คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
จักษ์ชัย เยพิทักษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 427 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3327/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีภาษีอากรที่จำเลยยื่นขอฟื้นฟูกิจการหลังครบกำหนดระยะเวลาการขอเฉลี่ย
เมื่อกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มิได้บัญญัตินิยามความหมายของคำว่า "การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์" ไว้เป็นการเฉพาะ การตีความความหมายของคำดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/12 (5) ที่บัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้ศาลไม่จำเป็นต้องงดการบังคับคดีไว้ในกรณีที่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการนั้น คงต้องพิจารณาเทียบเคียงกับกรณีกิจการที่ได้กระทำไปแล้วหากมีกรณีที่ลูกหนี้ล้มละลาย เนื่องจากผลของการล้มละลายหรือการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระเทือนต่อกิจการที่ได้กระทำไปจนเสร็จสิ้นก่อนแล้วเช่นเดียวกัน การที่มาตรา 110 วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีของผลของการล้มละลายเกี่ยวกับกิจการที่ได้กระทำไปแล้ว ได้ให้ความหมายของคำว่า การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 326 วรรคห้า ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การขอเฉลี่ยทรัพย์ ในกรณีอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยกำหนดระยะเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเสียก่อนสิ้นระยะเวลา 15 วันนับแต่วันชำระเงิน ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินตามเช็คที่ผู้ร้องนำส่งตามหนังสือแจ้งอายัดในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 กำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าวคือภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2563 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันชำระเงิน ถือว่าการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องงดการบังคับคดีไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3299/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การขึ้นเงินเดือน และการโต้แย้งผลการประเมิน: อำนาจอิสระของผู้ประเมิน และหลักเกณฑ์การพิจารณา
การประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นอำนาจอิสระของผู้ประเมินแต่ละคน ซึ่งแต่ละคนอาจรับรู้การปฏิบัติงานของโจทก์แตกต่างกันไป ย่อมทำให้แต่ละคนมีความเห็นแตกต่างกันได้เป็นปกติธรรมดา หาใช่ว่า ว. ต้องประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ในระดับ "ดีเยี่ยม" ตามความเห็นของผู้บังคับบัญชาที่เคยประเมินไว้ในครั้งก่อนหรือตามความเห็นของประธานสหภาพแรงงานไม่ ว. ก็ไม่ได้มีอคติหรือกลั่นแกล้งโจทก์ การประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์โดย ว. จึงเป็นไปตามคำสั่งจำเลยที่ รค.19/2559 แต่เมื่อการประเมินผลการปฏิบัติงานดังกล่าวนำมาใช้กับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนและเลื่อนระดับตำแหน่งด้วย ซึ่งในการพิจารณาขึ้นเงินเดือนนั้น จำเลยมีคำสั่งจำเลยที่ รค.9/2549 เรื่อง การพิจารณาขึ้นเงินเดือนตามผลการปฏิบัติงาน โดยข้อ 5.2.3 ระบุว่า พิจารณาขึ้นเงินเดือนในอัตราร้อยละของแต่ละระดับการประเมินผลการปฏิบัติงานตามระยะเวลาปฏิบัติงานจริงของพนักงาน โดยจำนวนเงินที่ใช้ในการขึ้นเงินเดือนต้องไม่เกินวงเงินงบประมาณที่ส่วนงานได้รับจัดสรร ดังนั้น การประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำสั่งจำเลยที่ รค.19/2559 จึงต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ตามคำสั่งจำเลยที่ รค.9/2549 ด้วย เมื่อ ว. ได้ประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี 2561 ของโจทก์ในส่วนครึ่งปีหลัง โดยนำคะแนนประเมินทั้งในส่วนของประธานสหภาพแรงงานและในส่วนของผู้บังคับบัญชามารวมกันแล้วเฉลี่ยระดับผลการปฏิบัติงานของพนักงานในส่วนส่งมอบบริการภาครัฐที่ 1 จำนวน 12 คน ซึ่งได้เงินงบประมาณมาเดือนละ 30,719.93 บาท เพื่อให้ลงตัวกับวงเงินงบประมาณที่ได้รับมา จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำสั่งจำเลยที่ รค.9/2549 และคำสั่งจำเลยที่ รค.19/2559 การประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี 2561 ของโจทก์ในส่วนครึ่งปีหลัง จึงชอบด้วยระเบียบ คำสั่ง และประกาศที่จำเลยกำหนดไว้แล้ว กรณีไม่มีเหตุให้ประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี 2561 ของโจทก์ในส่วนครึ่งปีหลังใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3229/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลือกปฏิบัติทางสิทธิประโยชน์ต่อลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างประจำ การจ่ายเงินโบนัส
