คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 65 ตรี (18)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 20 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายจ่ายต้องห้ามทางภาษี: การพิสูจน์ผู้รับเงินสำคัญกว่าการใช้จ่ายจริง
โจทก์ พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินตามสำเนาใบกำกับภาษีและบิลเงินสดพิพาท จึงต้องฟังว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์นั้นเมื่อโจทก์มิได้ยกปัญหาดังกล่าวเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากร ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1445/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้จากกำไรของบริษัทต่างประเทศที่ขายสินค้าให้ลูกค้าในไทยโดยผ่านสาขาในไทย และการส่งกำไรออกนอกประเทศ
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2527 มาตรา 20 บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี โดยรายได้ที่นำมาคำนวณให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดแม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณ เป็นรายได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะใช้เกณฑ์อย่างอื่นแทนเกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรเมื่อโจทก์ไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์สิทธิเพื่อคำนวณรายได้และรายจ่าย ทั้งกิจการของโจทก์มิใช่กิจการตามประเภทระบุไว้ในคำสั่งกรมสรรพากรที่จะทำให้โจทก์สามารถใช้เกณฑ์อื่นในการคำนวณกำไรสุทธิได้แต่อย่างใดดังนั้น โจทก์จึงต้องใช้ระบบบัญชีเกณฑ์สิทธิในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี โจทก์จะใช้ระบบบัญชีเกณฑ์เงินสดในการคำนวณกำไรสุทธิหาได้ไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าดอกเบี้ยค้างรับมิใช่รายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องใช้เกณฑ์สิทธินั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ค่าใช้จ่ายที่จะถือว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(18) หรือไม่นั้น โจทก์ต้องพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงิน เมื่อโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินจำนวนดังกล่าว ย่อมเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี(18) แม้เงินกำไรที่พิพาทจะเป็นเงินกำไรที่บริษัทน.ประเทศญี่ปุ่นได้มาจากการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยโดยตรงไม่ได้ขายสินค้าโดยผ่านโจทก์ซึ่งเป็นสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยเลย แต่เมื่อเงินกำไรที่บริษัทน.ประเทศญี่ปุ่นได้จากการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศไทยโดยตรงนั้นเป็นกิจกรรมเช่นที่โจทก์ซึ่งเป็นสถานประกอบการถาวรได้ประกอบอยู่โดยปกติ และโจทก์สามารถปฏิบัติได้ จึงถือว่ากำไรทีพิพาทกันเป็นกำไรที่เกิดจากโจทก์ตามความในวรรค 4ของหนังสือที่ผู้แทนรัฐสภาไทยและผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นจัดทำขึ้น ประกอบกับข้อ 3 วรรค 1 แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ โจทก์จึงต้องเสียภาษีจากกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 66 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อมีการส่งเงินกำไรดังกล่าวออกจากประเทศไทย แม้ว่าลูกค้าในประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งให้แก่บริษัทน.ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของโจทก์ ก็ย่อมถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นสาขาเป็นผู้จำหน่ายเงินกำไรนั้นออกไปจากประเทศไทย โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 ทวิ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์คำนวณกำไรขั้นต้นถูกต้อง และในการ คำนวณกำไรสุทธิของสำนักงานใหญ่ โจทก์มีสิทธินำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ การรับรองและค่าเสื่อมราคามาเฉลี่ยในการคำนวณได้นั้นโจทก์มิได้ยกข้อดังกล่าวเป็นข้ออ้างเพื่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำฟ้อง แม้ว่าโจทก์และจำเลยจะได้สืบพยานและศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้าม มิให้อุทธรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร มาตรา 29 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3615/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล: รายจ่ายซื้อมันเส้นและสินค้าขาดบัญชี ต้องมีเหตุผลประกอบด้วยหลักฐาน
