พบผลลัพธ์ทั้งหมด 43 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7275/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน: การมีเอกสิทธิเดิมของเจ้าของที่ดินและการเวนคืน
แม้ที่ดินพิพาทจะอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านแพง แต่หากในเขตปฏิรูปที่ดินมีที่ดินของเจ้าของที่ดินผู้มีสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินอยู่ก่อนแล้ว รัฐจะนำที่ดินนั้นมาจัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ และสถาบันเกษตรกรก็ได้ แต่โดยวิธีที่รัฐจัดซื้อหรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดินซึ่งมิได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิ ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 4, 28, 29, 32, 34, และ 35 ดังนั้นลำพังแต่เพียงที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินหาทำให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาทเป็นการออกโดยชอบด้วยกฎหมาย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมไม่สามารถนำที่ดินที่มีเอกสารสิทธิมาจัดสรรเป็นที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ และไม่ปรากฏว่าได้มีการจัดซื้อหรือเวนคืนที่ดินพิพาทตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5172/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ที่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย และสิทธิในการครอบครองที่ดิน
การซื้อขายที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า "ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกรหรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม...ฯลฯ" ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 นั้น จะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม การที่โจทก์ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตาม ส.ป.ก. 4 - 01 ให้แก่จำเลย ถือว่าเป็นการโอนสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างไม่ทราบว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินจึงไม่มีผลบังคับ ส่วนที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า หลังจากจำเลยซื้อที่ดินพิพาทโจทก์ จำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว จึงได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง ซึ่งโจทก์ต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครองนั้น ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเกษตรกรรม ฯลฯ ดังนี้ จะเห็นได้ว่า บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้ต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน และตามมาตรา 37 ก็ห้ามมิให้ยกอายุความครอบครองขึ้นต่อสู้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในเรื่องที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้มาตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 โดยอาศัยบทบัญญัติดังกล่าว เห็นว่า ในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น บุคคลที่มิได้รับจัดสรรจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่มีสิทธิแย่งการครอบครองผู้ที่ได้รับจัดสรรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 ได้ เพราะเมื่อผู้ได้รับจัดสรรที่ดินละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองที่ดินก็กลับตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมใหม่ ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดให้เกษตรกรที่เหมาะสมได้รับต่อไป และไม่ปรากฏว่าได้มีการพิจารณาและอนุมัติให้จำเลยได้รับสิทธิในที่ดินพิพาทแต่ประการใด จึงไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปขึ้นมาได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์แบ่งขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและได้ส่งมอบการครอบครองให้จำเลยแล้ว ทั้งจำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในนามตนเอง การที่โจทก์กลับมาอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01) และมาฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลย จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท แม้จำเลยไม่มีสิทธิทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็เป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3530-3531/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่ชัดแจ้ง: ผู้ร้องไม่โต้แย้งเหตุผลที่ไม่รับอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อความในฎีกาฉบับแรกตั้งแต่หน้าที่ 3 ย่อหน้าที่ 2 จนถึงหน้าสุดท้าย กับข้อความในฎีกาฉบับที่สองตั้งแต่หน้าที่ 3 ย่อหน้าที่ 2 จนถึงหน้าสุดท้าย ล้วนแต่เป็นข้อความเดียวกันทั้งสิ้น