คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/34 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 107 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3549/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสัญญาซื้อขายทองคำ: ไม่ใช่อายุความ 2 ปี แต่เป็น 10 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ขายทองคำผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบทองคำที่ทำการขายทุกรายการภายในกำหนดเวลา 3 วันทำการนับแต่วันที่จำเลยส่งคำสั่งขายแต่ละรายการ โจทก์จึงใช้สิทธิตามสัญญาดำเนินการล้างฐานะเพื่อบังคับชำระหนี้โดยหักกลบลบหนี้เพื่อทอนบัญชีระหว่างจำนวนเงินค่าทองคำที่จำเลยสั่งขายกับจำนวนเงินค่าทองคำที่ได้จากการบังคับซื้อกลับ ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง ข้อ 5.1 ระบุว่า หากปรากฏพฤติการณ์ดังต่อไปนี้ไม่ว่าข้อใดข้อหนึ่ง ให้ภาระหนี้สินทั้งหมดของลูกค้าในบัญชีของลูกค้าถึงกำหนดชำระโดยพลัน และให้บริษัทสามารถดำเนินการการล้างฐานะซื้อขายทองคำได้ทันที...(1) เมื่อลูกค้าผิดนัดไม่ชำระค่าซื้อและ/หรือขายทองคำ และ/หรือผิดนัดการวางหลักประกัน และ/หรือผิดนัดชำระหนี้ใด ๆ ตามสัญญานี้ ภายในระยะเวลา และ/หรือเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญานี้ หรือตามข้อกำหนดของบริษัท และ/หรือไม่ชำระเงินจำนวนใด ๆ ภายใต้สัญญานี้ตามจำนวนที่ต้องชำระเมื่อถึงกำหนดชำระ และข้อ 5.3 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่บริษัทล้างฐานะรายการซื้อขายทองคำของลูกค้าแล้ว ทำให้เกิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขาย และ/หรือผลขาดทุน และ/หรือ มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ลูกค้ายินดีรับผิดชอบชำระส่วนต่าง และ/หรือผลขาดทุน และ/หรือค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้กับบริษัททันทีที่ได้รับการทวงถามจากบริษัท พร้อมด้วยค่าเสียหายและดอกเบี้ยและ/หรือเบี้ยปรับ ในอัตราที่บริษัทกำหนดนับจากวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้บริษัทครบถ้วน การที่จำเลยผิดนัดไม่ส่งมอบทองคำให้โจทก์ตามกำหนด โจทก์จึงใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 5.1 (1) เพื่อดำเนินการล้างฐานะซื้อขายทองคำอันทำให้เกิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 5.3 วรรคสอง ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องดังกล่าวจึงเป็นการเรียกเอาค่าเสียหายจากส่วนต่างของราคาทองคำเนื่องจากจำเลยมิได้ส่งมอบทองคำให้แก่โจทก์ภายในกำหนดตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว สิทธิเรียกร้องในลักษณะนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี มิใช่อายุความ 2 ปี ดังที่จำเลยฎีกาฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5999/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีสัญญาซื้อขายของรัฐวิสาหกิจที่ไม่แสวงหากำไร และประเด็นฟ้องซ้ำ
โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตาม พ.ร.บ.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มีการดำเนินการด้านวิจัยสาขาต่าง ๆ ซึ่งมุ่งเน้นในการให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการ การวิจัยมิใช่เป็นการประกอบการค้าซึ่งมุ่งแสวงหากำไรเป็นปกติธุระ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า ทั้งโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา มิใช่ฟ้องเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น หรือเงินที่ได้ออกทดรองไป จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ที่กำหนดอายุความ 2 ปี และกรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5704/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องหนี้ซื้อขายทองคำ: เริ่มนับจากวันครบกำหนดชำระ ไม่ใช่เมื่อขายทองคำเพื่อบรรเทาความเสียหาย
โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าร้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไปจากโจทก์ มีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ประกอบมาตรา 193/34 (1) ซึ่งตามสัญญาซื้อขายทองคำแท่ง ข้อ 5.3 การชำระเงินระบุว่า จำเลยต้องชำระค่าซื้อทองคำแท่งภายใน 5 วันทำการ และในข้อ 7 ระบุว่า หากจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไข จำเลยยอมให้โจทก์มีสิทธิปิดสถานะการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยได้ทันที โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องแจ้งเตือนให้ทราบล่วงหน้า จำเลยต้องรับผิดส่วนต่างของราคาทองคำที่ซื้อขายขาดทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แสดงว่าการซื้อขายทองคำแท่งของจำเลยกับโจทก์มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนโดยจำเลยต้องชำระเงินภายใน 