การที่กรมสรรพากรจำเลยที่ 1 ใช้มาตรฐานในการคำนวณต้นทุนสินค้าตามหนังสือกรมสรรพากรที่ กค.0810/13252ลงวันที่ 29 กันยายน 2530 ซึ่งได้กำหนดแนวทางการตรวจสอบผู้ประกอบกิจการค้าพืชผลการเกษตรหากไม่สามารถพิสูจน์ผู้ขายได้ ให้ถือราคารับซื้อตามราคาตลาดที่ปรากฏในเอกสารของส่วนราชการนั้น อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ เพราะตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่ไม่ปรากฏเหตุผลว่าโจทก์ซื้อมันเส้นในราคาสูงไปอย่างไร การที่จำเลยที่ 1 ไม่เชื่อถือ ใบสำคัญหรือหลักฐานแสดงการรับจ่ายเงินค่ามันเส้นของโจทก์ที่สุ่มมา ตรวจสอบเพียงบางฉบับ มิใช่เหตุที่จะฟังว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์สูงเกินสมควร เพราะราคาซื้อขายมันเส้นโดยทั่วไปมิได้มีราคาตายตัวหรือมีราคาเดียว และราคาซื้อขายมันเส้นโดยเฉลี่ยของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาที่จำเลยที่ 1นำมาใช้เป็นเกณฑ์คำนวณมีทั้งที่สูงและต่ำกว่าราคาที่โจทก์ระบุว่ารับซื้อมันเส้นจากผู้ค้าพืชไร่ อีกทั้งโจทก์ตรวจสอบคุณภาพมันเส้นที่จะรับซื้อด้วยว่ามีค่าความชื้นและสิ่งปนเปื้อน เกินมาตรฐานที่โจทก์กำหนดหรือไม่โดยหากปรากฏว่ามันเส้นที่จะรับซื้อมีค่าความชื้นหรือสิ่งปนเปื้อน เกินมาตรฐานโจทก์จะคำนวณนำหนักมันเส้นโดยตัดน้ำหนักตามเปอร์เซ็นต์ความชื้นหรือสิ่งปนเปื้อนที่เกินมาตรฐานและคำนวณเงินค่ามันเส้นที่ต้องจ่ายให้ผู้ขายจากน้ำหนักสุทธิภายหลังการตัดน้ำหนักดังกล่าวแล้ว ส่วนการซื้อขายมันเส้นที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาจัดทำไม่ปรากฏว่าราคาซื้อขายมันเส้นได้นำมาจากการซื้อขายเช่นกรณีของโจทก์หรือไม่ ดังนั้นการที่โจทก์รับซื้อมันเส้นในราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาก็อาจอยู่ภายในกรอบของราคาตลาดได้ มิใช่แสดงว่าราคาที่โจทก์ซื้อสูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นอกจากนี้โจทก์ยังนำสืบแสดงหลักฐานการจ่ายเงินค่ามันเส้นว่าโจทก์จ่ายเป็นเช็ค โดยในใบสำคัญจ่ายจะระบุชื่อธนาคารและหมายเลขเช็คซึ่งสามารถตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินได้จากบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ รวมทั้งโจทก์ยังบันทึกรายการซื้อมันเส้นในสมุดรายวันซื้อด้วย โดยจำเลยทั้งสี่ก็มิได้นำสืบโต้แย้งว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้อง แต่กลับยอมรับว่าเมื่อได้ตรวจสอบบัญชีกระแสรายวันของโจทก์แล้วพบว่ายอดเงินตามเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายและมีการนำมาเรียกเก็บแต่ละยอดตรงกับยอดเงินตามใบรับเงินที่โจทก์อ้างว่าจ่ายเป็นค่าซื้อมันเส้นดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะตรวจสอบรายจ่ายโดยเรียกผู้มีชื่อที่ระบุว่าขายมันเส้นให้โจทก์มาสอบถามแล้ว พบว่าหลักฐานการซื้อขายมันเส้นของโจทก์บางรายการไม่น่าเชื่อถือก็หาอาจสรุปว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์ทั้งหมดทุกรายการเป็นรายจ่ายซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเนื่องจากการตรวจสอบของจำเลยทั้งสี่เพียงแต่ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างจากรายชื่อผู้ขายบางส่วนเท่านั้น มิได้ตรวจสอบจากเอกสารการจ่ายเงินของโจทก์ทุกรายการ และมิได้ให้โอกาสโจทก์พิสูจน์หลักฐานการจ่ายเงินทั้งหมด การตรวจสอบและให้โจทก์พิสูจน์หลักฐานการจ่ายเงินเพียงบางส่วนจากสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาจทราบได้ว่าจำนวนเงินรายจ่ายในส่วนที่มีการสุ่มตัวอย่างตรวจสอบนี้เป็นเงินเท่าใด จึงไม่ชอบที่จะถือว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นทั้งหมดของโจทก์เป็นรายจ่ายที่ไม่อาจพิสูจน์ตัวผู้รับได้ แต่กลับฟังได้ว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์เป็นรายจ่ายที่โจทก์จ่ายไปจริง