โดยฎีกาของผู้ร้องคัดค้านทั้งสองฉบับไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ด้วยเหตุที่ไม่รับอุทธรณ์ทั้งสองฉบับของผู้ร้องคัดค้านไว้วินิจฉัยนั้นว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ถูกควรเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3345/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การลดมาตราส่วนโทษเกินอัตราขั้นต่ำตามกฎหมายในคดียาเสพติด ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยแล้วเห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราขั้นต่ำตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 แต่เห็นสมควรลงโทษจำเลยเบากว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ และลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 76 ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลอุทธรณ์ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามแล้ว คงระวางโทษที่จะลงแก่จำเลยจำคุกตั้งแต่สี่เดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หกพันหกร้อยหกสิบหกบาทหกสิบหกสตางค์ถึงสี่หมื่นบาท ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 76 แล้วจำคุก 3 เดือน เป็นการลงโทษจำคุกจำเลยต่ำกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจ่ายค่าตอบแทนกรรมการสหกรณ์หลังมีคำสั่งเพิกถอนมติเลือกตั้ง: เงินค่าตอบแทนที่ได้รับก่อนคำสั่งเพิกถอนไม่เป็นลาภมิควรได้ แต่โบนัสหลังคำสั่งเพิกถอนเป็นลาภมิควรได้
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ที่ประชุมใหญ่สหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ดังกล่าว ต่อมาสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด ได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้แทนของสหกรณ์เพื่อเข้าร่วมประชุมใหญ่ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด โจทก์และที่ประชุมใหญ่ของโจทก์มีมติเลือกจำเลยเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยเป็นไปตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายหรือมติคณะกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์ การที่โจทก์จ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นให้แก่จำเลยเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของจำเลยที่จะได้รับจากการทำงานของตน ขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้ผลแห่งการงานที่จำเลยได้กระทำในระหว่างที่เป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เป็นการตอบแทนด้วย แม้ภายหลังรองนายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งควบคุมและกำกับการดำเนินกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด มีหนังสือแจ้งเพิกถอนมติการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เรื่องการสรรหากรรมการดำเนินการ ก็เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยขาดคุณสมบัติการเป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด และกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์เท่านั้น หาเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกเงินและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยมีสิทธิได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่ยังเป็นกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์โจทก์คืนจากจำเลยไม่ เงินค่าเบี้ยประชุมและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่จำเลยได้รับ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยได้รับมาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และต้องคืนเงินนั้นให้แก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ ส่วนเงินโบนัสประจำปี 2553 ซึ่งเป็นบำเหน็จรางวัลแก่กรรมการดำเนินการและไม่ถือเป็นผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานโดยตรง เมื่อที่ประชุมชุมนุมสหกรณ์โจทก์มีมติให้จ่ายโบนัสดังกล่าวแก่กรรมการดำเนินการรวมทั้งจำเลย หลังจากที่รองนายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 ของสหกรณ์ออมทรัพย์กรมชลประทาน จำกัด การที่จำเลยได้รับเงินโบนัสดังกล่าวไปจากโจทก์จึงเป็นการได้รับไปโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ซึ่งเป็นลาภมิควรได้ การที่โจทก์จ่ายเงินโบนัสดังกล่าวให้แก่จำเลยไปย่อมเป็นกรณีที่โจทก์ได้กระทำการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินโบนัสดังกล่าวคืนจากจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11058/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะเวลา 30 ปี ทายาทผู้เช่ามีสิทธิเช่าต่อเนื่อง แม้ผู้เช่าถึงแก่ความตาย
สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเรียกร้องอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยสัญญา การเช่าอสังหาริมทรัพย์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 หากถือคุณสมบัติของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าตายให้สัญญาระงับ สัญญาเช่าต้องกำหนดระยะเวลาเช่าไว้มีกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าเท่านั้น มิฉะนั้นฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ แม้การเช่าทรัพย์สินตามปกติผู้ให้เช่าย่อมเพ่งเล็งถึงคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญ แต่คุณสมบัติผู้เช่านั้น ผู้ให้เช่าพิจารณาเพื่อมาตกลงทำสัญญาเช่ากัน เมื่อผู้ให้เช่ากับผู้เช่าตกลงทำสัญญาเช่ากันสัญญาก็ต้องเป็นสัญญา จึงไม่ต้องกลับไปพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้เช่าอีกจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามที่ตกลงไว้หรือตกลงทำสัญญาเช่ากันใหม่ แม้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 544 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองเป็นทายาทของ ผ. ผู้เช่าที่ดินพิพาท จึงมิใช่บุคคลภายนอกตามบทบัญญัติดังกล่าว ย่อมรับโอนสิทธิการเช่าได้ เมื่อ ผ. ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ทั้งสองมีกำหนดระยะเวลาเช่าสามสิบปี โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน กำหนดว่า ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าเอาที่ดินที่เช่าไปให้เช่าช่วงได้ อันเป็นการตกลงยกเว้นมาตราดังกล่าวไม่ให้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว แต่ให้เป็นสิทธิในทรัพย์สินให้โอนได้ให้เช่าช่วงได้ โดยผู้เช่าต้องชำระเงินล่วงหน้าสำหรับการเช่า 30 ปี เป็นเงิน 1,000,000 บาท กำหนดอัตราค่าเช่าสูงขึ้นทุกสิบปีตลอดระยะเวลาเช่า เป็นการถือกำหนดเวลาสามสิบปีตามที่จดทะเบียนไว้เป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ได้ตกลงทำสัญญาเช่าโดยกำหนดระยะเวลาเช่ามีเพียงตลอดชีวิตของผู้เช่าหรือตกลงไว้ในสัญญาเช่าอันจดทะเบียนว่า ผู้เช่าถึงแก่ความตายให้สัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อ ผ. ผู้เช่าถึงแก่ความตายจึงไม่ต้องมีการทำสัญญาเช่ากันใหม่ เนื่องจากตกลงทำสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาสามสิบปี ทั้งสัญญาเช่ายังกำหนดให้ผู้เช่าสามารถนำทรัพย์สินที่เช่าไปให้บุคคลอื่นเช่าต่อได้ โจทก์ทั้งสองไม่ได้ถือเอาคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า โจทก์ทั้งสองต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ต่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ผ. โดยตรง สิทธิการเช่าจึงไม่สิ้นสุดลง เมื่อสิทธิการเช่ายังไม่ครบกำหนดระยะเวลาเช่าที่ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่เช่าได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2559)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2559)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8946/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินที่มีเอกสิทธิทับซ้อน กรณีที่ดินพิพาทมีผู้ครอบครองก่อนเขตปฏิรูปที่ดิน
ที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) มี ห. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยได้รับการยกให้จากบิดาและครอบครองต่อมาอีก 27 ปี เป็นการออกเอกสารสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย ห. จึงครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนมี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2520 ซึ่งผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และไม่เกิน 50 ไร่ หรือไม่เกิน 100 ไร่ กรณีการเลี้ยงสัตว์จำพวกสัตว์ใหญ่ให้ผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนนั้นมีสิทธิในที่ดินต่อไป แต่ต้องไม่เกินหนึ่งพันไร่ ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 29 วรรคสอง ส่วนสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินเฉพาะที่ราชพัสดุที่โอนมาจากกระทรวงการคลังตาม ป.ที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ที่ราชพัสดุที่กระทรวงการคลังได้มาเนื่องจากการจัดซื้อของ ส.ป.ก. หรือมีผู้ยกให้แก่ ส.ป.ก. เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการโอนที่ราชพัสดุดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ การโอนที่ราชพัสดุดังกล่าวมิให้นำความในมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาใช้บังคับ และให้ดำเนินการโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น ที่ราชพัสดุนอกจากนี้ไม่อาจนำมาปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ เนื่องจากการโอนที่ราชพัสดุให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ ตามมาตรา 5 เมื่อที่ดินพิพาทมีผู้มีสิทธิในที่ดินเป็นผู้ครอบครองมาก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน และไม่ใช่ที่ราชพัสดุที่โอนมาจากกระทรวงการคลังตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ ส.ป.ก. จะใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ดังนั้น ที่ ส.ป.ก. ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่ อ. อันมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออกหนังสืออนุญาตดังกล่าวทำให้ที่ดินพิพาทที่ถูกยึดขายทอดตลาดได้เป็นที่ดินที่ไม่อาจถูกบังคับคดีได้ก็ตาม แต่คดีนี้เป็นการพิจารณาเพียงว่าสมควรเพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่เท่านั้น เมื่อที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดเพื่อออกขายทอดตลาด มีการออกเอกสารสิทธิที่ดินทับซ้อนกัน และยังมิได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่ง ย่อมมีเหตุขัดข้องในการบังคับคดีให้ลุล่วงไป กรณีจึงมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้ถอนการบังคับคดี การเพิกถอนการขายทอดตลาดมีผลเพียงเท่ากับยังมิได้ขายทอดตลาด ต่อไปภายหน้าหากเรื่องเอกสารสิทธิในที่ดินยุติลงก็อาจนำออกขายทอดตลาดใหม่ได้ ส่วนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาดกับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ข.) ที่ออกให้แก่ อ. นั้น ฉบับใดจะออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอาจต้องว่ากล่าวกันต่อไปต่างหากหลังจากเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6119/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความหนี้เงินกู้และการบังคับจำนอง: ข้อจำกัดระยะเวลาดอกเบี้ยค้างชำระ
สิทธิเรียกร้องในกรณีหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ย่อมเกิดขึ้นนับแต่ผิดนัด อายุความฟ้องเรียกเงินตามจำนวนที่ค้างจึงต้องบังคับตามมาตรา 193/33 (2) แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี หาใช่อายุความ 10 ปีไม่ เมื่อเริ่มนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2548 ถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองต่อศาลในวันที่ 27 สิงหาคม 2556 จึงเกิน 5 ปี หนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธานจึงขาดอายุความ เมื่อหนี้เงินกู้ขาดอายุความกรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 745 ที่บัญญัติให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสามารถที่จะบังคับเอากับตัวทรัพย์จำนองได้แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความแล้ว แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ซึ่งดอกเบี้ยที่เกินกว่าห้าปีที่ผู้จำนองไม่ต้องรับผิดนั้น เป็นบทบังคับไม่ให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้จำนองต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5000/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนังสือมอบอำนาจไม่ใช่เอกสารที่ต้องแนบพร้อมคำฟ้อง ประเด็นฟ้องเคลือบคลุมไม่รับวินิจฉัยหากไม่ได้ยกขึ้นในชั้นต้น
การมอบอำนาจให้นำคดีมาฟ้องเป็นเพียงรายละเอียดแห่งคำฟ้อง มิใช่สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอันจะต้องแสดงไว้โดยแจ้งชัด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และหนังสือมอบอำนาจก็ไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแนบมาพร้อมคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 คำให้การของจำเลยที่ต่อสู้ถึงการมอบอำนาจว่า จำเลยไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ได้แนบมาท้ายฟ้อง และหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของโจทก์ออกไว้นานไม่เป็นปัจจุบัน จำเลยไม่เข้าใจและสามารถต่อสู้คดีได้จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวมาเป็นการไม่ชอบ เพราะถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และไม่ก่อสิทธิแก่จำเลยที่จะฎีกาปัญหาดังกล่าวต่อมา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2569/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เงื่อนไขในพินัยกรรมที่ขัดแย้งกับกฎหมาย และสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียในการจัดการมรดก
พินัยกรรมของ พ. ที่ว่า ทรัพย์เหล่านี้ขอยกให้ผู้ตายรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ต่อมาผู้ตายทำพินัยกรรมขอยกให้ผู้ร้องรักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป ถือเป็นข้อกำหนดตั้งผู้รับพินัยกรรม คือผู้ตายและผู้ร้องตามลำดับ ข้อความในพินัยกรรมทั้งสองในส่วนที่ว่า รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไปนั้น เป็นเงื่อนไขให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมแก่บุคคลอื่น ป.พ.พ. มาตรา 1707 ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย เมื่อพินัยกรรมกำหนดให้ทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมของ พ. ตกได้แก่ผู้ตายเพียงคนเดียวและผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องเพียงผู้เดียว โดยข้อความต่อท้ายที่ว่า "ให้รักษาไว้เพื่อตกทอดแก่ลูกหลานผู้สืบสกุลต่อไป" ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นอันไม่มีเลย ผู้คัดค้านย่อมไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์มรดกของผู้ตาย กรณีจึงถือว่าผู้คัดค้านมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า พินัยกรรมตัดผู้คัดค้านจากการเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกเพื่อจะนำไปฟังว่าผู้คัดค้านมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี