คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ไชยยศ วรนันท์ศิริ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 29 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6187/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำเลยฐานกระทำผิดซ้ำในเวลาที่กฎหมายกำหนด และการปรับบทลงโทษให้ถูกต้องตามฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนที่ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ไว้ชัดเจนแล้วว่า ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 1 เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แล้วกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ซึ่งเป็นความผิดที่ได้จำแนกไว้ในอนุมาตราเดียวกันตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) ซ้ำอีกภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษ และมีคำขอท้ายฟ้องขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดในคดีนี้ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอเพิ่มโทษ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้อง ศาลต้องเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 93 (13) ตามฟ้อง แม้โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องระบุ ป.อ. มาตรา 92 มาก็เป็นที่เห็นได้ว่าเป็นเพียงการระบุเลขมาตราคลาดเคลื่อนเท่านั้น ประการสำคัญที่สุด บทบัญญัติในเรื่องเพิ่มโทษผู้กระทำผิด ไม่ใช่เป็นมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิด จึงไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ที่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4208/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ครบถ้วนตามอุทธรณ์ จำเป็นต้องยกคำพิพากษาเพื่อส่งกลับไปพิพากษาใหม่
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินกับ ร. มีกำหนดเวลา 10 ปี และเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ทั้งมีข้อตกลงว่า หากสัญญาสิ้นสุดแล้วให้ต่อสัญญาออกไปอีก 5 ปี แต่ ร. ถึงแก่ความตายแล้ว ขอให้จำเลยซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. จดทะเบียนการเช่าให้โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งว่า โจทก์ผิดสัญญาเนื่องจากไม่ชำระค่าเช่าและขุดดินโดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้โจทก์ชำระค่าเช่า ส่งมอบที่ดินคืน และกลบที่ดินคืนสู่สภาพเดิม โจทก์ให้การขอให้ยกฟ้องแย้ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีและยกฟ้องแย้ง จำเลยอุทธรณ์ทั้งในส่วนของฟ้องเดิมและฟ้องแย้ง ประเด็นแห่งคดีจึงมีทั้งในส่วนของฟ้องเดิมและฟ้องแย้ง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 คงวินิจฉัยสรุปความว่า สัญญาเช่าที่ดินเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาที่มีผลบังคับ 10 ปี ซึ่งเป็นประเด็นแห่งคดีเฉพาะในส่วนของฟ้องเดิม แม้จะกล่าวในตอนท้ายว่า อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นตามอุทธรณ์ของจำเลยอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องหมายถึงประเด็นอื่นเฉพาะในส่วนของฟ้องเดิมเท่านั้น ไม่ใช่ประเด็นในส่วนของฟ้องแย้งที่ว่า โจทก์ผิดสัญญาเนื่องจากไม่ชำระค่าเช่าและขุดดินโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นในส่วนของฟ้องแย้งให้ครบถ้วนตามอุทธรณ์ของจำเลย จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ได้กล่าวหรือแสดงคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) แม้ศาลฎีกาแผนกคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกา แต่เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และศาลฎีกาเห็นว่ามีเหตุอันสมควร ศาลฎีกาย่อมยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 นั้นเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 252 เมื่อวินิจฉัยดั่งนี้ ที่โจทก์ฎีกาจึงไม่ต้องวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3704/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษทางอาญา: การอ้างบทเพิ่มโทษโดยไม่ระบุชัดเจน ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการเพิ่มโทษแล้ว
การที่ศาลชั้นต้นอ้างบทเพิ่มโทษตามมาตรา 160 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ไว้ในคำพิพากษาถือได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งแล้ว เพียงศาลชั้นต้นไม่ได้ระบุข้อความว่าให้เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งซึ่งเป็นเพียงการไม่สมบูรณ์ชัดเจนเท่านั้น หาทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยเหตุที่ยังมิได้เพิ่มโทษจำเลย แต่อย่างไรก็ดีที่ถูกศาลชั้นต้นต้องกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยเสียก่อน แล้วจึงเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 54

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2959/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฆ่าโดยบันดาลโทสะจากเหตุลักทรัพย์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและให้รอการลงโทษ