5 วันทำการ หากครบกำหนด 5 วันทำการ จำเลยไม่ชำระเงินโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้นับแต่เวลานั้น ส่วนกรณีที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อไว้ออกขายนำมาหักจากราคาที่จำเลยสั่งซื้อ เป็นเพียงการดำเนินการตามข้อตกลงที่ให้สิทธิโจทก์ทำได้เพื่อบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยเท่านั้น มิใช่สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์เพิ่งเกิดในวันที่โจทก์นำทองคำแท่งที่จำเลยสั่งซื้อออกขาย ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยสั่งซื้อทองคำแท่งจากโจทก์ 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 วันที่ 17 ธันวาคม 2555 และวันที่ 11 เมษายน 2556 ตามลำดับ กำหนดชำระราคาภายใน 5 วันทำการนับแต่วันสั่งซื้อแต่ละครั้ง โดยเฉพาะการสั่งซื้อทองคำแท่งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2556 นั้น ปรากฏว่าวันที่ 12 ถึง 16 เมษายน 2556 เป็นวันหยุดราชการ ต้องเริ่มนับวันทำการวันพุธที่ 17 เมษายน 2556 ถึงวันอังคารที่ 23 เมษายน 2556 ไม่รวมวันที่ 20 และ 21 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นวันเสาร์และวันอาทิตย์หยุดราชการ ดังนั้น วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่ 23 เมษายน 2556 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 จึงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3358/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าจ้างงาน: ข้อยกเว้น 5 ปี สำหรับงานที่ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้
จำเลยที่ 1 อ้างว่า ฟ้องโจทก์ที่เรียกเอาค่าจ้างงวดสุดท้ายและค่าจ้างงานเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ดังนั้น การวินิจฉัยเรื่องอายุความตามฟ้องของโจทก์นั้น ศาลจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ทั้งหมด เมื่อตอนท้ายมาตรา 193/34 (1) ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า เว้นแต่การใช้สิทธิเรียกร้องค่าการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของลูกหนี้ ให้มีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า หนี้ค่าการงานในส่วนนี้ของโจทก์มีอายุความตามหลัก 2 ปี หรือมีอายุความตามข้อยกเว้น 5 ปี แม้โจทก์เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม ก็ไม่เข้าข่ายเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2978/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาก่อสร้าง, การเลิกสัญญา, การคืนเงินมัดจำ, อายุความ, และการกำหนดราคาแบบแปลน
โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง จำเลยรับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าร้อยละ 30 ของราคาค่ารับเหมาก่อสร้าง แต่ไม่ได้กำหนดวันเดือนใดที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกัน หากโจทก์ต้องการเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทำการก่อสร้างภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน กล่าวคือ โจทก์ไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นก่อสร้างตามสัญญา จำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวกำหนดวันให้โจทก์ส่งมอบพื้นที่ให้จำเลย ทั้งสองฝ่ายต่างเพิกเฉยปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 3 ปี แสดงว่าคู่สัญญาไม่นำพาที่จะปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ดังนั้น การที่โจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้ง เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่โจทก์ จำเลยได้จัดทำแบบแปลนการก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และบริเวณทางเดินภายในโรงงานและส่งมอบให้แก่โจทก์แล้ว เป็นการงานอันจำเลยได้กระทำให้โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำสืบว่าค่าแบบแปลนมีราคาเท่าใด จึงกำหนดค่าแบบแปลนให้จำเลย 10,700 บาท
โจทก์เป็นเจ้าของโรงงานผลิตนม มิใช่ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และทางเดินภายในโรงงานผลิตนมของโจทก์ โจทก์จ่ายค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่จำเลย โจทก์ขอบังคับให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืน มิใช่เรื่องที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้รับจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้ออกทดรองจ่ายไปในการทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างจากผู้ว่าจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าให้แก่ผู้รับจ้างคืน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14166/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องมูลนิธิ, อายุความสิทธิเรียกร้อง, การซื้อขายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน
วัตถุประสงค์ของโจทก์ตามสำเนาข้อบังคับอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิซึ่งในหมวดที่ 2 เรื่องวัตถุประสงค์ ข้อ 4 ระบุว่า วัตถุประสงค์ของมูลนิธิคือ 4.1 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของสถาบันหรือหน่วยงานอิสระที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งขึ้น... 4.4 ประกอบกิจการให้คำปรึกษา แนะนำ ฝึกอบรม วิจัยและพัฒนา วิเคราะห์และทดสอบ และประกอบกิจการอื่นที่เกี่ยวกับและต่อเนื่องกับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ... และสถาบันอาหารเป็นสถาบันที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยโดยให้โจทก์เป็นมูลนิธิรองรับการดำเนินงานของสถาบันอาหาร เมื่อสถาบันอาหารได้ดำเนินโครงการพัฒนาปลาเผาะมีเป้าหมายเป็นการเลี้ยงเชิงพาณิชย์และแปรรูปเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยให้ยังคงเจริญเติบโตต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก การที่โจทก์ซึ่งเป็นมูลนิธิที่มีหน้าที่รองรับการดำเนินงานของสถาบันอาหารขายเนื้อปลาเผาะแก่จำเลยจึงเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานของสถาบันอาหารเพื่อสาธารณประโยชน์ มิใช่กระทำเพื่อมุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกันแต่อย่างใด จึงเป็นการกระทำภายในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ แม้วัตถุประสงค์ของโจทก์มิได้ระบุวัตถุประสงค์ในการซื้อขายก็ตาม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
จำเลยฎีกาว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ขัดกับ ป.วิ.พ. มาตรา 84 นั้น จำเลยมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ขัดกับกฎหมายดังกล่าวอย่างไรเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง
การที่โจทก์ขายเนื้อปลาเผาะแก่จำเลยเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานของสถาบันอาหารเพื่อสาธารณประโยชน์ มิใช่กระทำเพื่อมุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกันแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการประกอบ การค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
จำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้ซื้อปลาจากโจทก์ แต่โจทก์นำปลามาให้จำเลยช่วยขาย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น ประเด็นนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยซื้อปลาจากโจทก์ จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 403/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำผิดสัญญาใช้ไฟฟ้า ไม่ใช่หนี้ค่าไฟฟ้าตามปกติ
แม้โจทก์จะเป็นผู้ประกอบการค้า แต่โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 อันเป็นธุรกิจทางการค้าตามปกติของโจทก์ ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาการใช้ไฟฟ้า โดยมีการสลับสายนิวตรอนทางด้านเข้าเครื่องวัดแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้า และสร้างสายดินพิเศษภายในบ้านนำกระแสไฟฟ้าไปใช้กับเครื่องปรับอากาศ มีผลทำให้เครื่องวัดแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง อันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปเพิ่มอีกร่วมกับจำเลยที่ 2 ก็หาใช่เป็นการเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระไม่ แต่เป็นการฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์โดยถือเอาค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดหายไปมาเป็นค่าสินไหมทดแทน จึงไม่อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/34 ที่ต้องฟ้องต่อศาลภายในกำหนดอายุความ 2 ปี แต่ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8032/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าจ้างจากการรับเหมาก่อสร้าง: โจทก์ไม่ใช่ช่างฝีมือ อายุความ 2 ปีนับจากวันชำระหนี้
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ให้รื้อถอนและต่อเติมโครงหลังคาเหล็กโรงสีข้าวของจำเลยที่ 1 โดยจ้างเหมาค่าแรงต่อตารางเมตร โจทก์เป็นฝ่ายจัดหาเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำงาน ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายจัดหาสัมภาระ การทำงานของโจทก์จึงเป็นการรับเหมาก่อสร้างเป็นลักษณะของการรับจ้างทำของชนิดหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 แม้โจทก์ลงมือทำงานด้วยก็หาทำให้โจทก์เป็นช่างฝีมือตามมาตรา 193/34 (1) ไม่ ความรับผิดของผู้ว่าจ้างจึงไม่อยู่ในอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าจ้างจากผู้ว่าจ้างจึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้น ต้องเรียกร้องเอาภายใน 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/34 (7)
