พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2182/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สมคบกันจำหน่ายยาเสพติด (เมทแอมเฟตามิน) แม้ไม่ได้ร่วมกันตั้งแต่ต้นจนจบ ศาลพิพากษาลงโทษตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง ของกลางกับ ช. จากนั้น ช. โทรศัพท์ติดต่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 2 เมื่อ ช. ได้รับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 2 แล้วนำมาบรรจุใส่กล่องพัสดุไปรษณีย์ ว่าจ้าง ณ. นำไปส่งให้แก่จำเลยที่ 1 ลักษณะการตกลงกันเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการคบคิดร่วมกันระหว่าง ช. กับจำเลยที่ 1 อันเป็นการสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โดยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามมาตรา 127 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.ยาเสพติด แต่จำเลยที่ 1 ไม่ทันรับมอบ ณ. นำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไปให้เจ้าพนักงานตำรวจและ ช. ถูกจับกุมเสียก่อน จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยการพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ซึ่งต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 127 วรรคสอง กับฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 126 แม้จำเลยที่ 1 สมคบกับ ช. เพียงผู้เดียวมิได้สมคบกับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จัดหาลูกค้าและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่ผู้อื่น จำเลยที่ 1 ติดต่อสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีน 2 ถุง ของกลางจาก ช. โดยไม่ปรากฏว่าจะนำไปจำหน่ายต่อแก่ผู้อื่น และไม่มีการแบ่งกำไรกันระหว่าง ช. กับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นหรือร่วมกับ ช. มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีน 3 ถุง ของกลาง ที่ค้นพบภายในห้องพักของ ช. แต่ปริมาณเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 พยายามมีไว้ในครอบครองต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่ง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ยังให้มีผลใช้บังคับแก่คดีนี้ และจำเลยที่ 1 ไม่อาจนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ จึงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อการค้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีและการเพิกถอนการขายทอดตลาด: ศาลมีอำนาจดุลพินิจในการงดการบังคับคดีและพิจารณาความชอบด้วยกฎหมาย
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า คำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีกับคำร้องของดการบังคับคดีที่จำเลยทั้งสี่ยื่นต่อศาลชั้นต้นถือเป็นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ซึ่งชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดี นั้น เมื่อพิจารณา ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคสาม บัญญัติว่า "การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองอาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องบกพร่อง ผิดพลาด หรือฝ่าฝืนกฎหมายนั้นแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำนั้น และในกรณีเช่นว่านี้ผู้ยื่นคำร้องจะขอต่อศาลในขณะเดียวกันนั้น ให้มีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้" บทบัญญัติดังกล่าวในตอนท้ายอันเกี่ยวกับการที่ผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีจะขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ก็ได้ในระหว่างวินิจฉัยชี้ขาดคำร้อง มิได้เป็นบทบังคับศาลให้ต้องมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ในระหว่างพิจารณาคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีแต่ประการใด การพิจารณาว่าในระหว่างนั้นมีเหตุสมควรงดการบังคับคดีหรือไม่ ย่อมเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาสั่งตามดุลพินิจที่เห็นสมควรเป็นรายกรณีไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องของดการบังคับคดีของจำเลยทั้งสี่ว่า "ศาลได้มีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องขอเพิกถอนการบังคับคดีคำร้องนี้จึงตกไปในตัว" จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นยกคำร้องของดการบังคับคดีของจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นตามที่เห็นสมควร และเมื่อศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดไว้ตามคำขอของจำเลยทั้งสี่ ทั้งกรณีไม่ต้องด้วยเหตุใด ๆ ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะงดการบังคับคดีไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (1) ถึง (4) กับมาตรา 290 แล้ว การบังคับคดีและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้กระทำไปเพื่อบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีเหตุต้องเพิกถอนการขายทอดตลาด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 715/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยข้อเท็จจริงเนื่องจากศาลชั้นต้นรับฎีกาที่ไม่ชอบตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง, 279 วรรคสาม และวรรคสี่ ประกอบมาตรา 285 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว ฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนและเป็นผู้สืบสันดาน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คงจำคุกกระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 