มิใช่รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับและมิใช่รายจ่ายค่าซื้อสินค้าที่สูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันจะถือว่าเป็นรายจ่าย ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(15) และ(18) แม้ในขั้นตอนการตรวจสอบและการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจำเลยที่ 1 จะอ้างว่าโจทก์มีรายได้จากการขายมันอัดเม็ดต่ำไป แต่จากข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบมิใช่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 พบว่าโจทก์ได้ขายมันอัดเม็ดไปจริงแล้วแสดงรายได้จากการขายมัดอัดเม็ดต่ำไปหากแต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายมันอัดเม็ดสูงกว่าที่แสดงไว้เนื่องมาจากจำเลยที่ 1 คำนวณการสูญเสียน้ำหนักในขั้นตอนการผลิตมันอัดเม็ดของโจทก์ โดยใช้วิธีบวกน้ำหนักมันเส้นที่โจทก์ตัดออกในขณะรับซื้อกลับเข้ามาเป็นฐานในการคำนวณ จึงทำให้ตัวเลขแสดงยอดมันอัดเม็ดที่ควรผลิตได้สูงกว่าที่โจทก์ระบุในบัญชีขาย แล้วจำเลยที่ 1จึงถือว่าจำนวนมัดอัดเม็ดที่ขาดหายไปเป็นการขายของโจทก์การประเมินด้วยวิธีการเช่นนี้เท่ากับเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1เห็นว่าโจทก์มีสินค้าขาดจากบัญชีคุมสินค้า จึงให้ถือว่าเป็นการขายสินค้าและให้ถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 79 ทวิ(6)เดิม ที่ใช้ บังคับในขณะนั้น ซึ่งการประเมินด้วยวิธีการตามมาตรา 79 ทวิ(6)เดิมเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่ภาษีการค้า หาได้มีบทบัญญัติให้นำไปใช้ในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ให้ถือว่ายอดมันอัดเม็ด ที่ขาดไปจากบัญชีขายของโจทก์เป็นการขายเพื่อถือเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1809/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีการค้าเกินกำหนด 5 ปี และการลดหย่อนเงินเพิ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย
รายจ่ายส่วนลดที่โจทก์อ้าง ผู้ซื้อที่ดินชำระเกินมาเนื่องจากที่ดินมีเนื้อที่น้อยกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญานั้น โจทก์ไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินส่วนลดประกอบการลงบัญชีโดยให้ผู้รับส่วนลดเช็นต์ชื่อเป็นหลักฐานประกอบ จึงต้องฟังว่ารายจ่ายดังกล่าวโจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายเองต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) รายจ่ายส่วนตัวของหุ้นส่วนผู้จัดการ และของบริษัทในเครือรวมทั้งหุ้นส่วนอื่น ๆ เป็นรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์เนื่องจากเป็นรายจ่ายของบุคคลอื่น จึงมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์ ส่วนรายจ่ายค่ารับรองเกินสมควรและรายจ่ายค่าธรรมเนียมที่ดินของบุคคลอื่นไม่ใช่รายจ่ายของโจทก์ โจทก์ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่ารายจ่ายดังกล่าวมิใช่รายจ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3)(4)(9)(13) และ (18) ตามที่จำเลยนำสืบ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า รายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(3)(4)(9)(13) และ (18) ซึ่งโจทก์ได้นำมารวมคำนวณกำไรสุทธิโดยไม่ชอบ สำหรับรายจ่ายค่าการกุศลที่เกินกว่าร้อยละ 1 ของกำไรสุทธินั้นเมื่อโจทก์ยอมรับว่ารายจ่ายการกุศลเกินกว่าร้อยละ 1 ของกำไรสุทธิจริงข้อเท็จจริงฟังได้ว่ารายจ่ายดังกล่าวต้องห้ามมิให้ถือว่าเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (6) ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ให้ถ้อยคำไว้ต่อเจ้าพนักงานประเมินยอมรับว่าค่าจ้างแรงงานลูกจ้างรายวันของโจทก์ในปี2518 ถึง 2520 นั้น โจทก์ไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ กับเบิกความยอมรับในชั้นศาลว่า โจทก์คงหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินเดือนของลูกจ้างประจำในปี 2518 ถึง 2522 และนำส่งให้แก่จำเลย ส่วนค่าแรงงานลูกจ้างรายวันนั้นโจทก์ไม่ได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายไว้ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์จึงยอมให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากค่าแรงงานส่วนนี้ในอัตราร้อยละ 3เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ค่าจ้างแรงงานรายวันเป็นรายบุคคลได้ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราดังกล่าวตามความยินยอมของผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์จึงถือได้ว่า โจทก์พอใจตามการประเมินนั้นแล้วโจทก์จะกลับมาอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนนี้อีกไม่ได้ และปัญหาดังกล่าวนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบด้วยมาตรา 246,247 และ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรกลาง พ.ศ. 2528 มาตรา 29 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการรายรับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 และปี 2522 ไว้เกินไปกว่าจำนวนที่ปรากฎในบัญชีโจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าในปี 2520 และปี 2522แต่เจ้าพนักงานประเมินกลับประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับ 1 เท่าของจำนวนภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(3) เป็นเงินเบี้ยปรับ 6,405 บาท และเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 89 ทวิเป็นเงินจำนวน 128,034.73 บาท จึงเป็นการไม่ชอบเพราะโจทก์ไม่มีจำนวนภาษีการค้าที่ต้องเสียเนื่องจากเหตุเสียคลาดเคลื่อนน้อยไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2522แล้ว ก็ย่อมจะไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับอีกเมื่อปรากฎว่าโจทก์ได้นำรายรับตามที่โจทก์ลงไว้ในสมุดเงินสดไปยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีการค้าของเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2522 แก่จำเลยไว้แล้ว แต่เจ้าพนักงานประเมินคงตรวจพบแต่เพียงว่า รายรับของโจทก์สำหรับเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2522 ตามสมุดเงินสดนั้น คลาดเคลื่อนต่อความจริงกล่าวคือรายรับบางส่วนเป็นรายรับของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 กรณีเป็นเรื่องที่จะต้องนำรายรับที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีคลาดเคลื่อนดังกล่าวไปแก้ไขปรับปรุงรายการในแบบรายการการค้าของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 แล้วประเมินภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 หาใช่เหตุที่จะมาประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับภาษีการค้ารอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 ไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมิน ประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มของภาษีการค้ารอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 จึงไม่ถูกต้องเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 20 โจทก์จึงอาจต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นตามที่ประมวลรัษฎากรมาตรา 22 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติไว้ กฎหมายดังกล่าวให้ดุลพินิจแก่เจ้าพนักงานประเมินที่อาจจะใช้ดุลพินิจกำหนดให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มน้อยกว่าร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นได้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินกำหนดจำนวนเงินเพิ่มตามอัตราที่ไม่เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 29 และ 30 ตามลำดับ ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าอัตราเงินเพิ่มที่เจ้าพนักงานประเมินได้ใช้ดุลพินิจกำหนดไว้และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นเหมาะสมแล้ว หรือหากไม่เหมาะสมศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงให้แก่โจทก์ได้ โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลขาดไปจำนวนมากและไม่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะลดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายนั้น ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนโดยยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินประเมินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จากค่าแรงงานลูกจ้างรายวันของโจทก์ได้ในอัตราร้อยละ 