คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 195 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,014 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3248/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทกฎหมายยาเสพติดใหม่ และการลงโทษผู้ขับขี่เสพยา การแก้ไขโทษจำคุกเป็นกักขัง
พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 7 กำหนดให้บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่อ้างถึงบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ให้ถือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นอ้างบทบัญญัติแห่ง ป.ยาเสพติดในมาตราที่มีนัยเช่นเดียวกัน เมื่อ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 127 ทวิ วรรคสอง อ้างถึง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 จึงถือว่าอ้างถึง ป.ยาเสพติด มาตรา 162 ด้วยอันเป็นบทกำหนดความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในการเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอีกหนึ่งในสาม ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3178/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษคดีที่เกี่ยวพันกัน & การใช้กฎหมายขณะกระทำผิด แม้แยกฟ้อง & มีการแก้ไขกฎหมาย
ป.อ. มาตรา 91 ให้อำนาจศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปและกรณีที่ความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้นแล้วต้องไม่เกินยี่สิบปีนั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษจำคุกในกรณีกระทำความผิดหลายกรรมที่เกี่ยวพันกันและโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง หรือกรณีที่จำเลยถูกฟ้องหลายคดีและคดีแต่ละคดีเป็นคดีที่เกี่ยวพันกันจนศาลได้มีคำสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน และรวมถึงคดีที่เกี่ยวพันกันแต่โจทก์กลับแยกฟ้องจำเลยเป็นหลายคดีและไม่มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน จึงจะอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 91 (2) สำหรับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1066/2562 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแถลงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาฉบับลงวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ของโจทก์ว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่โจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีนี้เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินกระทำผิดหน้าที่และฐานร่วมกันเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น แม้ข้อหาความผิดที่ฟ้องจะเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีเป็นคนละรายกันกับคดีนี้และพยานหลักฐานในคดีเป็นคนละชุดกัน จึงไม่เป็นคดีที่เกี่ยวพันกัน ไม่อาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีเดียวกันหรือรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันกับคดีนี้ได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาแต่ละคดีและให้นับโทษต่อกันตาม ป.อ. มาตรา 22 แม้มีกำหนดระยะเวลาจำคุกเกินยี่สิบปี ก็พิพากษาให้บังคับเช่นนั้นได้ กรณีไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1066/2562 ของศาลชั้นต้นนั้น เป็นการไม่ชอบ ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ว่า คดีดังกล่าวและคดีนี้มีโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกัน แม้วันเวลากระทำความผิดจะแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองซึ่งได้รับมอบหมายจากโจทก์ที่ 1 ให้เป็นผู้จัดทำบัญชีและนําเงินไปเสียภาษีแทน กระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินที่มอบให้นําไปเสียภาษีไป และจำเลยทั้งสองไม่คืนเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการทำบัญชีและเสียภาษีแก่โจทก์ที่ 1 เช่นเดียวกับคดีนี้ ดังนั้น เมื่อคดีมีคู่ความเดียวกัน ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวเกี่ยวพันกัน โจทก์ที่ 1 อาจฟ้องจำเลยทั้งสองสำหรับความผิดคดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อเป็นคดีเดียวกันได้ แต่โจทก์ที่ 1 แยกฟ้องคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่ง แยกต่างหากจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ดังกล่าวโดยศาลมิได้สั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี เต็มตามกำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 91 (2) แล้ว ย่อมไม่อาจนําโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไปนับโทษต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นได้เพราะจะทำให้จำเลยที่ 1 ต้องได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (2) บัญญัติไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1242/2562 ของศาลชั้นต้นมานั้น ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษรวมกระทงและการลดโทษที่ถูกต้องตามกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง
คดีนี้จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ศาลชั้นต้นรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงลดโทษให้จำเลย แทนที่จะลดโทษแต่ละกระทงแล้วจึงรวมโทษ ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าการลดโทษแต่ละกระทงแล้วจึงรวมเข้าด้วยกัน เพราะ ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน แต่ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ ดังนั้น การกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดเท่ากับ 360 วัน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนวันตามปีปฏิทินที่อาจมีถึง 366 วันหรือ 365 วัน สุดแท้แต่ว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือปีจันทรคติ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2997/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อจากคดีอื่น และการไม่ริบทรัพย์ที่ไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิด
โจทก์ยื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องลงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ต่อศาลชั้นต้น โดยบรรยายฟ้องและมีคําขอให้นับโทษจําคุกหรือระยะเวลาฝึกอบรมของจําเลยที่ 1 คดีนี้ติดต่อกับโทษจําคุกหรือระยะเวลาการฝึกอบรมของจําเลย (ที่ถูกจําเลยที่ 2) ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 3709/2560 หมายเลขแดงที่ อ 240/2560 ของศาลอาญา โดยบรรยายทั้งคดีหมายเลขดำและหมายเลขแดงซึ่งคดีหมายเลขดำเป็นหมายเลขที่ถูกต้อง ส่วนคดีหมายเลขแดงนั้นโจทก์พิมพ์ตัวเลขคลาดเคลื่อนเฉพาะปีพุทธศักราช เมื่อจําเลยที่ 1 ให้การรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจําเลย (ที่ถูกจําเลยที่ 2) ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ โดยมิได้โต้แย้งคัดค้าน ทั้งยังแถลงต่อศาลชั้นต้นรับว่า จําเลยที่ 1 ถูกจําคุกอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรมมาระยะหนึ่งแล้วในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 3709/2560 หมายเลขแดงที่ อ 240/2560 ของศาลอาญา ซึ่งศาลอาญาพิพากษาให้จําคุก 43 ปี ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 และวันที่ 24 ธันวาคม 2563 แสดงว่าจําเลยที่ 1 เข้าใจดีว่าตนถูกดำเนินคดีอีกคดีหนึ่งที่ศาลอาญา การพิมพ์คดีหมายเลขแดงในส่วนเลข พ.ศ. คลาดเคลื่อนจากปี 2562 เป็น 2560 จึงเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลย่อมใช้ดุลพินิจให้เริ่มนับโทษจําคุกของจําเลยที่ 1 ต่อจากโทษจําคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 240/2562 ของศาลอาญาได้
อนึ่ง สำหรับรถจักรยานยนต์ของกลางที่ศาลล่างทั้งสองสั่งริบนั้น เห็นว่า เมื่อรถจักรยานยนต์ของกลาง มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด แต่เป็นเพียงยานพาหนะที่จําเลยที่ 1 กับพวกขับมายังที่เกิดเหตุและขับออกไปจากที่เกิดเหตุ เมื่อการปล้นทรัพย์สำเร็จแล้วเท่านั้น ซึ่งแม้จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นก็ตาม แต่การที่จะริบได้นั้น ต้องเป็นทรัพย์ซึ่งได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) เมื่อรถจักรยานยนต์ของกลางมิใช่ทรัพย์ที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะริบได้ จึงจะสั่งริบหาได้ไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2939/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พืชกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดโทษ ศาลสั่งคืนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับคดีเก่า
ทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบได้ต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย และนิยามคำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด" หมายความว่า เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยการใช้เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ซื้อหรือกระทำไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้เงินหรือทรัพย์สินนั้นเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนสภาพกี่ครั้ง และไม่ว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น โอนไปเป็นของบุคคลอื่นหรือปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลอื่นก็ตาม คดีนี้ผู้ร้องบรรยายคำร้องเกี่ยวกับคดียาเสพติดที่ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 เวลา 11.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมกันจับกุม ว. (ผู้คัดค้านที่ 1) ย. ป. และ จ. พร้อมยึด กัญชาแห้งอัดแท่ง 747 แท่ง น้ำหนักรวม 772.30 กิโลกรัม อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต่อมาผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกดังกล่าวต่อศาลชั้นตันเป็นคดีหมายเลขดำที่ 3685/2558 (หลังจากนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกผู้คัดค้านที่ 1 มีกำหนด 15 ปี และปรับ 900,000 บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1740/2559) ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ออกใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 อีกต่อไป การผลิต นำเข้า ส่งออกจำหน่าย หรือมีพืชกัญชาไว้ในครอบครองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26/2, 26/3, 75, 76 และ 76/1 และ ป.