คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เกียรติพงศ์ อมาตยกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 37 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1746/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่นำพยานหลักฐานมาสอบสวนในคดีล้มละลาย ไม่ทำให้หนี้ระงับสิ้นสุด เจ้าหนี้มีประกันยังคงบังคับจำนองได้
การที่ศาลมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เนื่องจากเจ้าหนี้ไม่นำพยานมาให้การสอบสวนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ไม่ใช่เหตุที่ทำให้หนี้ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. บรรพ 2 หมวด 5 ความระงับหนี้ การจำนองจึงไม่ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เจ้าหนี้จึงยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันมีสิทธิในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำขอประนอมหนี้หลังล้มละลายกระทบสิทธิเจ้าหนี้มีประกัน การประชุมเจ้าหนี้ไม่ชอบ
ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้รายที่ 190, 353 และ 354 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 206459 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยขอให้ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันแล้ว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) การที่จำเลยที่ 2 เสนอคำขอประนอมหนี้โดยขอชำระเงิน 590,000,000 บาท เพื่อไถ่ถอนจำนองทรัพย์หลักประกันจากผู้ร้องและให้คืนโฉนดที่ดินแก่จำเลยที่ 2 แล้วขอให้ผู้คัดค้านถอนการยึดทรัพย์หลักประกัน ทั้งที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้รายที่ 190, 353 และ 354 ขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้รายที่ 190 เป็นเงิน 174,335,644.93 บาท เจ้าหนี้รายที่ 353 เป็นเงิน 182,019,304.11 บาท ส่วนเจ้าหนี้รายที่ 354 มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นเงิน 701,691,757.72 บาท และผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันอันมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์หลักประกันก่อนเจ้าหนี้อื่นได้ใช้สิทธิเลือกที่จะให้ผู้คัดค้านจัดการกับทรัพย์หลักประกันของผู้ร้องด้วยวิธีให้ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) คำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของจำเลยที่ 2 ที่ขอไถ่ถอนทรัพย์หลักประกันของผู้ร้องโดยที่จำเลยที่ 2 กำหนดราคาไถ่ถอนทรัพย์หลักประกันเองซึ่งผู้ร้องไม่ยินยอมด้วย จึงเป็นคำขอประนอมหนี้ที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน อันเป็นคำขอประนอมหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้คัดค้านไม่อาจดำเนินการจัดประชุมเพื่อเสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติเพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวได้ การจัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 เพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของจำเลยที่ 2 ของผู้คัดค้านจึงกระทำโดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8725/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสัมพันธ์คดีอาญา-แพ่ง: การพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามคดีอาญา และสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตาม ป.อ. มาตรา 44/1 ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา ฉะนั้น จำเลยจึงไม่จำต้องขออนุญาตฎีกาในคดีส่วนแพ่ง และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะคดีส่วนอาญา และให้ส่งคำร้องขออนุญาตฎีกาในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวมาให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่งจึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นเฉพาะในส่วนที่ให้ส่งคำร้องขออนุญาตฎีกาในคดีส่วนแพ่งมาให้ศาลฎีกาพิจารณาสั่ง และเมื่อคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งใหม่เป็นรับฎีกาในคดีส่วนแพ่งของจำเลย และหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4244/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังถูกไล่ออก: เงินตกเป็นของผู้รับผลประโยชน์อื่นตามข้อบังคับกองทุน
