คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชูเกียรติ ดิลกแพทย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 29 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: วิธีการคำนวณค่าเช่าและดอกเบี้ยผิดนัด
คดีเดิมโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) ซึ่งได้ความว่าสาเหตุที่ต้องประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) เนื่องจากจำเลยคำนวณค่ารายปีและค่าภาษี ปีภาษี 2558 ไม่ถูกต้องครบถ้วนสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ พื้นที่ให้เช่าขนาดเล็ก ศูนย์อาหาร และเครื่องเล่นเด็ก จึงได้คำนวณใหม่และมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) แก่โจทก์เพื่อเรียกเก็บภาษีในส่วนที่ขาด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) คดีนี้เป็นการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเพิ่มเติมจากการประเมินในปีภาษี 2558 และเป็นภาษีคนละจำนวนกับการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 ประกอบกับจำเลยได้มีหนังสือแจ้งคำชี้ขาดสำหรับการประเมิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) แก่โจทก์เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องเพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 เป็นคดีต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีหมายเลขคดีดำที่ ภ.2/2559 ไว้ก่อนแล้ว และต่อมาคดีดังกล่าวศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้มีคำพิพากษาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2563 ดังนั้น ที่จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) ในคดีนี้ จึงไม่เป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันและไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าหลักฐานและสัญญาเช่าที่โจทก์นำส่งไม่สมบูรณ์และโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแสดงพื้นที่โรงเรือนขาดไป ค่าเช่าที่โจทก์ตกลงกับผู้เช่าจึงมิใช่จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรจะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์โดยเทียบเคียงกับค่ารายปีทรัพย์สินของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งมีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันได้ซึ่งโจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีเกี่ยวกับการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 และศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2563 โดยวินิจฉัยว่า วิธีการที่จำเลยใช้ในการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนเพื่อนำมาคำนวณหาค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ไม่เหมาะสม สำหรับวิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น เป็นการนำค่ารายปีของทุกร้านที่เช่าพื้นที่แบ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และพื้นที่ขนาดเล็กของห้างสรรพสินค้า ท. มาหารพื้นที่รวมของทุกร้านตามที่แบ่งพื้นที่เพื่อหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนก่อนแล้วค่อยนำไปคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์และระยะเวลาการใช้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวิธีการที่คำนึงถึงค่าเช่าและพื้นที่ของแต่ละร้านประกอบกันจึงเป็นวิธีการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านตามที่แบ่งพื้นที่แล้ว เพราะเมื่อนำไปคำนวณกลับกับพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้วจะได้ค่าภาษีที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงกับค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมและคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้นแล้ว ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรในคดีดังกล่าวจึงกำหนดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่เท่ากับ 676.72 บาท เมื่อคดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะแต่ในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในปีภาษี 2559 มีการใช้ทรัพย์สินในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของโจทก์แตกต่างไปจากการใช้ทรัพย์สินของโจทก์ในปีภาษี 2558 อย่างไร จึงให้กำหนดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่สำหรับปีภาษี 2559 เท่ากับ 676.72 บาท
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทนโดยกำหนดให้หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละห้าต่อปีและมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว กำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับจึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าว และอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 อาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3628/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามลักทรัพย์นายจ้างและลูกจ้างประพฤติชั่ว การรอการลงโทษ
