คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1733 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 44 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีมรดก, การจัดการมรดกสิ้นสุดเมื่อใด, การยินยอมทายาทต่อการจัดการมรดก
โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงรวมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินพิพาท 2 แปลง เป็นทรัพย์สินในกองมรดกของ ณ. เจ้ามรดก และเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งหมดรวมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งห้า โดยบรรยายฟ้องว่าโจทก์แต่ละคนรวมทั้งจำเลยที่ 1 ต่างได้รับมรดกดังกล่าวคนละส่วนเท่า ๆ กัน รวม 6 ส่วน คิดเป็นเงินรวม 398,200 บาท จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาททั้งหมดรวมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมิใช่ทรัพย์มรดก แม้โจทก์ทั้งห้าฟ้องรวมกันมา ก็ต้องถือทุนทรัพย์ที่ดินทั้งสี่ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ต้องคิดแยกทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับ มิใช่กรณีนำเฉพาะราคาที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27623 มาคิดแยกรายแปลงเป็นทุนทรัพย์ของโจทก์ทั้งห้า
มูลเหตุที่โจทก์ทั้งห้าอ้างนำคดีนี้มาฟ้องเกิดจากการที่ ท. ผู้จัดการมรดกละเลยและไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก โดยไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ บ. ทายาทอย่างถูกต้อง อันเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 เมื่อ ท. และ บ. ถึงแก่ความตายก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งห้าในฐานะผู้สืบสันดานของ บ. จึงสืบสิทธิของ บ. มาฟ้องคดีนี้ ซึ่งเป็นการฟ้องเกี่ยวกับการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ได้บัญญัติเรื่องอายุความในการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไว้โดยเฉพาะว่า ห้ามมิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 เป็นผู้สืบสิทธิของ บ. เช่นเดียวกับโจทก์ทั้งห้า ถือว่าเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมใช้สิทธิของ บ. ยกอายุความห้าปีตามบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งห้าได้ โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้เกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์ทั้งห้าจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4172/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและอายุความฟ้องคดี
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกทำหนังสือให้โจทก์ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้เยาว์สละมรดกของ ต. โดยไม่ได้รับความยินยอมของ ม. มารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ และไม่ได้รับอนุญาตจากศาล อันเป็นการมิชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1611 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดการแบ่งมรดกโดยโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งการจัดการมรดกดังกล่าวเป็นการจัดการไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2729/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดกที่ซับซ้อน การปกปิดทายาท และอายุความฟ้องร้องคดีมรดก
คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับแห่งอายุความฟ้องร้องคนละมาตรา โดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1754 วรรคสี่ เมื่อโจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่ของมารดาในทรัพย์มรดกของ ส. ที่ พ. ปกปิดความเป็นทายาทของมารดาโจทก์ และ พ. ไม่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมาย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การตั้งผู้จัดการมรดกมีการปกปิดทายาท การแบ่งทรัพย์มรดกเป็นไปในทางที่ไม่สุจริต การโอนทรัพย์มรดกให้กับตนเองเพียงคนเดียวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โดยไม่มีการแจ้งให้ทายาททราบ เมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ชอบจึงไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว กรณีต้องถือว่า พ. ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน ตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงจะนำอายุความห้าปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง และอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง หรือพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามวรรคสี่มาใช้บังคับไม่ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะโอนเกินกว่าห้าปีและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินมรดก: สิทธิเรียกร้องของผู้รับมรดก vs. บุคคลภายนอกที่ได้มาโดยสุจริต
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ต. ผู้ตาย มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดก แต่ยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท เนื่องจากโจทก์เป็นผู้เยาว์โดยจะรอให้บรรลุนิติภาวะเสียก่อน แต่ น. มารดาของโจทก์เดือดร้อนเรื่องเงินจึงมาขอแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยยอมรับเอาบ้าน 1 หลัง เงิน 10,000 บาท และ วัว 4 ตัว เพื่อจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจปกครองโจทก์ผู้เป็นบุตรซึ่งไม่บรรลุนิติภาวะจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะทายาทที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่มารดาของโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (4) แต่มารดาของโจทก์ไปตกลงแบ่งทรัพย์มรดกโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะที่ น. มารดาของโจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 252 และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อฟ้องโจทก์เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิของโจทก์ผู้ได้มานั้นยังมิได้จดทะเบียน มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โดยตามคำฟ้องของโจทก์มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยมิได้เสียค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต และมิได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ถือว่าคำฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะหักล้างบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ต้องรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1028/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในทรัพย์มรดกจากการเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดิน กรณีผู้รับโอนได้มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ ซ. ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งเก้าแปลงที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โอนให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ถึงที่ 11 เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มีอายุความห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 มิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตามที่ต่อสู้ในคำให้การ ประเด็นที่ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฎีกาเรื่องอายุความ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 แก้ฎีกาเรื่องอายุความเช่นกัน จึงเป็นฎีกาและคำแก้ฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252
ซ. กับ ฟ. เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย ซึ่งมิได้บัญญัติให้ใช้บังคับเฉพาะแก่บุคคลผู้มีสัญชาติไทย กฎหมายลักษณะผัวเมียมีผลใช้บังคับแก่บุคคลทั่วไปโดยไม่จำกัดสัญชาติ และตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า "บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสซึ่งได้มีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้ และทั้งสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกิดแต่การสมรสนั้น ๆ" ซึ่งมีความหมายว่าการสมรสที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายลักษณะผัวเมียอยู่อย่างไร ก็ยังคงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายอยู่อย่างนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 พุทธศักราช 2479 ไม่กระทบกระเทือนถึงการสมรสตามกฎหมายลักษณะผัวเมียซึ่งคู่สมรสไม่จำต้องจดทะเบียนสมรส
ซ. เป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของ จ. เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของ จ. ส่วนหนึ่งย่อมตกได้แก่ ซ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม แม้ ซ. ไม่ได้เรียกร้องก็ไม่มีผลทำให้เสียสิทธิในมรดกส่วนของตนแต่อย่างใด เพราะไม่ปรากฏว่า ซ. แสดงเจตนาสละมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 แต่ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมิได้จัดการทรัพย์มรดกของ จ. ซ. ถึงแก่ความตายเสียก่อน โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของ ซ. ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ที่ตกได้แก่ ซ. ส่วนหนึ่ง
เมื่อ จ. ถึงแก่ความตาย การสมรสระหว่าง จ. กับ ค. ย่อมสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 การคิดส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่าง จ. กับ. ค. มีผลตั้งแต่การสมรสสิ้นไปด้วยเหตุความตาย และการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติว่าด้วยการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1625 ที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงจึงต้องแบ่งเป็นมรดกของ จ. และแบ่งให้ ค. คนละส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 ที่ดินพิพาททั้งเก้าแปลงกึ่งหนึ่งส่วนที่เป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 ผู้สืบสันดานของ จ. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ซ. บิดาของ จ. ทายาทโดยธรรมลำดับที่ 2 มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร และ ค. คู่สมรสซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง, 1629 (1) (2), 1630 วรรคสอง และ 1635 (1) แต่ ซ. ถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการจัดการมรดกของ จ. มรดกในส่วนของ ซ. จึงตกได้แก่ผู้สืบสันดานของ ซ. ทั้งเก้าคน เมื่อ จ. ถึงแก่ความตายไปก่อน ผู้สืบสันดานของ จ. คือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 11 มีสิทธิรับมรดกแทนที่ จ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 ส่วน ย. ผู้สืบสันดานคนหนึ่งของ ซ. ที่ถึงแก่ความตายไปแล้วนั้นแม้ไม่ปรากฏว่า ย. ถึงแก่ความตายก่อนหรือหลัง ซ. ผู้สืบสันดานของ ย. ทั้งหกคนย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่หรือสืบมรดกของ ย. แล้วแต่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2026/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการทรัพย์มรดก, สัญญาเช่า, การคืนค่าเช่า, และความรับผิดของทายาทและผู้เช่า