เงิน OV ซึ่งเป็นของโจทก์ได้สูญหายไปในระหว่างจำเลยดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ จำเลยมีหน้าที่ควบคุมดูแลเงินของโจทก์ และตามพฤติการณ์เชื่อว่าเงิน OV สูญหายไปเกิดจากจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีคำสั่งที่ ธ. 177/2559 ลงโทษไล่จำเลยออกจากการเป็นพนักงาน จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 487,965.51 บาท ตามข้อบังคับกองทุน หมวดที่ 8 ข้อ 3 แต่อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบดังกล่าว เมื่อในระหว่างที่จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อสะสมและสมทบเงินแก่ลูกจ้างโดยใช้ชื่อว่า "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคาร อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว" และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 จำเลยสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว ตามข้อบังคับกองทุนนั้น ในข้อ 4 กำหนดไว้ว่า "ในกรณีที่มีเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่สมาชิกซึ่งสิ้นสมาชิกภาพไม่มีสิทธิได้รับจากกองทุน ให้กระจายเงินดังกล่าวแก่สมาชิกทุกรายในกองทุนตามส่วนได้เสียของสมาชิกแต่ละราย...ฯลฯ..." เมื่อได้ความดังกล่าวข้างต้นแล้วว่า ก่อนโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องคดีได้มีการจัดตั้ง "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคาร อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว" แล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากกับโจทก์ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 ประกอบกับตามข้อบังคับกองทุนได้กำหนดในกรณีที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนไว้ในข้อ 4 ที่กำหนดไว้ว่า "ในกรณีที่มีเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่สมาชิกซึ่งสิ้นสมาชิกภาพไม่มีสิทธิได้รับจากกองทุน ให้กระจายเงินดังกล่าวแก่สมาชิกทุกรายในกองทุนตามส่วนได้เสียของสมาชิกแต่ละราย...ฯลฯ" นอกจากนี้ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 ยังได้กำหนดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีคณะกรรมการกองทุน มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของกองทุนและให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้จัดการกองทุน และเป็นผู้แทนของกองทุนในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกตามมาตรา 11 ได้กำหนดให้การจัดการกองทุนจะต้องดำเนินการโดยบุคคลซึ่งมิใช่นายจ้างตามมาตรา 13 ได้กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่ในการจัดการกองทุนตามมาตรา 14 และได้กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกกองทุน หากมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามมาตรา 23 เช่นนี้ โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจึงไม่มีอำนาจหรือหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่อย่างใด จำเลยจึงต้องคืนเงินดังกล่าวที่ได้รับไว้โดยไม่มีสิทธิแก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคาร อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ดังนั้น สิทธิในการเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่จำเลยได้รับไว้โดยไม่มีสิทธิ จึงเป็นของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคาร อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว มิใช่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อให้คืนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบตามคำฟ้องให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3651/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาตัวแทนชำระเงินแทนกัน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็มีผลบังคับใช้
โจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่บริษัท ซ. แทนจำเลยที่ 1 เพื่อที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จะได้เข้าทำสัญญาบริหารงานร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่นสโตร์กับบริษัท ซ. และจำเลยที่ 1 จะได้ทำกิจการร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โจทก์ทั้งสองจึงเป็นตัวแทนในการชำระเงินของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ทั้งสองชำระเงินแก่บริษัท ซ. และจำเลยทั้งสองคืนเงินบางส่วนแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมเรียกเงินที่ชำระไปแทนในส่วนที่เหลือจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาตัวแทนได้ แม้การเป็นตัวแทนจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3607/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินค้างจ่ายในศาล ผู้รับต้องเรียกรับภายใน 5 ปี มิฉะนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
