คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 319

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 130 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4871/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้เด็กนั่งดริ๊งค์บริการลูกค้า รวมถึงให้เด็กมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานบริการ และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก
จําเลยรับและให้ผู้เสียหายทั้งสองทํางานเป็นเด็กนั่งดริ๊งก์บริการลูกค้า ลูกค้าที่ร่วมโต๊ะจะกอด จูบ ลูบ คลําตัวผู้เสียหายทั้งสอง ค่านั่งดริ๊งก์ชั่วโมงละ 120 บาท จําเลยหักไว้ 20 บาท จําเลยบอกให้ผู้เสียหายที่ 1 ออกไปมีเพศสัมพันธ์กับลูกค้า ได้ค่าตัว 1,500 บาท จําเลยหักไว้ 500 บาท และบอกให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกไปกับลูกค้าแต่ผู้เสียหายที่ 2 ปฏิเสธเนื่องจากมีประจำเดือน การกระทำของจำเลยทําให้อํานาจปกครองของ ท. และ ณ. ถูกรบกวน โดย ท. และ ณ. ไม่รู้เห็นยินยอม เป็นการพรากผู้เสียหายทั้งสองไปจากอํานาจปกครองเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเรา, พรากผู้เยาว์, และการล่วงละเมิดอำนาจปกครองเด็ก การใช้ขนมล่อลวงเป็นกลอุบาย
จำเลยเรียกผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุ 14 ปีเศษ ให้เข้าไปเอาขนมในบ้าน จึงเป็นการกระทำโดยใช้ขนมมาล่อผู้เสียหายให้เข้าไปในบ้าน ถือเป็นกลอุบายส่วนหนึ่งเพื่อให้ได้ตัวผู้เสียหายมากระทำชำเรา และเมื่อผู้เสียหายเข้าไปแล้วจำเลยก็ได้ปิดประตู จึงนับได้ว่าเป็นการพาไปโดยแยกอำนาจปกครองจากบิดามารดา และการที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราที่ป่าละเมาะข้างทุ่งนา และพาผู้เสียหายจากบริเวณแท็งก์น้ำเข้าไปกระทำอนาจารในซอกแท็งก์น้ำ ล้วนเป็นการพาผู้เสียหายจากที่เปิดเผยเข้าไปในจุดลับตาผู้คน จึงเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาทั้งสิ้น เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6910/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารหลายกรรมต่างวาระ ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 91
จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำชำเราเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 บิดาและ ศ. มารดาในฐานะผู้ดูแลและผู้มีอำนาจปกครอง จึงเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์มีอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปกระทำชำเรา 5 ครั้ง ต่างวันต่างเวลากัน แม้จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายที่ 1 รายเดียวกัน ลักษณะการกระทำความผิดอย่างเดียวกัน สถานที่เกิดเหตุเดียวกัน และมีเจตนาประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกัน แต่จำเลยกระทำความผิดแต่ละครั้งต่างวันต่างเวลามิได้กระทำต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยแต่ละครั้งจึงแยกต่างหากจากกันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน ตาม ป.อ. มาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20100/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำความผิดพรากผู้เยาว์: ศาลยกฟ้องเมื่อความผิดกรรมเดียวกันได้รับการตัดสินเด็ดขาดแล้ว
แม้ตามฟ้องคดีนี้จะระบุว่าเหตุเกิดระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความจากคำเบิกความของ ม. ผู้เสียหายที่ 1 และ ป. เพื่อนผู้เสียหายที่ 1 ตรงกันว่า ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 ได้ออกจากบ้านไปพักอยู่กับ ป. มาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 จึงเดินทางจากบ้านของ ป. ที่จังหวัดนครราชสีมาไปหาจำเลยที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยจำเลยโอนเงินค่ารถไฟไปให้ 300 บาท แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่ด้วยกัน ดังนั้นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ของจำเลยจึงเกิดขึ้นและเป็นความผิดสำเร็จในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ซึ่งข้อแตกต่างกันเกี่ยวกับเวลากระทำความผิดเช่นนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ตามมาตรา 192 วรรคสามประกอบวรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่าเหตุความผิดฐานพรากผู้เยาว์ในคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ตามที่พิจารณาได้ความ หาใช่เหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยถูกพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมาเป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 538/2550 ของศาลจังหวัดนครราชสีมาอีกคดีหนึ่ง โดยบรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 กรณีจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ซึ่งคดีดังกล่าวจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยฐานพรากผู้เยาว์จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) การที่โจทก์นำเอาการกระทำของจำเลยที่พรากผู้เยาว์ในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19979/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การข่มขืนกระทำชำเราไม่ถึงแก่การพรากเด็กเพื่ออนาจาร ต้องพิจารณาการพาหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล
จำเลยเพียงแต่โทรศัพท์นัดให้โจทก์ร่วมที่ 3 ไปพบบริเวณที่เกิดเหตุ โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ไปพบ แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 บริเวณจุดที่นัดพบทุกครั้ง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปที่อื่นอีก แสดงว่าจำเลยมิได้หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์ร่วมที่ 3 การที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จะต้องเป็นการพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ซึ่งคำว่า "พราก" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า จากไป พา เอาไปจาก แยกออกจากกัน หรือเอาออกจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่เข้าลักษณะพา และแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กอันทำให้ความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6370/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ผู้อื่นพาผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้ถูกใช้ไม่รู้เจตนา ผู้ใช้เป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม
การกระทำที่จำเลยกับพวกใช้ให้ ภ. ขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายที่ 1 มาที่วัดสะแก พาไปที่บ้านเกิดเหตุ แล้วจำเลยกับพวกร่วมประเวณีกับผู้เสียหายที่ 1 นั้น เมื่อตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภ. สมรู้ร่วมคิดกับจำเลยและพวกหรือรู้มาก่อนว่าจำเลยกับพวกใช้ให้พาผู้เสียหายที่ 1 มาเพื่อการอนาจาร พฤติการณ์แห่งคดีฟังไม่ได้ว่า ภ. มีเจตนาพรากผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร หรือมีเจตนาร่วมกับจำเลยและพวกกระทำความผิดดังกล่าว การที่จำเลยกับพวกใช้ให้ ภ. ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านเกิดเหตุเพื่อการอนาจารจึงไม่ใช่เป็นการใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิด เพราะ ภ. ซึ่งเป็นผู้ถูกใช้ไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แต่เป็นการที่จำเลยกับพวกใช้ ภ. เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด ถือได้ว่าจำเลยกับพวกเป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1055/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีพรากผู้เยาว์ต่อเนื่องในหลายท้องที่ และการพิจารณาคดีที่ยังไม่สมบูรณ์
การพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 319 กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล มิใช่ตัวผู้เยาว์ผู้ถูกพราก เพื่อมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครองไม่ว่าโดยตรงหรือปริยาย ทั้งกฎหมายไม่ได้จำกัดคำว่าพรากไปโดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์เป็นฝ่ายออกไปจากบ้านเองหรือมีผู้ชักนำก็ย่อมเป็นความผิด จำเลยเป็นผู้แจ้งแก่ผู้เยาว์ขณะอยู่กับโจทก์ร่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีว่า หาที่พักได้แล้วที่ เอส.ที.แมนชั่น ผู้เยาว์จึงหนีออกจากบ้านของโจทก์ร่วมเดินทางไปหาจำเลยที่กรุงเทพมหานคร ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว จำเลยไม่ต้องเดินทางมาที่จังหวัดอุบลราชธานีด้วยตนเอง ผู้เยาว์เดินทางออกจากจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี เมื่อผู้เยาว์เดินทางมาถึงสถานีรถไฟดอนเมืองซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง จากนั้นจำเลยพาผู้เยาว์ไปที่ เอส.ที.แมนชั่น เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง เมื่อผู้เยาว์เดินทางไปในหลายท้องที่ต่างกันจึงเป็นกรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่และเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1), (3) และวรรคสอง ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีอันเป็นท้องที่ที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนและเมื่อโจทก์ร่วมไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีซึ่งเป็นท้องที่ที่พบการกระทำความผิดอยู่ก่อนจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 140, 141 และ 142 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11059/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญา: การบรรยายฟ้องฐานพรากผู้เยาว์ที่ไม่ครบองค์ประกอบ และขอบเขตการลงโทษตามฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันพา ก. ผู้เยาว์อายุ 16 ปีเศษยังไม่เกิน 18 ปีไปเสียจาก ข. ผู้เป็นบิดาเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงหรือใช้วิธีการข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด สำหรับองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 เป็นการพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี โดยปราศจากเหตุอันสมควร แม้ฟ้องโจทก์จะระบุว่าพา ก. ไปเสียจาก ข. ก็ตาม ก็เป็นเพียงการบรรยายรายละเอียดโดยปราศจากองค์ประกอบของการพรากไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร คำว่า "พาไป" กับคำว่า "พรากไป" มีความหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้คำขอท้ายฟ้องจะอ้างมาตรา 319 มาด้วยก็ตาม กรณีจะแปลรวมไปถึงว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 ด้วยหาได้ไม่ จึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานนี้ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง คงแปลได้เพียงว่าโจทก์ฟ้องและประสงค์ให้ลงโทษตามมาตรา 284 เท่านั้น
พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่า ร่วมกันโดยใช้อุบายหลอกลวงพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร แสดงว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 319 อันเป็นข้อหาหลัก แม้ทางสอบสวนปรากฏว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 ด้วยซึ่งเป็นข้อหาเพิ่มเติม ถือว่าได้สอบสวนในความผิดดังกล่าวโดยชอบและได้ทำการสอบสวนทั้งความผิดตามมาตรา 284 และ 319 ครบถ้วนแล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 284 ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามความผิดมาตรา 284 ตามที่พิจารณาได้ความได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร แม้ผู้เยาว์ยินยอม ศาลลงโทษฐานพรากผู้เยาว์ได้ตามกฎหมาย
จำเลยมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปจาก น. มารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง แต่การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ไม่ว่าผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 318 แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งมีโทษเบากว่า มิใช่เรื่องเป็นข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษ ศาลฎีกาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปจากมารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7841/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุผู้เสียหายสำคัญต่อการพิจารณาความผิดฐานพรากผู้เยาว์และกระทำชู้
ป.พ.พ. มาตรา 16 บัญญัติว่า การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด ผู้เสียหายที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2532 จึงต้องนับอายุแต่วันเกิดคือนับแต่วันที่ 5 มีนาคม 2532 เป็นหนึ่งวันเต็ม ผู้เสียหายที่ 1 จึงมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2547 ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/5 คดีได้ความว่า เหตุเกิดวันที่ 5 มีนาคม 2547 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา ดังนั้นขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 จึงมีอายุเกินกว่า 15 ปีบริบูรณ์แล้ว กรณีจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 และ 317
of 13