คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 94 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: การฟ้องคดีซ้ำซ้อนกับคดีที่ศาลยังพิจารณาอยู่ แม้จะมีการจำหน่ายคดีชั่วคราว
คดีก่อน จำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทและเรียกค่าเสียหายอ้างว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งซื้อจากจำเลยที่ 1 โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และจำเลยที่ 1 ตกลงจะซื้อคืนโดยทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระราคาและรับโอนกรรมสิทธิ์ สัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยที่ 1 ยังคงอาศัยอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท จึงเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 เสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีก่อนเป็นเรื่องเจ้าของทรัพย์สินใช้กรรมสิทธิ์ติดตามและเอาคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของตนจากจำเลยที่ 1 ผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ ตลอดจนสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินที่จะใช้สอยทรัพย์สินนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ส่วนคำร้องสอดของโจทก์ที่ยื่นเข้าไปขณะคดีก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณาอ้างว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้รู้เห็นหรือให้ความยินยอม และจำเลยที่ 2 กับสามีซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้กระทำการโดยไม่สุจริต โดยมีคำขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 เห็นได้ชัดว่า คำร้องสอดของโจทก์ตั้งข้อพิพาทเป็นปฏิปักษ์กับทั้งจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์และจำเลยในคดีก่อน มีผลให้คดีตามคำร้องสอดของโจทก์มีลักษณะเป็นคำฟ้องที่โจทก์เสนอข้อหาต่อศาลแล้ว แม้คดีก่อนศาลจะจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังผลในคดีนี้ ก็ถือว่าคดีตามคำร้องสอดของโจทก์ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล การที่โจทก์ยื่นคำฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้ โดยมีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในเรื่องเดียวกันกับคดีที่โจทก์ยื่นคำร้องสอดเข้าไปในคดีก่อน ซึ่งมีลักษณะเป็นคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1924/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินนิคมสร้างตนเองที่เป็นโมฆะ และการขาดสภาพการเป็นสมาชิกนิคม
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐที่นิคมสร้างตนเองคำสร้อยมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้สมาชิกของนิคมเท่านั้นเข้าทำประโยชน์ หากสมาชิกของนิคมได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้วและได้เป็นสมาชิกมาเป็นเวลาห้าปี นิคมสร้างตนเองคำสร้อยจึงสามารถออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่ผู้นั้นได้ ซึ่งสมาชิกนิคมสามารถนำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตาม ป.ที่ดินได้ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 6, 8 และ 11 เมื่อที่ดินพิพาทยังไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน นิคมสร้างตนเองคำสร้อยเพียงแต่อนุญาตจัดสรรให้จำเลยซึ่งเป็นสมาชิกเข้าครอบครองทำประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 21 และมาตรา 24 สิทธิของผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าครอบครอง จึงมิใช่สิทธิตาม ป.ที่ดินหรือตาม ป.พ.พ. แต่เป็นสิทธิตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ที่รัฐจัดสรรให้แก่สมาชิกของนิคมสร้างตนเองคำสร้อย โดยมีเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ดังกล่าว และสมาชิกของนิคมสร้างตนเองที่ได้รับมอบที่ดินแล้ว ต้องจัดที่ดินให้เกิดประโยชน์ให้แล้วเสร็จภายในห้าปีนับแต่วันที่อพยพครอบครัวเข้าอยู่ประจำ โดยมาตรา 27 สมาชิกต้องไม่มอบหรือโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับมอบให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย นอกจากนี้มาตรา 15 ยังห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปหาประโยชน์ ยึดถือ หรือครอบครองที่ดินภายในนิคมเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี แสดงว่า ที่ดินของนิคมสร้างตนเองจะโอนไปยังบุคคลภายนอกได้จะต้องเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินแล้วเท่านั้น และจะต้องพ้นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินก่อน ดังนี้ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของนิคมสร้างตนเองคำสร้อยที่ยังไม่มีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้สมาชิกของนิคมโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินไปยังบุคคลอื่น การที่จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้บิดาโจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 27 (6) อย่างชัดแจ้ง สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยกับบิดาโจทก์ จึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิตามสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวเข้ายึดถือครอบครอง เข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ และไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน
พฤติการณ์ที่จำเลยขายสิทธิและส่งมอบที่ดินให้บิดาโจทก์เข้าทำประโยชน์ โดยย้ายภูมิลำเนาไปอยู่จังหวัดยโสธรตั้งแต่ปี 2530 เพิ่งย้ายกลับมาอยู่จังหวัดมุกดาหารปี 2548 ถือได้ว่าจำเลยสละสิทธิและเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 26 และมาตรา 27 (6) ทั้งยังเป็นการไปจากนิคมสร้างตนเองคำสร้อยเกินหกเดือนโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนที่จะได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดิน จำเลยจึงเป็นอันขาดจากการเป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองคำสร้อยและหมดสิทธิในที่ดินพิพาทและจะเรียกร้องค่าทดแทนอย่างใดมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการเพิ่มชื่อสกุลเป็นชื่อรองของบุตรเมื่อบิดามารดาเปลี่ยนชื่อสกุลโดยไม่ยินยอม
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์กลับมาใช้ชื่อสกุลของโจทก์ดังเดิม จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ไม่เปลี่ยนชื่อสกุลกลับไปตามที่โจทก์ขอ ทำนองว่าไม่มีประเด็น และเกินคำขอของโจทก์ให้ใส่ชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองนั้น เห็นว่า คดีมีประเด็นโต้เถียงกันว่า ที่จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของโจทก์มาเป็นชื่อสกุลของจำเลย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ชอบหรือไม่ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และโดยที่โจทก์ประสงค์ให้เพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองของบุตรผู้เยาว์ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า กรณีนี้มิใช่เรื่องที่บุตรผู้เยาว์ของโจทก์และจำเลย ที่มีชื่อตัวหรือชื่อรองอยู่แล้วประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรอง ซึ่งต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่เสียก่อน ตาม พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ.2505 มาตรา 6 วรรคสอง และมาตรา 16 ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจเพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองให้แก่บุตรผู้เยาว์ได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7504/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142 และ 157 ต้องเป็นเจ้าพนักงานหรือรัฐเท่านั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142 เป็นกรณีที่ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน หรือเอกสารใด ๆ อันเจ้าพนักงานได้ยึด รักษาไว้หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน... ไม่ว่าเจ้าพนักงานจะรักษาทรัพย์หรือเอกสารนั้นไว้เอง... ต้องระวางโทษจำคุก... เป็นการกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานและรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย กฎหมายมิได้บัญญัติถึงองค์ประกอบความผิดในส่วนที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชนไว้ ดังนั้น บุคคลทั่วไปหรือประชาชนจึงไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142 ได้
สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นั้น เมื่อการกระทำที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142, 151 และ 158 ไม่ได้เป็นการกระทำความผิดต่อโจทก์โดยตรง และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจดำเนินคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในความผิดตามมาตรา 142, 151 และ 158 แล้ว การที่จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 กระทำการเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 3 และที่ 4 แม้จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 โดยตรง แม้โจทก์จะเคยร้องเรียนให้ดำเนินการสอบสวนลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ตาม การที่โจทก์เป็นผู้ร้องเรียนให้ลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิที่โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษซึ่งจะทำให้โจทก์เป็นผู้เสียหายตามมาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องในคดีชำระบัญชี บ.ส.ท. ผู้ซื้อมีสิทธิสวมสิทธิเรียกร้องและบังคับคดีได้
ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาโอนสินทรัพย์ระหว่าง บ.ส.ท. ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมกับผู้ร้องว่า สัญญาโอนดังกล่าวกระทำขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ภายหลังจาก พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ใช้บังคับ ทั้งในสัญญาก็ระบุว่า บ.ส.ท. ฝ่ายผู้โอนกระทำโดยประธานกรรมการชำระบัญชี และขณะทำสัญญาผู้โอนอยู่ระหว่างการชำระบัญชีตาม พ.ร.ฎ. ดังกล่าว กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์รายนี้จาก บ.ส.ท. ในขณะที่ บ.ส.ท. ดำเนินการชำระบัญชี ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ซึ่งตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว บัญญัติว่า ในการขายสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ซื้อ ให้บรรดาทรัพย์สิน หลักประกัน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตกแก่ผู้ซื้อด้วย วรรคสองบัญญัติว่า การขายสินทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงสินทรัพย์ที่มีข้อพิพาทเป็นคดีอยู่ในศาลโดยให้ผู้ซื้อเข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแทนที่ บ.ส.ท. ดังนี้ ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความแทน บ.ส.ท. ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมได้โดยผลของกฎหมายโดยผู้ร้องไม่จำต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยทั้งสี่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์รายนี้จาก บ.ส.ท. มาโดยชอบตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ตามคำร้อง
แม้ศาลชั้นต้นจะนัดไต่สวนคำร้องขอเข้าสวมสิทธิและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ภายหลังจากวันที่ยื่นคำร้องและล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้วก็ตาม หาทำให้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ จึงฟังได้ว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ เมื่อปรากฏว่าขณะยื่นคำร้องคดีใกล้จะหมดระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว ในวันเดียวกันผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิม ผู้ร้องยังไม่มีอำนาจในการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองให้ทันกำหนดเวลาการบังคับคดี และผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมยังไม่ได้ดำเนินการตั้งเรื่องบังคับคดี ประกอบกับศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิของผู้ร้องภายหลังรับคำร้องนานถึง 6 เดือนเศษ ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวนับว่ามีพฤติการณ์พิเศษสมควรที่จะมีคำสั่งขยายระยะเวลาการบังคับคดีแก่ผู้ร้องได้ และการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีของผู้ร้อง และปัจจุบันล่วงเลยเวลาการบังคับคดีแล้ว กรณีถือว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนดเวลาบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้ผู้ร้องออกไปเป็นเวลา 180 วัน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6997/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสั่งพักราชการข้าราชการศาลปกครอง – การกระทำที่เป็นการเสียหายต่อราชการ – การแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการ
คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองมีอำนาจสั่งพักราชการโจทก์ได้ แม้คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยยังไม่ได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองว่าสมควรจะสั่งพักราชการโจทก์ เพื่อมิให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปอันจะเป็นการเสียหายแก่ราชการหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4259/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร่วมกันครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: การกระทำที่แสดงถึงความรู้เห็นเป็นใจแม้ไม่มีส่วนร่วมโดยตรง
จำเลยเป็นพี่ชาย ส. แต่ปฏิเสธอ้างว่าไม่รู้เห็นเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่อยู่ในกระโปรงท้ายรถของ ส. ปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านของ ส. และจับกุมภริยาของ ส. กับพวกได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่ง ส่วน ส. หลบหนีไปได้ จำเลยซึ่งมีบ้านอยู่เยื้องฝั่งถนนตรงกันข้ามย่อมทราบดีว่า ส. เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ การที่ ส. นำรถยนต์ของกลางมาจอดภายในโรงจอดรถใต้ถุนบ้านของจำเลยนับว่าเป็นเรื่องผิดปกติเนื่องจากบริเวณบ้านของ ส. มีพื้นที่เพียงพอที่จะจอดรถยนต์ของกลางได้ ทั้งการที่รถยนต์ของกลางไม่ได้ถูกล็อกหรือไม่มีลายนิ้วมือของจำเลยอยู่ที่รถยนต์คันดังกล่าว ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าจำเลยไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลาง การกระทำของจำเลยเพียงแต่ช่วยปกปิดซ่อนเร้นเมทแอมเฟตามีนของ ส. ก็ฟังได้ว่าจำเลยร่วมกับ ส. ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้เพื่อจำหน่ายตามฟ้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2154/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรุนแรงในครอบครัว: การกระทำที่บีบคั้นทางจิตใจและสร้างความเสียหายทางทรัพย์สินเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำฯ
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3 ได้แยกองค์ประกอบความผิดออกเป็นหลายประการ เนื่องจากการกระทำความรุนแรงในครอบครัวมีลักษณะการกระทำความผิดได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะกระทำต่อผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อมุ่งประสงค์หรือมีเจตนาที่จะให้ผู้ถูกระทำด้วยความรุนแรง ได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย จิตใจ สุขภาพ หรือจำต้องกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยฝ่าฝืนใจโดยมิชอบเพราะถูกข่มเหงบังคับหรือใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมให้จำต้องกระทำการ การกำหนดองค์ประกอบความผิดที่ครอบคลุมถึงทุกลักษณะก็เพื่อสามารถกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อการบรรเทาทุกข์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ครบถ้วน สะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดอาศัยช่องว่างของกฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์หรือใช้ความรุนแรงกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำรอยอีก
การที่จำเลยนำกระดาษเขียนข้อความมาติดที่หน้าบ้านโจทก์จนสีกะเทาะล่อน สีและปูนผนังรั้วเสียหาย ส่งเสียงตะโกนโวยวายหน้าบ้าน วิ่งวนไปมาหน้าบ้านโจทก์ นำลูกโป่งและสิ่งของมาผูกวางหน้าบ้านและโยนเข้าไปในบ้านโจทก์ และกดกริ่งหน้าบ้านโจทก์เป็นเวลานาน ๆ จนกริ่งไฟฟ้าเสียหาย เพื่อมุ่งประสงค์ให้โจทก์ส่งมอบหรือบังคับให้ผู้เยาว์ออกมาพบหรือพูดคุยกับจำเลย เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามจำเลยก็ไม่ยุติการกระทำดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการรบกวนความเป็นปกติสุขของโจทก์ เป็นการบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมที่เป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมจรรยาอันดีของประชาชน ผิดวิสัยวิญญูชนทั่วไปจะพึงปฏิบัติกันด้วยวิธีการโดยมิชอบ จำเลยกระทำต่อโจทก์ที่เป็นคู่สมรสเดิมซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวตามความหมายที่บัญญัติในมาตรา 3 จึงเป็นความผิดตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลฎีกาแก้แก้ฟ้อง, ค่าสินไหมทดแทน, และข้อจำกัดการลงโทษเกินคำขอ
ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายกระทำความผิดเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี บ. มารดาของผู้ตายยังคงมีสิทธิเรียกร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ บ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ แต่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อผู้ตายกับจำเลยทั้งสองมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนอันสืบเนื่องมาจากการทำงาน วันเกิดเหตุผู้ตายกวักมือมายังจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองกับผู้ตายชกต่อยกันจนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ บ. สองในสามส่วน ของค่าสินไหมทดแทนที่ บ. จะได้รับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำของจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วร่วมกันใช้อาวุธมีดดังกล่าวแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสองวิ่งหลบหนีไปทางบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงาน จำเลยที่ 1 ได้ส่งอาวุธมีดที่ใช้ก่อเหตุให้จำเลยที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 2 โยนอาวุธมีดทิ้งลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสียห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 50 เมตร ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธมีดของกลางไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นนำมารับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงนั้นมาวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ย่อมเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 156/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินโดยเสน่หาแต่มีเจตนาซ่อนเร้น การพิสูจน์เจตนาที่แท้จริง และผลกระทบต่อการเพิกถอนนิติกรรม
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาทั้งแปลง มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องร้องขอให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นคู่สัญญาที่ก่อนิติสัมพันธ์กันเอง การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 400,000 บาท แต่เพื่อให้เสียค่าธรรมเนียมน้อยลงจึงแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นการให้แทนการซื้อขายนั้น เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองนำสืบถึงเจตนาที่แท้จริงของการทำนิติกรรมหรือมูลเหตุที่มาของการทำสัญญาให้ระหว่างจำเลยทั้งสอง แม้สัญญาให้ที่ดินจะระบุว่า จำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีค่าตอบแทนเพราะผู้รับการให้เป็นหลานของผู้ให้ จำเลยทั้งสองก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่า การให้ที่ดินพิพาทตามสัญญาให้เป็นการให้ที่ดินโดยมีค่าภาระติดพันได้ กรณีไม่ใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร อันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองจึงเป็นการโอนโดยเสียค่าตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองมิได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
of 10