คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชูศักดิ์ จำปา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4969/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมจากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา, การแบ่งความรับผิดเมื่อสมรสสิ้นสุด, และสิทธิเรียกร้องระหว่างลูกหนี้ร่วม
การเรียกค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่ายนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า "เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น" ซึ่งบทบัญญัติตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ให้ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามีหรือภริยาซึ่งเป็นคู่สมรสอีกฝ่ายได้เฉพาะกรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) คือ กรณีที่สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือฉันสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ ดังนั้น การที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ในกรณีนี้ นอกจากจำเลยที่ 1 จะอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องจำเลยที่ 2 ฉันภริยาหรือเป็นชู้หรือร่วมประเวณีกันเป็นอาจิณอันเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) แล้วยังต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่ากันเพราะเหตุดังกล่าวด้วย เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 และเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ด้วย แต่เมื่อในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงหย่ากันโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 และขอให้ศาลพิพากษาตามยอม ซึ่งการที่ศาลพิพากษาตามยอมให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 หย่ากันนี้ไม่ใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะมีเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (1) ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุแห่งการหย่าตามมาตรา 1516 (1) โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง
แม้การกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานนี้เฉพาะจำเลยที่ 1 แต่เพียงลำพังที่เป็นผู้กู้ โดยที่โจทก์มิได้ผูกพันเป็นผู้กู้ร่วมหรือค้ำประกันในหนี้จำนวนนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงาน ผู้ให้กู้ด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์นำเงินดังกล่าวไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนบุตรคนแรก การกู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่จำเลยที่ 1 นำมาใช้เกี่ยวกับการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้ร่วมกันตามมาตรา 1490 (1) ในจำนวนเงิน 1,566,600 บาท และต้องผูกพันชำระหนี้จนกว่าหนี้จะระงับและเจ้าหนี้จะเรียกชำระหนี้จากโจทก์หรือจำเลยที่ 1 แต่คนใดคนหนึ่งในฐานะลูกหนี้ร่วมให้ชำระหนี้โดยสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือกตามมาตรา 291 ส่วนกรณีตามมาตรา 1535 เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกันตามส่วนเท่ากัน ก็เป็นเรื่องการแบ่งความรับผิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งไม่กระทบต่อสิทธิของเจ้าหนี้ที่ยังมีสิทธิเรียกร้องให้ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ร่วมชำระหนี้ได้ แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นสามีภริยากันแล้วก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวนดังกล่าวให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจเรียกให้โจทก์ชำระหนี้ในส่วนที่โจทก์ต้องร่วมรับผิดแก่ตนได้ เพราะหากให้โจทก์ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระหนี้ในจำนวนที่เป็นหนี้ร่วมให้แก่เจ้าหนี้จนสิ้นเชิง โจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมก็ยังอาจถูกเจ้าหนี้เรียกให้ชำระหนี้เงินกู้จำนวนดังกล่าวอีกได้จนกว่าหนี้จำนวนนี้จะระงับสิ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4765/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยักย้ายทรัพย์มรดกทำให้ถูกตัดสิทธิการรับมรดก และสิทธิในการขอออกใบแทนโฉนด
โจทก์ทั้งสี่บรรยายคําฟ้องและมีคําขอมาในฟ้องให้กําจัดจำเลยมิให้รับมรดกของ ว. เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแทน ว. เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายที่ดินจึงตกเป็นทรัพย์มรดก โจทก์ทั้งสี่ในฐานะผู้จัดการมรดก ว. แจ้งให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินและให้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์จากจำเลยเป็นโจทก์ทั้งสี่ในฐานะผู้จัดการมรดก แต่จำเลยไม่ดำเนินการ กลับนําที่ดินมรดกไปทำสัญญาจะซื้อจะขายกับบุคคลภายนอกแล้วรับเงินมัดจำไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้โดยรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาท จำเลยจึงต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกของ ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 ซึ่งโจทก์ทั้งสี่ก็มีคำขอให้กำจัดจำเลยมิให้รับมรดกของ ว. มาในคำฟ้องแล้ว และในส่วนการขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน โจทก์ทั้งสี่ก็มีคําขอมาในฟ้องแล้วด้วยว่า หากจำเลยไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ทั้งสี่ ขอให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินการออกใบแทนโฉนดที่ดินได้ การขอให้เจ้าพนักงานที่ดินออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่เป็นเรื่องวิธีการในชั้นบังคับคดี ซึ่งหากจำเลยไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ทั้งสี่โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุอื่นใดให้จำเลยไม่สามารถส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่เพื่อดำเนินการนําที่ดินไปแบ่งปันแก่ทายาทได้ โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิดำเนินการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น กรณีจึงต้องพิพากษาให้กําจัดจำเลยมิให้รับมรดกของ ว. และพิพากษาว่าหากจำเลยไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ทั้งสี่ ให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินการออกใบแทนโฉนดที่ดินได้ไว้ในคําพิพากษา อันเป็นการที่คําพิพากษาของศาลที่ชี้ขาดตัดสินคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคําฟ้องทุกข้อหา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3875/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเบิกเงินรางวัลที่ปรึกษากฎหมายในคดีที่ศาลใช้มาตรการแทนการพิพากษาและจำหน่ายคดีชั่วคราว ต้องรอจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 123 ที่ปรึกษากฎหมายซึ่งศาลแต่งตั้งให้ได้รับค่าป่วยการตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน พ.ศ. 2555 และระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กหรือเยาวชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ข้อ 5 กำหนดว่าให้ศาลกำหนดเงินรางวัลให้แก่ที่ปรึกษากฎหมายตามอัตราค่าป่วยการท้ายระเบียบ ดังนี้ (1) ในกรณีที่มีการวินิจฉัยชี้ขาดคดี ให้กำหนดตามบัญชี 1 และตามวรรคสอง กำหนดว่า "…ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ คดีที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว คดีที่ศาลสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษา หรือคดีเสร็จไปโดยศาลไม่ได้มีคำพิพากษา..." และวรรคสาม กำหนดว่า "ทั้งนี้ ให้กำหนดเมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว" ซึ่งคดีนี้เป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพทั้งยังเป็นคดีที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวที่ให้ศาลกำหนดเงินรางวัลให้ได้ตามระเบียบ ข้อ 5 (1) วรรคสอง แต่ต้องอยู่ในบังคับแห่งวรรคสามที่ศาลจะกำหนดให้ได้ต่อเมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นให้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดีแก่จำเลยแล้วจำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้ชั่วคราว โดยมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง กรณีจึงยังไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะสั่งให้จ่ายเงินรางวัลค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก: ศาลพิจารณาโรคซึมเศร้าและพฤติกรรมรุนแรงของผู้ร้องในการกำหนดสิทธิเลี้ยงดู
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องมิได้ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า ผู้ร้องเป็นบิดาของผู้เยาว์ทั้งสาม ก็ชอบที่จะพิพากษาให้ผู้ร้องไปจดทะเบียนรับผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผู้เยาว์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง เป็นการพิพากษาที่เกินคำขอและขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าว อันเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบ พ.ร.บ.เยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3397/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา, การพิจารณาความเสียหาย และการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกี่ยวข้องกับความผิดทางอาญา
สำหรับความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 390 ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้มีคำพิพากษาให้แก้ไขนั้น มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 เป็นเวลาเกิน 1 ปี แล้ว จึงขาดอายุความ ซึ่งการจะลงโทษจำเลยตามที่ได้ความจากการพิจารณาก็จะต้องพิจารณาว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนสถานะบุตรชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากขาดอายุความ และการไม่ได้รับแจ้งการพิจารณาคดี
ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 196/2561 ที่จําเลยยื่นคําร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจําเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ไม่ได้มีการส่งสำเนาคําร้องขอ หรือหมายนัด หรือหมายเรียกให้แก่โจทก์ ทั้ง ๆ ที่โจทก์กับจําเลยรู้จักกันดีและติดต่อทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ กันเป็นประจำ แม้ศาลจะมีการประกาศตามระเบียบหรือข้อบังคับ ก็ไม่ใช่สื่อหรือช่องทางที่แพร่หลายอันจะทำให้โจทก์หรือประชาชนทั่วไปทราบหรือเห็นได้ การที่โจทก์ไม่ได้เข้ามาคัดค้านหรือต่อสู้ในคดีจึงเชื่อว่าโจทก์ไม่ทราบจริง