จำเลยนำรถจักรยานยนต์ไปซ่อม เมื่อซ่อมเสร็จแล้วนำใบแจ้งหนี้ไปขอเบิกค่าซ่อมจากผู้เสียหายครั้นได้เงินค่าซ่อมมาแล้ว จำเลยไม่ไปรับรถจักรยานยนต์คืน ทั้งยังหลอก จ. ผู้รับซ่อมรถจักรยานยนต์ว่ารถเป็นของจำเลยและจำเลยไม่มีเงินชำระค่าซ่อมและให้ จ. ขายแยกชิ้นส่วนเพื่อหักชำระค่าซ่อม ถือได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากผู้เสียหายเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เป็นการลักรถจักรยานยนต์ไปจากผู้เสียหายโดยใช้ จ. เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เมื่อการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นขั้นตอนสุดท้ายอันถือว่าเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จ เข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากเจ้าพนักงานยึดรถจักรยานยนต์ของกลางได้โดยไม่ปรากฏว่า จ. แยกชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ตามที่ถูกหลอก จำเลยจึงมีความผิดข้อหาพยายามลักทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2823/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้ภาษีอากรในการร้องสอดคดีครอบครองปรปักษ์ เพื่อคุ้มครองสิทธิในการบังคับชำระหนี้
ผู้ร้องสอดอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 ยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ สิทธิของผู้ร้องสอดดังกล่าวถือเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย การที่ผู้ร้องนำคำสั่งศาลที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไปขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้องถือเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งหากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิ ชอบที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2100/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญารับประกันการซ่อมบำรุงรถยนต์ ผู้ผลิต/จำหน่ายต้องรับผิดชอบความชำรุดบกพร่อง
อ. ผู้เอาประกันภัยซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อรถยนต์ซึ่งระบุเงื่อนไขการรับประกันในข้อ 5.1 ว่า รถยนต์ดังกล่าวปราศจากความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากวัสดุและฝีมือแรงงานที่ใช้ประกอบรถยนต์ สำหรับระยะเวลา 24 เดือน นับแต่วันส่งมอบ โดยระบุในข้อ 5.7 ด้วยว่า การรับประกันนี้จะไม่ครอบคลุมไปถึงกรณีตามข้อ (ก) การใช้รถอย่างไม่ถูกวิธี ความประมาทเลินเล่อ อุบัติเหตุ หรือนำรถไปใช้ในการแข่งขัน (ข) รถยนต์ดังกล่าวได้รับการซ่อมแซมโดยบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ผู้จำหน่ายที่ได้รับอนุญาต (ค) การเสื่อมสภาพหรือชำรุดที่เกิดจากการใช้งานตามปกติหรือที่เกิดจากการดูแลรักษาที่ไม่เหมาะสม ความประมาทเลินเล่อ สภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อม หรืออุบัติเหตุ แสดงให้เห็นว่า หากเกิดความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากวัสดุหรือฝีมือแรงงานที่ใช้ประกอบรถยนต์ ภายในเวลา 24 เดือน นับแต่วันส่งมอบ จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิด หากไม่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 5.7 ดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่สืบพิสูจน์ให้เห็นว่าได้เกิดความเสียหายชำรุดบกพร่องและไม่เข้าข้อยกเว้นตามข้อ 5.7 โจทก์ได้นำสืบแล้วว่า มีการใช้รถยนต์ตามปกติ ทั้งนำรถยนต์เข้าตรวจเช็คสภาพยังศูนย์บริการของจำเลยทั้งสองไม่เกินระยะมาตรฐาน ไม่มีการดัดแปลงสภาพรถยนต์ เหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากอุบัติเหตุ เหตุเพลิงไหม้รถยนต์เกิดเมื่อรับมอบรถยนต์มาเพียง 1 ปี 1 เดือน ยังไม่ครบกำหนดตามเงื่อนไขการรับประกัน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์โดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ย่อมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตและประกอบรถยนต์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว หาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากปัจจัยภายนอกซึ่งมิได้เป็นความผิดของจำเลยทั้งสอง พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้เกิดจากความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากวัสดุและฝีมือแรงงานที่จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชอบตามเงื่อนไขการรับประกันที่ให้ไว้ เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ซื้อรถแล้ว โจทก์มีสิทธิรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับของโจรและการคืนทรัพย์สิน: จำเลยต้องคืนทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์ให้เจ้าของ แม้สุจริต
แม้ร้านค้าของจำเลยจะอยู่ในชุมชนการค้า แต่จำเลยรับซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก จ. ที่นำมาขายให้ที่ร้านค้าของจำเลยโดยมิได้ซื้อจากร้านค้าใดร้านค้าหนึ่งในชุมชนการค้านั้น แม้จำเลยรับซื้อไว้โดยสุจริต ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ในท้องตลาดอันจะได้รับความคุ้มครองด้วยการยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 โจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงย่อมมีสิทธิติดตามเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวคืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1288/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมกระทำความผิด ต้องมีเจตนาและรู้เห็นการกระทำของผู้อื่น การยอมความในคดีอาญา
การร่วมกระทำความผิดในลักษณะตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 ต้องพิจารณาทั้งการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ ซึ่งต้องร่วมกระทำผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งทุกคนที่กระทำจะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย
จำเลยที่ 2 ให้ผู้เสียหายที่ 1 ชวนจำเลยที่ 1 ไปเที่ยวตลาดคลองถมเชียงม่วน จำเลยทั้งสองและผู้เสียหายที่ 1 ร่วมเดินทางมาด้วยกันโดยตลอด ระหว่างทางจำเลยทั้งสองซื้อเบียร์มาดื่มด้วยกัน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ให้ผู้เสียหายที่ 1 ดื่มเบียร์จนรู้สึกมึนเมา จำเลยที่ 2 ซื้อถุงยางอนามัยที่ร้านสะดวกซื้อและไม่ได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปตลาดคลองถมเชียงม่วนแต่กลับร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 เข้าพักในโรงแรมที่เกิดเหตุโดยพักอยู่ห้องเดียวกันและนอนเตียงเดียวกัน ต่อมาขณะผู้เสียหายที่ 1 หลับแล้วตื่นขึ้นมา จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในห้องพัก จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 แต่ผู้เสียหายที่ 1 หลบหนีเข้าไปในห้องน้ำ จนกระทั่งจำเลยที่ 2 เรียก จึงยอมออกมา การกระทำของจำเลยที่ 2 บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 คบคิดกับจำเลยที่ 1 มาก่อนโดยมีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 มาโดยตลอด แม้จำเลยที่ 2 จะไม่อยู่ในห้องพักในขณะเกิดเหตุก็ตาม แต่เป็นการเปิดโอกาสให้จำเลยที่ 1 กระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำระหว่างจำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานกระทำอนาจาร หาใช่เพียงผู้สนับสนุนไม่
จำเลยทั้งสองตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายที่ 2 และปฏิบัติตามข้อตกลงแล้ว ถือเป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของผู้เสียหายที่ 1 ยอมความแทนผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (5) และมาตรา 5 (1) สิทธินำคดีมาฟ้องในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 57/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการหักเงินปันผล/เฉลี่ยคืนชำระหนี้: ข้อจำกัดตามกฎหมายสหกรณ์และหลักกฎหมายทั่วไป
เงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนเป็นเงินที่ผู้ร้องจ่ายให้แก่จำเลย ไม่ใช่เงินอื่นใดที่หน่วยงานของรัฐ สถานประกอบการ หรือหน่วยงานอื่นใดในฐานะนายจ้างที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่อยู่จ่ายให้แก่จำเลยตามความในมาตรา 42/1 แห่ง พ.รบ.สหกรณ์ พ.ศ.2542
ข้อตกลงตามสัญญากู้ที่จำเลยยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้อง มิใช่เป็นข้อตกลงในเรื่องเกี่ยวกับเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืน ผู้ร้องจึงไม่อาจนำเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากผู้ร้องไปหักชำระหนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้องโดยอาศัยข้อตกลงดังกล่าวได้
การขอให้นำเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนมาหักชำระหนี้ได้กระทำภายหลังจากที่ผู้ร้องได้รับหนังสืออายัดเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนปี 2561 จากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจหักเงินดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 316 วรรคสอง
หนี้ที่จำเลยมีต่อผู้ร้องเป็นเพียงหนี้กู้ยืมไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 322 และมาตรา 324 ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือเงินปันผลและเงินเฉลี่ยคืนของจำเลยในอันที่จะนำไปหักชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8816/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รับของโจร: แม้ไม่รู้ว่าเป็นของผิดกฎหมาย แต่ผู้รับซื้อต้องคืนทรัพย์ให้เจ้าของเดิม เพราะไม่มีกรรมสิทธิ์ดีกว่า
จำเลยรับซื้อทองคำของโจทก์โดยไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์ แม้จะไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร แต่เมื่อทองคำที่จำเลยรับซื้อไว้เป็นของโจทก์ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ติดตามเอาคืนได้ และแม้ห้างขายทองของจำเลยจะอยู่ในชุมชนการค้า แต่จำเลยมิได้ซื้อทองจากร้านค้า เพราะซื้อจาก ว. ที่นำมาขาย ถือไม่ได้ว่าซื้อทองคำในท้องตลาด จำเลยต้องคืนทองคำแก่โจทก์
วัตถุแห่งหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ได้แก่ทองคำที่จำเลยรับซื้อไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่า การปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยการคืนทองคำเป็นการพ้นวิสัยตั้งแต่เมื่อใด จึงกำหนดให้ใช้ราคาตามราคาขายโดยเฉลี่ยของสมาคมค้าทองคำในวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยในขณะที่โจทก์ร้องขอให้ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 อันได้แก่วันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8336/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้มีประกันยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ต้องเป็นไปตามกระบวนการในคดีล้มละลาย มิได้เสียสิทธิ
เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเนื่องจากจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โดยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) การที่ผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้อย่างไรจึงต้องเป็นไปตามกระบวนการในคดีล้มละลาย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการจัดกิจการและทรัพย์สินของจำเลย และมิได้ทำให้ผู้ร้องเสียสิทธิในการได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ประกันแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลอดทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นได้อีก
of 3