คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เศกสิทธิ์ สุขใจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 27 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 123/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขยายเวลาไถ่ทรัพย์ขายฝากต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ มิฉะนั้นสิทธิในการไถ่ขาดอายุ การครอบครองหลังครบกำหนดถือเป็นการละเมิด
แม้การขยายกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝาก กฎหมายจะมิได้บังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่อย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ จึงจะบังคับกันได้ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 496 เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการขยายเวลาไถ่โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโจทก์เป็นผู้รับไถ่ไว้โดยผู้แทนของโจทก์ตามความประสงค์ของนิติบุคคลซึ่งย่อมแสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 กรณีการทำหลักฐานเป็นหนังสือในการขยายกำหนดเวลาไถ่ จึงเป็นสาระสำคัญ มิฉะนั้นไม่อาจบังคับกันได้ หาใช่เป็นเพียงแบบพิธีที่ต้องทำกันภายหลังครบกำหนดเวลาขายฝากดังที่จำเลยฎีกาไม่ แม้จำเลยนำสืบว่า ป. บุตรจำเลยซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยให้เป็นผู้เจรจาตกลงได้ติดต่อกับ ส. ประธานกรรมการของโจทก์ ทางแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งมีข้อความที่ ป. ขอไปพบ ส. เพื่อทำสัญญาและนำของขวัญไปมอบให้ ส. ที่ให้โอกาสต่อสัญญาอีก 1 ปี ก็เป็นข้อความที่เกิดจากการส่งข้อความของ ป. แต่ฝ่ายเดียว โดยที่ ส. มิได้ตอบรับหรือปฏิเสธ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการสนทนาโดยการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่จะต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 8 ที่บัญญัติให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้วมาใช้บังคับ เมื่อครบกำหนดเวลาไถ่จำเลยมิได้ชำระสินไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝาก กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งขายฝากจึงไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยยังคงครอบครองใช้ประโยชน์ทรัพย์สินซึ่งขายฝากทำให้โจทก์เสียหายจึงเป็นการละเมิด การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยจึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 70/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องอาญาที่ระบุวันเวลาผิดพลาด และการพิจารณาโทษจำคุกที่ไม่รอการลงโทษ
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 โดยบรรยายฟ้องในข้อ 1 ว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 แต่ตามคำร้องขอฝากขังคดีหมายเลขดำที่ ฝ.210/2562 ระบุพฤติการณ์แห่งคดีว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 ช. พนักงานรักษาความปลอดภัยของผู้เสียหายตรวจค้นรถคันที่จำเลยเป็นผู้ขับพบสิ่งผิดปกติ จึงใช้กล้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายภาพวัตถุต้องสงสัย ทั้งฟ้องข้อ 2 บรรยายว่าเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 จำเลยได้รับการปล่อยตัวไป จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 มิใช่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งพออนุโลมได้ว่าคำร้องขอฝากขังถือเป็นส่วนประกอบของคำฟ้อง และถือว่าฟ้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาโดยผิดหลง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 56/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า, ค่าเสียหาย, ดอกเบี้ยผิดนัด, การปรับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่, สิทธิของเจ้าหนี้
ตามสัญญาเช่าระบุว่า ในกรณีสัญญาสิ้นสุดไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ ผู้เช่าจะต้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารแล้วส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าคืนให้แก่ผู้ให้เช่าในสภาพเรียบร้อยที่ผู้ให้เช่าสามารถใช้ประโยชน์ได้ทันทีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลง หากพ้นกำหนดนี้แล้วผู้เช่าต้องชดใช้ค่าปรับแก่ผู้ให้เช่าในอัตราวันละ 667 บาท สัญญาข้อนี้เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าหากจำเลยผิดข้อตกลงตามสัญญาดังกล่าว ยินยอมให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับรายวันจากจำเลยได้ เป็นการตกลงกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้า เมื่อจำเลยผิดสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดตามข้อตกลงดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลดค่าปรับโดยเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนโดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างแล้วลดค่าปรับรายวันเหลือวันละ 450 บาท และศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย นับว่าเหมาะสมแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเช่า อันเป็นการไม่ชําระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชําระค่าปรับรายวัน ตามสัญญาเช่าข้อ 17 ในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายและโจทก์มีสิทธิพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคสอง การที่จำเลยไม่ส่งมอบอาคารที่เช่าคืนแก่โจทก์เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายในส่วนที่ต้องดำเนินการให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารที่เช่าพร้อมกับส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย และการที่จำเลยยังคงอยู่ในอาคารที่เช่าต่อไปหลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วโดยไม่มีสิทธิ ย่อมเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์ที่จะได้รับจากทรัพย์สินของโจทก์อีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งเป็นค่าเสียหายคนละส่วนกับค่าปรับรายวันตามสัญญาเช่าข้อ 16
เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยไม่ส่งมอบอาคารที่เช่าคืนโจทก์ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์จากอาคารของโจทก์ได้ แม้อาคารของโจทก์มีสภาพผุกร่อนของคอนกรีต อันส่งผลให้อาคารมีสภาพที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรืออาจไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยดังที่จำเลยฎีกา แต่ก็ยังสามารถใช้อยู่อาศัย หรือใช้ประโยชน์อื่นได้ โดยจำเลยเองก็ยังประสงค์จะขอให้โจทก์ต่อสัญญาเช่าให้อีก โจทก์จึงอาจนําอาคารของโจทก์ให้บุคคลอื่นเช่าได้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชําระค่าเสียหายคิดเสมือนค่าเช่ารายเดือนในอัตราเดือนละ 2,000 บาท ต่อคูหาเท่ากับอัตราค่าเช่าตามสัญญาตามที่โจทก์ขอ และศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย นับว่าเหมาะสมแล้ว
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าบํารุงรายปีเนื่องจากจำเลยอยู่ในอาคารที่เช่าต่อไปหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วโดยไม่มีสิทธิ โดยโจทก์นําอัตราค่าบํารุงรายปีที่จำเลยต้องชําระตามสัญญาเช่ามาเป็นเกณฑ์ในการเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้ เท่ากับโจทก์เรียกค่าเสียหายโดยอาศัยข้อสัญญาเช่า เมื่อสัญญาเช่ามีการบอกเลิกสัญญาทำให้สัญญาสิ้นสุดแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยชําระค่าบํารุงรายปีตามข้อสัญญาได้อีก คงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยผิดสัญญาเท่านั้น
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. เดิม และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โดยนิติกรรมหรือโดยบทบัญญัติกฎหมายโดยชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี... และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฉบับดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 224 เดิม แห่ง ป.พ.พ. และบัญญัติให้ใช้ความใหม่ว่า หนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี... และพระราชกำหนดดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชําระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 การที่จำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์จึงเป็นหนี้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระหนี้แก่โจทก์ แต่ถ้ากระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนอัตราโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อใด ก็ให้ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันผิดสัญญาถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 เดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6176/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมสนามกอล์ฟ - การบังคับใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
โจทก์ทั้งหกสิบบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกสิบเป็นสมาชิกสโมสรกอล์ฟของจําเลย จําเลยดูแลรักษาและบริหารสนามกอล์ฟตลอดจนบริการอื่น ๆ ไม่ดี แต่จําเลยเพิ่มค่าบํารุงสนามรายปีโดยพลการ ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบขายสิทธิการเป็นสมาชิกต่อได้ยากและราคาไม่ดี นอกจากนี้ยังตัดสิทธิสมาชิกตลอดชีพ คงเหลือ 30 ปี กับเพิ่มค่าโอนสิทธิให้ทายาทซึ่งเดิมไม่มีและเรียกเก็บค่ารักษาสิทธิปีละ 2,400 บาท มีกำหนด 3 ปีจากสมาชิกที่ขอระงับสิทธิชั่วคราวซึ่งเดิมไม่ได้เรียกเก็บและบังคับหากสมาชิกใดไม่จ่ายค่าบํารุงรายปีตามราคาที่จําเลยต้องการ จําเลยจะไม่ออกตั๋วให้สมาชิกใช้สนามกอล์ฟและเล่นกอล์ฟ เป็นการกล่าวอ้างว่าจําเลยในฐานผู้ให้บริการขึ้นค่าบํารุงรายปี เพิ่มค่าโอนสิทธิ หรือออกกฎระเบียบต่าง ๆ ที่กระทบสิทธิของโจทก์ทั้งหกสิบโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบเดือดร้อนจําต้องยอมจ่ายคําบํารุงโดยไม่สมัครใจ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าการกระทำของจําเลยเป็นการกระทำผิดสัญญา นับว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งหกสิบแล้ว โจทก์ทั้งหกสิบจึงมีอำนาจฟ้อง
การที่โจทก์ทั้งหกสิบยอมรับว่าจําเลยสามารถเปลี่ยนแปลงค่าบำรุงรักษาสนามรายปี ค่าธรรมเนียมการโอนสมาชิก หรือกำหนดข้อบังคับได้ตามความเหมาะสมเพียงแต่โจทก์ทั้งหกสิบอ้างว่า จําเลยเรียกเก็บในอัตราที่ไม่เหมาะสมและเป็นการเอาเปรียบโจทก์ทั้งหกสิบซึ่งเป็นผู้บริโภคอันไม่เป็นธรรม และจําเลยไม่บำรุงรักษาสนามกอล์ฟให้มีความเหมาะสมดังที่โฆษณาไว้เท่านั้น โจทก์ทั้งหกสิบได้สิทธิการเป็นสมาชิกจากจําเลยก่อนมี พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ใช้บังคับ ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 12 บัญญัติว่าไม่ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงไม่อาจนําพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับใช้กับข้อกําหนดตามสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งหกสิบกับจําเลยได้
เมื่อพิจารณาจากค่าบํารุงสนามรายปี ค่าโอนสมาชิก ค่ารักษาสิทธิของสมาชิกของสนามกอล์ฟของจําเลย เปรียบเทียบกับสนามกอล์ฟอื่นที่อยู่ในย่านเดียวกันและมีมาตรฐานสนามระดับเดียวกัน เห็นได้ว่ามีอัตราที่ใกล้เคียงกันโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบำรุงรักษาสนามรายปีของจําเลยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายปี 2549 ค่าโอนสิทธิสมาชิกเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2546 และค่ารักษาสิทธิเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายในปี 2553 และโจทก์ทั้งหกสิบชําระเงินในอัตราที่จําเลยเรียกเก็บตลอดมา อันแสดงว่าจําเลยได้เปลี่ยนแปลงอัตราเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สอดคล้องกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของสนามอื่นในระดับมาตรฐานสนามเดียวกัน การที่จําเลยเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงเป็นการกระทำโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6008/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องบังคับจำนองหลังมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของทรัพย์สิน การฟ้องซ้ำหรือไม่
พิเคราะห์ตามคำฟ้องโจทก์ คำให้การจำเลย คำให้การจำเลยร่วม และคำร้องขอให้ชี้ขาดข้อกฎหมายแล้วข้อเท็จจริงได้ความว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเพื่อให้บังคับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 เพื่อชำระหนี้ที่บริษัท ท. ได้กู้ยืมเงินจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จำนวน 30,000,000 บาท และได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวเพื่อเป็นประกันหนี้ และโจทก์เป็นผู้ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เจ้าหนี้ ส่วนจำเลยเป็นผู้รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวมาจากบริษัท ท. แม้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องได้ความว่า ก่อนฟ้องคดีนี้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ได้เคยฟ้องบังคับคดีตามสัญญาจำนองต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 และคดีหมายเลขแดงที่ 861/2540 ระหว่าง บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โจทก์กับบริษัท ท. ที่ 1 พ. ที่ 2 จำเลย ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในคดีนั้นร่วมกันชำระเงินจำนวน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี หากไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน และโจทก์ได้เข้าเป็นคู่ความแทนที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โจทก์ในคดีดังกล่าวแล้ว แต่คดีดังกล่าวเป็นการฟ้องบังคับให้ชำระหนี้กู้ยืมและบังคับจำนองเอาจากบริษัท ท. และ พ. จำเลยทั้งสองของคดีดังกล่าว โดยไม่ได้ฟ้องจำเลยในคดีนี้ให้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าวด้วย แม้ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2551 ได้มีการจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยกับบริษัท ท. ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 311/2541 ของศาลชั้นต้นและที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินได้โอนคืนกลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย แต่จำเลยไม่ใช่คู่ความในคดีดังกล่าว และไม่ใช่ผู้เข้าเป็นคู่ความแทนที่บริษัท ท. ลูกหนี้ตามคำพิพากษา คำฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการฟ้องบังคับเอาจากจำเลยในฐานะผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ติดจำนองไปภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 และคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว คดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ติดจำนอง สิทธิและหน้าที่ของจำเลยเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยไม่เกี่ยวกับบริษัท ท. จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว ดังนั้น คดีนี้กับคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 หมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงมีประเด็นแห่งคดีที่แตกต่างกัน คดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 338/2539 หมายเลขแดงที่ 861/2540 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
ส่วนที่ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์จำนองดังกล่าวเพื่อบังคับคดีในคดีหมายเลขดำที่ ส.48/2549 ระหว่าง อ. โจทก์ กับบริษัท ภ. ที่ 1 บริษัท ท. ที่ 2 จำเลย โจทก์ในฐานะผู้รับจำนองได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต นอกจากนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้บังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองรายนี้ติดภาระจำนองไปด้วยในคดีหมายเลขดำที่ 1342/2549 หมายเลขแดงที่ 412/2540 (คดีหมายเลขแดงที่ ขบ.1/2550) โดยโจทก์ยื่นคำร้องเข้าไปในคดีนี้เพื่อใช้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทนในการซื้อทรัพย์จำนอง ศาลอนุญาต ซึ่งเป็นการขอใช้สิทธิรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญอื่น หากมีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองและขอใช้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทนในวันขายทอดตลาดและหากโจทก์ในคดีดังกล่าวสละสิทธิในการบังคับคดีแทนหรือไม่ดำเนินการในการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด โจทก์ขอดำเนินการบังคับคดีแทนเท่านั้น แต่ปรากฏว่าต่อมามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 มาเป็นชื่อของจำเลย ต่อมาโจทก์ในคดีนี้ได้ขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองในคดีของศาลชั้นต้นหมายเลขดำที่ จ.20/2558 หมายเลขแดงที่ จ.25/2559 ระหว่าง ต. โจทก์ พ. ที่ 1 ณ. ที่ 2 บริษัท ภ. ที่ 3 จำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ในฐานะผู้ร้องในคดีดังกล่าวนี้ได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่น และต่อมามีการถอนการบังคับคดีและจำเลยในฐานะผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 47371 ยังไม่ได้ชำระหนี้ไถ่ถอนจำนอง ยังคงมีภาระหนี้คงค้างต้น 30,000,000 บาท และดอกเบี้ยค้างชำระทั้งสิ้น 119,732,739.34 บาท รวมเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย 149,732,739.34 บาท ดังนั้นในคดีดังกล่าวจึงไม่มีการบังคับคดีอีกต่อไป และคำฟ้องในคดีนี้โจทก์ฟ้องให้บังคับจำนองจากจำเลยในฐานะผู้รับโอนไปซึ่งทรัพย์จำนองในส่วนที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ คดีนี้จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ ส.48/2549 ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขดำที่ จ.20/2558 หมายเลขแดงที่ จ.25/2559 ของศาลชั้นต้นดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และมาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ด้วยเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4765/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกัน: ดำเนินสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต, ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต, และปลอมแปลงเอกสาร
ความผิดฐานดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง กฎหมายมุ่งประสงค์ลงโทษผู้ดำเนินการที่ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล และรับผิดชอบในการดำเนินการสถานที่ซึ่งจัดไว้เพื่อการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม หากมีการดำเนินการดังกล่าวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขึ้นเมื่อใด ย่อมเป็นความผิดสำเร็จทันที ส่วนความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมในการตรวจโรค วินิจฉัยโรค บำบัดโรค ป้องกันโรค และอื่น ๆ ที่กระทำต่อมนุษย์ โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง กฎหมายมุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้ปลอดภัยจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมดังกล่าวที่ไม่ได้มาตรฐาน การกระทำความผิดแต่ละข้อหาจึงมีการกระทำและเจตนาประสงค์ต่อผลแตกต่างกัน เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2881/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษอาญาเนื่องจากพ้นโทษแล้วกระทำผิดซ้ำภายใน 5 ปี แม้คำขอท้ายฟ้องมิได้ระบุขอเพิ่มโทษโดยชัดแจ้ง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าก่อนคดีนี้ จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 7 ปี 18 เดือน และปรับ 400,000 บาท ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานมีและพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 255/2556 และจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน นับโทษจำคุกต่อในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 255/2556 ในความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 254/2556 จำเลยพ้นโทษทั้งสองคดีดังกล่าวแล้ว ภายหลังพ้นโทษจำเลยกลับมากระทำความผิดเป็นคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ซึ่งคดีก่อนและคดีนี้มิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ และมิใช่ความผิดซึ่งจำเลยได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ขอศาลเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยหนึ่งในสามของโทษสำหรับความผิดในคดีนี้ และในคำขอท้ายฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ป.อ. มาตรา 90, 92, 371, ดังนี้คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการกล่าวถึงข้อที่ว่าจำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุกมาแล้ว และจำเลยมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ อันจะเป็นเหตุให้ถูกเพิ่มโทษ และโจทก์ได้อ้างบทบัญญัติซึ่งเป็นเรื่องเพิ่มโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย แม้ในคำขอท้ายฟ้องจะมิได้ระบุขอให้เพิ่มโทษจำเลยไว้อีกก็ตาม ถือได้ว่าโจทก์ได้ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพกับรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง ย่อมแสดงว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างมาในคำขอให้เพิ่มโทษด้วย จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดในคดีนี้ได้ตาม ป.อ. มาตรา 92 หาใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอแต่อย่างใด
of 3