คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
จักษ์ชัย เยพิทักษ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 427 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4943/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนโทรมเด็กหญิง, การรวมโทษจำคุกเกิน 50 ปี, ศาลฎีกาแก้โทษตามกฎหมาย
คดีนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาพิพากษาเข้ากับคดีหมายเลขดำที่ อ 378/2564 หมายเลขแดงที่ อ 1036/2564 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกจำเลยในสำนวนคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 1 แต่คดีดังกล่าวได้ยุติลงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยคู่ความไม่ได้ฎีกา คดีคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
คดีนี้และคดีหมายเลขแดงที่ อ 1036/2564 ของศาลชั้นต้น เหตุเกิดวันเดียวกันและสถานที่เดียวกัน จึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (3) กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินห้าสิบปี เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 ในแต่ละคดีมีกำหนด 37 ปี 4 เดือน แล้วนำโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1036/2564 ของศาลชั้นต้นมานับต่อจากคดีนี้ได้ ซึ่งเมื่อรวมโทษทุกคดีแล้วโทษจำคุกเกินห้าสิบปี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษา โดยมิได้กำหนดว่าเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกต้องไม่เกินห้าสิบปีจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 พิพากษาแก้เป็นว่า นับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1036/2564 ของศาลชั้นต้น ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อ 1035/2564 ของศาลชั้นต้น แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกต้องไม่เกินห้าสิบปีตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3710/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้น และยืนตามคำพิพากษาเดิมในคดีพยายามฆ่า
การวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ต้องวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและมิได้ยกข้อเท็จจริงตามฎีกาขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นว่า ผู้เสียหายทะเลาะวิวาทกับจำเลยมาก่อนแล้วผู้เสียหายมารอจำเลยที่บ้านของบิดาจำเลยโดยพร้อมที่จะทะเลาะวิวาทกับจำเลย จำเลยจึงเกิดโทสะเข้าชกต่อยผู้เสียหายแล้วจำเลยพลั้งมือหยิบอาวุธมีดขนาดเล็กเหวี่ยงไปทางผู้เสียหาย จำเลยก็ไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานใดให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว อีกทั้งทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยถูกผู้เสียหายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอันจะเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิพากษาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3680/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบหมายงานผ่านตัวกลางและการเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 11/1
บ. เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งช่างเจียระไน โดยมีข้อเสนอนอกเหนือจากงานในตำแหน่งช่างเจียระไนว่า จำเลยที่ 1 เสนอให้ บ. รับผลิตงานเพิ่มเติม ตามสัญญาการทำงาน ข้อ 2 แต่การรับผลิตงานเพิ่มเติมดังกล่าวจะถือว่าเป็นการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างมอบงานผลิตเพิ่มเติมให้ บ. ในฐานะลูกจ้างทำงานเพิ่มเติมนั้นด้วยตนเองอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 เสนองานผลิตเพิ่มเติม คือ งานฝังเพชรพลอย ให้แก่ บ. โดย บ. มิได้รับงานผลิตเพิ่มเติมนั้นไปทำด้วยตนเอง แต่นำงานผลิตเพิ่มเติมที่ได้รับจากจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไปจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างให้ทำงานเป็นช่างฝังเพชรพลอย และให้โจทก์ทำงานที่สถานประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 กับใช้อุปกรณ์ที่อยู่ในที่ทำงานของจำเลยที่ 1 เพื่อทำงานฝังเพชรพลอย โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับงานที่โจทก์รับจาก บ. และไม่ได้โต้แย้ง พฤติการณ์ดังกล่าวจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เสนองานเพิ่มเติมให้แก่ บ. โดยรู้อยู่แล้วว่า บ. ไม่ได้รับผลิตงานเพิ่มเติมไปทำด้วยตนเอง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 มอบงานฝังเพชรพลอยให้แก่ บ. ในคดีนี้ จึงมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างเสนอให้ บ. ในฐานะลูกจ้างรับผลิตงานเพิ่มเติมตามสัญญาการทำงาน ข้อ 2 แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการได้มอบหมายให้ บ. เป็นผู้จัดหาคนมาทำงานให้แก่จำเลยที่ 1 อันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน เมื่อการทำงานของโจทก์คืองานฝังเพชรพลอยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 โดยมี บ. เป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานและรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่เป็นคนมาทำงาน จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง และมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้าง ค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 70 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างภายในสามวันนับแต่วันที่เลิกจ้าง ดังนั้น เมื่อ บ. เลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 บ. จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 8 สิงหาคม 2563 บ. ไม่จ่ายค่าจ้างภายในเวลาดังกล่าว จึงต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป และเมื่อจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างนับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไปแก่โจทก์เช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3110-3113/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้ได้รับค่าชดเชยแล้วตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
กรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยหรือค่าจ้างแทนการบอกกล่าวหน้าหรือเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเพื่อให้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวแก่ลูกจ้าง ซึ่งหากพนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและปรากฏว่าลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดที่นายจ้างมีหน้าที่จ่ายดังกล่าว ให้พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวแก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 และมาตรา 124 ส่วนกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 และมาตรา 123 อันเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำร้องกล่าวหานายจ้างต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 124 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่ง ในกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้นายจ้างผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควรตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 125 และมาตรา 41 (4) เห็นได้ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 กำหนดการเยียวยาแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไว้แตกต่างกันและเป็นกฎหมายคนละฉบับ ลูกจ้างจึงมีสิทธินำเหตุแห่งการเลิกจ้างเดียวกันไปยื่นคำร้องทั้งต่อพนักงานตรวจแรงงานหรือต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิซ้ำซ้อนกัน
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า "การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้ตามกฎหมายอื่น" ประกอบกับ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 41 (4) บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้นายจ้างกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดใน 3 ประการ คือ สั่งให้รับลูกจ้างกลับเข้าทำงานก็ได้ หรือสั่งให้จ่ายค่าเสียหายก็ได้ หรือสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เห็นสมควรก็ได้ หรือคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อาจจะสั่งพร้อมกันหลายประการก็ได้ ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสี่ได้รับค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้าง อันถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 อีกต่อไป และไม่ถือเอาประโยชน์ในส่วนของการขอให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงานก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสี่ก็ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมของจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจตามมาตรา 41 (4) สั่งให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสี่ได้ ในการยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 นั้น นอกจากโจทก์ทั้งสี่ขอให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 รับโจทก์ทั้งสี่กลับเข้าทำงานแล้ว โจทก์ทั้งสี่ยังขอให้มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ โดยโจทก์ทั้งสี่ยังคงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 ที่ให้ยกคำร้อง และขอให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสี่เช่นเดิมด้วย แสดงว่าโจทก์ทั้งสี่ยังติดใจเรียกร้องค่าเสียหายอันเนื่องจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมของจำเลยที่ 2 อยู่ โจทก์ทั้งสี่จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ 1 ในส่วนของค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3106-3109/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุผลที่นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน แม้จะหยุดกิจการชั่วคราวจากผลกระทบโควิด-19
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์คุ้มครองนายจ้างที่ประสบเหตุการณ์ซึ่งส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างรุนแรงจนถึงขั้นนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว และในทางเดียวกันก็มีเจตนารมณ์คุ้มครองลูกจ้างด้วย เพราะหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างทำให้ลูกจ้างต้องตกงานขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อน โดยตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานในระหว่างหยุดกิจการนั้น นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการ ยกเว้นแต่เหตุที่ทำให้นายจ้างหยุดกิจการนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง
จำเลยประกอบกิจการให้บริการเป็นตลาดกลางในการรับจองห้องพัก ที่พัก และโรงแรมในประเทศไทยทางออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ แอปพลิเคชันในโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์อื่น ๆ โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย เมื่อต้นปี 2563 นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติใช้บริการจองที่พักทางออนไลน์กับจำเลยน้อยลง เป็นผลทำให้รายได้ของจำเลยลดลงจนถึงขนาดขาดทุนเป็นอย่างมาก อันสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลและหน่วยงานราชการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย โดยมีประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยห้ามอากาศยานขนส่งคนโดยสารทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 ทำให้กระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและการโรงแรมโดยทั่วไป จำเลยจึงหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของจำเลย จนทำให้จำเลยไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาว่าเหตุที่ทำให้จำเลยหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวเกิดจากเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยหลุดพ้นจากการชำระเงินตามมาตราดังกล่าวแก่ลูกจ้างด้วยหรือไม่นั้น แม้จำเลยมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวใช้บริการกับจำเลยน้อยลง ทำให้รายได้ของจำเลยลดลงและต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างมากก็ตาม แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ดังกล่าวเป็นเพียงการก่อให้เกิดความยากลำบากแก่จำเลยในการดำเนินกิจการของตนต่อไปเท่านั้น มิได้ถึงขนาดเป็นอุปสรรคขัดขวางจนทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่อยู่ในภาวะและวิสัยที่จะประกอบธุรกิจต่อไปได้โดยสิ้นเชิงในขณะนั้น ดังนั้น การที่จำเลยมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวในระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งที่ยังสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการหยุดกิจการเป็นการชั่วคราวเพราะเหตุสุดวิสัย แต่ถือได้ว่าจำเลยมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราวซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ได้รับก่อนจำเลยหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่จำเลยไม่ได้ให้โจทก์ที่ 3 ถึงที่ 5 ทำงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 ให้ศาลแรงงานมีอำนาจที่จะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอได้ หากศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ดังนี้ แม้โจทก์ที่ 2 จะฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 โดยไม่ได้ฟ้องหรือแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยจ่ายเงินตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 โดยไม่ได้อ้างเหตุว่าศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอย่างไร แต่เมื่อศาลฎีกาพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 ตามที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยมาได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1650/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือสัญญากู้ยืมที่ไม่ติดอากรแสตมป์ใช้เป็นหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินกู้จำนวน 200,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้เงิน จำเลยให้การว่า จำเลยกู้เงินจากโจทก์เพียง 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน หักดอกเบี้ยล่วงหน้า ได้รับเงินกู้เพียง 45,000 บาท สัญญากู้เงินโจทก์เขียนจำนวนเงินกู้ 200,000 บาท เป็นเอกสารปลอม ดังนี้ คำให้การของจำเลยเป็นคำให้การที่กล่าวอ้างว่าจำเลยกู้เงินจากโจทก์จริง แต่ได้รับเงินไม่ถึงจำนวนที่โจทก์เขียนระบุไว้ในสัญญา และกล่าวอ้างว่าสัญญากู้เงินเป็นเอกสารปลอม การที่จะฟังว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินดังกล่าวจากโจทก์หรือไม่ จึงต้องอาศัยหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน แม้จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่าจำเลยเป็นผู้กรอกข้อความในหนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าว สัญญากู้จึงไม่ใช่เอกสารปลอม ก็เป็นเรื่องในชั้นพิจารณาว่าข้อเท็จจริงในประเด็นที่จำเลยต่อสู้ไว้ฟังได้เพียงใด ไม่ใช่กรณีที่ไม่ต้องใช้หนังสือสัญญากู้เงินเป็นพยานหลักฐาน โจทก์จึงต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้กู้ยืมเป็นสำคัญมาเป็นพยานหลักฐาน หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นต้นฉบับระบุชื่อโจทก์และจำเลยเป็นคู่สัญญาและลงลายมือชื่อไว้ทั้งสองฝ่ายจึงมีลักษณะเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากร แต่หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ถือว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 757/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลจากประกันสังคม, การผิดนัดชำระหนี้, และดอกเบี้ย
เงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินอย่างหนึ่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดให้แก่โจทก์ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว" โดยคำเตือนในกรณีนี้คือการทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับและการทวงถามนั้นโจทก์จะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เสียก่อนจึงจะถือว่าเป็นคำเตือนโดยชอบ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามที่โจทก์ทวงถามแล้วจึงจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจากจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือที่ ชม 0025/0144 เรื่อง คำสั่งประโยชน์ทดแทน ลงวันที่ 6 มกราคม 2554 แจ้งโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 พิจารณาแล้วมีมติยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงนำคดีนี้มาฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าโจทก์ได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ อีกทั้งไม่ได้ความว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวโดยทางอื่นอีก จึงเท่ากับว่ายังไม่มีคำเตือนให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดเพราะโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้ว แต่การฟ้องคดีย่อมเป็นการทวงถามอยู่ในตัว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 มีนาคม 2564) เป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4838/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทซ้ำกับคดีก่อน ศาลฎีกาพิจารณาว่าเป็นการรื้อฟ้อง
ต. เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง ต. และผู้ร้องต่างยื่นคำร้องว่าตนได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ อันเป็นการกล่าวอ้างว่า ต. และผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาในระหว่างสมรส ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสและตกเป็นของ ต. กับผู้ร้องร่วมกัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ให้อำนาจเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์รวมเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกได้ การที่ ต. ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของ ต. โดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรา 1382 จึงเป็นการกระทำแทนผู้ร้องด้วย ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นคู่ความเดียวกันกับ ต. ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีก่อน เมื่อคดีก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำร้อง โดยวินิจฉัยว่า ต. ครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของผู้ตาย หาใช่ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของไม่ ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีแล้ว คดีถึงที่สุด เช่นนี้แม้ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วครอบครองทำประโยชน์ด้วยความสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันจนได้กรรมสิทธิ์ แต่ก็เป็นการยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกับคดีก่อน จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นร้องซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4213/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงานหลังโอนสิทธิเรียกร้อง - รัฐวิสาหกิจ - ละเมิด/ผิดสัญญาจ้าง
พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 4 ให้คำจำกัดความของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" หมายความว่า "กระทรวง ทบวง กรม หรือ ... และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และ..." โจทก์จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า ให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเรียกว่า "ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย" และให้ธนาคารเป็นนิติบุคคล และมาตรา 7 กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้หนึ่งพันล้านบาท โดยให้ธนาคารขายหุ้นให้แก่กระทรวงการคลัง หรือบุคคลอื่น โดยให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นของธนาคารได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร แต่จะต้องไม่เกินร้อยละสี่สิบเก้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เห็นได้ว่า พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มีจุดมุ่งหมายให้โจทก์เป็นนิติบุคคล แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเพราะกระทรวงการคลังซื้อหุ้นของโจทก์ได้ไม่เกินร้อยละ 49 แม้ต่อมากระทรวงการคลัง ธนาคาร ม. และธนาคาร ก. เข้าถือหุ้นของโจทก์รวมกันเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรืออีกนัยหนึ่งโจทก์มีส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ ซึ่งส่งผลทำให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามคำจำกัดความของคำว่ารัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 แต่ความเป็นรัฐวิสาหกิจของโจทก์มิได้เป็นมาตั้งแต่วาระแรกที่ พ.ร.บ.