โจทก์ทำงานในส่วนการผลิตเช่นเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 2 กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ" ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากผู้ประกอบกิจการในลักษณะอย่างเดียวกับลูกจ้างตามสัญญาโดยตรงโดยไม่เลือกว่าเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงหรือลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ดังนั้น เมื่อเงินโบนัสถือเป็นสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ ประกอบกับโจทก์ทำงานมาประมาณ 3 ปี เกินระยะเวลาทดลองงาน ซึ่งมีกำหนดระยะเวลา 120 วัน โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างทดลองงาน อีกทั้งแม้การจ่ายเงินโบนัสดังกล่าวเกิดจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างสหภาพแรงงาน ท. ซึ่งมีลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเป็นจำนวนไม่ถึงสองในสามส่วนของลูกจ้างทั้งหมดยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2 แล้วเจรจาตกลงกันได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวกันไว้ว่า จำเลยที่ 2 ตกลงจ่ายเงินโบนัสประจำปีให้แก่พนักงานตามหลักเกณฑ์การประเมินผลงานของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 และสหภาพแรงงาน ท. ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเช่นนี้ตลอดมาทุกปีตั้งแต่โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 2 ซึ่งทำให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวมีผลผูกพันเฉพาะลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ท. แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จ่ายเงินโบนัสประจำปีให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงทุกคน ไม่ใช่จ่ายให้แก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ท. เท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงซึ่งทำงานในส่วนงานผลิตเช่นเดียวกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 2 และไม่ได้มีลักษณะเป็นลูกจ้างทดลองงาน จึงถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติตามมาตรา 11/1 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยที่ 2 จึงต้องจ่ายเงินโบนัสแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2915/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษและวรรคความผิดในศาลอุทธรณ์ ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด ทำให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้าม
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ จำคุก 25 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง จำคุก 3 ปี 6 เดือน เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2868/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างคนประจำเรือมีกำหนดระยะเวลา เลิกจ้างเมื่อครบกำหนดไม่ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างให้ทำหน้าที่ประจำอยู่ในเรือเดินทะเลขนส่งสินค้าระหว่างประเทศอันเป็นเรือเดินทะเลที่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์โดยได้รับค่าจ้างตั้งแต่ปี 2537 จำเลยจึงเป็นเจ้าของเรือ โจทก์เป็นคนประจำเรือ และสัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็นข้อตกลงการจ้างของคนประจำเรือตามความหมายของ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 3
จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ในขณะ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ประกาศใช้บังคับแล้ว สิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการเลิกจ้างจึงต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว
การทำงานบนเรือเดินทะเลมีลักษณะและสภาพของงานแตกต่างจากการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานทั่วไป ดังจะเห็นได้จากเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ประกอบกับ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง การตีความตามสัญญาจ้างแรงงานทั่วไปจึงไม่อาจนำมาใช้แก่คดีนี้ได้
จำเลยจ้างโจทก์ทำหน้าที่ประจำบนเรือเดินทะเล ซี่งโดยสภาพของการทำงานนั้นลูกจ้างต้องทำงานตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเรือตั้งแต่เรือออกจากท่าเรือจนกระทั่งเรือถึงสถานที่ปลายทางแล้ว จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ตั้งแต่ปี 2537 เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันหลายฉบับ โดยสัญญาจ้างแต่ละฉบับได้กำหนดระยะเวลาทำงานไว้แน่นอน เช่น 12 เดือนบ้าง 9 เดือนบ้าง เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างแล้ว สัญญาจ้างฉบับแรก ข้อ 07 เอ) มีข้อความว่า สัญญาจ้างนี้ให้ถือว่าถูกยกเลิกโดยปราศจากความรับผิดชอบอื่นใดของจำเลยโดยมีผลตั้งแต่วันที่โจทก์กลับมาถึงสถานที่ทำสัญญาหรือ ณ สถานที่ซึ่งตกลงกันให้เป็นสถานที่ปลายทาง โดยไม่ต้องคำนึงถึงเหตุผลในการเลิกสัญญา ส่วนสัญญาจ้างฉบับอื่นก็มีข้อความในทำนองเดียวกัน เห็นได้ว่าสัญญาจ้างแต่ละฉบับกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้แน่นอน รวมทั้งยังกำหนดเงื่อนไขการสิ้นสุดของสัญญาจ้างเมื่อโจทก์กลับถึงสถานที่ทำสัญญา หรือ ณ สถานที่ซึ่งตกลงกันให้เป็นสถานที่ปลายทาง แสดงว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันให้จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นคราว ๆ ตามระยะเวลาที่โจทก์ทำงานประจำบนเรือเท่านั้น
พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าของเรือต้องจัดให้มีข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือเป็นหนังสือพร้อมลายมือชื่อของเจ้าของเรือและคนประจำเรือ โดยจัดทำเป็นคู่ฉบับจัดเก็บไว้บนเรือหนึ่งฉบับ และอีกฉบับหนึ่งให้คนประจำเรือเก็บไว้ พร้อมที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ และ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามเจ้าของเรือให้คนประจำเรือทำงานบนเรือ โดยที่คนประจำเรือไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดงว่ามีความพร้อมด้านสุขภาพในการทำงานบนเรือ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด หมายความว่า เจ้าของเรือจะจ้างคนประจำเรือแต่ละครั้งต้องมีการทำสัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ และต้องตรวจสุขภาพคนประจำเรือซึ่งเป็นเงื่อนไขในการทำงานบนเรือก่อนทุกครั้ง ดังนั้น จำเลยต้องคัดเลือกและตรวจสุขภาพโจทก์ก่อนให้ทำหน้าที่ประจำบนเรือทุกครั้ง มิใช่จำเลยสามารถสั่งให้โจทก์เข้าทำงานบนเรือได้ทันทีเสมือนโจทก์ยังเป็นลูกจ้างจำเลย ถือไม่ได้ว่าระยะเวลานับจากสัญญาจ้างฉบับเดิมสิ้นสุดลงจนถึงวันก่อนวันทำงานตามสัญญาจ้างฉบับต่อไปเป็นระยะเวลาพักอันจะนำระยะเวลาดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นระยะเวลาทำงานตามสัญญาจ้างทุกฉบับติดต่อกัน สัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา
ส่วนที่สัญญาจ้าง ข้อ 07 บี) มีข้อความว่า โจทก์อาจจะเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือ 2 เดือน และสัญญาจ้างฉบับอื่นก็มีข้อความในทำนองเดียวกันนั้น นอกจากมีข้อความดังกล่าวแล้วยังมีข้อความต่อไปอีกว่า จำเลยจะพยายามปลดเปลื้องโจทก์จากภาระหน้าที่ภายใน 2 เดือน หลังจากได้รับหนังสือบอกกล่าวนี้ หรือภายในโอกาสที่เร็วที่สุดหลังจากนั้น ในกรณีเช่นนั้นโจทก์จะมีสิทธิจะได้รับสิทธิในการส่งตัวกลับ อย่างไรก็ดี ถ้าคำขอเลิกสัญญานี้ได้ถูกให้ภายใน 4 เดือน นับแต่วันเข้าเป็นลูกเรือ (ระยะเวลาทดลองงาน) จำเลยสงวนสิทธิที่จะเรียกร้องเอาคืนค่าใช้จ่ายและ/หรือความสูญเสียที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับค่าเดินทางมาร่วมโดยทางเครื่องบินและค่าเดินทางกลับทางเครื่องบิน ข้อความดังกล่าวจึงเป็นเพียงการคุ้มครองการทำงานของโจทก์ในกรณีโจทก์บอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โดยกำหนดหน้าที่ของจำเลยเป็นผู้ดำเนินการส่งตัวโจทก์กลับ ข้อความดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาตามรายการในสัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือเป็นสัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ดังนี้ สัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือจึงสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาหรือสิ้นสุดลงตามเงื่อนไขที่ตกลงกันในสัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานแต่ละฉบับโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง
เมื่อสัญญาจ้างหรือข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอน แม้โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดใดก็ตาม แต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ถือได้ว่ามีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะเลิกจ้าง ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1875/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลคดีผูกพันตามคำพิพากษาเดิม, ละเมิดสัญญาจ้าง, และการกำหนดค่าเสียหายจากความผิดวินัย
แม้คดีก่อนมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยฟ้องเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง และเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจากโจทก์ได้ดังฟ้องของจำเลยเพียงใดหรือไม่ แต่จำเลยอ้างในคดีก่อนว่าเหตุที่โจทก์เลิกจ้างเนื่องจากจำเลยกระทำผิดวินัยโดยจำเลยเอื้อประโยชน์ให้ น. ใช้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยในการอนุมัติสินเชื่อ และจำเลยเบิกค่าล่วงเวลาทั้งที่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริง ซึ่งไม่เป็นความจริง โจทก์ให้การต่อสู้ว่าจำเลยกระทำผิดวินัยจริง ในคดีก่อนศาลแรงงานกลางจึงต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าจำเลยกระทำความผิดวินัยดังที่จำเลยฟ้องและโจทก์ให้การในคดีก่อนหรือไม่ คดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน จำเลยจึงต้องผูกพันในผลแห่งคดีและข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางในคดีก่อนวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ว่า จำเลยยินยอมให้ชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่านของจำเลยแก่พนักงานอื่นเพื่อทำการวิเคราะห์และอนุมัติสินเชื่อลูกค้า 5 ราย แทน อันเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรงและทุจริตต่อหน้าที่
