คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 387

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 395 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขาย/จ้างเหมา: การบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการเลิกสัญญากันโดยปริยาย
สัญญาซื้อขายและสัญญาจ้างเหมาที่มีกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้หรือเวลาส่งมอบงาน โจทก์ทั้งสองมีหนังสือขอเลื่อนการส่งมอบงาน จำเลยมีหนังสืออนุญาต แต่กำหนดเวลาให้โจทก์ทั้งสองเร่งงานให้เสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ในชั้นต้นแสดงว่าจำเลยถือเอากำหนดเวลาเป็นสำคัญ แต่เมื่อโจทก์ที่ 2 ขอขยายเวลาออกไปถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2560 ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2560 ตัวแทนโจทก์ทั้งสองและผู้จัดการโครงการของจำเลยประชุมกันขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ประกอบกับหลังพ้นวันที่ 15 มิถุนายน 2560 โจทก์ทั้งสองยังคงทำงานอยู่ โดยจำเลยมิได้บอกเลิกสัญญา และเมื่อมีการส่งมอบงานไม่ปรากฏว่าจำเลยไม่ยอมรับงานหรือสงวนสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยมิได้ถือเอากำหนดส่งมอบงานวันที่ 15 มิถุนายน 2560 เป็นสำคัญ และถือว่าเป็นสัญญาไม่มีกำหนดระยะเวลาส่งมอบงานแน่นอน การที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาจะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้น ถ้าไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาทันทีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่พฤติการณ์ที่จำเลยบอกเลิกสัญญาและโจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ ถือว่าคู่ความตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยาย โดยไม่ถือว่าโจทก์ทั้งสองผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ทั้งสอง เมื่อสัญญาเลิกกัน โจทก์ทั้งสองและจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ส่วนงานอันได้กระทำให้ ให้ใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ ตามมาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และเมื่อโจทก์ทั้งสองมิต้องรับผิดต่อจำเลย จำเลยจึงไม่อาจนำหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับไปเรียกให้ธนาคารรับผิดตามหนังสือค้ำประกันได้ จำเลยจึงมีหน้าที่เพียงคืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8505/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาจองซื้อขาย สัญญาเลิกกันโดยชอบธรรม คืนเงินจองและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย
จำเลยแก้ฎีกาว่า ฎีกาของโจทก์ตั้งแต่หน้า 10 ถึงหน้า 19 เป็นการคัดลอกมาจากอุทธรณ์ในหน้า 39 ถึงหน้า 55 ถือเป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งนั้น ฎีกาของโจทก์ในหน้า 10 ถึงหน้า 19 กับอุทธรณ์ของโจทก์หน้า 39 ถึงหน้า 55 เป็นเพียงการบรรยายถึงข้อเท็จจริงที่พยานโจทก์เบิกความในชั้นพิจารณาเพื่อโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยสมัครใจเลิกสัญญาและที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาว่าข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบเป็นกรณีที่จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 (ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง)
หนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ระหว่างโจทก์ผู้จองกับจำเลยผู้รับจองกำหนดเวลาการตกแต่งไว้ 4 เดือน นับแต่วันที่รับมอบพื้นที่จากจำเลย โดยระบุวันรับและส่งมอบพื้นที่วันที่ 15 มกราคม 2557 วันเริ่มต้นสัญญาเช่าและบริการวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 โดยมีระยะเวลาปลอดค่าเช่าและค่าบริการเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2557 กำหนดเวลาชำระเงินจองโดยแบ่งออกเป็น3 งวด งวดละ 1,169,343 บาท งวดที่ 1 ชำระวันทำหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ งวดที่ 2 ชำระภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 และงวดที่ 3 ชำระภายในวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 และกำหนดเวลาที่โจทก์จะเข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการกับจำเลยภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 หากโจทก์ไม่มาทำสัญญาเช่าและบริการตามที่กำหนด ยินยอมให้จำเลยยึดเงินจองและให้นำพื้นที่ที่จองไว้ออกจำหน่ายให้แก่ผู้เช่ารายอื่นทันที แต่พฤติการณ์ที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ที่จองตามกำหนด โจทก์ขอเลื่อนเวลาการชำระเงินจองงวดที่ 3 กับเลื่อนการทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการ ส่วนจำเลยนำสืบว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2557 โจทก์และจำเลยมีการตรวจวัดรับพื้นที่เช่าและงานระบบกันแล้ว ต่อมาปลายเดือนมีนาคม 2557 จำเลยเรียกโจทก์เข้ามาเจรจาเนื่องจากตรวจสอบพบว่าโจทก์เข้าไปตกแต่งพื้นที่ส่วนกลางและเปลี่ยนแบบแปลนประเภทร้านค้าเป็นร้านอาหาร ทำให้จำเลยต้องเปลี่ยนแก้ไขระบบงานสาธารณูปโภค เปลี่ยนและติดตั้งระบบดูดควันใหม่ เทพื้นใหม่ เปลี่ยนและวางท่อก๊าซแอลพีจีใหม่ตามคำร้องขอของโจทก์ ซึ่งจำเลยยอมผ่อนปรนและพยายามทำทุกอย่างเท่าที่โจทก์ร้องขอมาโดยตลอดนั้น กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยไม่ถือเอากำหนดเวลาที่ระบุในหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่เป็นข้อสำคัญ เช่นนี้ที่โจทก์ไม่ชำระเงินจองงวดที่ 3 ไม่เข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการภายในกำหนดเวลาตามหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุดังกล่าวทันทีไม่ได้ หากแต่จำเลยต้องบอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระเงินจองที่ยังคงค้างและให้เข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการเสียก่อน และเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดแล้วโจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 แต่ ส. พยานจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเบิกความลอย ๆ ว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่าและบริการหลายครั้ง แต่โจทก์เพิกเฉย โดยไม่มีพยานหลักฐานอย่างอื่นมายืนยันสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยได้บอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระเงินจองที่ยังค้างและเข้าทำสัญญาเช่ากับสัญญาบริการมาก่อนแล้ว การที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ไปยังโจทก์บอกเลิกหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ ด้วยเหตุว่าโจทก์คงค้างชำระเงินจองงวดสุดท้าย และไม่ได้เข้าทำสัญญาภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยมิได้กำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติก่อนจึงไม่ชอบ แต่เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2558 จากจำเลยแล้ว โจทก์กลับมีหนังสือลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ไปยังจำเลยเพื่อขอยกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่กันแล้ว โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินจองพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันที่รับไว้ให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ต้องชดใช้ค่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของจำเลยและนำมาหักกลบลบหนี้กับเงินจองที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์ได้นั้น จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้มา จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินด้วยการเพิ่มค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งโจทก์ไม่อาจอุทธรณ์ขอให้เพิ่มค่าเสียหายส่วนนี้เกินไปจากที่ฟ้องได้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นจำนวนเดียวกับที่โจทก์ฟ้อง และชั้นฎีกาโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินด้วยการคำนวณค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษเพิ่มเป็นเงินเกินกว่าที่โจทก์ฟ้อง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาแต่ละชั้นศาลให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อไม่เลิกทันทีแม้ผิดนัดชำระ หากผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการชำระ การยึดรถจึงเป็นการผิดสัญญา
แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ก็ไม่อาจถือว่าสัญญาเช่าซื้อต้องเลิกกันทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามสัญญาข้อ 6 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดงวดนั้นดังที่ระบุในสัญญาข้อ 9 การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 33 งวด โดยเป็นการชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาแต่จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งนั้นให้โจทก์โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุโจทก์ผิดนัด นอกจากนี้ยังปรากฏว่า หลังจากมีการยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว จำเลยยังส่งหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 34 ถึงงวดที่ 36 อีก 2 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายขอให้โจทก์ติดต่อชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมค่าใช้จ่าย มิฉะนั้นจำเลยจะนำรถขุดออกขายแก่บุคคลภายนอก เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังคงผ่อนผันการผิดนัดให้โจทก์อีกเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ โดยหากโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระแก่จำเลยพร้อมเบี้ยปรับฐานชำระล่าช้า จำเลยก็จะยินยอมให้โจทก์รับรถขุดที่เช่าซื้อกลับคืนไปและชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนกว่าจะครบตามสัญญา ส่วนหนังสือบอกเลิกสัญญาที่จำเลยให้ลูกจ้างของจำเลยนำติดตัวไปเพื่อดำเนินการยึดรถขุดแล้วลูกจ้างของจำเลยนำไปมอบให้แก่ผู้ขับรถขุดภายหลังจากทำการยึดรถขุดแล้วนั้น กรณีมิใช่การมอบให้แก่โจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทั้งหนังสือดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน กลับมีการมอบให้ภายหลังการยึดรถขุด ทั้งข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อขัดแย้งกับที่จำเลยยังคงออกหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายหลังจากที่ยึดรถขุดคืนมาแล้วดังกล่าวการบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เลิกกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนได้ การที่จำเลยยึดรถขุดดังกล่าวมา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2978/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาก่อสร้าง, การเลิกสัญญา, การคืนเงินมัดจำ, อายุความ, และการกำหนดราคาแบบแปลน
โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง จำเลยรับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าร้อยละ 30 ของราคาค่ารับเหมาก่อสร้าง แต่ไม่ได้กำหนดวันเดือนใดที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกัน หากโจทก์ต้องการเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทำการก่อสร้างภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน กล่าวคือ โจทก์ไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นก่อสร้างตามสัญญา จำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวกำหนดวันให้โจทก์ส่งมอบพื้นที่ให้จำเลย ทั้งสองฝ่ายต่างเพิกเฉยปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 3 ปี แสดงว่าคู่สัญญาไม่นำพาที่จะปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ดังนั้น การที่โจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้ง เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่โจทก์ จำเลยได้จัดทำแบบแปลนการก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และบริเวณทางเดินภายในโรงงานและส่งมอบให้แก่โจทก์แล้ว เป็นการงานอันจำเลยได้กระทำให้โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำสืบว่าค่าแบบแปลนมีราคาเท่าใด จึงกำหนดค่าแบบแปลนให้จำเลย 10,700 บาท
โจทก์เป็นเจ้าของโรงงานผลิตนม มิใช่ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และทางเดินภายในโรงงานผลิตนมของโจทก์ โจทก์จ่ายค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่จำเลย โจทก์ขอบังคับให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืน มิใช่เรื่องที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้รับจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้ออกทดรองจ่ายไปในการทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างจากผู้ว่าจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าให้แก่ผู้รับจ้างคืน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9961/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การผ่อนผันการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ และผลของการเลิกสัญญา
สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 ระบุว่า "ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี ฯลฯ ยอมให้ถือว่าสัญญานี้เลิกกันโดยผู้ให้เช่าซื้อไม่ต้องบอกกล่าวก่อน" และข้อ 11 ระบุว่า "ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดผิดสัญญาหลายครั้ง หากผู้ให้เช่าซื้อยอมผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งใด ก็ไม่ถือว่าเป็นการผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาครั้งอื่น ๆ" เมื่อพิจารณาข้อสัญญาทั้งสองข้อประกอบกันด้วยแล้ว เห็นได้ว่า แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งก็ไม่อาจถือเป็นเด็ดขาดว่า สัญญาเช่าซื้อจะต้องเลิกกันทันทีตามสัญญา ข้อ 9 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดหรือผิดสัญญาให้ผู้เช่าซื้อ ดังที่ระบุไว้ในสัญญา ข้อ 11 โดยยินยอมให้เวลาผู้เช่าซื้อนำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระมาชำระภายหลังจากครบกำหนดเวลาชำระค่างวดตามสัญญาได้ และถือว่าสัญญายังคงมีความผูกพันกันต่อไป คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้ว 13 งวด โดยตั้งแต่การชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 2 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 ชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยโจทก์เองก็ยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าวไว้ พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์ยอมผ่อนผันการผิดนัดให้จำเลยที่ 1 โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัด และยังคงประสงค์ให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันกันต่อไป สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดในคราวการชำระงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 แม้จะครบกำหนดระยะเวลาชำระแล้วก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ผ่อนผันการผิดนัดการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 2 ถึงงวดที่ 13 ให้จำเลยที่ 1 ดังกล่าว ก็ไม่ถือว่าโจทก์ผ่อนผันการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อในงวดอื่นด้วย ดังระบุไว้ในสัญญา ข้อ 11 ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 14 และงวดต่อไปอีกเลยจนถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า 2 ปี และไม่มีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์ผ่อนผันการผิดนัดให้จำเลยอีก หรือมีพฤติการณ์อื่นใดที่แสดงให้เห็นว่า คู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสำคัญ กรณีจึงต้องถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไปตามสัญญา ข้อ 9 แล้ว ดังนั้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 387

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14792/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขาย: การผ่อนปรนเงื่อนเวลา, การชำระหนี้ตอบแทน, และสิทธิในการบอกเลิกสัญญา
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยมีหน้าที่ปลูกสร้างบ้านและแบ่งแยกโฉนดให้แล้วเสร็จเพื่อจดทะเบียนขายแก่โจทก์ ส่วนโจทก์ก็มีหน้าที่ชำระเงินค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตอบแทนจำเลย หาใช่ว่าจำเลยจะก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จในเวลาใดตามอำเภอใจของจำเลยก็ได้ไม่ ตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวในข้อ 2 วรรคหนึ่ง โจทก์กับจำเลยตกลงกันไว้ว่า โจทก์ต้องชำระเงินในวันทำสัญญา 261,000 บาท ผ่อนชำระค่างวดรวม 15 งวด งวดละ 67,800 บาท ภายในทุกวันที่ 9 ของเดือน และชำระเงินงวดสุดท้าย 3,053,000 บาท ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 เมื่อบ้านแล้วเสร็จและที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดแล้ว แสดงว่าโจทก์กับจำเลยตกลงชำระหนี้ตอบแทนซึ่งกันและภายในกำหนดเวลาแน่นอน คือภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 โดยโจทก์จะต้องผ่อนชำระเงินค่าที่ดินพร้องสิ่งปลูกสร้างตามกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทินที่ตกลงกัน และจะต้องชำระเงินงวดสุดท้ายภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 ส่วนจำเลยก็มีหน้าที่สร้างบ้านและดำเนินการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเพื่อให้แล้วเสร็จชำระหนี้ตอบแทนโจทก์เช่นกัน
เมื่อโจทก์ชำระค่างวดไม่ตรงตามสัญญา จำเลยก็ยอมรับชำระค่างวดแต่โดยดี แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนปรนไม่ถือเอาประโยชน์ของเงื่อนเวลาเป็นสำคัญ ส่วนจำเลยแม้จะมีหน้าที่ก่อสร้างบ้านและแบ่งแยกออกโฉนดที่ดินเพื่อจดทะเบียนขายแก่โจทก์ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 แต่ตามสำเนาใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน จำเลยเพิ่งได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2539 ซึ่งล่วงเลยจากกำหนดเวลาจดทะเบียนโอนที่ดินเช่นเดียวกัน แสดงว่าก่อนหน้านั้นจำเลยก็ยังไม่พร้อมที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ ทั้งยังปรากฏว่า ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2540 บ้านก็ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์และจำเลยต่างผ่อนปรนให้แก่กันและกัน โดยต่างมิได้ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวเป็นสำคัญ ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวในข้อ 2 วรรคหนึ่ง มีข้อตกลงว่าเงินงวดสุดท้ายชำระภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 หรือเมื่อบ้านแล้วเสร็จและที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดแล้ว และวรรคสาม มีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินแก่โจทก์เมื่อโจทก์ชำระเงินงวดสุดท้ายครบถ้วน และบ้านได้สร้างแล้วเสร็จและที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวแสดงว่าหากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็เป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยตกลงที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่อกันโดยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้กันไว้แน่นอน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และกรณีนี้โจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจที่จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน หากโจทก์หรือจำเลยจะให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาก็จะต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาพอสมควรให้อีกฝ่ายชำระหนี้ ตามมาตรา 387
จำเลยมีหนังสือแจ้งทวงถามให้โจทก์ชำระเงินค่างวด งวดที่ 13 ถึง 15 ภายในวันที่ 5 กันยายน 2540 และมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญา โดยไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยมีหนังสือแจ้งทวงถามไปยังโจทก์นั้น จำเลยได้ก่อสร้างบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวแล้วเสร็จพร้อมที่จะชำระหนี้ตอบแทนแก่โจทก์ คือจดทะเบียนโอนบ้านพร้อมที่ดินแก่โจทก์ได้แล้ว การที่จำเลยจะเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ยอมชำระหนี้ฝ่ายตนตอบแทนแก่โจทก์นั้นหาได้ไม่ การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 387 เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายบ้านให้บุคคลภายนอกไปแล้ว และโจทก์ก็ไม่ประสงค์จะซื้อบ้านอีกต่อไป สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันและต่างฝ่ายต่างกลับคืนสู่ฐานะเดิมมาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงิน 1,106,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตามมาตรา 391 วรรคสอง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2541 อันเป็นวันที่จำเลยขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่บุคคลภายนอก จึงให้ตามที่โจทก์ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1728/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การบอกเลิกสัญญาเมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ และการรับชำระหนี้บางส่วนโดยไม่ถือเป็นข้อสำคัญ
สัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อทุกวันที่ 15 ของเดือน โจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อโดยตลอด แต่เมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 รับไว้และนำส่วนหนึ่งไปหักเป็นดอกเบี้ยของการชำระค่างวดล่าช้า แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นข้อสำคัญ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 โดยบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อภายในกำหนดเวลาที่สมควรก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยให้ระยะเวลาชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายใน 7 วัน ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 1 ที่ให้ระยะเวลาชำระหนี้แก่โจทก์พอสมควรแล้ว จึงเป็นการเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบ
โจทก์เป็นลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจะขอบังคับให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน โดยเจ้าหนี้ไม่ยินยอมหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15846/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่า หากไม่ปฏิบัติตามถือเป็นผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
ในการโฆษณาให้เช่าพื้นที่โครงการของจำเลยระบุว่าให้มีสถานบริการประเภทร้านค้า ร้านอาหารและ สถานที่ออกกำลังกายภายในพื้นที่โครงการของจำเลย แสดงว่าโครงการของจำเลยมีเจตนาจัดให้มีสถานบริการเพื่อจูงใจให้ลูกค้าเข้าจองสิทธิและทำสัญญาเช่าพื้นที่ภายในศูนย์การค้ายูเนี่ยมมอลล์ในโครงการ การทำสัญญาเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าของโจทก์กับจำเลยจึงเกิดจากเจตนาของจำเลยที่เสนอจะจัดให้มีสถานบริการดังกล่าวในพื้นที่ตามที่จำเลยได้โฆษณาไว้และโจทก์แสดงเจตนาสนองรับเข้าทำสัญญาเช่าเพราะเชื่อตามที่จำเลยได้โฆษณา แม้ข้อความในสัญญาเช่าจะไม่ได้ระบุข้อความว่าจำเลยจะต้องจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลยก็ตาม แต่จำเลยก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ต้องจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลย คำโฆษณาของจำเลยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วย เมื่อปรากฏว่าในวันเปิดศูนย์การค้าของจำเลย จำเลยยังดำเนินการจัดให้มีกิจการตามคำโฆษณาในศูนย์การค้าของจำเลยไม่ครบถ้วนตามที่โฆษณาไว้โดยไม่ปรากฏเหตุแห่งความล่าช้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย โดยโจทก์และจำเลยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 กระทำการภายในขอบอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดส่วนตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15433/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ: ผลของการสละประโยชน์จากหนังสือบอกกล่าวทวงถาม และการชำระหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแจ้งให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระงวดที่ 16 ถึง 18 ภายใน 10 วัน หากเพิกเฉยขอถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 รับหนังสือวันที่ 12 มิถุนายน 2546 ครบกำหนด 10 วัน ในวันที่ 22 มิถุนายน 2546 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระย่อมถือว่าสัญญาเลิกกัน แต่หลังจากโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้ว โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามอีกฉบับ เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างเบี้ยปรับและค่าติดตามภายใน 10 วัน หากไม่ชำระจะถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 อีก เท่ากับโจทก์สละประโยชน์จากเงื่อนไขในหนังสือบอกกล่าวทวงถามในฉบับแรก โดยโจทก์จะถือเอาเงื่อนไขตามการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญาในฉบับที่สองแทน เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินค่างวดที่ 17 และ 18 ไปวางทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จึงเป็นการวางเงินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ตามกำหนด โดยจำเลยที่ 1 มีเหตุจำเป็นและสมควรที่จะต้องวางทรัพย์แทนการนำไปชำระหนี้ที่ภูมิลำเนาของโจทก์เพราะมีปัญหาการชำระหนี้ก่อนหน้าว่าเป็นค่าเช่าซื้อหรือเบี้ยปรับ จึงถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่โจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ยอดเงินจะไม่ครบถ้วนตามหนังสือบอกกล่าวโดยขาดเงินเบี้ยปรับและค่าติดตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเบี้ยปรับและค่าติดตามมา ดังนั้น จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาและตามสิทธิที่โจทก์อ้างมาก่อนครบกำหนดหนังสือบอกเลิกสัญญา ฉบับหลังแล้ว สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เลิกกัน
ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดสองงวดติดต่อกันโดยมิต้องบอกกล่าวก่อนตามสัญญาข้อ 12 วรรคสอง นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การเลิกสัญญามีผลเมื่อครบกำหนดเงื่อนไขในหนังสือบอกกล่าวทวงถาม โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือคัดค้านปัญหานี้ไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4039/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างซ่อมรถยนต์ล่าช้า จำเลยผิดสัญญา ชดใช้ค่าเสียหาย
แม้สัญญาจ้างซ่อมรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะต้องซ่อมเสร็จเมื่อใด แต่จำเลยก็มีหน้าที่ต้องซ่อมรถยนต์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยได้รับรถยนต์คันพิพาทไว้ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2549 ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 โจทก์ได้นำรถยนต์ดังกล่าวไปให้อู่ น. ซ่อมต่อ รวมเวลาที่รถยนต์คันพิพาทอยู่ที่อู่ซ่อมรถของจำเลยเป็นเวลา 7 เดือนเศษ ซึ่งน่าจะเพียงพอแก่การซ่อมรถยนต์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จ โดยเทียบเคียงกับที่หลังจากนำรถยนต์คันพิพาทไปซ่อมที่อู่แห่งใหม่ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็ซ่อมเสร็จ นอกจากนี้จำเลยซ่อมรถยนต์ได้เพียงประมาณร้อยละ 30 โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยระบุให้เวลาจำเลยซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 และเมื่อโจทก์ไปขอรับรถในวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาตามที่กำหนด จำเลยก็ยอมให้รับรถไปโดยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาที่โจทก์ให้แก่จำเลย พฤติการณ์แสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยไม่สามารถซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้แล้วเสร็จตามสัญญาและไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญาแล้ว ทั้งถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะเลิกสัญญาโดยไม่จำต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้แล้วเสร็จก่อน การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ชอบแล้ว
of 40