คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ม. 46

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 34 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีฝ่าฝืนระเบียบ และการจ่ายค่าชดเชย/บำเหน็จ
โจทก์ใช้ให้ ส.ตอกบัตรลงเวลาทำงานแทนให้แก่โจทก์ ซึ่งฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่โจทก์ก็ได้เข้าทำงานก่อนเวลาทำงานปกติ ดังนั้นโจทก์มิได้มาทำงานสายในวันเกิดเหตุ จึงไม่ทำให้จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างและอาจต้องจ่ายรางวัลในการทำงานของโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบของจำเลยเท่านั้น การกระทำผิดของโจทก์ดังกล่าวมิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 47 (3) ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานจำเลยจึงต้องจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46
โจทก์จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 583

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6232-6234/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้าง และการจ่ายค่าชดเชยโดยพิจารณาจากพฤติการณ์ที่แท้จริง
การจะพิจารณาว่าโจทก์เป็นลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอนหรือไม่ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่โจทก์ กับจำเลยปฏิบัติต่อกันประกอบด้วย มิใช่พิจารณาเฉพาะข้อความในเอกสารสัญญาจ้างเท่านั้น แม้สัญญาจ้างจะมีกำหนดระยะเวลาไว้ แต่โจทก์จำเลยปฏิบัติต่อกันโดยโจทก์บางคนทำงานกับจำเลยเป็นเวลานาน มีการทำสัญญาจ้างหลายครั้งหลายหน มีการทำย้อนหลัง โจทก์จำเลยมิได้ถือตามสัญญาจ้างอย่างจริงจัง จำเลยมีเจตนาจ้างโจทก์ไว้เป็นประจำแสดงว่าโจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
การเล่นการพนันแม้จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่ในสภาพที่โจทก์ต้องประจำอยู่ในเรือเดินทะเลตลอดเวลา การเล่นการพนันระหว่างเพื่อนพนักงานด้วยกันเป็นบางครั้งบางคราวโดยจำเลยมิได้เสียงานทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นการพนันประเภทใด ได้เสียกันมากน้อยเท่าใดและมิได้เล่นเป็นอาจิณ ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างเป็นกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3)
จำเลยจ่ายค่าอาหารให้พนักงานเฉพาะที่อยู่บนเรือทุกคนโดยกำหนดจำนวนไว้แต่ละคน แต่มิได้จ่ายเหมาเป็นเงินให้โดยตรง พนักงานจะได้รับเงินส่วนแบ่งเฉพาะกรณีที่ใช้เป็นค่าอาหารไม่หมดเท่านั้น โดยนำส่วนที่เหลือมาเฉลี่ยกันทุกคน แม้พนักงานคนใดจะไม่ได้รับประทานอาหารก็จะมิได้รับค่าอาหารเต็มจำนวนที่กำหนดไว้ให้แต่ละคน คงได้รับเฉพาะส่วนเฉลี่ยสำหรับเงินที่เหลือจากค่าอาหารเช่นเดียวกับพนักงานอื่นที่รับประทานอาหาร แต่หากจ่ายเป็นค่าอาหารหมดก็ไม่ได้รับเงินนั้น เงินค่าอาหารดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติ แต่เป็นสวัสดิการเฉพาะกรณีที่พนักงานอยู่บนเรือเท่านั้น ค่าอาหารจึงมิใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6024/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าจ้างเดิมเป็นเกณฑ์คำนวณค่าชดเชย-สินจ้างแทนการบอกกล่าว กรณีจำเลยลดค่าจ้าง และศาลแรงงานกำหนดค่าเสียหายเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ43,000 บาท แต่ต่อมาโจทก์ได้รับค่าจ้างไม่ครบจำนวนดังกล่าวเพราะการกระทำของจำเลยที่ผิดสัญญาจ้าง การคำนวณค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องนำค่าจ้างเดือนละ 43,000 บาท มาเป็น เกณฑ์ในการคำนวณ และเมื่อจำเลยจ่ายเงินเดือนให้โจทก์ไม่ครบ43,000 บาท จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์
ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นค่าเสียหาย ที่ ศาลแรงงานกลางกำหนดให้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งบัญญัติให้นายจ้างชดใช้แทนโดยคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้างความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประกอบการพิจารณา เมื่อคดี มี ข้อเท็จจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวอย่างครบถ้วนศาลแรงงานกลางย่อมนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้แม้โจทก์ไม่ได้นำสืบถึงค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1827/2533 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยเลิกจ้าง: สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา ต้องพิจารณาลักษณะงาน หากไม่ใช่ลักษณะเป็นครั้งคราว จร หรือตามฤดูกาล นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2532 กรณีที่ นายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกจากสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างและลูกจ้างจะเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว ต้องเป็นการจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการด้วย จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์โดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนก่อนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 มีผลใช้บังคับแต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลงในขณะที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ผลการเลิกจ้างจึงต้องบังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11)ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 เมื่อจำเลยไม่ได้จ้าง โจทก์เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นการครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1979/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งให้ทบทวนการกระทำของลูกจ้าง ไม่ถือเป็นคำสั่งเลิกจ้าง แม้มีข้อความตำหนิ
คำสั่งของจำเลยที่ 2 มีข้อความกล่าวถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และให้โจทก์ทบทวนการกระทำของโจทก์และวินิจฉัยว่าโจทก์กระทำผิดถูกอย่างไร แล้วรายงานให้จำเลยที่ 2 ทราบภายในกำหนด มิฉะนั้นจะรายงานผู้บังคับบัญชาชั้นสูงต่อไปไม่มีข้อความที่สั่งให้โจทก์ออกจากงาน ปลดโจทก์ออกจากงานหรือไล่โจทก์ออกจากงานอันเป็นการเลิกจ้างโจทก์ แม้ในคำสั่งจะมีข้อความตำหนิการกระทำของโจทก์จะถือว่าเมื่ออ่านประกอบข้อความที่ให้โจทก์วินิจฉัยตนเองแล้วเป็นการไล่โจทก์ออกจากงานโดยใช้ถ้อยคำสุภาพไม่ได้ คำสั่งดังกล่าวจึงไม่เป็นคำสั่งเลิกจ้างโจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3423/2529 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนการจ้างไม่ใช่การเลิกจ้าง แม้การประปานครหลวงจะไม่นับอายุงานต่อเนื่อง
การโอนการประปาบางบัวทองซึ่งเป็นกิจการของจำเลยให้กับการประปานครหลวงเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี การโอนดังกล่าวมีข้อตกลงระหว่างจำเลยกับการประปานครหลวงว่าพนักงานที่โอนไปจะได้รับสิทธิต่าง ๆ ที่มีอยู่เช่นเดิม และให้มีอายุการปฏิบัติงานติดต่อกัน การที่โจทก์แสดงความจำนงขอโอนไปปฏิบัติงานกับการประปานครหลวง และจำเลยได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานเพื่อโอนไปปฏิบัติงานกับการประปานครหลวงนั้น พฤติการณ์เป็นเรื่องโอนการจ้างโดยเปลี่ยนตัวนายจ้างจากการประปาส่วนภูมิภาคเป็นการประปานครหลวง ถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 แม้ต่อมาภายหลังการประปานครหลวงจะไม่นับอายุการปฏิบัติงานต่อเนื่องให้โจทก์ก็ไม่อาจทำให้การโอนการจ้างดังกล่าวกลับมีผลเป็นการเลิกจ้างไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4291-4295/2528 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่สมเหตุสมผล แม้มีบันทึกข้อตกลงและภาวะขาดทุน ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
การเลิกจ้างจะเป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างเป็นประการสำคัญ แม้การเลิกจ้างนั้นจะเป็นเหตุให้ผู้ถูกเลิกจ้างเดือดร้อน แต่ก็เป็นความจำเป็นทางด้านนายจ้างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อให้กิจการของนายจ้างดำรงอยู่ต่อไป ย่อมเป็นสาเหตุที่จำเป็นแก่การเลิกจ้างแล้วแม้นายจ้างมิได้ยุบหน่วยงานที่ผู้ถูกเลิกจ้างทำงานอยู่ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยที่ 1 ประสบภาวะขาดทุน ไม่สามารถดำเนินกิจการไปได้โดยราบรื่น จำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายด้วยการเลิกจ้างพนักงาน เมื่อเลิกจ้างก็ได้จ่ายเงินบำเหน็จ ค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและไม่เป็นการฝ่าฝืนบันทึกผลการเจรจาข้อเรียกร้องซึ่งห้ามจำเลยที่ 1 เลิกจ้างพนักงานและลูกจ้างไม่ว่ากรณีใด ๆ มิฉะนั้นแล้วแม้จำเลยที่ 1 ประสบภาวะขาดทุนมีหนี้สินมากจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ กิจการหยุดชะงักงันโดยสิ้นเชิงจำเลยที่ 1 ก็ยังจะต้องรับภาระจ้างพนักงาน และลูกจ้างในจำนวนเดิมและไม่สามารถแก้ไขวิกฤติการณ์ จึงย่อมเป็นไปไม่ได้
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้อง ศาลแรงงานกลางสั่งว่า 'สำเนาให้จำเลยสั่งวันฟ้อง' แต่หลังจากนั้นจนถึงวันที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาศาลแรงงานกลางก็มิได้สั่งคำร้องขอแก้ไขฟ้องดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าศาลแรงงานกลางอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องตามคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4114/2528 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกหนี้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์: เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่จ่ายค่าชดเชย
เมื่อจำเลยที่ 1 (ลูกหนี้) ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้วย่อมหมดอำนาจ ที่จะดำเนินกิจการงานของตนต่อไป แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจัดการหรือกระทำการ ที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปแทน จำเลยที่ 1 และไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติว่าลูกจ้างของลูกหนี้ หมดสิทธิที่จะทำงานให้ลูกหนี้ต่อไปดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 บอกเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46
เงินค่าชดเชยซึ่งกฎหมายแรงงานบังคับให้จำเลยที่ 1 ต้องจ่าย ให้แก่โจทก์นั้นเกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ย่อมเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระได้ตามมาตรา 94 แห่ง พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้จัดการกิจการทรัพย์สินแทน จำเลยที่ 1 แล้วเกิดมีเงินที่กฎหมายบังคับให้จ่ายเกิดขึ้น จำเลยที่ 2 ก็มีหน้าที่ต้องเอาเงินของจำเลยที่ 1 จ่ายแทนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้จ่ายเงินค่าชดเชยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3999/2528 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะตัวการตัวแทน vs. ลูกจ้างนายจ้าง: สัญญาประกันชีวิตและการจ่ายค่าชดเชย
กรณีที่คู่สัญญาตกลงทำสัญญาเป็นหนังสือ เจตนาของคู่สัญญาซึ่งประสงค์จะให้สัญญามีผลผูกพันกันอย่างไร ย่อมแสดงออกโดยข้อความในสัญญาโจทก์ทำสัญญาเป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยมีหน้าที่ชักชวนบุคคลเข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยหรือที่เรียกว่าขายประกันชีวิต ข้อความในสัญญาระบุว่าตัวแทนประกันชีวิตไม่มีอำนาจออกกรมธรรม์ หรือสัญญาประกันชีวิตแทนบริษัท และความผูกพันระหว่างบริษัทกับตัวแทนประกันชีวิตเป็นไปในฐานะตัวการกับตัวแทนรับมอบอำนาจเฉพาะการเท่านั้น ไม่ใช่ในฐานะบริษัทกับพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัท ดังนี้เห็นได้ว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะผูกพันต่อกันในฐานะเป็นตัวการกับตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 15 หาได้มีความประสงค์จะผูกพันกันอย่างลูกจ้างกับนายจ้างไม่ นอกจากนี้ฐานะและสิทธิของโจทก์ก็ยังแตกต่างจากลูกจ้างของจำเลย โดยโจทก์มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจาก การขายประกันชีวิตตอบแทนเป็นรายๆไปและมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามระเบียบสำหรับตัวแทนประกันชีวิตโดยเฉพาะโจทก์ไม่มีสิทธิ ได้รับผลประโยชน์ เช่นโบนัสค่าครองชีพ หรือ เบี้ยเลี้ยงเช่นลูกจ้างทั่วไป ของจำเลยแม้จำเลยจะจัดให้โจทก์สังกัดหน่วยงานของจำเลย และโจทก์ต้องลงเวลาทำงานเมื่อขาดงานต้องลาหรือขออนุญาตผู้บังคับบัญชา ก็เป็นเรื่องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาเพื่อให้ กิจการของจำเลยมีประสิทธิภาพและรัดกุมซึ่งโจทก์จำเลย ทำความตกลงกันได้มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องทำงานตามคำสั่ง หรือการบังคับบัญชาของจำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่ากรณีที่โจทก์ฝ่าฝืน ต่อระเบียบดังกล่าวจำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์เป็นประการอื่นนอกจาก เลิกสัญญา ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะผลงานของโจทก์ต่ำกว่าข้อกำหนดโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าชดเชย ค่าจ้าง และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3886/2528 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุเลิกจ้าง: การกระทำผิดระเบียบงาน แม้มิเจตนาทุจริต ก็เป็นเหตุเลิกจ้างได้
จำเลยให้การว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กับพวกร่วมกันทุจริตลักรถยนต์ของจำเลย โดยมอบกุญแจรถยนต์และชุดโอนทะเบียนให้ บุคคลอื่นไปโดยมิได้ทำหนังสือรับรถยนต์ไว้ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้วยังให้การต่อไปด้วยว่า โจทก์กระทำการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับคำสั่งและระเบียบการทำงานของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับข้อเท็จจริงในตอนต้นว่า โจทก์มิได้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งในการจำหน่ายและส่งมอบรถยนต์ให้แก่บุคคลอื่นนั่นเอง ซึ่งตามข้อเท็จจริงนั้นจำเลยเลิกจ้างโจทก์ก็เพราะ โจทก์กระทำการดังกล่าวแต่ประการเดียว หามีเหตุการณ์อื่นที่จำเลยอาศัยเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างไม่ การที่จำเลยใช้ถ้อยคำในคำสั่งเลิกจ้างว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่และทำให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้น ก็เกิดจากการกระทำของโจทก์ดังกล่าว การกระทำที่เป็นการบกพร่องนั้นอาจเกิดจากการกระทำโดยเจตนาที่จะฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่ง ของจำเลยหรือไม่ก็ได้ และย่อมหมายถึงไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เต็มตามหน้าที่ที่ตนพึงต้องปฏิบัติโดยมีเจตนาทุจริตหรือไม่ก็ได้เช่นเดียวกัน สาเหตุแห่งการเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นสาเหตุอันเดียวกันกับที่จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีแล้วนั่นเอง
of 4