คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ธราธร ศิลปโอสถ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 83 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 503-505/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีค้ามนุษย์และประมวลกฎหมายอาญา: ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ ไม่พบหลักฐานค้ามนุษย์และให้รอการลงโทษ
โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้สำนวนแรกภายหลังวันที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับ แต่ก่อนฟ้องคดีต่อศาลและก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้สืบพยานไว้ล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 31 โดยศาลชั้นต้นสืบพยานรายผู้เสียหายที่ 1 ไว้ล่วงหน้าแล้ว ย่อมถือว่าคดีนี้เป็นคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับ มาใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด การฎีกาของโจทก์จึงเป็นไปตามสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ใช่กรณีต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4126/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมความในคดีอาญาต้องเกิดขึ้นหลังการกระทำความผิด สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งไม่ระงับคดีอาญา
การยอมความในความผิดอันยอมความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคสอง และมาตรา 39 (2) นั้น ต้องเป็นการยอมความที่กระทำภายหลังจากความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว มิใช่กระทำกันไว้ล่วงหน้าก่อนการกระทำความผิดเกิด เมื่อโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งของศาลจังหวัดนครสวรรค์ โดยจำเลยตกลงผ่อนชำระหนี้ค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ หากจำเลยผิดนัด จำเลยตกลงส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ และศาลจังหวัดนครสวรรค์พิพากษาตามยอม ภายหลังจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลจังหวัดนครสวรรค์ออกหมายบังคับคดี ต่อมาโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดรถยนต์ที่จำเลยเช่าซื้อจากโจทก์ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่น และไม่สามารถติดตามกลับคืนมาได้ เช่นนี้ การยอมความดังกล่าวข้างต้นจึงทำขึ้นก่อนที่จำเลยจะนำรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์ไปจำนำไว้แก่บุคคลอื่นซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องคดีนี้ ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวก็ไม่ปรากฏข้อความว่าโจทก์จำเลยตกลงยอมความในคดีส่วนอาญา สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งจึงไม่มีผลทำให้คดีอาญาระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4041/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลให้คดีมีมูลไม่ใช่ข้อผูกพัน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณายกฟ้องได้หากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
ป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่า คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นความผิดตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูล ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามทางไต่สวนไม่เป็นความผิด และพิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาตลอดไปจนถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย ซึ่งมีผลเท่ากับยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 213 และมาตรา 215 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3761/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวความผิดหลายบท วัตถุระเบิด - การแก้ไขโทษ ศาลอุทธรณ์ - ห้ามฎีกา
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกันโดยบรรยายฟ้องเป็นข้อ 1 (ก) ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันทำวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ ข้อ 1 (ข) ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และข้อ 1 (ค) ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้พยายามฆ่าผู้อื่นก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาการกระทำของจำเลยในความผิดทั้งสามฐานนี้ เห็นได้ว่าเป็นเจตนาอันเดียวกันคือต้องการใช้วัตถุระเบิดในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 81 ซึ่งโดยสภาพแห่งการกระทำความผิดฐานร่วมกันใช้วัตถุระเบิด พยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยกับพวกก็ต้องร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองเสียก่อน ทั้งวัตถุระเบิดที่จำเลยกับพวกร่วมกันมีไว้ในครอบครองกับวัตถุระเบิดที่จำเลยกับพวกร่วมกันทำยังเป็นวัตถุระเบิดลูกเดียวกันและกระทำคราวเดียวกัน นอกจากนี้ความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวกฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้ในมาตราเดียวกันตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 จึงเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์ให้ความผิดทั้งสามฐานนี้เป็นกรรมเดียวกัน
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 วรรคสี่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย คดีจึงต้องห้ามโจทก์มิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3244/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำเนาอุทธรณ์และการเพิกถอนกระบวนพิจารณาเมื่อจำเลยไม่สามารถรับได้
ป.วิ.อ. มาตรา 200 บัญญัติว่า ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ ซึ่งเป็นการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะพิเศษสำหรับคดีอาญาและหากมีการดำเนินการไม่ถูกต้องอย่างไร มาตรา 195 วรรคสอง ก็บัญญัติรองรับไว้ด้วยว่า ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์ เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้ แสดงให้เห็นว่า เป็นกรณีที่ไม่อาจนำเรื่องการเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 แห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับได้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิยื่นคำร้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 จึงไม่ชอบ