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดและผิดสัญญา อ้างว่าเนื่องจากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้ 5 ราย ที่จำเลยมีส่วนกระทำความผิดและโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ดังกล่าว ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยแล้ว ซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยคดีนี้มีมูลเหตุจากสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับหนี้ของลูกค้าซึ่งเป็นลูกหนี้ทั้ง 5 ราย การที่โจทก์โอนหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าวให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคาร อ. เป็นเพียงการบรรเทาความเสียหายในหนี้ส่วนลูกหนี้ดังกล่าวเท่านั้น อีกทั้งการโอนหนี้ของลูกหนี้ดังกล่าวนั้นก็ไม่เกี่ยวกับมูลหนี้อันสืบเนื่องจากการจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงไม่มีผลทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยตามมูลหนี้ดังกล่าวระงับสิ้นไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1810/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ตามข้อบังคับ และการจ่ายค่าจ้าง/บำเหน็จที่ถูกต้อง
โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2536 ต่อมาจำเลยได้กำหนดการจ่ายเงินบำเหน็จแก่พนักงานหรือลูกจ้างตามระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยพนักงาน และลูกจ้าง พ.ศ. 2539 จึงถือได้ว่าจำเลยตกลงจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามระเบียบฉบับดังกล่าวแล้ว ระเบียบนี้จึงกลายเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ผูกพันโจทก์และจำเลย ทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องปฏิบัติตาม
ตามระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำเหน็จตั้งแต่ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยพนักงานสหกรณ์และการปฏิบัติงาน พ.ศ. 2544 จนถึงระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ. 2560 พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จต่อเมื่อลาออก ซึ่งต่างจากระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยพนักงาน และลูกจ้าง พ.ศ. 2539 ที่กำหนดให้พนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเมื่อออกจากตำแหน่ง ซึ่งหมายความว่าพนักงานหรือลูกจ้างคนใดพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด เว้นแต่เป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะถูกลงโทษไล่ออกหรือเลิกจ้างและมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามข้อยกเว้นตอนท้ายของระเบียบปีดังกล่าวข้อ 32 ย่อมมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จทั้งสิ้น เช่นนี้ ถือว่าจำเลยแก้ไขระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตั้งแต่ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยพนักงานสหกรณ์และการปฏิบัติงาน พ.ศ. 2544 จนถึงระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ. 2560 ที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เมื่อไม่ปรากฏว่าการแก้ไขได้รับความยินยอมจากโจทก์ ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ. 2560 ข้อ 51 จึงไม่มีผลใช้บังคับแก่โจทก์
พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 43 บัญญัติว่า "ข้อบังคับของสหกรณ์อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ (1) ... (10) การแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง การกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการ" ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นว่าได้ให้ความสำคัญต่อตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ โดยจะต้องให้สหกรณ์ออกข้อบังคับกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง ตลอดจนอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการไว้ในข้อบังคับ เมื่อตามข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด พ.ศ. 2560 ข้อ 95 (4) กำหนดให้ผู้จัดการจำเลยพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้าง การพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการจึงต้องบังคับตามข้อบังคับดังกล่าวซึ่งออกโดยอาศัยหลักเกณฑ์ที่ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 บัญญัติไว้ ส่วนระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด ว่าด้วยเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน พ.ศ. 2560 หมวด 11 ข้อ 45 (3) ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่สหกรณ์เกษียณอายุ 60 ปี ตามปีบัญชีสหกรณ์จำเลย โดยข้อ 9 ของระเบียบดังกล่าวกำหนดไว้ว่า ปีบัญชีสหกรณ์คือ 1 มกราคม สิ้นสุด 31 ธันวาคม ของทุกปีนั้น เป็นระเบียบที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด พ.ศ. 2560 ข้อ 79 (8) และข้อ 107 (12) ซึ่งให้อำนาจคณะกรรมการดำเนินการตามข้อบังคับสหกรณ์กำหนดระเบียบต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์คงมีอำนาจหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ รวมถึงวัตถุประสงค์แห่งข้อบังคับเท่านั้น ไม่อาจกำหนดระเบียบในส่วนของการแต่งตั้ง การดำรงตำแหน่งหรือการพ้นจากตำแหน่งของผู้จัดการให้แตกต่างไปจากข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขจังหวัดน่าน จำกัด พ.ศ. 2560 ได้ จึงต้องแปลว่าระเบียบนี้ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการที่ทำหน้าที่ต่าง ๆ เท่านั้น แต่ไม่รวมถึงตำแหน่งผู้จัดการจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1684/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของลูกจ้างต่อผลจากการทุจริตหน้าที่และรับผลประโยชน์โดยมิชอบจากคู่ค้าของนายจ้าง
คำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิดต่อโจทก์มาด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องชำระเงินค่าสินค้าเกินกว่าราคาที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 3 จำเลยจึงต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนที่จำเลยเรียกรับจากบริษัท อ. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. จึงหาได้วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1523/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบำเหน็จลูกจ้างสถาบันศึกษาเอกชนภายใต้ พ.ร.บ.สถาบันศึกษาเอกชน: ระเบียบของสถาบันมีผลเหนือข้อตกลงสภาพการจ้าง
ข้อพิพาทระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างประเภทสถาบันอุดมศึกเอกชนมีการคุ้มครองแรงงานไว้โดยเฉพาะตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 มาตรา 23 กิจการของจำเลยจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ เพียงแต่ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 การคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2549 อันเป็นกฎกระทรวงที่คุ้มครองให้ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์มาใช้บังคับ ระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 จึงไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5
การที่จำเลยออกระเบียบเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ 2549 ใช้บังคับโดยให้ยกเลิกระเบียบวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2525 ไม่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 หรือจำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 จำเลยมีอำนาจออกระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (2) แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 โดยไม่จำต้องตกลงกับโจทก์หรือลูกจ้างของจำเลย หรือโจทก์หรือลูกจ้างของจำเลยต้องยินยอมโดยชัดแจ้ง
แม้โจทก์จะเข้าเป็นลูกจ้างของจำเลยในขณะที่ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 ใช้บังคับอยู่ก็ตาม แต่ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 มาตรา 129 บัญญัติให้ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนซึ่งได้รับแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 เป็นผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตาม พ.ร.บ.นี้ โจทก์จึงเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาจำเลย และต้องอยู่ภายใต้บังคับระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 ที่ออกมาโดยชอบ ระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 จึงยังคงใช้บังคับแก่ผู้ปฏิบัติงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย การที่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามระเบียบดังกล่าวชอบแล้ว
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมายังไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย เมื่อย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว ศาลแรงงานกลางไม่ต้องพิพากษาคดีใหม่หากเห็นว่าไม่เป็นให้ผลคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าหากศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่เป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ต้องพิพากษาคดีใหม่ การย้อนสำนวนในกรณีนี้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่จำต้องพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง เพราะหากศาลแรงงานกลางไม่ได้พิพากษาคดีนั้นใหม่ ก็เท่ากับว่าไม่มีคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตรวจสอบเพราะถูกยกไปเสียแล้ว ดังนั้น ในส่วนของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคดีนี้ศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาคดีใหม่ จึงไม่มีคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1498/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักเงินเดือนชำระหนี้ฐานะผู้ค้ำประกัน: ชอบด้วยกฎหมายหากมีหนังสือยินยอม
