คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุรทิน สาเรือง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 108 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาฐานใช้เอกสารปลอม ต้องเสียหายโดยตรงจากการกระทำนั้น
ขณะจำเลยใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซื้อขายที่ดิน โจทก์ยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว ความเสียหายโดยตรงที่เกิดขึ้นเมื่อมีการใช้เอกสารปลอมจึงมีเฉพาะเจ้าของที่ดินซึ่งอาจต้องสูญเสียที่ดินไป อ. ผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่อปลอม และ ป. ซึ่งควรได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างถูกต้องเท่านั้น หามีความเสียหายใดเกิดขึ้นแก่โจทก์ในขณะเวลาที่มีการใช้เอกสารปลอมไม่ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ที่จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานใช้เอกสารปลอมต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2)
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 854/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพมีผลผูกพัน การโต้แย้งขัดแย้งกับคำรับสารภาพ และกระบวนการพิจารณาคดีส่วนแพ่งไม่ชอบ
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำรับสารภาพของจำเลยว่ามีเจตนากระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมา จำเลยจะโต้เถียงว่ามิได้กระทำความผิดหาได้ไม่ เพราะขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลย ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลล่างทั้งสองยังมิได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงและมิได้วินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) (5) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งการที่ศาลชั้นต้นยังมิได้สอบคำให้การส่วนแพ่งของจำเลย และโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานอันจะเป็นฐานในการกำหนดค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 26/4 กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนแพ่งไปโดยมิชอบ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองดำเนินการในส่วนนี้ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6762/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดอาญาจากอาวุธปืนและการสนับสนุนการฆ่าผู้อื่น โดยศาลแก้ไขโทษจากตัวการเป็นผู้สนับสนุน
ก่อนวันเกิดเหตุตามฟ้องที่ น. และ ส. ร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนติดตัวไปยิงผู้ตายนั้น จำเลยที่ 1 ได้รับมอบการครอบครองอาวุธปืนจาก ว. แล้วพาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้รับมอบการครอบครองอาวุธปืนจากจำเลยที่ 1 แล้วนำติดตัวไปส่งมอบให้แก่ น. เพื่อให้ น. และ ส. ร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามฟ้องแล้ว แม้วันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมกับ น. ส. และ ว. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย แต่การครอบครองและพาอาวุธปืนของกลางของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกับการที่ น. และ ส. ร่วมกันมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองและร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ซึ่งเป็นกรณีที่ทางพิจารณาได้ความว่า วันเวลาและสถานที่กระทำความผิดแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องเท่านั้น ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดไม่ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ประกอบกับจำเลยให้การรับสารภาพ จึงไม่ใช่เรื่องที่จำเลยหลงต่อสู้ และไม่ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องที่เกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6724/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังตาม ป.อ. มาตรา 23 ต้องกำหนดโทษให้เท่ากัน
ป.อ. มาตรา 23 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ศาลจะพิพากษาให้ลงโทษกักขังไม่เกินสามเดือนแทนโทษจำคุกนั้นก็ได้" เห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจศาลในการที่จะใช้ดุลพินิจลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกก็ได้ หากเข้าเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าว แต่โทษกักขังดังกล่าว เป็นการใช้โทษกักขังแทนโทษจำคุกในคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน และที่กฎหมายบัญญัติให้กักขังไม่เกินสามเดือนแทนโทษจำคุกนั้น เพื่อให้การกำหนดโทษกักขังเป็นเช่นเดียวกับโทษจำคุกดังกล่าว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุก 1 เดือน เป็นโทษกักขังแทน มีกำหนด 2 เดือน ซึ่งไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6252/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการในคดีประกันภัย: เหตุเพิกถอนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (2) คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน..." สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยภาคสมัครใจมีลักษณะเป็นสัญญาประกันภัยค้ำจุน ผู้คัดค้านจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดในวินาศภัยนั้น อนุญาโตตุลาการจึงมีสิทธิวินิจฉัยความรับผิดของผู้เอาประกันภัยต่อผู้ร้องได้ ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ผู้คัดค้านต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ตามชนิด ประเภท และขนาดของรถ พ.ศ.2554 ข้อ 3 (3) ที่ออกตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ให้แก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ในกรณีมีทายาทโดยธรรมหลายคน ก็ต้องแบ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทโดยธรรมครบทุกคน ดังนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายแล้ว และยกคำร้องของผู้ร้อง จึงไม่ใช่คำพิพากษาที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นก็ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) (2) ที่ผู้ร้องจะอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5517/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ไม้หวงห้ามในที่ดินมีกรรมสิทธิ์: ผลกระทบจาก พ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับใหม่ และสิทธิครอบครองที่ดิน
ขณะเกิดเหตุและขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย กำหนดให้ไม้หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาที่ขึ้นอยู่ในป่าเป็นไม้หวงห้าม ซึ่ง พ.ร.ฎ.กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 กำหนดให้ไม้ประดู่และไม้แดงเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา อันดับที่ 58 และ 87 การทำไม้หวงห้ามดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีไม้หวงห้ามดังกล่าวอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2) (เดิม), 73 วรรคสอง (2) (เดิม) ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับวันที่ 17 เมษายน 2562 ให้ยกเลิกมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และกำหนดให้ "ไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม" โดย พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้การทำไม้และการเคลื่อนย้ายไม้นั้น เป็นไปได้โดยสะดวกไม่เกิดภาระแก่ประชาชน ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้และการบริหารจัดการด้านการป่าไม้ให้มีประสิทธิภาพ
ที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ซึ่งเป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้แก่ราษฎร ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นผู้ออกให้แก่บุคคลที่เป็นสมาชิกนิคมที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตเกินกว่า 5 ปี ชำระเงินช่วยทุนที่รัฐได้ลงทุนไป และชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการแล้ว ผู้ที่ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ดังกล่าวสามารถขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคสอง ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินว่าต้องออกให้แก่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ทั้งนี้ ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ประกอบมาตรา 58 ทวิ หรือมาตรา 59 แล้วแต่กรณี ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 การครองครองที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ของ ส. จึงเป็นการครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ไม้ประดู่และไม้แดงที่ขึ้นในที่ดินดังกล่าว จึงไม่เป็นไม้หวงห้ามตามความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การที่จำเลยทำไม้ประดู่และไม้แดงของกลางกับมีไม้ประดู่และไม้แดงของกลางไว้ในครอบครอง จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานทำไม้หวงห้ามและมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 อีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5508/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำนองยังคงมีผล แม้มีการแบ่งแยกที่ดินและจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองโดยไม่ชอบ ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
สิทธิจำนองเป็นทรัพยสิทธิ และย่อมระงับสิ้นไปเพียง 6 กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เท่านั้น เมื่อการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ผู้รับจำนองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมไถ่ถอนจำนองดังกล่าวได้ การจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงครอบติดอยู่ตามสัญญาจำนอง ไม่ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 และเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 ออกไปเป็นที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 อีกแปลงหนึ่ง ต้องถือว่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 ที่แบ่งแยกออกไปพร้อมสิ่งปลูกสร้างยังคงมีการจำนองครอบติดอยู่ด้วยตามสัญญาจำนองที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 188713 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 717 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีการจดแจ้งไว้ในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 204439 ว่ามีการจำนองครอบติดอยู่ และแม้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับซื้อฝากเสียค่าตอบแทนและได้มาโดยสุจริตย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 204439 แต่ก็หาทำให้สิทธิจำนองซึ่งเป็นทรัพยสิทธิที่ติดไปกับตัวทรัพย์จำนองเสื่อมเสียไปไม่ ตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
ฟ้องโจทก์เพียงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองซึ่งจำเลยที่ 1 ดำเนินการโดยไม่ชอบให้คงปรากฏภาระจำนองเป็นหลักประกันแก่หนี้กู้ยืมของโจทก์และจำเลยที่ 1 เช่นเดิม และตามคำขอบังคับโจทก์ก็ยังไม่ได้ทรัพย์สินใดมา เพราะโจทก์มิได้ฟ้องบังคับจำนองเพื่อเอาชำระหนี้ที่มีอยู่เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ค) หรือฟ้องบังคับชำระหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามตาราง 1 ข้อ 1 (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งโจทก์ไม่ได้เรียกร้องเอาที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาเป็นของตน คดีโจทก์จึงหาใช่คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4602/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีหนี้ค่าขาดราคาเช่าซื้อ: การทวงหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำให้ระยะเวลาอายุความสะดุดหยุดลง
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ เป็นการบังคับตามสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจกระทำได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล ถือว่าเป็นการกระทำอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) เมื่อโจทก์ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ยังไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่อายุความสะดุดหยุดลงดังกล่าว คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เป็นเงินค่าขาดราคาและภาษีมูลค่าเพิ่มค้างจ่าย แต่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือให้ชำระเงินดังกล่าวแล้ว ไม่ได้ปฏิเสธหรือแสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความ ถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจำนวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3934/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสนับสนุนการกระทำชำเราเด็ก: ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนแทนตัวการ
จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกถอดเสื้อผ้าของผู้เสียหายที่ 2 แล้วชูเสื้อผ้าให้พวกดู และนำไปวางไว้มุมห้องก่อนที่พวกของจำเลยที่ 1 จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้คบคิดกับพวกที่กระทำชำเรามาก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเดินทางไปยังบ้านที่เกิดเหตุ และเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่พวกของจำเลยที่ 1 จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเรา ทั้งขณะพวกของจำเลยที่ 1 กระทำชำเราก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการอันใดให้เห็นว่ามีลักษณะเป็นตัวการ ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ขณะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันกระทำชำเรา และทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ด้วย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 83 แต่การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 86
แม้โจทก์ฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นตัวการ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการจึงไม่เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ (ไม่ขีดฆ่าอากรแสตมป์) ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดี
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องจำเลย และไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้องคดีในศาลชั้นต้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ถือว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ ส. ผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จึงต้องอาศัยหนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนหรือไม่ เมื่อหนังสือมอบอำนาจโจทก์ปิดอากรแสตมป์แล้ว แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ ย่อมถือว่ายังไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามที่ ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติไว้ จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแทน และการที่โจทก์ดำเนินการเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินในหนังสือมอบอำนาจก็เป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาแล้ว ย่อมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9
of 11