12 ปี 24 เดือน ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก 2 ปี ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน โดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นใดซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศของเด็กนั้น โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุกกระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 38 กระทง เป็นจำคุก 152 ปี 304 เดือน รวมจำคุกทุกกระทง 166 ปี 328 เดือน แม้รวมโทษทุกกระทงแล้วลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) ก็ตาม แต่เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกข้อหา เพราะจำเลยสำคัญผิดหรือหลงผิดในสิ่งที่ตนมิได้กระทำ จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายเพียง 5 ครั้ง แต่มิได้กระทำชำเราผู้เสียหาย และพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดอื่นนอกจากความผิดฐานอนาจารดังกล่าว การวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจำต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากพฤติการณ์แห่งคดีและจากพยานหลักฐานที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจรับฟังมาเป็นข้อชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดโทษใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) จาก พ.ร.บ.ยาเสพติดใหม่ ที่รวมความผิด 'ครอบครองเพื่อจำหน่าย' และ 'จำหน่าย' เป็นกรรมเดียว
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณสารบริสุทธิ์ 0.410 กรัม และจำหน่ายไปมีปริมาณสารบริสุทธิ์ 0.027 กรัม ซึ่งแม้จะเป็นการขายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์อื่นอันแสดงให้เห็นว่าจำเลยประกอบกิจการด้วยการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นการปกติทั่วไป อันจะถือเป็นการกระทำเพื่อการค้า การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดที่กำหนดโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ไม่หนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กรณีไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) สำหรับการปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นหลายกรรมนั้น เนื่องจากได้มี พ.ร.บ.ให้ใช้ ป.ยาเสพติด พ.ศ. 2564 ออกใช้บังคับ โดยในมาตรา 4 ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ และให้ใช้ ป.ยาเสพติดท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าวแทน ซึ่งตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 1 ได้นิยามคำว่า "จำหน่าย" ให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย ดังนั้น การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ตาม จึงเป็นความผิดอย่างเดียวกันคือจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงกรรมเดียวบทเดียว ดังนั้น การปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นหลายกรรม จึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ซึ่งให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง เพียงกรรมเดียว จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษให้จำเลยใหม่ ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3460/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบทรัพย์สิน (รถยนต์) ที่ใช้ในการกระทำความผิดทางศุลกากรและการขนส่งสินค้าหลีกเลี่ยงภาษี
เมื่อฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำความผิดของจำเลย ฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งบุหรี่ของกลาง อันเป็นสินค้าที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร และบรรยายฟ้องตอนท้ายว่าจำเลยใช้รถยนต์เก๋งของกลางดังกล่าวเป็นยานพาหนะในการย้าย ซ่อนเร้น และขนบุหรี่ของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีและมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรจากพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำไปยังจังหวัดระนอง เห็นได้ว่าฟ้องของโจทก์บรรยายเป็นที่เข้าใจแล้วว่าจำเลยใช้รถยนต์เก๋งของกลางเป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงฟังได้ว่ารถยนต์เก๋งของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดเป็นทรัพย์ที่ให้ริบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 วรรคหนึ่ง เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 ต้องการให้ศาลมีอำนาจริบทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการย้าย ซ่อนเร้น หรือขนของที่มิได้เสียอากร การที่จำเลยใช้รถยนต์เก๋งของกลางเป็นยานพาหนะในการย้าย ซ่อนเร้น และขนบุหรี่ของกลาง 610 ซอง จากพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อมุ่งหน้าไปยังจังหวัดระนอง อันเป็นระยะทางข้ามจังหวัด หากไม่มีรถยนต์เก๋งของกลางมาบรรทุกบุหรี่ของกลางจำนวนมากถึง 610 ซอง ย่อมไม่สามารถขนย้ายบุหรี่ของกลางจำนวนมากดังกล่าวได้สำเร็จ ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการใช้รถยนต์เก๋งของกลางดังกล่าวเป็นยานพาหนะในการย้าย ซ่อนเร้น และขนบุหรี่ของกลางที่ยังไม่ได้เสียภาษีและไม่ผ่านพิธีการศุลกากรตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการ การพิสูจน์ข้อเท็จจริงและองค์ประกอบความผิด
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่ง สำนักงานสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจดทะเบียนรูปพรรณพ่อม้า แม่ม้า และลูกม้าที่นำเข้าหรือเกิดในประเทศไทย รวมทั้งจัดทำเอกสารบรรยายรูปพรรณและบันทึกข้อมูลจำเพาะสำหรับใช้ในการตรวจรูปพรรณม้า เมื่อหนังสือตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และเอกสารการจดบันทึกทะเบียนลูกม้าลงในสมุดทะเบียนประวัติสายพันธุ์ม้าแข่งแห่งประเทศไทย ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำขึ้น แม้ข้อความในเอกสารบางส่วนอาจเป็นข้อความเท็จหรือไม่ก็ตาม แต่ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานปลอมเอกสารดังกล่าวไม่ เพราะจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำเอกสารดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3068/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมเพื่อประกันการชำระหนี้ร่วมกัน และสิทธิในการรับเงินคืนเมื่อศาลพิพากษา
เงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ต้องวางต่อศาลพร้อมอุทธรณ์นั้นเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ มาตรา 7 แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์และมูลความแห่งคดีนี้เป็นการชําระหนี้อันแบ่งแยกมิได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมคนหนึ่งได้นําเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาลครบถ้วนแล้ว จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่โจทก์ในการยื่นอุทธรณ์อีกเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำซ้อนเท่านั้น หาใช่เป็นการที่จำเลยที่ 2 วางเงินแทนจำเลยที่ 1 ไม่ และเงินค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าวเป็นเพียงเงินที่วางไว้เพื่อเป็นประกันว่า หากในที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้อุทธรณ์ต้องรับผิดชําระค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความที่ชนะคดีแล้ว ผู้ชนะคดีจะมีสิทธิได้รับค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้ออกใช้ก่อนจากเงินที่ผู้อุทธรณ์วางไว้ หาใช่เป็นการวางเพื่อชําระหนี้แก่คู่ความฝ่ายชนะคดีในศาลชั้นต้นไม่ จึงต้องถือว่าเงินดังกล่าวยังเป็นของผู้อุทธรณ์ เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 ชนะคดี และให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกําหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยที่ 2 ก็ชอบที่จะร้องขอให้คืนเงินที่วางนั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2993/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลือกตั้งกรรมการบริษัทที่ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ และความรับผิดชอบของผู้บริหาร
ในวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 วันที่ 2 พฤษภาคม 2560 ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้วิธีการลงคะแนนตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แทนวิธีการตามที่กำหนดในข้อบังคับบริษัทข้อที่ 20 แต่ก็มีผู้ถือหุ้นบางส่วนรวมทั้งโจทก์ยังคงคัดค้านการใช้วิธีการลงคะแนนตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ซึ่งไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ ทั้งเมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับของบริษัทในกรณีดังกล่าว จำเลยที่ 1 จะอ้างเอาเหตุที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้วิธีการลงคะแนนตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้วดำเนินการลงมติเลือกตั้งกรรมการด้วยวิธีการดังกล่าวหาได้ไม่ ประกอบกับการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกคำสั่งกล่าวโทษจำเลยที่ 1 เหตุที่ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับบริษัทข้อที่ 20 ทำให้กลุ่มของจำเลยที่ 1 ได้รับเลือกเป็นกรรมการ อีกทั้งยังปรากฏว่าศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมเกี่ยวกับวาระเลือกตั้งกรรมการบริษัทในวันดังกล่าว จึงบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/7 ทำให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการฝ่าฝืนดังกล่าว อันเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคหนึ่ง แต่กรณียังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดโทษใหม่ตามกฎหมายยาเสพติดที่แก้ไข และการเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบ
คำว่า "กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด หรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด" ตาม ป.อ. มาตรา 3 นั้น หมายถึงกฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดหรือบัญญัติถึงโทษ หรือโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งในคดีนี้ได้แก่บทความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนกับฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และบทกฎหมายให้เพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิด หากมีการแก้ไขบทกฎหมายดังกล่าวในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด และมีผลให้จำเลยได้รับโทษน้อยลง ศาลก็มีอำนาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยได้ภายในเงื่อนไขของมาตรา 3 (1) ในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน กับฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุก 8 เดือน กับจำคุก 10 ปี และปรับ 700,000 บาท ตามลำดับ เมื่อโทษที่กำหนดในภายหลังสำหรับความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบ ป.ยาเสพติด มาตรา 162 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน หรือปรับไม่เกิน 26,666.66 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท ดังนั้น โทษที่กำหนดตามคำพิพากษาจึงไม่หนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ความผิดทั้งสองฐานจึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยใหม่ได้