เงินค้างจ่ายที่อยู่ในศาล ผู้มีสิทธิรับเงินต้องเรียกเอาเงินหรือขอรับเงินที่ตนมีสิทธิจะได้รับจากศาลและต้องมารับเงินตามที่เรียกหรือขอด้วย หรือในกรณีที่ศาลออกเช็คให้ผู้มีสิทธิรับเงินแทนการจ่ายเป็นเงินสด ผู้มีสิทธิรับเงินก็ต้องนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร หากผู้มีสิทธิรับเงินเพียงแต่แถลงขอรับเงินจากศาล แต่ไม่มารับเงินตามที่ขอหรือมิได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่ศาลอนุญาต เงินค้างจ่ายดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 (เดิม) จำเลยจะขอให้ศาลออกเช็คฉบับใหม่แทนเช็คฉบับเดิมเพื่อสั่งจ่ายเงินที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้วมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3522/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกฟ้องคดีอาญาเมื่อโจทก์ไม่มาตามนัดไกล่เกลี่ย ศาลต้องพิจารณาว่าเป็นนัดตรวจพยานหลักฐานหรือพิจารณาคดีหรือไม่
ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดให้ศาลยกฟ้องเสีย คำว่า "กำหนดนัด" ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึงกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน หรือกำหนดนัดพิจารณาซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องมาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อศาลตามที่กฎหมายกำหนด การที่จำเลยแถลงขอนำคดีเข้าศูนย์ไกล่เกลี่ย และศาลชั้นต้นอนุญาตและมีหนังสือแจ้งผู้เสียหายมาศาลเพื่อไกล่เกลี่ย วันที่ 15 กรกฎาคม 2562 เวลา 9 นาฬิกา เป็นการนัดผู้เสียหายและจำเลยมาไกล่เกลี่ยมิได้เกี่ยวข้องกับโจทก์ แม้จะเป็นวันเดียวกับที่ศาลกำหนดนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การ/คุ้มครองสิทธิ/ตรวจพยานหลักฐาน/ไกล่เกลี่ย แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอีกว่าหากจำเลยให้การปฏิเสธให้ผู้พิพากษาประจำศูนย์กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานและประชุมคดี และแจ้งคู่ความ แสดงว่าในการนัดตรวจพยานหลักฐานนั้น ศาลชั้นต้นจะต้องกำหนดวันนัดและแจ้งให้คู่ความทราบอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้นการที่โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อไกล่เกลี่ย ซึ่งมิใช่วันนัดตรวจพยานหลักฐานและวันนัดพิจารณา จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ให้ยกฟ้องโจทก์ เพราะโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานก่อการร้าย-ใช้วัตถุระเบิด ศาลฎีกาแก้ไขโทษ ปรับบทความผิดให้ถูกต้อง
แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานยืนยันการกระทำความผิดของจำเลย แต่ ป. และ ฮ. ผู้ร่วมขบวนการ ได้ให้การจากการซักถามของเจ้าพนักงานว่า จำเลยเป็นผู้ร่วมขบวนการด้วย โดย ป. ยังให้ถ้อยคำถึงรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยในคดีนี้ และในครั้งอื่น ๆ ที่จำเลยมีส่วนร่วมก่อการด้วย โดยมีรายละเอียดของขั้นตอนในการกระทำความผิดอย่างครบถ้วน ส่วน ฮ. ก็ให้ถ้อยคำในรายละเอียดของการกระทำความผิดในคดีนี้ การให้ถ้อยคำของ ป. และ ฮ. มิใช่เป็นการซัดทอดจำเลยเพื่อให้ตนเองพ้นผิด แต่เป็นการให้ถ้อยคำเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ร่วมขบวนการด้วยกันว่ามีบุคคลใดบ้าง ตลอดจนรายละเอียดของการกระทำความผิดในแต่ละครั้ง ซึ่งรวมถึงคดีนี้ว่ามีขั้นตอนอย่างไร และมีบุคคลใดบ้างที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องต้องกัน จึงมีเหตุผลให้รับฟัง ส่วนจำเลยให้การในชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจมีรายละเอียดตั้งแต่แรกว่าได้เข้าร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนเมื่อใด โดยคดีนี้มี ป. เป็นผู้สั่งการและได้มอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่กดรีโมทคอนโทรลจุดชนวนระเบิด บันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและบันทึกผลการซักถามเบื้องต้นดังกล่าว แม้เป็นพยานบอกเล่า แต่น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ศาลย่อมสามารถรับฟังพยานบอกเล่านั้น ประกอบพยานหลักฐานอื่นเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้
ความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกัน ต่อมาการที่ผู้กระทำความผิดได้ร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้าย หรือกระทำการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) จำเลยกับพวกมีเจตนาเดียวในการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ปัญหาว่าความผิดตามฟ้องทั้งหมดของโจทก์เป็นกรรมเดียวกันหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ โดยมิได้เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2824/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาแก้โทษคดีพรากเด็ก-กระทำชำเรา: ศาลฎีกามีอำนาจรอการลงโทษแม้ข้อหาบางส่วนต้องห้ามฎีกา
แม้ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม จะต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่ากรณีมีเหตุสมควรที่จะลงโทษจำเลยให้เหมาะสมตามความผิดและพฤติการณ์แห่งคดี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ศาลฎีกาก็มีอำนาจที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2454/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนเงินรถยนต์คันแรก: การจอง vs. ซื้อ/เช่าซื้อ และเงื่อนไขการรับมอบรถ
หนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 19 กันยายน 2554 เรื่องการคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรก ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่อนุมัติหลักการและแนวทางในการคืนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่คันแรกกำหนดว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการต้องเป็นการซื้อรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 โดยมิได้ระบุถึงการจองรถยนต์ไว้ด้วย การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ให้ขยายเวลาส่งมอบรถยนต์และยื่นเอกสารสำหรับโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกโดยบันทึกข้อความของสำนักมาตรฐานและพัฒนาการจัดเก็บภาษี 2 ส่วนมาตรฐานฯ 3 เรื่อง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับเอกสารใบจองรถยนต์เพื่อการขอใช้สิทธิรถยนต์คันแรกระบุว่า ผู้ขอใช้สิทธิต้องซื้อหรือจองรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 แต่ไม่สามารถรับมอบรถยนต์หรือไม่สามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ทันภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 และไม่สามารถยื่นเอกสารหลักฐานได้ภายในวันสิ้นสุดโครงการ สามารถนำใบจองมาขอใช้สิทธิตามโครงการรถยนต์คันแรกได้ แสดงว่าผู้ขอใช้สิทธิตามโครงการที่จองรถยนต์ไว้แล้วยังจะต้องซื้อหรือทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อต่อไปอีกจึงจะมีสิทธิได้รับเงินคืน
การที่จำเลยจองรถยนต์กับบริษัท ต. ผู้จำหน่ายรถยนต์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ก่อนคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการและแนวทางในการคืนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์ใหม่คันแรก เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 มิใช่เป็นการจองซื้อรถยนต์จากบริษัท ต. ผู้จำหน่ายรถยนต์โดยตรง หากแต่เป็นการจองเพื่อนำรถยนต์ไปทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัท ล. ผู้ให้เช่าซื้อ โดยบริษัท ล. เป็นผู้ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือแก่บริษัท ต. จนครบถ้วนแล้วนำหลักฐานการซื้อขายรถยนต์ที่ออกโดยบริษัท ต. ไปจดทะเบียนเป็นชื่อบริษัท ล. จากนั้นจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัท ล. เจ้าของรถยนต์ จำเลยจึงเป็นเพียงผู้จองรถยนต์เพื่อนำรถยนต์ไปทำสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น หาใช่เป็นผู้ซื้อรถยนต์จากบริษัท ต. โดยตรงไม่ จึงยังรับฟังไม่ได้ว่าการที่จำเลยจองรถยนต์เป็นการตกลงซื้อขายรถยนต์ที่สมบูรณ์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการซื้อรถยนต์ตามมติคณะรัฐมนตรีในโครงการรถยนต์คันแรก เมื่อจำเลยได้รับมอบรถยนต์ที่จองในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 และทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 จึงเป็นการเช่าซื้อรถยนต์ภายในระยะเวลาของโครงการ จำเลยย่อมมีสิทธิขอรับเงินค่าภาษีสรรพสามิตที่จ่ายไปคืนตามมติคณะรัฐมนตรี การใช้สิทธิขอรับเงินของจำเลยมิได้ผิดเงื่อนไขอันจะต้องคืนเงินให้แก่โจทก์
of 4