3 เป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบไต่สวนจึงมีเหตุสมควรลดเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มเพียงร้อยละ 10 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 คงวางเกณฑ์เกี่ยวกับกำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลเท่านั้นมิได้วางเกณฑ์ว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาต่อศาลจะอ้างเหตุตามบทกฎหมายบทอื่นเพื่อชี้ว่าการประเมินภาษีการค้าสำหรับรองระยะเวลาบัญชีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ไม่ได้ ดังนั้นโจทก์จึงยกข้ออ้างตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิ(1) ขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลได้ แม้จะมิได้ยกเป็นข้ออ้างในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แต่ต้นก็ตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 87 ตรี เป็นบทกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือพยานกับมีอำนาจสั่งบุคคลเหล่านั้นให้นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้ แต่จะต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันได้รับหมายเรียกไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องออกหมายเรียกภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือวันที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง ถ้ามีการยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือภายใน 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้ หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า ทั้งมิได้กำหนดให้ทำการประเมินหลังจากออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามาตรวจสอบไต่สวนแล้วภายในกำหนดเวลาเท่าใด แต่มีประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิบัญญัติว่า การประเมินให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ (1) ห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า หรือวันที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลังถ้ามีการยื่นแบบแสดงรายการการค้า (1) สิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินจะได้ออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามาตรวจสอบไต่สวนหรือไม่ การประเมินก็จะต้องกระทำภายในกำหนดเวลาที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 88 ทวิ บัญญัติไว้ทั้งสิ้น เมื่อปรากฎว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้าสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2517 ถึงปี 2521พ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากรมาตรา 88 ทวิ (1) และมิใช่กรณีโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า อันจะทำการประเมินได้ภายในสิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4082/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นภาษีอากร: การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล, ค่าใช้จ่ายต้องห้าม, เงินเพิ่ม, และการพิสูจน์หลักฐานทางบัญชี
ในกรณีที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นชอบด้วยนั้น อาจถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือเพิกถอนโดยคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้ กรมสรรพากรมีสิทธิจะได้รับชำระภาษีอากรตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ จึงต้องรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลเสียก่อนมิฉะนั้นบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรที่กล่าวมาแล้วก็จะไร้ผล คดีนี้โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล และคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลซึ่งยังไม่ถึงที่สุด กรมสรรพากรจำเลยจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้งให้โจทก์ชำระภาษีอากรตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 19 ที่กำหนดให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกได้ภายใน 5 ปี