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ใช้บังคับ โจทก์เพิ่งเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในภายหลังเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น โจทก์จึงไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ จึงไม่ใช่หน่วยงานของรัฐตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า การที่ลูกค้ารายบริษัท ด. ทำคำขอสินเชื่อสำหรับใช้ในโครงการวงเงิน 650,000,000 บาท ต่อคณะกรรมการบริหารของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันจัดทำเอกสารและเสนอข้อมูลเพื่อขออนุมัติสินเชื่อตามระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อของโจทก์ ไม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นที่ฝ่ายโครงการสินเชื่อแจ้งความเสี่ยงว่าที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้และใบอนุญาตก่อสร้างอยู่ระหว่างดำเนินการ ยังไม่แน่ชัดว่าลูกค้าจะได้รับใบอนุญาตก่อสร้างหรือไม่ และเร่งรีบเสนอขออนุมัติคณะกรรมการบริหารให้อนุมัติและเบิกใช้สินเชื่อค่าที่ดิน 430,000,000 บาท ให้ลูกค้าไปก่อน และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ยังยินยอมให้ลูกค้าเบิกถอนสินเชื่อเพื่อการก่อสร้างและสาธารณูปโภคอีก 16,695,947.66 บาท ทั้งที่ยังไม่มีข้อยุติเรื่องการได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติของโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และผิดสัญญาจ้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากทั้งมูลผิดสัญญาจ้างแรงงานและมูลละเมิด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
กรณีโจทก์โอนสินทรัพย์ของลูกค้ารายบริษัท ด. ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคาร อ. ก่อนฟ้องคดีนี้แล้ว แม้โจทก์ขายสินทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องของลูกค้ารายดังกล่าวไปก่อนฟ้องคดีนี้ก็ส่งผลทำให้โจทก์สิ้นสิทธิเรียกร้องจากลูกค้ารายดังกล่าวตามมูลหนี้ผิดสัญญาให้สินเชื่อเท่านั้น แต่โจทก์ยังคงได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อยู่ แม้โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ชำระค่าเสียหายเท่ากับจำนวนหนี้สินเชื่อของลูกค้าหักออกด้วยจำนวนเงินที่โจทก์ขายสินทรัพย์ของลูกค้านั้นก็เป็นเรื่องการคำนวณค่าเสียหายของโจทก์ ซึ่งต้องพิจารณาในประเด็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใด ส่วนภายหลังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคาร อ. จะได้รับชำระหนี้จากลูกค้ารายดังกล่าวหรือไม่นั้นเป็นเรื่องระหว่างบริษัทกับลูกค้ารายดังกล่าว เมื่อโจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องได้ตามสัญญาจ้างแรงงานและมูลละเมิด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4171/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าจ้างเมื่อนายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวจากเหตุสุดวิสัยและผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานประกอบการ
กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 17 เมษายน 2563 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นเรื่องให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม มิใช่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง การที่จำเลยไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการตามหนังสือรับรองที่แนบท้ายกฎกระทรวงนี้ ไม่ได้ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยตามกฎกระทรวงดังกล่าว
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความของคำว่า สัญญาจ้าง หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ดังนี้ สัญญาจ้างจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ลูกจ้างมีหนี้ที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างมีหนี้ที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนในการทำงานของลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้แก่นายจ้าง หรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้ค่าจ้างจากนายจ้างต่อเมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง จำเลยหยุดประกอบกิจการเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ปิดโรงแรมทั้งจังหวัดเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถือได้ว่าจำเลยหยุดประกอบกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย การที่โจทก์ไม่ได้เข้าทำงานให้แก่จำเลยมิใช่เกิดจากคำสั่งหรือความผิดของจำเลย จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ แต่หากภายหลังเมื่อพ้นระยะเวลาปิดโรงแรมตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์กลับเข้าทำงานให้แก่จำเลย จำเลยก็มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์
ศาลแรงงานภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยและรับฟังข้อเท็จจริงว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 คำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 1797/2563 ลงวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่กำหนดให้ปิดโรงแรม มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น มีผลทำให้จำเลยปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด และจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งฉบับอื่นให้ปิดโรงแรมต่อไปอีกหรือไม่ เพียงใด จำเลยเปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด โจทก์เข้าทำงานให้แก่จำเลยหรือไม่ หากเข้าทำงาน โจทก์ทำงานตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะไปสู่การวินิจฉัยประเด็นว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป
of 43