ยาเสพติด มาตรา 93, 148 ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพันจากการเป็นผู้กระทำความผิด และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงสุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง เมื่อพืชกัญชา ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ฉะนั้น การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกตามที่ผู้ร้องบรรยายมาในคำร้องจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และไม่ปรากฏจากคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกและผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษโดยประการอื่น ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามจึงไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดที่ศาลจะสั่งริบได้ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 อีกต่อไป ประกอบกับไม่ปรากฏว่าเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสั่งให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดไปแล้ว จึงต้องคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่เจ้าของและผู้คัดค้านทั้งสามแต่ทรัพย์สินรายการที่ 8 และที่ 11 ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้านแสดงตนเป็นเจ้าของเข้ามาในคดี จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของที่แท้จริงจะมาแสดงตนและขอรับคืนในภายหลัง ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2891/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีปลอมแปลงเอกสารราชการและการประกอบวิชาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต
ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์เป็นเอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ หาใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิด้วย จึงเป็นเพียงเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 1 (8) เมื่อจำเลยปลอมและนำใบอนุญาตประกอบวิชาชีพปลอมดังกล่าวมาใช้ประกอบในการทำงานกับผู้เสียหายในตำแหน่งหน้าที่พยาบาล การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม) แต่โจทก์ฟ้องคดีและได้ตัวจำเลยมายังศาลเกินสิบปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2686/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน สถานบริการ-ขายสุราเกินเวลา-ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลรวมโทษและรอการลงโทษ
ความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ห้ามเปิดสถานบริการเกินเวลาที่กำหนด และความผิดฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่าเวลาที่กำหนดโดยฝ่าฝืนกฎหมายนั้น จำเลยมีเจตนาที่จะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสามฐานดังกล่าว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2535/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทความผิดอาญาตามกฎหมายใหม่ที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด และการกำหนดโทษตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด โดยขณะกระทำความผิด การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) เมื่อฐานความผิดตามมาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า จึงต้องปรับบทความผิดตามกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดตามมาตรา 3 แต่ระวางโทษตามมาตรา 278 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ที่ใช้ในภายหลังมีระวางโทษเท่ากับมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ในส่วนระวางโทษตามกฎหมายที่ใช้ในภายหลังจึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ต้องกำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2534/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องไม่ชัดเจน ขาดข้อเท็จจริงสนับสนุนการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ศาลยกฟ้อง
โจทก์บรรยายเพียงว่าจำเลยนำคำพูดที่โจทก์พูดกับจำเลยทางโทรศัพท์ไปแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจแล้วจำเลยส่งภาพถ่ายรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานไปในโปรแกรมไลน์ให้ผู้ปกครองนักเรียนในกลุ่มนักเรียนที่เป็นเพื่อนกับบุตรจำเลย โดยตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่ารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานและข้อความที่จำเลยพิมพ์ส่งไปในโปรแกรมไลน์นั้นเป็นข้อมูลที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) อย่างไร และข้อความจริงมีอยู่อย่างไร จึงเป็นฟ้องที่ขาดข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470-2471/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฉ้อโกงกรรมเดียวต่อเนื่อง การรับผิดคืนเงินเฉพาะส่วนที่กระทำ
ผู้เสียหายถูกคนร้ายหลอกลวงฉ้อโกงให้โอนเงินเข้าบัญชีของจําเลยที่ 1 จำนวน 3 ครั้ง เป็นเงิน 937,500 บาท เข้าบัญชีของจําเลยที่ 2 จำนวน 2 ครั้ง เป็นเงิน 612,500 บาท และเข้าบัญชีของจําเลยที่ 4 จำนวน 5 ครั้ง เป็นเงิน 1,370,000 บาท โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จําเลยแต่ละคนร่วมรู้เห็นหรือได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกัน กรณีเป็นเรื่องต่างคนต่างทำ จําเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมกันคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย แต่คงต้องรับผิดคืนหรือใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายจากผลเฉพาะที่ตนกระทำ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
of 102