พบผลลัพธ์ทั้งหมด 23 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1121/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลือกประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น: ผู้รับมอบฉันทะต้องมีสถานะผู้ถือหุ้น
ตามข้อบังคับของผู้คัดค้านที่ 1 กำหนดว่า ผู้ที่จะเป็นประธานในที่ประชุมได้ ต้องเป็นผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองและได้รับเลือกจากที่ประชุมในขณะนั้นให้เป็นประธาน พ. ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 1 เพียงแต่ได้รับมอบฉันทะจากผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น โดยตามหนังสือมอบฉันทะระบุว่า ให้เข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนผู้คัดค้านที่ 2 พ. จึงมีสิทธิเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนตามที่ได้รับมอบฉันทะเท่านั้น ไม่มีอำนาจกระทำการอื่นนอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ ทั้งการมอบฉันทะดังกล่าวหาทำให้ พ. มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใดไม่ เพราะการเป็นผู้ถือหุ้นเป็นสถานะเฉพาะตัวของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่อาจมอบฉันทะให้ผู้อื่นเป็นแทนได้ การที่ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเลือก พ. เป็นประธาน แล้ว พ. ทำหน้าที่ประธานในการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นย่อมขัดต่อข้อบังคับของผู้คัดค้านที่ 1 และเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจทำให้การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการประชุมและลงมติโดยไม่ชอบ จึงต้องเพิกถอนการลงมติในการประชุมครั้งดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4335/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการใช้ถนนในโครงการหมู่บ้านปิด: การขัดขวางการสัญจรและการงดเว้นกระทำการซ้ำ
โครงการหมู่บ้าน พ. มีลักษณะเป็นหมู่บ้านปิด มีรั้วกำแพงกั้นเขตล้อมรอบและมีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะคือซอยท่าอิฐเพียงทางเดียวเท่านั้น การที่บริษัท พ. ในฐานะผู้จัดสรรทำถนนและรั้วกำแพงล้อมรอบที่ดินของโครงการที่จัดสรรย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการสัญจรและรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้อยู่อาศัยในโครงการโดยเฉพาะ มิได้หมายที่จะให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ถนนร่วมกับผู้ซื้อที่ดินและบ้านในโครงการดังกล่าวด้วย ที่บริษัท พ. ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 172178 พร้อมบ้านในโครงการหมู่บ้าน พ. แล้วรื้อถอนบ้านและรั้วกำแพงออก ก่อสร้างเป็นถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้านทั้งสองโครงการเข้าด้วยกัน สภาพของถนนปูด้วยอิฐตัวหนอนมีลักษณะแตกต่างจากถนนภายในโครงการหมู่บ้าน พ. ที่ก่อสร้างเป็นคอนกรีตอย่างถาวรเจือสมกับสำเนาบันทึกถ้อยคำที่ ว. ตัวแทนบริษัท พ. และกรรมการบริษัท พ. ให้ถ้อยคำยืนยันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า การสร้างถนนเชื่อมกันข้างต้นเป็นเพียงชั่วคราวเพื่อให้ลูกค้าโครงการหมู่บ้าน น. ผ่านเข้าชมโครงการ และเพื่อการขนส่งวัสดุก่อสร้าง มิได้มีเจตนาเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการโดยเชื่อมหมู่บ้านทั้งสองเข้าด้วยกัน และจะทำการปิดกั้นถนนระหว่างโครงการทั้งสองให้เป็นไปตามแผนผังโครงการที่ขอจัดสรร กอปรกับตามแผนผังโครงการหมู่บ้าน น. มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะทางซอยท่าอิฐ - บางรักน้อย อยู่แล้ว และปัจจุบันใช้เป็นเส้นทางผ่านเข้าออกหมู่บ้านเช่นนี้ การก่อสร้างถนนปูด้วยอิฐตัวหนอนเชื่อมหมู่บ้านทั้งสองนั้น หาได้มีเจตนาตั้งแต่แรกที่จะให้ผู้อาศัยในโครงการหมู่บ้าน น. ผ่านเข้ามาใช้ถนนในโครงการหมู่บ้าน พ. ไม่ แม้ต่อมาบริษัท พ. ได้จดทะเบียนโอนถนนทั้งหมดภายในโครงการหมู่บ้าน พ. เป็นทางสาธารณประโยชน์ก็ตาม แต่เชื่อว่าได้กระทำไปเพียงเพื่อให้การเป็นไปตามประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคสอง อันจะทำให้หน้าที่ในการเป็นผู้บำรุงรักษาถนนของบริษัท พ. ตามข้อ 30 วรรคหนึ่ง ตกแก่หน่วยงานของรัฐซึ่งปัจจุบันคือองค์การบริหารส่วนตำบล บ. เท่านั้น ถนนภายในโครงการหมู่บ้าน พ. ยังคงมีอยู่สำหรับการใช้ประโยชน์เฉพาะจำเลยที่ 1 และสมาชิกของจำเลยที่ 1 ในโครงการหมู่บ้าน พ. โจทก์ทั้งสองและสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ในโครงการหมู่บ้าน น. ไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะเข้ามาใช้ถนนดังกล่าวได้ ดังนี้จำเลยทั้งสิบหกย่อมใช้สิทธิขัดขวางด้วยการนำแท่งปูนมาวางปิดกั้นเพื่อไม่ให้โจทก์ทั้งสองและสมาชิกของโจทก์ที่ 1 ผ่านเข้ามาใช้ถนนในโครงการหมู่บ้าน พ. ได้ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสิบหกจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3526/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยในคดีดอกเบี้ยเกินอัตรา และข้อจำกัดสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ฟ้องโดยบรรยายวันเวลากระทำผิดของจำเลยฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีทั้งก่อนวันที่แก้ไขกฎหมายและหลังแก้ไขกฎหมาย เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความชัดว่าเหตุเกิดวันเวลาใด จึงต้องนำกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยมาบังคับใช้ตาม ป.อ. มาตรา 3 การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษแก่จำเลยนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องนำกฎหมายและโทษที่ลงแก่จำเลยนั้นมาปรับใช้ เพราะการใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยนั้น กฎหมายมิได้จำกัดเฉพาะการกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเท่านั้น เมื่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 มีระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาบังคับใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3457/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การมอบอำนาจทนายความยื่นอุทธรณ์ - ข้อบกพร่องของคำฟ้อง - การแก้ไขข้อบกพร่อง - ลำดับชั้นศาล
