสื่อสารของผู้ใช้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้แก่ลูกค้ารายย่อยและลูกค้าองค์กรตามที่โจทก์อ้าง จึงไม่ใช่การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ดังนั้น เมื่อ RIM Canada หรือ RIM Singapore เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย RIM Canada หรือ RIM Singapore จึงต้องเสียภาษี โดยโจทก์ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแล้วนำส่งจำเลยตามมาตรา 70 และตามอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสิงคโปร์ (DTA) ข้อ 12 คำสั่งไม่คืนเงินภาษีอากรและคำวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งไม่คืนเงินภาษีอากรของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินภาษีอากรพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
of 3