โจทก์ส่งมอบงานก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2545 และจำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างครั้งสุดท้ายวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 อายุความจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามมาตรา 193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 เกิน 2 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องซื้อขายสินค้า: การบริการหนังสือพิมพ์กับการสร้างความพึงพอใจลูกค้าในธุรกิจการบิน
โจทก์เป็นผู้ผลิตและขายหนังสือพิมพ์จีน จำเลยประกอบกิจการการบินขนส่งผู้โดยสารด้วยเครื่องบินโดยสาร จำเลยมีจดหมายขอสั่งซื้อหนังสือพิมพ์จีนจากโจทก์เพื่อให้การบริการด้านข่าวสารแก่ผู้โดยสาร โจทก์เริ่มส่งหนังสือพิมพ์แก่จำเลยระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2548 โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ทุกวันสิ้นเดือนเพื่อเรียกเก็บเงินค่าหนังสือพิมพ์ของเดือนนั้น ๆ รวม 550,774.80 บาท ต่อมาจำเลยได้ออกตั๋วโดยสารเครื่องบินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์รวม 37 ฉบับ คงเหลือหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ 446,814.80 บาท
คดีนี้ เอกสารที่เกี่ยวกับข้อตกลงการซื้อขายหนังสือพิมพ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ปรากฏว่าได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้กันไว้อย่างไรนับแต่วันแจ้งหนี้ (วางบิล) แต่จำเลยให้การต่อสู้ว่าอายุความฟ้องคดีนี้เริ่มนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ทั้งพนักงานบัญชีของโจทก์เป็นพยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านก็ยอมรับตามนั้น จึงถือว่าโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไป การประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศด้วยอากาศยานของจำเลย เป็นธุรกิจบริการที่สาระสำคัญอยู่ที่การสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการ คือ ไม่เพียงแต่ต้องตรงเวลา ปลอดภัย และสะดวกเป็นหลักเท่านั้น แต่ต้องสามารถตอบสนองความต้องการด้านอื่น ๆ ของผู้โดยสารให้ได้มากที่สุดด้วยเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อประโยชน์ในการแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ และเพื่อที่จะสามารถดึงดูดลูกค้าให้กลับมาใช้บริการอีกในครั้งต่อไป ซึ่งการให้การบริการแก่ผู้โดยสารในด้านข้อมูลข่าวสารระหว่างทำการบินหรือระหว่างรอรับบริการ เช่นด้วยหนังสือพิมพ์ก็ต้องนับว่าเป็นไปเพื่อการสร้างความพึงพอใจแก่ผู้โดยสารที่กำลังใช้บริการของจำเลยด้วยไม่มากก็น้อย ทั้งตามถ้อยคำในกฎหมายมิได้แสดงนัยไว้ว่ากิจการของฝ่ายลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ทำให้นั้นต้องเป็นกิจการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญด้วย ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19744/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้จากการซื้อขายปูนซีเมนต์: พิจารณาวัตถุประสงค์การใช้สินค้าเพื่อขยายอายุความตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ซื้อ จัดหา รับเช่า เช่าซื้อ ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง ปรับปรุง ใช้ จัดการโดยประการอื่นซึ่งทรัพย์สินใด ๆ ตลอดจนดอกผลของทรัพย์สินนั้นรวมทั้งประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัย ฯลฯ การที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อปูนซีเมนต์จากโจทก์เป็นระยะเวลาติดต่อกันนานและเป็นจำนวนมากประกอบกับมีการชำระค่าสินค้าเป็นราคาตามกำหนด แสดงว่าจำเลยที่ 1 นำสินค้าที่ซื้อมานั้นไปจำหน่ายแก่บุคคลอื่น รวมทั้งรับเหมาก่อสร้างอาคารตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 และที่จำเลยที่ 1 สั่งซื้อปูนซีเมนต์ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2540 นำไปก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ซึ่งอาคารดังกล่าวจำเลยที่ 1 ใช้เป็นสำนักงานในการบริหารงานการค้าขายที่ค้าขายในต่างประเทศ จึงเป็นการกระทำเพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 ฝ่ายลูกหนี้เอง อันเข้าข้อยกเว้นตอนท้ายของมาตรา 193/34 (1) ฉะนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการเรียกค่าสินค้าจากจำเลยที่ 1 จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) หาใช่มีอายุความเพียง 2 ปี
of 11