คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 681/1

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้ำประกันหนี้ - ความรับผิดของผู้ค้ำประกันบุคคลธรรมดา - ข้อแตกต่างจากผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคล
แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำไว้แก่โจทก์หลังจาก ป.พ.พ. มาตรา 681/1 ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับจะมีข้อความในวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ระบุว่า กรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล ผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในการชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นก็เป็นเพียงข้อตกลงที่ใช้ในกรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล แต่การทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเรื่องบุคคลธรรมดาทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ มิใช่นิติบุคคลทำสัญญาค้ำประกันตามวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ทั้งตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็ไม่มีข้อความที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงยอมรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นแต่อย่างใด ดังนั้นการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวจึงหาตกเป็นโมฆะ โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดต่อโจทก์หากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 160/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันและผู้จำนองหลังแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แม้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 10 ในฐานะผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ภายหลังจากวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ (วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558) จึงไม่จำต้องรับผิดในหนี้ที่ประกันเกินราคาที่ดินจำนองในเวลาบังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 727/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาค้ำประกันว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับ (ใช้บังคับวันที่ 15 กรกฎาคม 2558) ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมจึงยังคงใช้บังคับได้ และไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 681/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 727/1 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) แม้ข้อสัญญาดังกล่าวจะมีผลให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเกินราคาทรัพย์สินที่จำนองเนื่องจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558 ไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 727/1 (ที่แก้ไขใหม่) ไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์จึงชอบที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8429/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะสัญญา: สัญญาผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมขัดต่อกฎหมายค้ำประกันใหม่
ก่อนที่โจทก์กับจำเลยทั้งสามจะทำสัญญากัน ได้มีการตรา พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ขึ้นโดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติใน ป.พ.พ.ว่าด้วยค้ำประกันหลายมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ยกเลิกมาตรา 691 (เดิม) และเพิ่มเติม มาตรา 681/1 ซึ่งบัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งว่า ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ค้ำประกันมีสถานะเป็นลูกหนี้ชั้นที่สองอย่างแท้จริง จึงห้ามเจ้าหนี้ทำสัญญาให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมในหนี้ที่ตนเป็นผู้ค้ำประกัน แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการทำสัญญาอื่นที่ไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน ในการตีความนอกจากตีความจากข้อความที่เขียนไว้ในสัญญาแล้วยังต้องตีความตามเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรและต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปรกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 จำเลยที่ 1 ทำคำเสนอขอเช่าซื้อรถโดยระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงซื้อรถยนต์จากเจ้าของหรือผู้จำหน่าย จึงประสงค์ขออนุมัติสินเชื่อจากโจทก์เพื่อนำไปชำระราคาแก่เจ้าของหรือผู้จำหน่ายโดยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถให้แก่โจทก์ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อจากโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำคำเสนอขอทำหนังสือยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยระบุในคำเสนอว่าเพื่อให้โจทก์พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าตามคำขอเพื่อให้ผู้เช่าได้รับรถคันที่ขอเช่าซื้อไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเช่าซื้อ แสดงให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของการทำสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสามว่า จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวประสงค์จะซื้อรถโดยขอสินเชื่อจากโจทก์ แต่เพื่อให้แน่ใจว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน จึงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญายินยอมผูกพันร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย อันเป็นประโยชน์แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้รับผลประโยชน์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับรถคันที่เช่าซื้อแต่อย่างใดไม่ การเข้าทำสัญญาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีลักษณะเข้าผูกพันรับผิดเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เนื่องจากกฎหมายค้ำประกันใหม่ห้ามมิให้มีข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์จึงอาศัยข้อกฎหมายเกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมมาบังคับใช้กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แทนโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงชื่อในแบบสัญญาที่โจทก์พิมพ์ข้อความไว้ล่วงหน้ามีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นอกจากนี้ยังมีข้อความที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงล่วงหน้ายอมให้มีการผ่อนชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ตกลงยอมรับผิดเต็มจำนวนแม้โจทก์ปลดหนี้หรือลดหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 และยอมรับผิดแม้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเข้าทำสัญญาเช่าซื้อด้วยความสำคัญผิดอย่างใด ๆ ไม่ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะได้รู้ถึงเหตุไร้ความสามารถหรือสำคัญผิดในขณะทำสัญญาหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ล้วนแต่บัญญัติไว้เฉพาะใน ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะค้ำประกัน แต่โจทก์จัดทำสัญญาโดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายดังกล่าวบัญญัติ หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ผู้ค้ำประกันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำเช่นนั้น ประกอบกับตามประเพณีทางการค้าของธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อจัดให้ผู้เช่าซื้อโดยให้มีบุคคลต้องร่วมรับผิดในหนี้ของผู้เช่าซื้อจะจัดให้ทำสัญญาค้ำประกัน สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำขึ้นนั้น คู่สัญญามีเจตนาผูกพันกันอย่างสัญญาค้ำประกัน ข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงขัดต่อกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 681/1 การที่โจทก์หลีกเลี่ยงกฎหมายโดยอาศัยอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าและมีความสันทัดในข้อกฎหมายมากกว่าจัดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมแทนการทำสัญญาค้ำประกันอย่างตรงไปตรงมา ถือว่าโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจไม่ใช้สิทธิแห่งตนด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 จึงไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ จากสัญญาดังกล่าวได้ พฤติการณ์ของโจทก์ไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าคู่กรณีมีเจตนาจะให้สัญญาส่วนที่ไม่เป็นโมฆะแยกออกจากส่วนที่เป็นโมฆะเพราะไม่มีส่วนใดที่สมบูรณ์แยกส่วนออกมาได้ สัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3คดีนี้จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลจะพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จัดพิมพ์สัญญายินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับใช้สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 681/1 ตกเป็นโมฆะ เป็นการวินิจฉัยในประเด็นว่าคำฟ้องของโจทก์ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ถือเป็นประเด็นการวินิจฉัยที่อยู่ในประเด็นตามคำฟ้อง ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาว่าสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะมาวินิจฉัยยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันก่อน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งฯ 2557: ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วม และข้อยกเว้นความรับผิดจากหนังสือบอกกล่าว
สัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาตามสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2558 โจทก์ส่งหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 28 มกราคม 2558 ไปยังจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการบอกกล่าวก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ส่วนหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เป็นการบอกกล่าวเกินกำหนด 60 วัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหลุดพ้นความรับผิดเฉพาะแต่ดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดดังกล่าว แต่หน้าที่ในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน หาใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ ตามมาตรา 686 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5788/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันก่อน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ยังมีผลบังคับใช้ ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดชอบ
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเป็นประกันการชำระหนี้และการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ภายหลังที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับแล้ว และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการบอกกล่าวล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน มิใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์