คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 65 ตรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 32 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2166/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อที่ดินให้เช่าเป็นรายจ่ายลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้
การที่จำเลยกู้ยืมเงินมาเพื่อซื้อที่ดินนั้น ที่ดินที่จำเลยซื้อมาย่อมตกเป็นทรัพย์สินของจำเลยอันเป็นทุนรอนของจำเลยเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการของจำเลยต่อไป เงินกู้ยืมที่จำเลยจ่ายเป็นค่าซื้อที่ดินจึงเป็นรายจ่าย อันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) เนื่องจากเป็นรายจ่ายที่ทำให้จำเลยได้ที่ดินมาโดยตรง ส่วนดอกเบี้ยอันเกิดจากการกู้ยืมเงินมาซื้อที่ดิน ซึ่งจำเลยมีภาระต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยตั้งแต่แรกที่กู้ยืมเงิน มาจนกว่าจะชำระต้นเงินเสร็จ ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเป็นผล โดยตรงที่ต่อเนื่องจากการกู้ยืมเงินของจำเลยย่อมเป็นส่วนหนึ่ง ของค่าซื้อที่ดินอันเป็นต้นทุน ดังนั้น ดอกเบี้ยซึ่งเกิดจาก การกู้ยืมเงินของจำเลยมาซื้อที่ดินเพื่อนำไปให้ผู้อื่นเช่า จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนเช่นเดียวกับเงินกู้ยืมที่จำเลยนำไปซื้อที่ดิน จำเลยจึงไม่สามารถ นำดอกเบี้ยดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3411/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีไม่ยื่นแบบและไม่ให้ไต่สวน: ใช้อัตรา 5% ของรายรับก่อนหักรายจ่ายได้
จำเลยไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลและจำเลยได้รับหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินตามกฎหมาย แล้ว แต่จำเลยมิได้มาให้ไต่สวนและไม่นำบัญชี เอกสารหรือ พยานหลักฐานอื่นมาแสดงเพื่อตรวจสอบดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 23 จึงต้องตามบทบัญญัติมาตรา 71(1) เจ้าพนักงาน ประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับ ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบ ระยะเวลาบัญชี แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า และกรณีเช่นนี้ ไม่อาจนำพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วย การกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ซึ่งใช้บังคับสำหรับการคำนวณภาษี เงินได้บุคคลธรรมดามาใช้บังคับโดยอนุโลมเพราะกฎหมายได้ บัญญัติไว้แจ้งชัดโดยเฉพาะแล้ว แม้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71 วรรคสอง เจ้าพนักงาน ประเมินจะมีอำนาจเลือกประเมินภาษีตามมาตรา 24 จากฐานกำไร สุทธิแทนฐานรายรับก่อนหักรายจ่ายตามมาตรา 71(1) ก็ตาม แต่ เมื่อการคำนวณภาษีจากฐานกำไรสุทธิไม่อาจหักรายจ่ายเป็นการ เหมาตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในการคำนวณกำไรสุทธิให้จำเลย จึงไม่ชอบ และมีผลทำให้กำไรสุทธิและภาษีที่คำนวณได้ไม่ชอบ ไปด้วย ดังนั้น การเลือกประเมินภาษีตามมาตรา 24 จากฐาน กำไรสุทธิจึงไม่ชอบ การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเก็บจากกำไรสุทธิ ซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร จึงเห็นได้ว่าหากสามารถพิสูจน์แสดงรายจ่ายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้มากเท่าใด แล้วนำไปหักออกจากรายได้มากเพียงใด ก็จะเสียภาษีน้อยลง เท่านั้น หรือถ้ารายได้น้อยกว่ารายจ่ายถือว่าขาดทุน ก็ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลจึง อยู่ที่การพิสูจน์รายจ่ายตามกฎหมาย หาใช่การไม่ปฏิบัติตาม หมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินทำให้เสียภาษีน้อยกว่าผู้ที่ ปฏิบัติตามหมายเรียกไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 123/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายทรัพย์สินในราคาที่สูงเกินปกติและรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้าหรือหากำไร ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามทางภาษี
ทั้งในคำอุทธรณ์การประเมินของโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และในคำฟ้องของโจทก์ได้อ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งบอกค่าเสื่อมราคาในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2523 เพียง 14,700,159.77 บาท แทนที่จะเป็น 18,700,159.77 บาท จึงเป็นผลทำให้ยอดค่าเสื่อมราคาที่กล่าวข้างต้นสูงกว่าจำนวนเงินที่ระบุในข้อ 2.1.1 ไป 4,000,000 บาท โดยโจทก์ไม่ได้ระบุถึงความเป็นมาของยอดค่าเสื่อมราคาจำนวน 18,700,157.77 บาท ว่าได้มาอย่างไร และยอดค่าเสื่อมราคาจำนวน 14,700,157.77 บาท ไม่ถูกต้องอย่างไรการกล่าวอ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ จำเลยไม่สามารถสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ได้ยอมรับว่าโจทก์ได้ให้บริการรับประทานอาหารฟรีแก่พนักงานของโจทก์บนเรือขุดแร่ กรณีย่อมถือได้ว่าพนักงานที่ทำงานบนเรือขุดแร่ได้รับประโยชน์ในทางทรัพย์สินเพิ่มพูนขึ้นเนื่องจากการทำงานนอกเหนือไปจากเงินเดือนที่พนักงานจะได้รับ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับว่าการเลี้ยงอาหารแก่พนักงานบนเรือดังกล่าวถือเป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานค่าใช้จ่ายดังกล่าว จึงถือเป็นเงินได้ของพนักงานของโจทก์ซึ่งได้รับอันเนื่องมาจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรและเงินได้ในส่วนดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาคำนวณหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งต่อจำเลย เรือขุดแร่ของ ท.ที่มีการซื้อขายในคดีนี้ได้ถูกออกแบบเป็นพิเศษโดยเฉพาะเพื่อใช้งานสำหรับขุดแร่บริเวณที่ ท.ได้รับสัมปทานโดยเฉพาะ เมื่อการทำแร่จะต้องได้รับสัมปทานและ ท.ถูกเพิกถอนสัมปทานไปแล้วท. จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อรองอะไรกับโจทก์หรือผู้ซื้อทรัพย์สินรายใดได้ ส่วนหนังสือแจ้งราคาเรือที่ต่อใหม่ของบริษัท ม. ก็ปรากฏว่ามีมาถึงโจทก์หลังจากที่โจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินไปแล้ว การยืนยันราคาเรือก็เป็นการยืนยันย้อนหลัง แสดงว่าในการทำหนังสือสอบถามราคาไปก็เพียงแต่จะเป็นการสร้างหลักฐานขึ้นมาประกอบการซื้อทรัพย์นั้น ไม่มีเจตนาจะให้มีการต่อเรือกันจริง หนังสือที่ทางบริษัท ม. แจ้งมายังโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือ สำหรับข้อที่โจทก์อ้างว่าหลังจากซื้อเรือขุดแร่จาก ท. แล้ว ได้ประกันภัยในราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อมาของโจทก์ โจทก์คงอ้างแต่เพียงลอย ๆ โดยไม่แสดงหลักฐานใด ๆ นอกจากนี้การกำหนดราคาเอาประกันภัยไม่อาจถือเป็นราคาอันสมควรได้เพราะคู่สัญญาประกันภัยสามารถตกลงวงเงินเอาประกันภัยเท่าใดก็ได้ เพียงแต่หากเกิดความเสียหายก็จะชดใช้ให้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น ดังนั้นราคาทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจึงมิใช่ราคาตลาดของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยและไม่อาจเชื่อถือได้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าราคาที่โจทก์และ ท. ทำการตกลงซื้อขายนั้นเป็นราคาของมูลค่าทรัพย์สินตามปกติที่อาจสามารถซื้อขายกันได้ หาได้มีลักษณะเป็นการซื้อขายทรัพย์สินที่มีราคาสูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่ประการใดนั้น จากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานของจำเลยได้ความว่าในการลงบัญชีทรัพย์ที่ซื้อมาโดยที่สัญญาซื้อขายทรัพย์สินระบุเป็นรายการใหญ่ ๆ ต้องหาวิธีลงบัญชีเพื่อแยกเป็นรายการย่อย ๆ จึงได้ใช้ดัชนีมาร์ชแอนด์สตีแว่นมาเพื่อคำนวณหามูลค่าทรัพย์สินเพื่อใช้ลงบัญชี ดัชนีมาร์ชแอนด์สตีเว่นเป็นการคำนวณค่าใช้จ่ายในการแต่งเรือย้อนหลังไป 1 ปี มีอัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 16 การเปรียบเทียบจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน แต่กรณีของโจทก์ทรัพย์สินที่โจทก์ซื้อผ่านการใช้งานมาแล้วประมาณ 4 ปี การนำดัชนีราคาดังกล่าวมาเปรียบเทียบกับกรณีของโจทก์จึงไม่ถูกต้อง ราคาต้นทุนทรัพย์สินตามบัญชี ท.มีราคา 221,934,959.44 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ ท. ได้หักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินและได้นำไปใช้หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ท.ไปแล้วและท. หักค่าเสื่อมราคาโดยใช้วิธีเส้นตรงในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งเป็นการหักค่าใช้จ่ายในอัตราต่ำอยู่แล้ว การที่โจทก์ซื้อทรัพย์สินของ ท.มาในราคา 332,800,000 บาท จึงเป็นราคาที่สูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามสัญญาซื้อขายทรัพย์สินหนี้สินและสัญญาเพิ่มเติมเพื่อขายและซื้อทรัพย์สินและหนี้สินมีการระบุรายละเอียดรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่โจทก์ซื้อจาก ท. ไว้ โดยไม่มีการระบุว่ามีการซื้อขายเจ้าหนี้ระยะยาวรายของบริษัท ซ.และบริษัทซ. ไว้แต่อย่างใด ดังนั้นการที่โจทก์จ่ายดอกเบี้ยแทน ท.ไป โดยค่าดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นค่าดอกเบี้ยของหนี้สินระยะยาวซึ่งโจทก์มิได้ผูกพันด้วยค่าดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายไปจึงเป็นรายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพราะเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์ตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงนำรายจ่ายดังกล่าวมาคิดคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1100/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล: การประเมินรายได้จากหนังสือคืน, ค่าใช้จ่ายรถยนต์, และการคืนเงินวางชำระ
บัญชีอัตราภาษีการค้า ประเภท 1 ชนิด 6 กำหนดให้รายรับที่ได้จากการขายสมุด เอกสารหรือสิ่งตีพิมพ์ ผู้ขายทอดแรกต้องนำมาคำนวณเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1.5 ส่วนข้อยกเว้นตามมาตรา 79 ตรี(7)กำหนดให้รายรับจากการขายหนังสือพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข่าวสารที่จำหน่ายแก่สาธารณชน ไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้า หนังสือนิตยสารสาวสยามของโจทก์มีเนื้อหาที่เป็นนวนิยาย มากกว่าข่าวสารจึงมิใช่หนังสือพิมพ์ที่ส่วนใหญ่เป็นข่าวสาร ไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามมาตรา 79 ตรี(7) โจทก์ต้องนำรายรับจากการจำหน่ายหนังสือดังกล่าวมารวมคำนวณเสียภาษีการค้าประเภท 1 ชนิด 6 บัญชีคุมสินค้าของโจทก์มิได้ระบุว่ามีหนังสือคงเหลือ การที่จำเลยประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์เพิ่มโดยถือว่าโจทก์รับหนังสือที่เหลือจากการขายคืนมาเป็นจำนวนร้อยละ 20 และขายได้กิโลกรัมละ 1 บาท โดยอาศัยตัวเลขจากถ้อยคำของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ที่ได้ให้ไว้ในชั้นไต่สวน จึงชอบด้วยกฎหมาย หลักฐานทะเบียนรถยนต์หาใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ของรถยนต์ไม่ แม้ทะเบียนรถยนต์จะระบุว่าโจทก์เพิ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2525 แต่หาต้องฟังเป็นเด็ดขาดตามนั้นเสมอไปไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันพิพาทตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2520รายจ่ายที่เกี่ยวกับรถยนต์พิพาทนับแต่วันดังกล่าวจึงมิใช่รายจ่ายที่กำหนดขึ้นเอง ตามมาตรา 65 ตรี ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ ในข้อที่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้สั่งในวันที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ และไม่แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบเมื่ออุทธรณ์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 25 จึงไม่มีเหตุต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางแจ้งคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคำสั่งศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4717/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่ชัดเจน ขาดรายละเอียดการประเมินภาษี ศาลยกฟ้องตาม พ.ร.บ.ศาลภาษีอากร
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าในปี 2523 ถึง 2525 นั้น ปีภาษีใดเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มจำนวนเท่าใด เงินเพิ่มภาษีอีกจำนวนเท่าใด เหตุใดโจทก์จึงต้องเสียเพิ่ม เพราะการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 กำหนดให้เสียเป็นรอบระยะเวลาบัญชีจากกำไรสุทธิซึ่งคำนวณจากรายได้หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรีและเมื่อเจ้าพนักงานประเมินเรียกตรวจสอบไต่สวนและแจ้งการประเมินให้เสียภาษีตามมาตรา 19 และมาตรา 20 ก็ต้องตรวจสอบไต่สวนและแจ้งการประเมินตามรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว หากผู้ต้องเสียภาษีเห็นว่าการประเมินในส่วนใดมิชอบ ก็มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินนั้นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่โจทก์กล่าวในฟ้องคลุมมาว่าเจ้าพนักงานประเมินแจ้ง ให้โจทก์นำเอกสารและบัญชีไปตรวจสอบแต่โจทก์ส่งให้ไม่ครบจึงแจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีรวม3 ปีภาษีเป็นเงิน 954,783 บาท โดยมิได้แยกเป็นรายปีให้แจ้งชัดตามสภาพแห่งข้อหา คำขอท้ายฟ้องก็ระบุเพียงว่าขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลย โดยมิได้ระบุว่าเป็นการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับเลขที่และลงวันที่เท่าใด เอกสารท้ายฟ้องที่จะแสดงถึงสภาพแห่งข้อหาและการประเมินรวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ขอให้เพิกถอนดังกล่าวก็ไม่มี เป็นคำฟ้องที่ไม่แจ้งชัดทั้งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4100/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีจากการขายที่ดินต่ำกว่าราคาตลาด และการหักค่าใช้จ่ายที่สมควร
โจทก์ซื้อที่ดินมาปรับปรุงแล้วแบ่งเป็นแปลงย่อยขาย เป็นการประกอบธุรกิจการค้าหากำไร การที่โจทก์โอนขายที่ดินให้แก่ศ.และส. ไปในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน แม้บุคคลดังกล่าวจะเป็นผู้มีบุญคุณต่อโจทก์ตามที่กล่าวอ้างก็ย่อมเป็นเหตุอันไม่สมควรในทางการค้า เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินราคาที่ดินที่โจทก์ขายให้แก่ ศ.และส.ตามราคาตลาดในวันที่มีการโอนเพื่อคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) โจทก์มีเงินได้จากการค้าที่ดิน จัดอยู่ในประเภทเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) ซึ่งประมวลรัษฎากร มาตรา 46 ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาอันได้แก่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11)พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 155 พ.ศ. 2515 ข้อ 10 ที่กำหนดว่าเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ที่มิได้ระบุไว้ในมาตรา 8 ให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรทั้งนี้ให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16)พ.ศ. 2502 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และตามหนังสือกรมสรรพากรเลขที่ กค 0802/6625 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2529 ได้วางแนวทางให้ถือปฏิบัติในการหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้จากการขายที่ดินที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรไว้ดังนี้ 1. ผู้มีเงินได้จะต้องหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 หากผู้มีเงินได้ไม่สามารถหาหลักฐานเกี่ยวกับการใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรมาพิสูจน์ได้หักค่าใช้ให้เจ้าพนักงานประเมินพิจารณาหักค่าใช้จ่ายสำหรับต้นทุนที่ดินและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้ 2. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาตามสภาพความเป็นจริงเป็นราย ๆ ไปแต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของราคาขาย เมื่อโจทก์มีเพียงหลักฐานทางบัญชี แต่ไม่มีเอกสารประกอบการลงบัญชีมาแสดง การที่เจ้าพนักงานประเมินฟังว่า เป็นกรณีโจทก์ไม่สามารถหาหลักฐานเกี่ยวกับการใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรมาพิสูจน์ได้และพิจารณาหักค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 10 ของราคาขายจึงเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2213/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายจ่ายซื้อข้าวโพดชดเชยขาดสต๊อกเป็นรายจ่ายจริงทางภาษี หากพิสูจน์ได้ว่ามีการจ่ายจริงและเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ
แม้โจทก์จะจ่ายค่าบริการให้แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรเจ้าหน้าที่มาตรฐานสินค้าและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสินค้าที่มาควบคุมการขนถ่ายสินค้าจากไซโลลงเรือไปจริงและเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อค่าใช้จ่ายดังกล่าวโจทก์เพียงแต่ลงบัญชีไว้โดยมิได้ระบุว่าจ่ายให้แก่ผู้ใด จึงเป็นรายจ่ายที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ต้องห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (18) โจทก์รับอบข้าวโพดจากลูกค้า ข้าวโพดจะสูญเสียน้ำหนักภายหลังการอบเนื่องจากความชื้นลดลงและตกหล่น ขณะขนส่งโจทก์ต้องรับผิดต่อลูกค้าโดยซื้อข้าวโพดมาชดเชยส่วนที่สูญเสียน้ำหนัก ค่าใช้จ่ายในการซื้อข้าวโพดมาชดเชยจึงมิใช่รายจ่ายที่โจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง โจทก์จึงนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาคำนวณกำไรสุทธิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การจำหน่ายหนี้สูญ, การรับรู้รายได้, ค่าใช้จ่ายที่ไม่สมควร, และการพิสูจน์หลักฐานการจ่ายเงิน
โจทก์ตีราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีโดยวิธีตัดราคาลงตามกฎเกณฑ์ของโจทก์ แต่สินค้าประเภท ชนิดคุณภาพและสภาพเดียวกันกับของโจทก์มิได้มีการซื้อขายกันในท้องตลาดตามราคาที่โจทก์ได้ตีไว้ หรือโจทก์ได้ขายสินค้าในวันตีราคาหรือหลังวันดังกล่าวไปตามราคาที่โจทก์ได้ตีไว้ ราคาสินค้าคงเหลือที่โจทก์ได้ตีไว้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นราคาตลาด การที่โจทก์นำราคาดังกล่าวซึ่งต่ำกว่าราคาทุนมาเป็นราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจึงไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(6)เป็นเหตุให้การคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์แต่ละรอบระยะเวลาบัญชีคลาดเคลื่อนไป การที่เจ้าพนักงานประเมินปรับปรุงกำไรสุทธิและภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ใหม่ โดยคำนวณราคาสินค้าคงเหลือของโจทก์ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามราคาทุนจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์อ้างว่าโจทก์จ่ายค่านายหน้าตามเอกสารที่มีลายมือชื่อและที่อยู่ของนายหน้า แต่เมื่อเจ้าพนักงานประเมินไม่เชื่อถือเอกสารดังกล่าว ไม่ยอมให้โจทก์ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิโจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และต่อศาล แต่โจทก์มิได้นำนายหน้ามาให้การหรือเบิกความ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จ่ายเงินด้วยเช็คระบุชื่อผู้รับเพื่อให้เป็นหลักฐานว่าโจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่นายหน้าไปจริง ส่วนใหญ่ก็เป็นรายการขายสินค้าให้แก่ทางราชการซึ่งปกติไม่จำเป็นต้องมีค่านายหน้า ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่านายหน้าให้แก่ผู้รับตามเอกสารที่โจทก์อ้างจึงเป็นกรณีที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(18) โจทก์จึงนำรายจ่ายดังกล่าวมาคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ ใบเสร็จรับเงินค่าซื้อสินค้าที่ไม่ได้ระบุทะเบียนการค้าและสถานการค้าของผู้รับเงินไว้ และเลขบ้านที่ปรากฏในใบเสร็จรับเงินก็ไม่มีอยู่จริงบ้าง เป็นเลขบ้านในสลัมซึ่งมิได้ประกอบการค้าบ้างเป็นเลขบ้านที่บุคคลในบ้านมีชื่อไม่ตรงกับผู้รับเงินและประกอบการค้าต่างชนิดกับสินค้าตามใบเสร็จรับเงินบ้าง ทั้งโจทก์มิได้นำผู้ขายมายืนยันว่าได้ขายสินค้าและรับเงินจากโจทก์ตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์อ้าง ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้จ่ายเงินด้วยเช็คระบุชื่อผู้ขายทั้ง ๆ ที่สินค้าบางรายการมีราคาถึง 100,000 บาท พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือ ไม่พอที่จะฟังว่าโจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่ผู้รับตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์อ้าง ถือได้ว่ารายจ่ายค่าซื้อสินค้าดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ กรรมการบริษัทโจทก์ใช้ดุลพินิจในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้หลังจากที่ให้พนักงานฝ่ายขายติดตามหาลูกหนี้และทวงถามหลายครั้ง และในรายที่จำนวนหนี้สูงก็ให้ทนายความมีหนังสือทวงถาม แต่ไม่ได้รับชำระ ถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้ว จึงเป็นการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้โดยชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(9) ที่ใช้บังคับอยู่ในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท หาจำต้องฟ้องร้องบังคับจนถึงที่สุดก่อน เพราะกฎหมายบัญญัติให้ปฏิบัติการโดยสมควรเท่านั้น ดอกเบี้ยเงินกองทุนในส่วนที่เกิดจากเงินที่พนักงานโจทก์แต่ละคนจ่ายสะสมเข้ากองทุน ไม่ถือเป็นเงินได้ของโจทก์ที่จะต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะเงินสะสมดังกล่าวฝากธนาคารในชื่อของพนักงานเป็นรายบุคคล มีกรรมการผู้จัดการสมุห์บัญชีและผู้จัดการงานบุคคลของโจทก์เป็นผู้ควบคุมในการถอนเงิน โจทก์หาได้ครอบครองตัวเงินไว้เองหรือมีสิทธิได้รับเงินไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 183/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโดยคำนวณจากยอดซื้อขายน้ำมันและกำไรต่อลิตร ยอมรับการประเมินของเจ้าพนักงานแล้วชอบด้วยกฎหมาย
การที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบยอดขายน้ำมันของโจทก์โดยนำเอายอดซื้อคงเหลือต้นปีบวกด้วยยอดซื้อตลอดปี แล้วลบด้วยยอดคงเหลือปลายปี ผลที่ได้ถือเป็นยอดขายของโจทก์ เมื่อปรากฏว่ายอดขายของโจทก์จากการตรวจสอบดังกล่าวสูงกว่ายอดขายตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ส่งมาให้ตรวจสอบ จึงนำยอดขายที่ได้จากใบเสร็จรับเงินลบออกจากยอดขายที่ได้จากการตรวจสอบแล้วถือว่าผลต่างที่ได้เป็นจำนวนน้ำมันที่โจทก์ขายไปโดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน และประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มนั้น ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ในชั้นตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมิน ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีว่ายินยอมให้เพิ่มยอดขายต่อลิตรในอัตราลิตรละ 0.02 บาท จากราคาขายที่แสดงไว้เดิม ดังนี้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินโดยถือเกณฑ์กำไรลิตรละ 0.02 บาทได้โดยชอบ โจทก์อุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นกล่าวไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 183/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโดยอ้างอิงยอดขายที่ตรวจสอบพบและคำยินยอมของผู้แทนโจทก์
ยอดขายน้ำมันของโจทก์ที่ได้จากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินโดยนำยอดซื้อคงเหลือต้นปีบวกด้วยยอดซื้อตลอดปี แล้วลบด้วยยอดคงเหลือปลายปี มีจำนวนสูงกว่ายอดขายตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ส่งไปให้ตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินย่อมนำยอดขายที่ได้จากใบเสร็จรับเงินลบออกจากยอดขายที่ได้จากการตรวจสอบแล้วถือว่าผลต่างที่ได้เป็นจำนวนน้ำมันที่โจทก์ขายไปโดยไม่มีใบเสร็จรับเงินและประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มจากผลต่างดังกล่าวได้ ในชั้นตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมิน ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีว่ายินยอมให้เพิ่มยอดขายน้ำมันต่อลิตรในอัตราลิตรละ 0.02 บาท จากราคาขายที่แสดงไว้เดิม เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินโดยถือเกณฑ์กำไรลิตรละ 0.02 บาทได้
of 4