คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 ม. 9

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 87 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุครบ 60 ปี ไม่ใช่เหตุเลิกจ้างอัตโนมัติ นายจ้างต้องออกคำสั่งเลิกจ้าง การคำนวณเงินชดเชยและสิทธิประโยชน์หลังเลิกจ้าง
พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาตรา 9 และมาตรา 11 เป็นบทบัญญัติกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือเป็นแนวเดียวกัน มิได้หมายความว่าเมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว การจ้างเป็นอันระงับไปในตัวทันที รัฐวิสาหกิจจะต้องดำเนินการให้พนักงานผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปด้วย การจ้างจึงจะระงับ ดังนั้น แม้โจทก์มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 9 เมษายน 2538 ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติเนื่องจากเกษียณอายุในวันที่ 30 เมษายน 2538 แต่จำเลยก็ยังมิได้ดำเนินการให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง จำเลยเพิ่งมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 การจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงระงับไปในวันที่ 30 กันยายน 2540 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินเดือนและเงินสวัสดิการต่างๆ ที่เคยได้รับตลอดจนการปรับขึ้นเงินเดือนจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2540 และต้องถือว่าโจทก์มีอายุการทำงานจนถึงวันดังกล่าวด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2703-2713/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รัฐวิสาหกิจกำหนดเกณฑ์เกษียณอายุพนักงานหญิงได้ หากไม่ขัดกับกฎหมายคุณสมบัติมาตรฐานพนักงานรัฐวิสาหกิจ
จำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสามารถกำหนดคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามและการพ้นจากตำแหน่งของพนักงานของจำเลยเองได้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2518 มาตรา 9(1) ถึง (7) และมาตรา 11(1) ถึง (3) จำเลยจึงสามารถกำหนดให้พนักงานหญิงของจำเลยพ้นจากการเป็นพนักงานเนื่องจากเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ได้ โจทก์จึงต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ตามข้อบังคับของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4415-4419/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างพนักงานรัฐวิสาหกิจเนื่องจากอายุเกินเกณฑ์ และผลของสัญญาจ้างแรงงานที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน
โจทก์มีอายุเกินหกสิบปี ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาตรา 9(2) ต้องถูกบังคับให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 11(3) โจทก์จึงถูกเลิกจ้างเพราะเหตุขาดคุณสมบัติตามกฎหมายดังกล่าว มิใช่ถูกเลิกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
ข้อตกลงที่ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิหรือได้รับสิทธิน้อยกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ต่อเมื่อผู้ที่ทำข้อตกลงนั้นเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน โจทก์เกษียณอายุแล้วแต่ขอทำงานเป็นพนักงานของจำเลยต่อ โดยทำข้อตกลงกับจำเลยว่าโจทก์จะทำงานต่อไปพลางก่อนเพื่อรอ ผลการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของจำเลย สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจะเกิดขึ้นหรือไม่จึงไม่แน่นอนถือเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 183 วรรคแรก เมื่อคณะกรรมการบริหารของจำเลยไม่อนุมัติ สัญญาจ้างแรงงานจึงไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยต่อไป ข้อตกลงที่จะไม่รับค่าจ้างช่วงเวลารอการอนุมัติทำขึ้นก่อนโจทก์จะมีสิทธิตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ไม่ถือเป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะได้รับตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย มีผลบังคับได้ไม่เป็นโมฆะ ศาลแรงงานกลางยกคำขอของโจทก์ที่ให้บังคับจำเลยจ่าย ค่าจ้างชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1964-1965/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจที่เกษียณอายุ แม้ไม่ได้ร้องทุกข์ก่อนฟ้อง
ตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดที่บังคับว่าเมื่อมีข้อโต้แย้งว่าโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำปีหรือไม่ โจทก์จะต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์เสียก่อนฟังคดี สำหรับมาตรา 18(2)ที่บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (2) พิจารณาคำร้องทุกข์ของพนักงานหรือของสมาคมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อบังคับของ รัฐวิสาหกิจนั้นมีความหมายเพียงว่า ถ้าโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ก็ให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ มีอำนาจพิจารณาคำร้องทุกข์นั้นได้แต่ไม่ได้มีความหมายว่า ถ้าโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ โจทก์จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลไม่ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 ที่กำหนดให้พนักงานซึ่งเกษียณอายุคือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นเพียงบทกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่พนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องพ้นจากตำแหน่งเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน การที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45 วรรคสอง การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อปรากฏว่าจำเลยไม่ได้กำหนดล่วงหน้าให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีในวันเวลาใด ตามที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 8 จึงถือไม่ได้ว่า การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้าง สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามระเบียบคณะกรรมการ รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 21

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1554/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้าง: สิทธิในการรับค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี
การที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9,11 กำหนดให้พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์และให้พนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจโดยทั่ว ๆ ไป เมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจคนใดอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจต่อไป รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างก็ต้องดำเนินการให้พนักงานรัฐวิสาหกิจเช่นว่านั้นพ้นจากตำแหน่งซึ่งเรียกกันว่าให้พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุดังที่จำเลยปฏิบัติต่อโจทก์ทั้งยี่สิบสาม ซึ่งการที่จำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุดังกล่าวจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามพ้นจากตำแหน่งซึ่งได้ให้ความหมายของการเลิกจ้างไว้ว่าหมายถึงการที่รัฐวิสาหกิจให้ออกจากงาน ปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงาน โดยที่พนักงานไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 46 ดังนั้น การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบสาม พ้น จากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุโดยที่โจทก์ทั้งสี่สิบสามไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 56 แห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงาน รัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 จึงเป็นการเลิกจ้าง ส่วนที่ระเบียบ คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐาน ของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 47 กำหนดว่าพนักงานที่ต้องต้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อ 45 ซึ่งกำหนดให้รัฐวิสาหกิจ จ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานซึ่งเลิกจ้างนั้น ก็เป็นเพียงข้อกำหนด ให้พนักงานที่เกษียณอายุไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยโดยให้ได้รับเงิน เพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน หากปฏิบัติงานก่อนครบเกษียณมาครบห้าปีขึ้นไป มิใช่เป็นข้อกำหนดว่าการที่รัฐวิสาหกิจให้พนักงานออกจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุไม่เป็นการเลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 577/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุของพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ การที่โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุย่อมเป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติตามพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2518 มาตรา 9,11 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างดำเนินการให้โจทก์ออกจากงานตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จึงต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 เมื่อปรากฏว่า การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานดังกล่าวโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามที่ระบุไว้ในข้อ 47 หรือเข้าข้อยกเว้นในกรณีไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 46 จึงต้องถือเป็นการเลิกจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5711-5723/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและค่าชดเชย: เงินบำเหน็จไม่ใช่ค่าชดเชย, การนับอายุการทำงาน, ผู้ผิดนัดและดอกเบี้ย
พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ. 2518 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและเหตุที่พนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องพ้นจากตำแหน่ง มิได้หมายความว่าเมื่อพนักงานผู้ใดขาดคุณสมบัติ หรือมีเหตุต้องพ้นจากตำแหน่ง การจ้างเป็นอันระงับไปทันที แต่รัฐวิสาหกิจจะต้องดำเนินการให้พนักงานผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปด้วยเท่านั้น โจทก์ที่ 1 ถึง 12 บกพร่องต่อหน้าที่หรือมีผลงานต่ำกว่ามาตรฐานอันถือว่าเป็นผู้ไม่สามารถทำงานให้แก่จำเลยได้เต็มเวลา และเป็นการขาดคุณสมบัติ แต่ก็มิใช่การฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน ที่จำเลยให้โจทก์ที่ 1 ถึง 12 ออกจากงานจึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานหมายความว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นการจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่พนักงานเมื่อออกจากงานของจำเลยตามข้อบังคับว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ มีหลักเกณฑ์การจ่ายแตกต่างจากการจ่ายค่าชดเชย ถือมิได้ว่าเงินที่จ่ายตามข้อบังคับดังกล่าวเป็นการจ่ายค่าชดเชย แม้จะมีข้อบังคับระบุว่าพนักงานมีสิทธิรับเงินบำเหน็จเพียงอย่างเดียว และถือเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายก็ไม่มีผลบังคับ อุทธรณ์ที่มิได้โต้แย้ง คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางโดยยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงโดยชัดแจ้ง เป็นอุทธรณ์ที่มิชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง เมื่อไม่จ่ายก็ตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้าง ข้ออ้างว่าไม่เจตนาหาเป็นเหตุให้พ้นความรับผิดไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5436/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุเข้าข่ายเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย แม้กฎหมายเฉพาะจะกำหนดคุณสมบัติพนักงานไว้
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11)ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 บัญญัติว่านายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง กรณีสัญญาจ้างมี กำหนดระยะเวลาการจ้าง แน่นอนและมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการด้วย แต่จำเลยมิได้ให้การ ต่อสู้ถึงลักษณะงานว่าเป็นการจ้างตามที่กำหนดไว้ดังกล่าว แม้จำเลย จะฎีกาว่าเป็นการจ้างมีกำหนดระยะเวลาไว้แน่นอนก็เป็นฎีกาที่ ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย การที่พนักงานพ้นจากตำแหน่งเพราะมีอายุครบ 60 ปี ตามพ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ เป็นการกำหนดคุณสมบัติโดยทั่ว ๆ ไปของพนักงาน และให้รัฐวิสาหกิจ ถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันเท่านั้น แต่การพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุ ดังกล่าวจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ ต้องพิจารณาตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว ถือ ว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างแล้ว เพราะโจทก์ต้องออกจากงาน โดยไม่ได้กระทำผิดตามข้อ 47.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเนื่องจากล้มละลาย: ลูกจ้างมีสิทธิรับค่าชดเชยแม้ขาดคุณสมบัติ
ตาม พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาตรา 9 และมาตรา 11 เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว โจทก์จะเป็นพนักงานของจำเลยไม่ได้เพราะขาดคุณสมบัติ แต่จำเลยจะต้องดำเนินการเพื่อให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง ไปด้วย การที่โจทก์ออกจากงานเพราะถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย จึงต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้าง หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ออกจากงาน โดยผลของกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47 จำเลยจึงต้อง จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ตามข้อบังคับของจำเลย เงินสงเคราะห์เป็นเงินที่จ่ายเพื่อ ช่วยเหลือผู้ปฏิบัติงานที่ออกจากงาน มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข การจ่ายแตกต่างไปจากการจ่ายค่าชดเชย จึงเป็นเงินประเภทอื่น ไม่อาจถือได้ว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ค่าชดเชยเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยให้โจทก์ออกจากงาน โจทก์ มีสิทธิได้รับค่าชดเชยนับแต่วันออกจากงานทันที เมื่อจำเลยไม่ชำระ ให้แก่โจทก์ก็ได้ชื่อว่าตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่นั้น จึงต้องเสีย ดอกเบี้ยให้แก่โจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 985/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเกษียณอายุ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
การที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 บัญญัติว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ถือว่าขาดคุณสมบัติและเป็นอันพ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นการกำหนด คุณสมบัติทั่ว ๆ ไปของพนักงาน และเป็นบทบัญญัติให้รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันเท่านั้น ส่วนจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ ต้องพิจารณาตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 วรรคสอง ที่แก้ไขแล้ว เมื่อจำเลยให้โจทก์ พ้น จากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุ อันเป็นการให้ออกจากงานโดยลูกจ้างมิได้กระทำความผิดตามข้อ 47 จึงเป็นการเลิกจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุเป็นการออกจากงานตามกำหนดระยะเวลาจ้างที่แน่นอนจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ แต่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ ถึงลักษณะงานว่าได้จ้างโจทก์เป็นครั้งคราว เป็นการจรเป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ อันจะถือเป็นกรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่ แม้ศาลวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ไปก็ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง อุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดี
of 9