กฎหมายที่ใช้บังคับแก่สภาพการจ้างสำหรับลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ คือ ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 โดยประกาศดังกล่าวข้อ 31 มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองลูกจ้างให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ และเพื่อความมั่นคงของตัวลูกจ้างซึ่งจะส่งผลให้ลูกจ้างมีกำลังใจและความมุ่งมั่นในการทำงานให้แก่นายจ้างอย่างมีประสิทธิภาพ จึงกำหนดเป็นหลักการว่า ห้ามไม่ให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดไว้ แต่หากลูกจ้างให้ความยินยอมล่วงหน้าไว้ นายจ้างก็มีสิทธิหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เพื่อชำระหนี้สินของสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นจำนวนไม่เกินร้อยละสิบของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ และมีสิทธิหักรวมกับเงินอื่นตาม (2) (4) และ (5) แล้วไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับได้ หากลูกจ้างให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ล่วงหน้าด้วย นายจ้างมีสิทธิหักค่าจ้างและเงินอื่นใดดังกล่าวเพื่อชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นจำนวนเกินร้อยละสิบของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ และมีสิทธิหักรวมกับเงินอื่นตาม (2) (4) และ (5) แล้วเกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับได้ ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำไว้ และไม่ได้กำหนดว่า หนี้สินของสหกรณ์ออมทรัพย์ต้องเป็นหนี้สินโดยตรงของลูกจ้างที่เกิดขึ้นแล้วในขณะลูกจ้างทำหนังสือให้ความยินยอม
โจทก์ทำหนังสือถึงจำเลยยินยอมให้จำเลยหักเงินเดือน ค่าจ้าง หรือเงินอื่นใด ที่ถึงกำหนดจ่ายแก่โจทก์ เพื่อชำระหนี้หรือภาระผูกพันที่มีต่อสหกรณ์ให้แก่สหกรณ์ตามจำนวนที่สหกรณ์แจ้งไป จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นจะระงับสิ้นไป โดยให้หักเงินและส่งเงินที่หักไว้นั้นให้แก่สหกรณ์โดยพลันโดยไม่ต้องฟ้องร้องแต่อย่างใด โดยโจทก์ยินยอมให้หักได้เกินกว่าร้อยละสิบและให้หักรวมกับรายการหักอื่น ๆ ได้เกินกว่าหนึ่งในห้าของเงินที่โจทก์มีสิทธิรับ ขณะโจทก์ทำหนังสือยินยอม หนี้เงินกู้ระหว่าง ฉ. ผู้กู้กับสหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว และโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต่อสหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ว่าจะเข้าชำระหนี้แทนหากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ การที่โจทก์ทำหนังสือยินยอมดังกล่าวเป็นการสละสิทธิเกี่ยงให้ผู้กู้ชำระหนี้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 อันเป็นการให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ล่วงหน้า ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระหนี้เงินกู้ จำเลยจึงมีสิทธิหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้แทนผู้กู้ได้ นอกจากจำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดของโจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมแทนผู้กู้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ยังหักเพื่อชำระค่าหุ้นของโจทก์และหนี้เงินกู้ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้กู้ด้วย ในขณะทำหนังสือยินยอมโจทก์สามารถคาดหมายได้ว่า เมื่อหักแล้วเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดจะเหลือเพียงพอแก่การดำรงชีพได้หรือไม่ การที่จำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดของโจทก์เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวแล้วคงเหลือเงินไม่เพียงพอที่โจทก์สามารถดำรงชีพได้หรือบางเดือนเหลือศูนย์บาทจึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง
ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 บัญญัติเกี่ยวกับการหักเงินเดือนค่าจ้างและเงินอื่นใด เพื่อชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ไว้แล้ว จึงหาอาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 302 วรรคหนึ่ง (3) มาปรับใช้ในฐานเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง โดยให้ถือว่าจำนวนเงินสองหมื่นบาทเป็นเงินเดือนค่าจ้างที่ต้องคงเหลือภายหลังการหักชำระหนี้หรือให้ศาลเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินคงเหลือได้ไม่
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ข้อ 7 เป็นระเบียบที่ออกโดยเฉพาะเพื่อใช้ปฏิบัติภายในหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้ใช้บังคับแก่รัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 มาตรา 42/1 ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินเดือนค่าจ้างหรือเงินอื่นใดคงเหลือภายหลังหักชำระหนี้ไว้ การออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า ในกรณีของรัฐวิสาหกิจก็ต้องออกระเบียบเป็นพิเศษโดยเฉพาะเช่นกัน หรือต้องแก้ไขประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 31 เสียก่อน การที่จำเลยหักเงินเดือนค่าจ้างของโจทก์ชำระหนี้ในส่วนของความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแทนผู้กู้ที่ผิดนัดให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์การสื่อสารแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งบางเดือนเงินเดือนค่าจ้างคงเหลือศูนย์บาท จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
of 43