การที่ อ. ลงชื่อเป็นผู้ร้องในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์และลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้ทำแทนได้และยื่นต่อศาลชั้นต้น เป็นคำร้องและคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีข้อบกพร่อง เท่ากับคำร้องและคำฟ้องอุทธรณ์ไม่มีลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจึงต้องสั่งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขข้อบกพร่องเสียให้ถูกต้องก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์และรับอุทธรณ์มาโดยไม่สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นจัดการแก้ไขข้อบกพร่อง โดยให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อในฐานะผู้ร้องในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ และลงชื่อในฐานะผู้อุทธรณ์ในคำฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องเสียก่อนแล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เสียทีเดียวนั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องข้างต้นแล้วให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2664/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ดอกเบี้ยผิดนัดชดใช้ค่าเสียหาย: ผลกระทบจาก พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. 2564 และการปรับอัตราดอกเบี้ย
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีประกาศใช้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 ซึ่งตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นอัตราร้อยละ 3 ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ตามมาตรา 224 วรรคแรก เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 ใหม่ ที่อาจปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและบวกด้วยอัตราเพิ่มดังกล่าว แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ศาลฎีกาจึงต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2429/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อพิพาทซื้อขายที่ดินพร้อมบ้าน และการแก้ไขอัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 310,870 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้ ก็ปรากฏว่ามีประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้แก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคแรก เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ปัญหาการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองและกำหนดดอกเบี้ยให้เป็นไปตามพระราชกำหนดดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1659/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การส่งหมายนัดตามภูมิลำเนา แม้จำเลยมีถิ่นที่อยู่หลายแห่ง ศาลฎีกาเห็นชอบด้วยการส่งหมายนัดไปยังบ้านเลขที่ที่ระบุในทะเบียนราษฎร
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยโดยระบุว่าจำเลยตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านเลขที่ 436 ถนนภูเก็ต ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และตามข้อมูลทะเบียนราษฎรก็ระบุว่าจำเลยมีที่อยู่ที่บ้านเลขที่ดังกล่าว ประกอบกับในชั้นพิจารณา เมื่อจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานต่อศาลก็ได้ระบุที่อยู่ดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาของจำเลยเช่นเดียวกัน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยแจ้งย้ายที่อยู่ใหม่แต่อย่างใด กรณีถือว่าบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นถิ่นที่อยู่ของจำเลย แม้จำเลยจะอ้างว่าจำเลยพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 29/31 หมู่ที่ 4 ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ก็ตาม หากเป็นความจริงก็ต้องถือว่าจำเลยมีถิ่นที่อยู่หลายแห่ง ดังนั้น บ้านเลขที่ 436 ย่อมเป็นภูมิลำเนาของจำเลยด้วยแห่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 38
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 399/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานกระทำชำเราเด็ก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้มีเจตนาเดียวกัน
แม้จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 วันละ 1 ครั้ง และในแต่ละครั้งจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาอย่างเดียวกันคือกระทำชำเราก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ต่างวันต่างวาระกัน การกระทำชำเราเสร็จแต่ละครั้งเป็นความผิดสำเร็จในแต่ละครั้ง การกระทำความผิดของจำเลยไม่ได้ต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกัน ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 รวม 7 ครั้ง และมีคำขอท้ายฟ้องโดยอ้าง ป.อ. มาตรา 91 มาด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 385/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนนิติกรรมฉ้อฉลของผู้ค้ำประกันที่โอนทรัพย์สินหลังผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องได้
จำเลยที่ 1 เป็นผู้คํ้าประกันตามสัญญาเช่าซื้อโดยตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อผู้เช่าซื้อไม่ชำระหนี้ตามกำหนดจึงตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยที่ 1 ย่อมมีภาระหนี้ที่ต้องชำระแทนผู้เช่าซื้อตามสัญญาคํ้าประกัน และถือว่าจำเลยที่ 1 ตกเป็นลูกหนี้ตั้งแต่ผู้เช่าซื้อผิดนัดเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 (เดิม) จำเลยที่ 1 จะทราบถึงการผิดนัดของผู้เช่าซื้อลูกหนี้หรือไม่ ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้คํ้าประกัน เมื่อจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาภายหลังผู้เช่าซื้อผิดนัด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นเพียงพอที่จะชำระให้แก่โจทก์ได้ จึงทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลนั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8387/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ดุลพินิจศาลสั่งสืบเสาะพินิจจำเลย: ศาลไม่จำเป็นต้องสั่งสืบเสาะหากมีข้อเท็จจริงเพียงพอในการกำหนดโทษ
ในคดีอาญาเมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งให้พนักงานคุมประพฤติทำการสืบเสาะและพินิจจำเลยหรือไม่ก็ได้ เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อศาลเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยได้ จึงไม่จำต้องสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย