คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เศกสิทธิ์ สุขใจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 27 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการเพิกถอนการขายทอดตลาด: ศาลมีอำนาจดุลพินิจในการงดการบังคับคดีและพิจารณาความชอบด้วยกฎหมาย
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า คำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีกับคำร้องของดการบังคับคดีที่จำเลยทั้งสี่ยื่นต่อศาลชั้นต้นถือเป็นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ซึ่งชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดี นั้น เมื่อพิจารณา ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคสาม บัญญัติว่า "การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองอาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมายนั้นแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ผู้ยื่นคำร้องจะขอต่อศาลในขณะเดียวกันนั้น ให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้" บทบัญญัติดังกล่าวในตอนท้ายอันเกี่ยวกับการที่ผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีจะขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ก็ได้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดคำร้อง มิได้เป็นบทบังคับศาลให้ต้องมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างพิจารณาคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีแต่ประการใด การพิจารณาว่าในระหว่างนั้นมีเหตุสมควรงดการบังคับคดีหรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาสั่งตามดุลพินิจที่เห็นสมควรเป็นรายกรณีไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของดการบังคับคดีของจำเลยทั้งสี่ว่า "ศาลได้มีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีคำร้องนี้จึงตกไปในตัว" จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นยกคำร้องของดการบังคับคดีของจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นตามที่เห็นสมควร และเมื่อศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ตามคำขอของจำเลยทั้งสี่ ทั้งกรณีไม่ต้องด้วยเหตุใด ๆ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการบังคับคดีไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (1) ถึง (4) กับมาตรา 290 แล้ว การบังคับคดีและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำไปเพื่อบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีเหตุต้องเพิกถอนการขายทอดตลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4568/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารต้องรับผิดชอบความเสียหายจากบัตรเดบิตสูญหาย หากผู้บริโภคไม่ได้ประมาทเลินเล่อ และอาจต้องจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ
เมื่อพิจารณาที่มาและข้อตกลงการใช้บัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต คำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้ถือบัตรและผู้ประกอบธุรกิจบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต โดยพิจารณาความสุจริต ความรู้ ความเข้าใจ แนวทางที่เคยปฏิบัติและทางได้เสียของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริงแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกบังคับหรือไม่ยินยอมในการทำข้อตกลงและเงื่อนไขการถือบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิต ข้อตกลงและเงื่อนไขดังกล่าวมิได้กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กำหนด เงื่อนไขได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรเกินสมควร ประกอบกับโจทก์ยังมีโอกาสทักท้วงโต้แย้งรายการใช้บัตรที่ไม่ถูกต้องตามข้อตกลงดังกล่าว ข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตมิได้เป็นผลให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กำหนดข้อตกลงได้เปรียบโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือบัตรที่เป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม จึงมีผลผูกพันโจทก์จำเลยได้
ร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตไม่ได้ตรวจสอบลายมือชื่อที่ลงบนเซลล์สลิปเปรียบเทียบกับลายมือชื่อด้านหลังบัตร กรณีจึงต้องถือว่าร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยบัตรเดบิตที่พิพาทปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อตกลงการเป็นร้านค้าต่อธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC จำเลยซึ่งถือว่าเป็นตัวการของธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC จึงไม่อาจยกเอาข้อตกลงการใช้บริการบัตรเอทีเอ็ม/บัตรเดบิตขึ้นอ้างเพื่อที่จะไม่คืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากโจทก์ได้ โจทก์ไม่จำต้องไปเรียกร้องเงินคืนจากธนาคารพาณิชย์เจ้าของเครื่อง EDC หรือร้านค้าที่รับชำระค่าสินค้าหรือบริการที่พิพาท จำเลยจึงต้องคืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์ แต่โจทก์เบิกความเพียงว่าโจทก์เก็บรักษาบัตรและรหัสประจำตัวในการเบิกถอนเงินสดแต่เพียงผู้เดียว แต่ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์เก็บรักษาบัตรเดบิตอย่างไร ที่บัตรเดบิตหายไปนั้นถูกลักไปได้อย่างไร ทั้งโจทก์เพิ่งมาทราบเรื่องหลังจากบัตรหายไปแล้วเป็นเวลามากกว่า 10 วัน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวบัตรเดบิตถูกนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการเรื่อยมา ถือว่าโจทก์ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการเก็บรักษาตลอดจนตรวจตราบัตรเดบิตซึ่งเป็นเอกสารสำคัญตามที่พึงกระทำ ถือว่าโจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อ เป็นกรณีที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์เองด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนสามในสี่ของจำนวนเงินที่มีการใช้บัตรเดบิต
เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องเพียงให้จำเลยคืนเงินที่หักไปจากบัญชีเงินฝากของโจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่จำเลยหักเงินครั้งสุดท้าย ซึ่งเงินดังกล่าวมิใช่ค่าเสียหายตามความใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4071/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า
แม้การให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 24 เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาก็ตาม แต่ข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มีการนำสืบกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น คดีนี้ไม่มีการสืบพยานให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกา จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยให้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ชอบแล้ว
หญิงซึ่งรับตั้งครรภ์แทนตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจ้างนั้นไม่อยู่ในเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 มาตรา 21 ที่จะรับตั้งครรภ์แทนได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันพาหญิงดังกล่าวไปตรวจมดลูกที่โรงพยาบาลเพื่อเตรียมความพร้อม และเดินทางไปฝังตัวอ่อน อันเป็นการดำเนินการครบถ้วนในทางการแพทย์ที่จะทำให้หญิงตั้งครรภ์โดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์แล้ว จากนั้นเป็นการเจริญของทารกในครรภ์ในมดลูกของหญิงตามธรรมชาติ ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เพื่อประโยชน์ทางการค้าแล้ว จึงเป็นความผิดสำเร็จตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 มาตรา 24 โดยไม่จำต้องให้หญิงที่รับจ้างตั้งครรภ์แทนตั้งครรภ์ก่อน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดองค์ประกอบความผิดและไม่เป็นการพยายามกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3068/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมเพื่อประกันการชำระหนี้ร่วมกัน และสิทธิในการรับเงินคืนเมื่อศาลพิพากษา
เงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ต้องวางต่อศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มาตรา 7 แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์และมูลความแห่งคดีนี้เป็นการชําระหนี้อันแบ่งแยกมิได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมคนหนึ่งได้นําเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลครบถ้วนแล้ว จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์ในการยื่นอุทธรณ์อีกเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำซ้อนเท่านั้น หาใช่เป็นการที่จำเลยที่ 2 วางเงินแทนจำเลยที่ 1 ไม่ และเงินค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวเป็นเพียงเงินที่วางไว้เพื่อเป็นประกันว่า หากในที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้อุทธรณ์ต้องรับผิดชําระค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความที่ชนะคดีแล้ว ผู้ชนะคดีจะมีสิทธิได้รับค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้ออกใช้ก่อนจากเงินที่ผู้อุทธรณ์วางไว้ หาใช่เป็นการวางเพื่อชําระหนี้แก่คู่ความฝ่ายชนะคดีในศาลชั้นต้นไม่ จึงต้องถือว่าเงินดังกล่าวยังเป็นของผู้อุทธรณ์ เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 ชนะคดี และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกําหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะร้องขอให้คืนเงินที่วางนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2650/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดสรรที่ดิน, ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภค, และการคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
การที่จำเลยที่ 1 ผู้จัดสรรที่ดินโอนที่ดินสาธารณูปโภคพร้อมที่ดินในโครงการจัดสรรให้แก่บรรษัท บ. เป็นการโอนที่ดินจัดสรรทั้งโครงการ ซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคนั้นให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ การโอนที่ดินดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินสาธารณูปโภค จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 18 และผลของการโอนไม่ตกเป็นโมฆะ
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 1 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่บรรษัท บ. และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่บรรษัท บ. ขายที่ดินเปล่าที่เหลือจากที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิซื้อคืนให้แก่โจทก์ ให้นิยามคำว่า "ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร" ทำนองเดียวกันว่าผู้ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินจัดสรร แต่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 4 ให้นิยามเพิ่มเติมว่า ให้หมายความรวมถึงผู้รับโอนสิทธิในที่ดินคนต่อไปด้วย ซึ่งหมายความว่า ผู้ใดที่ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินจัดสรร รวมทั้งผู้รับโอนสิทธิจากผู้ทำสัญญากับผู้จัดสรรที่ดินไม่ว่าในทางใด ย่อมเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรร แม้บรรษัท บ. ไม่ได้ซื้อที่ดินจัดสรรจากจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบรรษัท บ. และโอนที่ดินตีใช้หนี้แก่บรรษัท บ. ถือได้ว่าบรรษัท บ. เป็นผู้ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินจัดสรร และเมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินจัดสรรจากบรรษัท บ. เนื่องจากการควบรวมกิจการตามมติคณะรัฐมนตรี จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับโอนสิทธิในที่ดินคนต่อไปอันเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินจัดสรรแปลงย่อยที่ตนซื้อและเหลืออยู่ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน ฯ มาตรา 49 วรรคสอง
สำหรับค่าตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิเข้าไปตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้อย่างไร และมีเหตุผลความจำเป็นใดที่จะต้องตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าตัดหญ้าในที่ดินของจำเลยที่ 2 ส่วนค่าตัดหญ้าในที่ดินที่เป็นสาธารณูปโภคนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องดูแลที่ดินแปลงสาธารณูปโภคตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินฯ มาตรา 43 วรรคหนึ่ง โจทก์ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินจึงมีหน้าที่ในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าตัดหญ้าในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1879/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาฝากทรัพย์ที่มีความคุ้มครองประกันภัย การโฆษณาชักจูงผู้บริโภค และความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจ
จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารรับฝากเงิน ทำการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ด้วยข้อความว่าเป็นการรับฝากเงินสงเคราะห์ แบบคุ้มครองสินเชื่อแก่ลูกค้าผู้กู้ของธนาคาร โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ฝากเงินสงเคราะห์และเงื่อนไขสำคัญว่า ผู้ฝากเงินสงเคราะห์ต้องมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรลูกค้าผู้กู้และคู่สมรส อายุระหว่าง 20 ปี ถึง 70 ปี ชำระเงินต่อปี โดยมีผลประโยชน์กรณีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรับเพิ่ม 100 เปอร์เซ็นต์ ของเงินทุนสงเคราะห์ ข้อความโฆษณาดังกล่าวจำเลยนำมาจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในกรมธรรม์มอบรัก 1/1 ย่อมทำให้ผู้ตายซึ่งเป็นผู้บริโภคเข้าใจว่า หากผู้ตายเป็นลูกค้าของธนาคารจำเลย นำเงินไปฝากกับจำเลยตามจำนวนและต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำโฆษณาแล้ว ผู้ตายซึ่งเป็นคู่สัญญาฝากทรัพย์จะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของกรมธรรม์มอบรัก 1/1 ที่จำเลยโฆษณาไว้ด้วย จำเลยจึงต้องผูกพันให้ความคุ้มครองแก่ผู้ตายตามที่ตนโฆษณาซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 การที่ผู้ตายขอฝากเงินสงเคราะห์ต่อจำเลยโดยมุ่งหวังรับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์มอบรัก 1/1 จึงเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาฝากทรัพย์โดยมีความคุ้มครองประกันชีวิตให้แก่ผู้ตายอยู่ด้วย เพราะต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ตายซึ่งเป็นผู้บริโภคซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามใบคำขอฝากเงินสงเคราะห์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1615/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แข่งรถในทางสาธารณะ, กฎหมายใหม่ใช้บังคับไม่ได้, ริบรถยนต์, และพักใช้ใบอนุญาต
ภายหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาแล้ว ได้มี พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ประกาศใช้บังคับ โดยมาตรา 134 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ยังคงบัญญัติให้ผู้แข่งรถในทางเป็นความผิดอยู่ และมาตรา 134/1 ที่แก้ไขเพิ่มเติมยังคงบัญญัติให้ผู้จัด หรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถในทางเป็นความผิด กฎหมายใหม่จึงไม่ได้ยกเลิกความผิดตามมาตรา 134 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (เดิม) แต่อัตราโทษตามมาตรา 160 ทวิ วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษปรับขั้นต่ำสูงกว่ากฎหมายเดิม และโทษตามมาตรา 160 ทวิ วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกและปรับสูงกว่ากฎหมายเดิม ดังนั้น โทษตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 17 ส่วนการที่บทบัญญัติมาตรา 160 ทวิ (ที่แก้ไขใหม่) มีส่วนที่เป็นคุณในเรื่องการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ ที่บัญญัติให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ซึ่งเป็นคุณกว่าบทบัญญัติมาตรา 160 ทวิ (เดิม) ที่บัญญัติให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนโดยไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดไว้ แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวของจำเลย จำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น แม้บทบัญญัติมาตรา 160 ทวิ (ที่แก้ไขใหม่) มีส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย แต่ก็ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1552/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงชื่อผู้เรียงฟ้องอุทธรณ์โดยผู้มิใช่ทนายความ ศาลมีอำนาจสั่งแก้ไขได้
การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ให้ผู้ต้องขังชาย ด. เป็นผู้เขียนอุทธรณ์ และผู้ต้องขังชาย ด. ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียง ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ไว้ท้ายฟ้องอุทธรณ์ โดยผู้ต้องขังชาย ด. มิได้เป็นทนายความ ย่อมถือว่าเป็นการกระทำโดยพลั้งเผลอที่ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียงผิดพลาดไป อันจะทำให้ฟ้องอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้อง มีข้อบกพร่องเกิดขึ้น แต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ฟ้องอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากศาลอุทธรณ์ตรวจพบข้อบกพร่องว่ามีบุคคลซึ่งมิได้จดทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นทนายความและไม่เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้น ตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ที่ให้มีอำนาจเรียงฟ้องอุทธรณ์ เป็นผู้เขียนฟ้องอุทธรณ์และลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงในฟ้องอุทธรณ์ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 สั่งให้จำเลยที่ 2 แก้ไขข้อบกพร่องเรื่องดังกล่าวในฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าบริการสาธารณะ, ดอกเบี้ยผิดนัด, ค่าปรับ, การบังคับตามสัญญา, และการปรับอัตราดอกเบี้ยตาม พรบ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง
ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเป็นคนละส่วนกับค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะ ดังที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 นิยามคำว่า "สาธารณูปโภค" กับคำว่า "บริการสาธารณะ" แยกจากกัน การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ข้อ 30 และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากความรับผิดเมื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 44 หากมีการทำข้อตกลงที่เป็นการผลักภาระความรับผิดในค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไปให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก่อนที่จะมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ในส่วนบริการสาธารณะ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 และมาตรา 44 ไม่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะต้องรับผิดชอบเหมือนดังเช่นสาธารณูปโภค ประกอบกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะซึ่งเป็นบริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการจัดสรรที่ดินโดยตรง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบในค่าบริการสาธารณะ ข้อตกลงที่ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดในค่าบริการสาธารณะจึงบังคับกันได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อคดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยชำระค่าบริการส่วนกลางที่ค้างชำระ แม้คำฟ้องบางช่วงบางตอนจะใช้ถ้อยคำว่า โจทก์จัดทำสาธารณูปโภคในพื้นที่ส่วนกลาง ค่าบริการสาธารณูปโภคส่วนกลาง แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและมีพยานมาสืบโดยยกตัวอย่างถึงบริการส่วนกลางที่ดำเนินการ เช่น การจัดให้มีไฟทางส่องสว่างภายในหมู่บ้าน การจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยในการเข้าออกหมู่บ้าน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบริการสาธารณะ
เมื่อจำเลยชำระค่าบริการสาธารณะเรื่อยมา จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2555 พฤติการณ์บ่งชี้ว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริการสาธารณะระหว่างกัน แม้โจทก์ไม่ได้อ้างส่งสัญญาหรือข้อตกลงเป็นพยานหลักฐาน กรณีรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการสาธารณะ ส่วนที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แม้ต่อมามีการตรา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ขึ้นใช้บังคับให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่มาตรา 69 พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ใบอนุญาตหรือการอนุญาตใด ๆ ที่ให้ไว้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตและการอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า การบำรุงรักษาบริการสาธารณะ ให้นำมาตรา 53 มาใช้บังคับแก่การจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ด้วยโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 53 ก็บัญญัติให้นำความมาตรา 50 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้เรียกเก็บค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะได้ตามอัตราที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ แต่อย่างไรก็ตามแม้โจทก์ไม่ได้ยื่นขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ใช่เหตุที่จำเลยจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ ทั้งหากศาลไม่รับบังคับหนี้ค่าบริการสาธารณะย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพความเป็นอยู่และความสงบสุขโดยรวมของผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการที่ดินจัดสรรที่มิได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในอัตราที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกับการกำหนดค่าเสียหายคดีแพ่งทั่วไป
ตามคำฟ้องไม่ปรากฏข้อตกลงกำหนดเวลาชำระค่าบริการสาธารณะที่จำเลยต้องชำระรายเดือนเมื่อใด จะต้องถือว่าจำเลยผิดนัดเมื่อครบกำหนดเวลาตามคำบอกกล่าวทวงถามแล้วไม่ชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 ได้ความว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าบริการสาธารณะภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับคำบอกกล่าว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้รับเมื่อใด จึงไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยผิดนัดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ก่อนฟ้องได้ เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป
ระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ข้อ 4 กำหนดอัตราค่าปรับกรณีที่เจ้าของที่ดินแปลงย่อยในโครงการจัดสรรที่ดินชำระเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดว่าต้องไม่เกินร้อยละสิบของจำนวนเงินค้างชำระ เมื่อนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การชำระค่าบริการสาธารณะล่าช้ากรณียังไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีความหมายเพียงว่าผู้จัดสรรที่ดินและผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอาจตกลงให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรชำระค่าปรับล่าช้าได้ เมื่อไม่ปรากฏข้อตกลงดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วยระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครฉบับดังกล่าวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากค่าบริการสาธารณะที่จำเลยค้างชำระตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา: การแจ้งความล่าช้าและการร้องทุกข์เฉพาะความผิดปลอมเอกสาร ทำให้คดีขาดอายุความ
เช็คตามฟ้องข้อ 2.4, 2.5, 2.7 ถึงข้อ 2.13 โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 ส่วนเช็คตามฟ้องข้อ 2.1, 2.2, 2.3 และข้อ 2.14 โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนร่วมกับเช็คตามฟ้องข้อ 2.6 ให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาปลอมเอกสาร โดยไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีข้อหายักยอก ซึ่งความผิดข้อหาปลอมเอกสารและความผิดข้อหายักยอกมีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน อีกทั้งความผิดข้อหายักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ หากผู้เสียหายไม่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามระเบียบแล้ว พนักงานสอบสวนไม่อาจรับคดีไว้ดำเนินการได้ การที่โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีข้อหาปลอมเอกสาร แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีข้อหายักยอก เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้เกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 เช่นกัน
of 3