ผู้ตายและผู้เสียหายเข้ามาลักผลปาล์มในสวนของบุตรชายจำเลย การลักทรัพย์เป็นการประทุษร้ายต่อทรัพย์สินและเป็นการละเมิดต่อสิทธิในความเป็นเจ้าของทรัพย์ เป็นการกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น ไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของผลผลิตและผู้เกี่ยวข้องที่ต้องลงทุนลงแรง เมื่อจำเลยมีหน้าที่เฝ้าดูแลสวนป่าให้บุตรชายมาพบเห็นการกระทำของผู้ตายและผู้เสียหายซึ่งหน้า ย่อมต้องเกิดโทสะและมีอำนาจที่จะปกป้องติดตามจับกุมผู้ตายและผู้เสียหายเพื่อนำทรัพย์สินคืนมาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 79 แม้จะได้ความว่าจำเลยตะโกนบอกให้ผู้ตายและผู้เสียหายหยุด โดยผู้ตายและผู้เสียหายได้ทิ้งผลปาล์มที่ลักมาแล้วและพยายามหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ แต่ผู้ตายและผู้เสียหายไม่ยอมหยุดกลับรีบขับรถจักรยานยนต์หลบหนีโดยมิได้รู้สำนึกในการกระทำผิดของตน ย่อมต้องสร้างความไม่พอใจและก่อให้เกิดโทสะแก่จำเลยยิ่งขึ้นจนเป็นเหตุให้จำเลยจำต้องใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหาย ซึ่งโทสะของจำเลยนี้ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องตราบเท่าที่บุคคลทั้งสองยังพยายามหลบหนี การใช้อาวุธปืนยิงของจำเลยในขณะที่ถูกข่มเหงรังแกจากการถูกผู้ตายและผู้เสียหายเข้ามาลักทรัพย์และมีโทสะอยู่เช่นนี้ จึงนับเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 978/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาขายฝากสำคัญผิดในราคา โมฆะ คืนทรัพย์สิน + คืนเงิน
การที่ขณะทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทโจทก์เข้าใจว่าตกลงขายฝากที่ดินพิพาทเป็นเงิน 160,000 บาท ตามจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 2 มิใช่ 500,000 บาท ตามที่ระบุในสัญญาขายฝากเป็นกรณีโจทก์สำคัญผิดในเรื่องราคาขายฝาก แม้มิใช่การสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม หรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม แต่ราคาที่ตกลงขายฝากย่อมมีความสำคัญมากพอกับตัวทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งนิติกรรม ถือว่าโจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมการขายฝากโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ศาลจึงต้องเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการขายฝากที่ดินพิพาท
ส่วนเงินจำนวน 160,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 2 นั้น เป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ โจทก์จึงต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แม้จำเลยที่ 1 มิได้ฟ้องแย้งให้โจทก์คืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อโจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ที่จะยึดถือเงินนั้นไว้ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้โจทก์คืนแก่จำเลยที่ 1 ให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินกว่าคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง สำหรับเงินอีกจำนวน 340,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 เบียดบังเอาไปเป็นของตนเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องว่ากล่าวเอาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 อีกส่วนหนึ่งต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 450/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟ้องแย้งค่าเสียโอกาสทางธุรกิจจากสัญญาซื้อขายที่ดิน: มูลหนี้เกี่ยวเนื่องกับฟ้องเดิมหรือไม่
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรวม 7 โฉนด เนื่องจากจำเลยปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินตามสัญญาแปลงหนึ่งว่าไม่ได้อยู่ระหว่างการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ทั้งที่จำเลยยังมีคดีพิพาทกับเจ้าของที่ดินเดิมเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าว อันเป็นการผิดคำรับรองที่ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขาย ขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำและใช้เบี้ยปรับตามสัญญา จำเลยให้การว่า จำเลยแจ้งเรื่องข้อพิพาทระหว่างจำเลยกับเจ้าของที่ดินเดิมให้โจทก์ทราบแล้ว จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเรียกเงินมัดจำ ค่าปรับหรือค่าเสียหายจากจำเลย และฟ้องแย้งว่าโจทก์ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวพร้อมอาคารสำนักงานขายและใบอนุญาตที่จำเลยได้รับอนุญาตให้จัดทำโครงการและก่อสร้างคอนโดมิเนียมจากจำเลย โครงการดังกล่าวจำเลยสร้างเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้า หากจำหน่ายหมดจะมีกำไร 283,160,000 บาท การที่โจทก์ผิดสัญญา ไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้วไม่ส่งมอบพื้นที่และอาคารสำนักงานขายคืนแก่จำเลยในสภาพเดิมและโอนสิทธิใบอนุญาตกลับคืนให้จำเลย ทำให้จำเลยเสียโอกาสในทางธุรกิจ ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนดังกล่าว สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามฟ้องแย้ง จึงเป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่าได้รับความเสียหายเป็นค่าเสียโอกาสในการทำธุรกิจที่จะได้กำไรจากการก่อสร้างและจำหน่ายห้องชุดด้วยตนเอง เพราะโจทก์ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินฉบับเดียวกัน และโจทก์ทราบรายละเอียดโครงการของจำเลยมาตั้งแต่ต้น ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทรัพย์สินจากการกระทำผิดฟอกเงิน: การคืนเงินให้ผู้เสียหาย
ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานด้วย ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้ง และไม่ว่าจะโอนไปเป็นของบุคคลใดหรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนั้น เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาททั้งหมดจึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเช่นกัน การจะนำไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินหรือจะสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน จึงต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เมื่อปรากฏตามคำร้องว่า ผู้เสียหายได้รับความเสียหายประมาณ 17,369,000,000 บาท และดำเนินการตามกฎหมายเพื่อค่าเสียหายได้ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของความเสียหายทั้งหมด จึงให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดและนำเงินจากการขายทอดตลาดทั้งหมดพร้อมดอกผล คืนให้แก่ผู้เสียหาย แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินจำนวนความเสียหายที่ยังไม่ได้รับคืนหรือชดใช้คืนตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872-3873/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องร้องคดีสัญญาจ้างทำของ การแจ้งข้อพิพาท และผลของการวินิจฉัยอนุญาโตตุลาการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย
ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทกล่าวอ้างว่าผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญาจ้างงานบริการวิศวกรรมที่ปรึกษาอันถือเป็นสัญญาจ้างทำของ และเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุที่ปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าว ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ที่บัญญัติให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี โดยนับจากวันสิ้นสุดหน้าที่ของผู้ร้องที่จะให้คำปรึกษาแก่ผู้คัดค้าน ซึ่งเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 แล้ว ส่วนเงื่อนไขให้ต้องมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงข้อพิพาทหรือความเห็นที่ขัดแย้งเพื่อหาข้อยุติก่อนส่งเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการตามสัญญานั้นมิอาจถือเป็นเงื่อนไขให้เริ่มนับอายุความได้เพราะขัดต่อเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมาย
แม้การที่ผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการครั้งแรก อาจถือเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (4) แต่เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการในคดีดังกล่าวมีคำชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาทเพราะเหตุว่าผู้คัดค้านไม่มีอำนาจเสนอข้อพิพาท กรณีย่อมถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 193/18 เมื่อผู้คัดค้านเสนอข้อพิพาทครั้งหลังเกิน 10 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3427/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระบุรายละเอียดการคัดลอก/ดัดแปลงให้ชัดเจน เพื่อให้จำเลยเข้าใจได้
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์ทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) นั้น โจทก์ต้องบรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด รวมทั้งต้องเป็นข้อเท็จจริงที่จะทำให้จำเลยเข้าใจว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดอย่างไร คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนการกระทำความผิดของจำเลยว่า "..จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานนวนิยายของโจทก์ดังกล่าวด้วยการคัดลอกและดัดแปลงบทสนทนาของตัวละคร บริบทของตัวละคร และบริบทของฉากในนวนิยายของโจทก์ที่เป็นฉากสำคัญหลาย ๆ ฉาก ในนวนิยายของโจทก์แต่ละเล่มแล้วนำไปเรียบเรียงไว้ในบทนวนิยายของจำเลย..." อันเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์บางส่วนที่อยู่ในนวนิยาย 2 เล่ม ของโจทก์ หาใช่เป็นการคัดลอกดัดแปลงนวนิยายทั้งฉบับทั้ง 2 เล่ม ที่การบรรยายฟ้องนี้อาจจะทำให้จำเลยพอเข้าใจได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดอย่างไร แต่เมื่อเป็นการคัดลอกดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงบางส่วน โจทก์ย่อมจะต้องบรรยายฟ้องข้อเท็จจริงให้พอเข้าใจได้ว่าบทสนทนาของตัวละคร บริบทของตัวละคร และบริบทของฉากในนวนิยายของโจทก์ที่เป็นฉากสำคัญหลาย ๆ ฉากนั้น เป็นส่วนไหนในนวนิยายเล่มใดใน 2 เล่ม ของโจทก์ และจำเลยคัดลอกและดัดแปลงงานดังกล่าวอย่างไร รวมทั้งนำไปใช้อยู่ในส่วนไหนของนวนิยายของจำเลย อันจะทำให้จำเลยสามารถเทียบเคียงได้ว่า ข้อความที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์นั้นเป็นการคัดลอกดัดแปลงจริงหรือไม่ กรณีเช่นนี้หาใช่รายละเอียดที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็นหรือเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในภายหลังดังที่โจทก์ฎีกาไม่ อีกทั้งเป็นการพิจารณาถึงการแสดงออก (Expression) ไม่ใช่แนวคิด (Idea) ต่างจากที่โจทก์ฎีกาว่า การวินิจฉัยต้องพิจารณาเนื้อหาของงานทั้งหมดโดยรวมประกอบกัน มิใช่แยกพิจารณาออกมาเป็นส่วน ๆ เฉพาะที่มีการคัดลอกเท่านั้น อนึ่ง การบรรยายฟ้องที่เพียงใช้ข้อความตามกฎหมาย เช่น การทำซ้ำหรือดัดแปลง โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามสมควรว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงอย่างไร ย่อมไม่อาจทำให้จำเลยสามารถเข้าใจฟ้องของโจทก์ได้ ประกอบกับปัญหานี้เป็นการพิจารณาเฉพาะในส่วนของการบรรยายฟ้องเรื่องการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด จึงไม่เกี่ยวกับรายละเอียดเรื่องอื่น ๆ ส่วนการพิจารณาว่าฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากฟ้องเท่านั้น ไม่อาจนำเอกสารท้ายฟ้องมาพิจารณาประกอบได้ ทั้งเป็นขั้นตอนที่ต้องพิจารณาก่อนไต่สวนมูลฟ้อง จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนมูลฟ้องมาพิจารณาประกอบเช่นกัน เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในส่วนของการกระทำความผิดของจำเลยว่า การละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์บางส่วนด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงนั้นถูกกระทำโดยจำเลยในส่วนไหน อย่างไร ย่อมต้องถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2915/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษและวรรคความผิดในศาลอุทธรณ์ ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด ทำให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้าม
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ จำคุก 25 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง จำคุก 3 ปี 6 เดือน เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 3