สำหรับประเด็นเรื่องการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 4 ส่วน ป. ยาเสพติด ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ก็ไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษได้ แม้กฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะมิได้บัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษไว้ แต่ก็มิได้หมายความว่าศาลไม่อาจเพิ่มโทษตามบทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปตาม ป.อ. เมื่อจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอีกโดยไม่เข็ดหลาบ และโจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมายเดิมไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์จะขอเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวในฟ้องแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้ และถือว่าการเพิ่มโทษเป็นส่วนหนึ่งของโทษตามคำพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษให้แก่จำเลยใหม่จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาใช่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาอันถึงที่สุดอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 190 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ไม่
สำหรับประเด็นเรื่องการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 4 ส่วน ป. ยาเสพติด ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ก็ไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษได้ แม้กฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะมิได้บัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษไว้ แต่ก็มิได้หมายความว่าศาลไม่อาจเพิ่มโทษตามบทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปตาม ป.อ. เมื่อจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอีกโดยไม่เข็ดหลาบ และโจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมายเดิมไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์จะขอเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวในฟ้องแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้ และถือว่าการเพิ่มโทษเป็นส่วนหนึ่งของโทษตามคำพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษให้แก่จำเลยใหม่จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาใช่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาอันถึงที่สุดอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 190 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2609/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกำหนดโทษใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3(1) กรณีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และการเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบ
การปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย และฐานพยายามจําหน่ายเป็นหลายกรรม และการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 นั้น เนื่องจากมี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ออกบังคับใช้ในภายหลังได้ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และรวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ ซึ่ง ป.ยาเสพติด มาตรา 1 บทนิยามคําว่า "จําหน่าย" มีความหมายรวมถึงการมีไว้เพื่อจําหน่ายด้วย ดังนั้น ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองเพื่อจําหน่ายและฐานพยายามจําหน่ายจึงเป็นความผิดอย่างเดียวกัน การที่ศาลปรับบทความผิดทั้งสองฐานเป็นหลายกรรม จึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังซึ่งลงโทษจําเลยฐานจําหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้าตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (1) เพียงกรรมเดียว กรณีจึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) สำหรับบทบัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ได้ยกเลิกไปแล้ว ส่วน ป.ยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษได้เช่นเดิมอีก ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจเพิ่มโทษทั้งตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดได้ กรณีจึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษให้จําเลยใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) เช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อตาม ป.อ. มาตรา 17 บัญญัติว่า บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญาให้นําไปใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น แม้กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันเป็นกฎหมายอื่นที่มิใช่กฎหมายในประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้บัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษเพราะการกระทำผิดซ้ำไว้ เมื่อจําเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีกเพราะไม่เข็ดหลาบ และโจทก์มีคําขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ขอเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบ ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจําเลยได้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้