การส่งสำเนาอุทธรณ์ไปยังที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ตามที่ระบุในคำฟ้อง แม้ผู้รับจะมีอายุไม่ถึง 20 ปี อันจะทำให้รับฟังว่าเป็นการส่งไม่ชอบก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ตามที่อยู่ดังกล่าวในช่วงที่มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ และพบว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดในคดีอื่น กรณีจึงถือได้ว่า การส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะหาตัวไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 201 ซึ่งกำหนดให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป การดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของการส่งสำเนาอุทธรณ์จึงเป็นไปโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3091/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กโดยการใช้ปาก การพิจารณาหลักฐานพยาน และการใช้กฎหมายที่ใช้บังคับ ณ ขณะกระทำความผิด
แม้ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ตามคำฟ้องว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วยการสอดใส่อวัยวะเพศของตนเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 2 แต่ได้ความว่าจำเลยนำอวัยวะเพศของตนใส่เข้าไปในปากของผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของจำเลยโดยการใช้อวัยวะเพศของตนล่วงลํ้าช่องปากของผู้เสียหายที่ 2 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2714/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การในคดีอาญาต้องมีเหตุสมควร และความผิดพรากเด็กกับกระทำชำเราเป็นคนละกรรม
จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควร ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่ตามอำเภอใจของจำเลย อีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาลที่เห็นสมควรจึงอนุญาตให้แก้ไขได้ การที่ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การรับสารภาพ โดยขอให้การใหม่เป็นให้การปฏิเสธว่าได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จริง โดยสำคัญผิดในเรื่องอายุของผู้เสียหายที่ 2 จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกิน 15 ปี คำให้การดังกล่าวของจำเลยหาทำให้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด อีกทั้งในวันสืบพยานโจทก์เมื่อโจทก์นำผู้เสียหายที่ 2 เข้าเบิกความต่อหน้าจำเลยในช่วงเช้า ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบศาลว่าผู้เสียหายที่ 2 อายุ 13 ปี จำเลยย่อมต้องทราบแล้วว่า ผู้เสียหายที่ 2 อายุยังไม่เกิน 15 ปี ก่อนเริ่มสืบพยานโจทก์ต่อในช่วงบ่าย จำเลยขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ซึ่งแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาในความผิดฐานดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของผู้เสียหายที่ 2 ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี จำเลยมีเจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ดังนั้น เจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2309/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกันในการเรียกรับเงินต่อสัญญาพนักงานจ้าง
พนักงานที่จำเลยเรียกรับเงินค่าตอบแทนในการอนุญาตและอนุมัติการต่อสัญญามี 2 กลุ่ม คือ พนักงานจ้างทั่วไปและพนักงานจ้างตามภารกิจ พนักงานในแต่ละกลุ่มต่างมีสัญญาจ้างเป็นการเฉพาะราย เมื่อจำเลยเรียกรับเงินค่าตอบแทนในการต่อสัญญาจากพนักงานแต่ละคน กรณีก็เป็นการกระทำความผิดแยกกันเป็นรายบุคคลตามเจตนาของจำเลยซึ่งแยกต่างหากจากกันได้ การที่จำเลยเรียกพนักงานเข้าพบเป็นกลุ่มและเรียกเงินค่าตอบแทนในครั้งเดียวกันเป็นลักษณะการดำเนินการของจำเลยที่ต้องการให้เกิดความสะดวกในเรื่องของการเรียกรับเงินเท่านั้น ทั้งการได้รับเงินจากพนักงานแต่ละคนก็เป็นการได้รับในภายหลัง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นความผิดหลายกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฆ่าโดยบันดาลโทสะ: ผู้ตายมีส่วนผิด โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจเรียกร้องค่าเสียหาย
ขณะ จ. อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย จ. คบหาฉันชู้สาวกับผู้ตายจนเป็นสาเหตุให้จำเลยหึงหวงและทะเลาะกัน แล้วแยกกันอยู่กับ จ. ไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันอีก วันเกิดเหตุเมื่อผู้ตายเห็นรถจำเลยจอดอยู่ จึงขับรถมาจอดเทียบข้างรถจำเลย แล้วจำเลยพูดกับผู้ตายว่า มึงยังไม่เลิกยุ่งกับเมียกูอีกหรือ ลูกโตกันหมดแล้ว ก็เป็นการพูดในทำนองขอร้องให้ผู้ตายเลิกคบหากับ จ. และให้เห็นแก่บุตรของจำเลยกับ จ. ซึ่งโตแล้ว แต่ผู้ตายกลับพูดด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า จะเลิกยุ่งทำไม เมียมึงเย็ดมันดี ซึ่งเป็นการพูดต่อหน้าบุตรชายของจำเลยที่เกิดกับ จ. ด้วย คำพูดของผู้ตายเช่นนั้นเป็นการเย้ยหยันและดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีของจำเลยอย่างรุนแรง จึงเป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และการที่ผู้ตายคบหากับ จ. มาตั้งแต่ขณะ จ. อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย ถือว่าจำเลยถูกกดขี่ข่มเหงต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้จำเลยไม่อาจ อดกลั้นโทสะไว้ได้จึงใช้ปืนยิงผู้ตายไปในทันทีทันใด กรณีย่อมเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72
ผู้ตายมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิด ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามฟ้อง โจทก์ร่วมซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาว่าจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ภริยาของผู้ตายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายโดยมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิด ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลยพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญาที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2554 โจทก์ไปหาจำเลยทั้งสองที่บ้านตามฟ้อง แต่ไม่พบจำเลยที่ 1 ทราบว่าย้ายออกจากบ้านนานแล้ว โดยนำทรัพย์สินภายในบ้านติดตัวไปด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่ทราบว่าทำงานอยู่ที่ใดเพราะปิดบังที่ทำงาน เพื่อไม่ให้โจทก์อายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 2 ได้ ดังนั้น ฟ้องโจทก์ไม่บรรยายรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 อย่างชัดแจ้ง การกระทำของจำเลยที่ 2 ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในฟ้องจึงไม่เป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ตนรู้ว่าน่าจะถูกอายัด อันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 187 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
of 9