แต่เชื่อว่าโจทก์เพิ่งทราบว่าศาลสั่งว่าจําเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เมื่อจําเลยนําคำสั่งที่ศาลชั้นต้นสั่งว่าจําเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมาเป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอถอนโจทก์จากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์จึงไม่อาจยื่นคําคัดค้านหรือต่อสู้ในคดีดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจําเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายด้วย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจําเลยคดีนี้ได้ เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งว่าจําเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 จึงเป็นกรณีที่จําเลยไม่ได้ร้องหรือฟ้องคดีภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่จําเลยบรรลุนิติภาวะ คดีจําเลยจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสาม จึงมีเหตุให้ถอนจําเลยจากการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2729/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการมรดกที่ซับซ้อน การปกปิดทายาท และอายุความฟ้องร้องคดีมรดก
คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับแห่งอายุความฟ้องร้องคนละมาตรา โดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1754 วรรคสี่ เมื่อโจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่ของมารดาในทรัพย์มรดกของ ส. ที่ พ. ปกปิดความเป็นทายาทของมารดาโจทก์ และ พ. ไม่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมาย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การตั้งผู้จัดการมรดกมีการปกปิดทายาท การแบ่งทรัพย์มรดกเป็นไปในทางที่ไม่สุจริต การโอนทรัพย์มรดกให้กับตนเองเพียงคนเดียวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โดยไม่มีการแจ้งให้ทายาททราบ เมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ชอบจึงไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว กรณีต้องถือว่า พ. ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน ตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงจะนำอายุความห้าปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง และอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง หรือพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามวรรคสี่มาใช้บังคับไม่ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะโอนเกินกว่าห้าปีและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2314/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กและการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ใช้บังคับ ศาลฎีกาแก้ไขโทษให้ถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด
ที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี โดยใช้นิ้วสอดเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นการกระทำไม่สมควรทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 1 นั้น เมื่อกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำอนาจาร จึงประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตามมาตรา 279 วรรคห้า ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมภายหลังจำเลยกระทำความผิด อันเป็นกรณีกฎหมายที่บัญญัติภายหลังกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามมาตรา 3 ต้องลงโทษจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตามมาตรา 279 วรรคห้า ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แต่ความผิดฐานนี้มีระวางโทษเท่ากับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตามมาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ในส่วนระวางโทษจึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย ศาลต้องกำหนดโทษจำเลยตามมาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิด มิใช่ตามมาตรา 279 วรรคแรก (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนเงินสนับสนุนพรรคการเมือง, ความรับผิดของกรรมการบริหารพรรค, และการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
เงินสนับสนุนของพรรคการเมืองที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองนั้นเป็นเงินที่มอบให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีสิทธิได้รับนำไปใช้ในการพัฒนาพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินดังกล่าวให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานและแผนการใช้เงินซึ่งหากใช้ไปโดยชอบและสามารถแสดงหลักฐานการใช้จ่ายต่อโจทก์ทั้งสองได้ พรรคการเมืองนั้นก็ไม่ต้องคืนเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองแก่กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองแต่อย่างใด แต่หากเป็นการใช้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 1 ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองก็มีสิทธิเรียกคืนเงินในส่วนที่ใช้ไปโดยไม่ชอบคืนส่งเข้ากองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองได้ สิทธิในการเรียกคืนจึงเกิดมีขึ้นเมื่อมีการใช้เงินโดยมิชอบหรือเมื่อพรรคการเมืองนั้นถูกยุบแล้วแต่กรณี ซึ่งในส่วนเงินสนับสนุนของพรรค ด. ประจำปี 2557 นั้น แม้โจทก์ทั้งสองจะมีสิทธิเรียกคืนเงินในส่วนที่ใช้ไปโดยไม่ชอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 84 ก็ตาม แต่สิทธิในการเรียกคืนเงินดังกล่าวซึ่งเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดวันชำระหนี้ไว้ โจทก์ชอบที่จะทวงถามให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และ ท. ชำระหนี้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และ ท. ไม่ชำระจึงจะตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดให้แก่โจทก์ทั้งสองตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง (เดิม) เมื่อโจทก์ที่ 1 มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และ ท. ให้คืนเงินและส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และ ท. ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วไม่คืนเงิน โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดตามหนังสือดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
การคืนเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองประจำปี 2556 นั้น ได้ความจากคำฟ้องและจากหนังสือฉบับลงวันที่ 29 เมษายน 2557 ที่โจทก์ที่ 2 มีไปถึงพรรค ด. ว่า โจทก์ที่ 2 อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 82 ในการทวงถามให้พรรค ด. ส่งมอบเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง ซึ่งตามมาตรา 82 บัญญัติให้นำความในมาตรา 42 วรรคสอง ว่าด้วยการยุบพรรคการเมืองมาใช้บังคับกับกรณีการฝ่าฝืนมาตรา 82 โดยอนุโลม ต่อมาเมื่อพรรค ด. ไม่จัดส่งเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 42 วรรคสอง ดำเนินการเพื่อให้มีการยุบพรรค ด. หลังจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค ด. เมื่อเป็นกรณีที่พรรค ด. ถูกยุบเพราะฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 82 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ความรับผิดในการคืนเงินสนับสนุนของพรรค ด. จึงต้องนำบทบัญญัติมาตรา 85 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาใช้บังคับ ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และ ท. ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค ด. อยู่ในช่วงปี 2556 จะต้องร่วมรับผิดกับพรรค ด. อย่างลูกหนี้ร่วมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่พรรค ด. ได้รับเงินไปจากคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ และเมื่อไม่ปรากฏว่าหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค ด. โจทก์ทั้งสองอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติมาตรา 85 ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และ ท. คืนเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองที่พรรค ด. ได้รับไป เมื่อปี 2556 แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และ ท. ไม่ชำระ โจทก์ทั้งสองก็ไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 11 ถึงที่ 17 ในฐานะทายาท ท. รับผิดชำระดอกเบี้ยในช่วงเวลาตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรค ด. จนถึงวันก่อนวันฟ้องได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 17 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในส่วนเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองประจำปี 2556 ตั้งแต่วันฟ้อง
จำเลยที่ 11 ถึงที่ 17 ยื่นคำแก้ฎีกาโดยอ้างว่าจำเลยที่ 11 ถึงที่ 17 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองนั้น เป็นการขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับศาลล่างทั้งสอง ซึ่งจะต้องทำเป็นคำฟ้องฎีกา จะขอมาในคำแก้ฎีกาหาได้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1729/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความร้องทุกข์: การแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน ไม่ถือเป็นคำร้องทุกข์
โจทก์ร่วมทราบว่าถูกหลอกลวงเมื่อโจทก์ร่วมไปตามหาจําเลยที่หน่วยงานของจําเลย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2561 โจทก์ร่วมย่อมทราบได้ว่า จําเลยคือผู้ที่หลอกลวงโจทก์ร่วมตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ร่วมไปพบพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ข้อความที่ปรากฏในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุแจ้งชัดว่า เป็นการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและผู้แจ้งขอไปติดตามการสนทนาระหว่างผู้แจ้งกับจําเลยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป มิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายเพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ การแจ้งความตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน จึงไม่เป็นคําร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ โจทก์ร่วมเพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจําเลย เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 เมื่อโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ว่าจําเลยเป็นผู้กระทำความผิด ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2561 การร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมจึงพ้นกำหนดระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ สิทธิของโจทก์และโจทก์ร่วมในการนําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
of 2