โจทก์ทั้งสองฟ้องตั้งประเด็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมรู้กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาประโยชน์จากกองมรดกของผู้ตายด้วยการนำคลังสินค้าพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายออกให้จำเลยที่ 2 เช่าในราคาต่ำ แล้วจำเลยที่ 2 นำคลังสินค้าพิพาทออกให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วง ทำให้กองมรดกของผู้ตายเสียหายต้องขาดรายได้ที่ควรจะได้รับ สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมอีกผู้หนึ่ง นำเอาทรัพย์มรดกของผู้ตายไปหาประโยชน์แก่ตนและพวกโดยไม่มีสิทธิ ขอให้บังคับคืนเงินค่าเช่าดังกล่าวแก่กองมรดกของผู้ตายและขับไล่จำเลยทั้งสามจากคลังสินค้าพิพาท อันถือเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสองจะกล่าวบรรยายฟ้องอ้างการกระทำของจำเลยทั้งสามว่าเป็นการทำสัญญาโดยกลฉ้อฉลและละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง กรณีก็ไม่อาจฟังว่าสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องเป็นมูลคดีละเมิดและกลฉ้อฉลอันมีอายุความ 1 ปี ตามข้ออ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่าโจทก์ทั้งสองทราบถึงการละเมิดและทราบตัวผู้จะพึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่ 11 เมษายน 2554 และโจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 ซึ่งยังไม่เกินกำหนด 5 ปี คดีโจทก์ทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 นำคลังสินค้าพิพาทออกให้เช่าในฐานะทายาทตามพินัยกรรม (ผู้รับพินัยกรรม) เงินค่าเช่าต้องกลับเข้าสู่กองมรดกของผู้ตาย สิทธิของจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลฎีกา (ในอีกคดีหนึ่ง) ต้องไปว่ากล่าวกันในภายหลัง และหากจำเลยที่ 1 มีสิทธิกึ่งหนึ่งในค่าเช่าคลังสินค้าพิพาทก็คงมีสิทธิได้รับจากค่าเช่าซึ่งจำเลยที่ 2 ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ทั้งความเป็นหุ้นส่วนก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกับผู้ตาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดคืนเงินค่าเช่าคลังสินค้าพิพาทเต็มจำนวนนั้น เป็นข้อที่โจทก์ทั้งสองเพิ่งหยิบยกขึ้นต่อสู้ในชั้นฎีกาโดยไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยทุจริตร่วมมือกันหาประโยชน์จากกองมรดกของผู้ตาย โดยจำเลยที่ 1 นำคลังสินค้าพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายออกให้จำเลยที่ 2 เช่าในราคาเหมาเดือนละ 20,000 บาท ทั้งที่สามารถให้เช่าเก็บข้าวสารได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 500,000 บาท แล้วจำเลยที่ 2 โดยทุจริตร่วมมือกับจำเลยที่ 3 นำคลังสินค้าพิพาทออกให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงในอัตราเดือนละ 524,880 บาท โดยสัญญาเช่าคลังสินค้าพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นการทำสัญญาโดยกลฉ้อฉลและรู้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ทำให้กองมรดกของผู้ตายได้รับความเสียหาย ซึ่งตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสองเห็นได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเอาคลังสินค้าพิพาทไปให้จำเลยที่ 3 เช่าเพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์มรดกของผู้ตายร่วมกันโดยไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ และยังอ้างว่าสัญญาเช่าคลังสินค้าพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำโดยกลฉ้อฉล กรณีตามคำฟ้องจึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าสัญญาเช่าคลังสินค้าพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นการทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานในการทำสัญญาให้จำเลยที่ 3 เช่าช่วงคลังสินค้าพิพาท โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเจตนาที่จะผูกพันชำระค่าเช่าต่อกัน ทั้งหากจะฟังว่าสัญญาเช่าคลังสินค้าพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีผลผูกพันกันตามข้อสัญญา กรณีก็ต้องนับว่าค่าเช่าซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเหนือคลังสินค้าพิพาทและถือเป็นค่าใช้จ่ายซึ่งจำเลยที่ 2 มีสิทธินำไปหักทอนออกจากค่าเช่าช่วงคลังสินค้าพิพาทซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดคืนแก่โจทก์ทั้งสอง และเมื่อโจทก์ทั้งสองฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนเงินค่าเช่าคลังสินค้าพิพาทที่ได้รับจากจำเลยที่ 3 แล้ว การจะบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนเงินค่าเช่าในส่วนนี้อีก ย่อมเป็นการบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดซ้ำซ้อนกันในมูลหนี้เดียวกัน ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดคืนเงินค่าเช่าคลังสินค้าพิพาทในส่วนนี้อีก จำเลยที่ 1 และที่ 2 คงต้องรับผิดคืนเงินค่าเช่าคลังสินค้าพิพาทกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 10,502,184.33 บาท แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น ปัญหาข้อนี้ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่ถือเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีมรดกและการโอนทรัพย์สินมรดก การครอบครองทรัพย์สินโดยทายาทและการขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 และ ก. อยู่กินฉันสามีภริยากันมาตั้งแต่ปี 2496 ภายหลังพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 โดยมิได้จดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2501 จำเลยที่ 1 และ ก. หามาได้ร่วมกันจึงเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 และ ก. เป็นเจ้าของรวมกัน ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2517 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับ ก. โดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้มีการทำสัญญาก่อนสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 กับ ก. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1463 (1) (เดิม) และเป็นสินบริคณห์ ตามมาตรา 1462 (เดิม) ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้เป็นสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ ตามมาตรา 1468 (เดิม) ต่อมาเมื่อ ก. ถึงแก่ความตายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 จึงส่งผลให้อำนาจในการจัดการสินบริคณห์ของจำเลยที่ 1 หมดไป และต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับ ก. ตามมาตรา 1625 (เดิม) นั่นคือ ต้องคืนสินเดิมแก่คู่สมรสทั้งสองฝ่าย ตามมาตรา 1513 (1) ส่งผลให้กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกของ ก. ทั้งนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่า ก. ได้ทำพินัยกรรมเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งของ ก. ย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ทายาทของ ก. เมื่อที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ก. และมีปัญหาในเรื่องการแบ่งปันทรัพย์มรดกส่วนนี้ในระหว่างทายาทของ ก. คดีนี้จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องมรดก ไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 1336 มาใช้บังคับตามฎีกาของโจทก์ทั้งหกได้
จำเลยที่ 1 กับ ก. ต้องการยกที่ดินพิพาทและที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งหกรับรู้แล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ตามคำสั่งศาลจังหวัดพัทยาแล้วจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 ให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 เป็นไปตามเจตนารมณ์ของจำเลยที่ 1 และ ก. โดยบุตรทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งหกรับรู้และไม่มีผู้ใดคัดค้านแต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน จึงเป็นกรณีการปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุด" จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่เพียงแปลงเดียวให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 ถือได้ว่าการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นลงนับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 หลังจากการจัดการมรดกสิ้นสุดลงแล้วเป็นเวลาเกือบสิบสองปี คดีของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความการจัดการมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ทั้งหกไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเรื่อยมาทั้งก่อนและภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย โดยไม่ปรากฏว่าภายหลัง ก. ถึงแก่ความตาย ทายาทอื่นของ ก. ได้เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทด้วยแต่อย่างใด ทั้งยังได้ความว่า โจทก์ทั้งหกไม่เคยโต้แย้งการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ ก. ถึงแก่ความตายจนมีการฟ้องคดีนี้ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เป็นมรดกของ ก. จึงมิใช่การครอบครองแทนทายาทอื่นหากแต่เป็นการครอบครองเพื่อตน ดังนั้น หากทายาทของ ก. ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องให้มีการแบ่งมรดกของ ก. ในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทก็ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาทอื่นของ ก. ซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งหกในคดีนี้ได้ฟ้องแบ่งมรดกในส่วนของ ก. ภายใน 1 ปี แม้ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนให้ที่พิพาททั้งแปลงรวมถึงส่วนที่เป็นมรดกของ ก. แก่จำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็ยังคงเป็นเรื่องการแบ่งปันมรดกของ ก. ให้แก่ทายาทอยู่นั่นเอง การที่โจทก์ทั้งหกฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทในส่วนของ ก. ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อจะให้มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ก. แก่ทายาทคนอื่น เมื่อโจทก์ทั้งหกฟ้องจำเลยที่ 2 ภายหลังจาก ก. ถึงแก่ความตายเกิน 1 ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งหกจึงขาดอายุความมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนมรดกไม่ชอบและการซื้อขายโดยสุจริต ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ แม้ผู้ขายจัดการมรดกไม่ถูกต้อง
ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า "คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการจำกัดอายุความฟ้องร้องที่กำหนดให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งบุคคลที่มีสิทธิอ้างอายุความคงจำกัดเพียงเฉพาะแต่บุคคลที่เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของผู้ตายเท่านั้น จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่ทายาทของผู้ตาย จึงไม่อาจยกอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทได้
แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองและโอนขายต่อไปให้จำเลยที่ 2 โดยไม่แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นเป็นการโอนไปหรือจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 380,000 บาท และทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยมีพฤติการณ์ไม่สุจริต ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม การขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2160/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีจัดการมรดกไม่ชอบ การจัดการมรดกสิ้นสุดเมื่อใด
ทรัพย์มรดกมีที่ดินเพียงสองแปลง จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของ ด. โอนที่ดินทั้งสองแปลงโดยจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และ ร. ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2546 และใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ในที่ดินอีกแปลงหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 โดยมิได้จัดแบ่งให้โจทก์ เมื่อเจ้ามรดกไม่มีทรัพย์มรดกอื่นใดที่จะจัดการต่อไปอีก ถือว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้น ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2546 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยว่าจัดการมรดกไม่ชอบ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ซึ่งเกินกว่าห้าปี นับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้เพื่อบังคับโอนทรัพย์มรดกที่ถูกโอนไปโดยไม่ชอบ และประเด็นอายุความ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง อันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์นั้น กฎหมายมิได้ระบุว่าสิทธิเรียกร้องอะไรบ้างที่เจ้าหนี้จะใช้แทนลูกหนี้ได้ เพียงแต่ห้ามมิให้ใช้สิทธิซึ่งมีลักษณะเป็นการส่วนตัวของลูกหนี้โดยแท้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือเป็นเรื่องหนี้เงินเท่านั้น สิทธิซึ่งเป็นการเฉพาะตัวจึงอาจเป็นได้ทั้งสิทธิที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือเป็นสิทธิที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก็ได้ แต่ต้องมีลักษณะเป็นการส่วนตัว ซึ่งโดยปกติทั่วไปสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินมักจะไม่เป็นการเฉพาะตัว แต่ในบางกรณีอาจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกหรือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้แต่ผู้เดียวเป็นผู้พิจารณาว่าจะใช้สิทธิดังกล่าวหรือไม่ เช่น การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ หรือสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน กรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นหรือชายคู่หมั้นเรียกค่าสินไหมทดแทนจากชายผู้ล่วงละเมิดหญิงคู่หมั้น สิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเป็นหนี้ระหว่างสามีภริยาและบิดามารดากับบุตร สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ แม้จะเกี่ยวกับทรัพย์สิน เจ้าหนี้ก็ไม่อาจเข้าไปเรียกร้องแทนลูกหนี้ได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ แต่สำหรับสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จะเห็นได้ว่า ป.พ.พ. มาตรา 1614 ได้บัญญัติเป็นการเฉพาะว่า ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสียเปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ สิทธิในการเรียกร้องทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ลูกหนี้ซึ่งเป็นทายาทแห่งกองมรดกนั้น จึงมิใช่เป็นสิทธิในข้อที่เป็นการส่วนตัวโดยแท้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่อย่างใด เมื่อจ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกโดยทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง รวมถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 จึงใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 4 ในนามของโจทก์เพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โอนที่ดินพิพาทในส่วนที่ตกทอดเป็นทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ได้
จ่าสิบตำรวจ ส. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินพิพาทจึงย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน แม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกจะได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาก็ตาม เพราะการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว ก็เป็นการมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคน เมื่อที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งปันกันและตกทอดแก่ทายาททุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 4 และในภายหลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้สละมรดกดังกล่าว แต่โจทก์ยังคงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 4 อยู่ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิร้องขอเพิกถอนนิติกรรมหรือเพิกถอนการสละมรดกดังกล่าวนั้นได้ เพราะสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ไม่ยอมใช้นั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังหนี้ของเจ้าหนี้ เมื่อลูกหนี้ไม่ใช้สิทธิก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ได้ทั้งนั้น เพราะว่าทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ว่าจะมีอยู่ก่อนหรือได้มาในภายหลังย่อมอยู่ภายใต้การบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งสิ้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ แม้จะปรากฏว่านอกจากที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้ว เจ้ามรดกยังมีที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่ง คือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 9097 ซึ่งจำเลยที่ 4 ก็ถือเป็นทายาทผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าวเช่นเดียวกับที่ดินแปลงพิพาทก็ตาม แต่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา และมีการโอนเป็นชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 จะมีทรัพย์สินอื่นหรือที่ดินดังกล่าวจะมีมูลค่าเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 4 เป็นหนี้โจทก์เป็นเงินจำนวนถึง 1,332,000 บาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้โอนทรัพย์มรดกส่วนของจำเลยที่ 4 ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ตามฟ้องได้
การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เจ้ามรดก จะถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2545 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2559 อันเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 หรือการที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1733 วรรคสอง ก็ตาม ที่ดินพิพาทดังกล่าวก็ยังคงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกที่ยังมิได้มีการจัดการเสร็จสิ้นและแบ่งปันกัน คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งแยกให้จำเลยที่ 4 เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา โดยปราศจากภาระผูกพันซึ่งเป็นกรณีที่มีวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 14274 แบ่งส่วนให้แก่จำเลยที่ 4 จำนวน 1 ใน 8 ส่วน ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยระบุเงื่อนไขแห่งการบังคับคดีว่าหากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง
of 5