นับแต่วันยื่นรายการมิใช่เป็นอายุความในการเรียกร้องให้ชำระภาษี ในการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบภายในกำหนดเวลาเท่าใด และสิทธิเรียกร้องค่าภาษีอากรมีอายุความ 10 ปี ดังนั้น แม้จะแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้โจทก์ทราบเกิน 5 ปี นับแต่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมินก็ไม่ทำให้การประเมินที่ผ่านมาแล้วเป็นการประเมินที่ไม่ชอบ ในการจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ โจทก์ได้แบ่งจ่ายให้แก่ผู้อื่นตามที่เจ้าของลิขสิทธิ์บอก ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าผู้มีเงินได้ค่าลิขสิทธิ์จริงคือผู้ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนผู้ที่มารับเงินเพียงแต่เป็นบุคคลที่เจ้าของลิขสิทธิ์บอกให้โจทก์จ่ายจึงถือได้ว่าเป็นเงินได้ที่โจทก์จ่ายให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียว โจทก์ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายเหมือนเช่นจ่ายเงินได้ให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แต่ผู้เดียว ไม่ชอบที่โจทก์จะคำนวณหักภาษีณ ที่จ่ายหลังจากแบ่งค่าลิขสิทธิ์ให้แก่บุคคลต่าง ๆ ที่เจ้าของลิขสิทธิ์บอกให้โจทก์จ่ายแล้วซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งไม่ครบถ้วน ทั้งนี้เพราะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นถ้ามีเงินได้มากขึ้นก็จะต้องเสียภาษีในอัตราเพิ่มมากขึ้น แม้โจทก์จะไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากการหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่กฎหมายกำหนดให้โจทก์ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีณ ที่จ่าย และนำส่งให้ถูกต้องครบถ้วน เมื่อโจทก์หักและนำส่งไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง โจทก์ก็ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่ขาดตามมาตรา 54 ค่าซื้อเครื่องถ่ายเอกสารตามหลักฐานปรากฏว่าโรงพิมพ์ ก.ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากโจทก์เป็นผู้ซื้อ จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะ ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (13) ค่ากระเช้าดอกไม้ ค่าช่วยงานแต่งงาน ค่าช่วยงานบวชนาค และค่าช่วยงานศพ ล้วนมีลักษณะเป็นการให้โดยเสน่หา และเป็นการส่วนตัวของผู้มีอำนาจจ่ายเงินนั้น ๆ เพื่อประโยชน์ในทางการงานหรือสังคมของตนเอง และมิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อหารายได้ในการดำเนินธุรกิจการค้าของโจทก์โดยตรงจึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (3) รายจ่ายค่าซ่อมรถซึ่งโจทก์ไม่มีหลักฐานว่าเป็นค่าซ่อมรถของโจทก์จึงถือไม่ได้ว่าเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตาม มาตรา 65 ตรี (13) ค่ารับรองและค่าพาหนะซึ่งล้วนแต่เป็นรายจ่ายที่เป็นการส่วนตัวของผู้มีอำนาจจ่ายเงินยิ่งกว่าประโยชน์ทางการค้าของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตาม มาตรา 65 ตรี (3) ค่าขนส่ง ค่านายหน้า และค่าจ้างทำของ และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (18) ค่าซ่อมแซมพื้นห้องที่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าโจทก์ได้ซ่อมแซมพื้นห้องของโจทก์จริง จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายตาม มาตรา 65 ตรี (13) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์หลีกเลี่ยงภาษีและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ผ่อนผันลดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์แล้ว คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเงินเพิ่มตามกฎหมายจึงไม่มีเหตุที่ศาลจะงดเงินเพิ่มให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2213/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายจ่ายซื้อข้าวโพดชดเชยขาดสต๊อก เป็นรายจ่ายจริงในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษี
โจทก์ประกอบธุรกิจรับอบข้าวโพดที่จะส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศเมื่อลูกค้านำข้าวโพดมาส่งให้โจทก์ โจทก์จะชั่งน้ำหนักและวัดความชื้นไว้แล้วใช้สูตรมาตรฐานคำนวณว่าเมื่อนำข้าวโพดมาแยกวัสดุเจือปนออกและอบให้ได้ความชื้น ร้อยละ 14.5 แล้วจะเหลือน้ำหนักเท่าใด โจทก์ก็จะออกใบรับตามจำนวนน้ำหนักที่คำนวณจากสูตรมาตรฐานนั้นให้ลูกค้าเพื่อนำมารับข้าวโพดคืน ข้าวโพดที่ลูกค้ามารับคืนไม่จำต้องเป็นจำนวนเดียวกันกับที่ลูกค้านำมาอบ ลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบการสูญเสียน้ำหนักเอง ข้าวโพดที่ผ่านการอบแล้วบางส่วนจะมีความชื้นเหลือน้อยกว่าร้อยละ 14.5 ทำให้สูญเสียน้ำหนักไปเกินกว่าที่คำนวณไว้โดยสูตรมาตรฐานดังกล่าว และยังมีการสูญเสียน้ำหนักภายหลังอบแล้วด้วยเหตุอื่นอีก เช่นความชื้นลดลงอีกตามธรรมชาติและการขนถ่ายข้าวโพดลงเรือซึ่งโจทก์ไม่สามารถปัดให้เป็นความรับผิดของลูกค้าได้ โจทก์ต้องส่งมอบข้าวโพดที่อบแล้วตามจำนวนน้ำหนักที่ได้คำนวณด้วยสูตรมาตรฐานให้แก่ลูกค้าแต่ละรายที่ได้ออกใบรับให้ไว้ ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการซื้อข้าวโพดมาชดเชยจำนวนข้าวโพดที่สูญเสียน้ำหนักไปซึ่งโจทก์จะต้องรับผิดชอบต่อลูกค้า จึงเป็นรายจ่ายที่มีการจ่ายจริงนำมาคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ได้ ส่วนค่าใช้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรเจ้าหน้าที่มาตรฐานสินค้าและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสินค้าที่มาควบคุมการขนถ่ายสินค้าจากไซโล ลงเรือโจทก์จ่ายไปเพื่อประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ แต่มิได้ระบุว่าจ่ายให้แก่ผู้ใด จึงเป็นรายจ่ายที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ต้องห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตาม ป.รัษฎากรมาตรา 65 ตรี (18).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6105/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษี การหลีกเลี่ยงภาษี การหักค่าใช้จ่าย และเบี้ยปรับ: ข้อพิพาทเกี่ยวกับการประเมินภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย
กรณีที่จะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม ป.รัษฎากร(ฉบับที่ 14) มาตรา 30 นั้น ผู้เสียภาษีจะต้องยื่นคำขอเสียภาษีอากรและได้ชำระภาษีอากรตามจำนวนที่จะต้องเสียภายในระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดโจทก์ยื่นคำขอเสียภาษีอากรแล้ว โจทก์ผ่อนชำระภาษีเป็นรายเดือนตามแบบผ่อนชำระภาษีอากร แต่โจทก์มิได้ผ่อนชำระงวดแรกในกำหนด จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ชำระภาษีอากรตามเงื่อนไขและภายในเวลาที่กำหนดไว้ต้องถือว่าโจทก์มิได้ชำระภาษีอากรภายในเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด ดังนี้โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ตามมาตรา 30 โจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการประเมินทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แม้โจทก์ยกขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้งการประเมินของเจ้าพนักงานตามคำอุทธรณ์เฉพาะในเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีการพิจารณาถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรสด้วย แสดงว่าภาษีสองประเภทนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มาแล้วตามมาตรา 30 แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย โจทก์ยอมรับว่ามิได้มีการหักภาษีเงินได้เมื่อจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ และโจทก์จึงยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษี หัก ณ ที่จ่าย เป็นการเหมาพร้อมเงินเพิ่มและโจทก์ก็มิได้โต้แย้งจำนวนเงินค่าจ้างแรงงานที่เจ้าพนักงานตรวจพบ ดังนั้น การประเมินจึงมิใช่การประเมินที่มิชอบด้วยกฎหมาย ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส นั้น เมื่อโจทก์รับซื้อข้าวโพดและข้าวซึ่งเป็นพืชผลในทางการเกษตร โจทก์จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าทางการเกษตรโจทก์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องหักภาษี ณที่จ่าย เพื่อนำส่งเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อโจทก์มิได้หักภาษีณ ที่จ่าย และนำส่ง ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินภาษีจากเงินจำนวนที่ตรวจพบ จึงเป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งตามกฎหมาย แต่โจทก์ไม่หักไว้และนำส่ง โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินเพิ่มจนกว่าโจทก์จะชำระภาษีในส่วนนี้เสร็จ แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่จะต้องเสียหรือนำส่งตามมาตรา 27 มิใช่ชำระเงินเพิ่มเพียงวันที่มีผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการ ค่าโทรศัพท์ และค่ากระแสไฟฟ้า เป็นกรณีที่จะต้องมีเอกสารหลักฐานเก็บไว้แต่โจทก์ไม่มีมาแสดงและจำเลยก็ยังโต้แย้งอยู่ตลอดจนค่าดำเนินการตามพิธีศุลกากร และอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่โจทก์สั่งเข้ามา ไม่ปรากฏหลักฐานว่า โจทก์จ่ายให้ใคร อย่างไรเมื่อใด จึงเป็นรายจ่ายซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ต้องห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (18) โจทก์ส่งข้าวสาร ไปขายต่างประเทศ โดยไม่ลงบัญชี และสั่งสินค้ากากถั่วเหลืองมาจากต่างประเทศเพื่อขายไม่ลงบัญชี ส่วนที่ลงบัญชีโจทก์แสดงต้นทุนซื้อสูงกว่าความเป็นจริง พฤติการณ์ในการกระทำของโจทก์แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่ตนมีหน้าที่ต้องชำระ โจทก์มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีณ ที่จ่าย โจทก์ละเลยโดยไม่มีเหตุผล เมื่อกฎหมายให้โอกาสโจทก์ก็ใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่ต่อมาไม่ปฏิบัติตาม ดังนี้ไม่มีเหตุอันควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5353/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายหนี้สูญและการหักค่าใช้จ่ายทางภาษี การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมายและขอบเขตการพิสูจน์
หนี้ที่จะนำไปจำหน่ายเป็นหนี้สูญในการคำนวณกำไรสุทธินั้นต้องปรากฏว่าโจทก์ได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้วตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(9) แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 มาตรา 29ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ซึ่งต้องพิจารณาตามสภาพของกิจการที่ประกอบอยู่ว่าสมควรจะทำได้เพียงใดหนี้ของโจทก์เกิดจากการขายลดเช็คและทรัสต์รีซีท ลูกหนี้บางรายโจทก์ดำเนินคดีอาญาหรือฟ้องคดีแพ่งบางรายมิได้ฟ้องคดีเนื่องจากหนี้มีจำนวนเล็กน้อยไม่คุ้มค่าใช้จ่ายแต่โจทก์ได้ให้คนติดตามทรัพย์สินของลูกหนี้ปรากฏว่าไม่มีที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ จึงไม่ได้ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีสำหรับรายที่ศาลพิพากษาแล้ว ถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้ว จะนำเอาหลักเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นภายหลังมาเป็นตัวกำหนดเจตนารมณ์ในการแปล กฎหมายที่ใช้อยู่เดิมเพื่อเป็นการเพิ่มภาระของผู้เสียภาษีย่อมไม่ได้ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะจำหน่ายหนี้เหล่านั้นเป็นหนี้สูญในการคำนวณกำไรสุทธิได้ โจทก์ทำหลักทรัพย์ขาดบัญชีโดยความบกพร่องหรือผิดพลาดในการบริหารงานของโจทก์ ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าเป็นหุ้นที่ซื้อจากผู้ใด จำนวนกี่หุ้น เป็นเงินเท่าใด ได้รับมาครบถ้วนหรือไม่แม้โจทก์จะมีผู้สอบบัญชีอนุญาตตรวจรับรองว่าโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวซื้อหลักทรัพย์มาทดแทนส่วนที่หายไปก็ตาม ไม่ใช่เป็นกรณีจำหน่ายหนี้สูญตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ(9) แต่ถือว่าเป็นรายจ่ายซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา65 ตรี(18).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1867/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ผู้รับเงินเพื่อหักค่าใช้จ่ายทางภาษี ต้องมีหลักฐานชัดเจน ลายเซ็นไม่ตรงกับตัวอย่างธนาคารไม่อาจรับฟังได้
โจทก์อ้างว่า ต. หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ซ. ได้ โอนเงินเข้าบัญชีโจทก์เป็นเงิน764,268 บาท โดยเข้าใจผิดว่ามีการซื้อ ขายไม้กัน แต่ เมื่อโจทก์ ทราบเรื่องก็ได้จ่าย เงินจำนวน 764,268 บาท คืนในวันเดียวกัน โดย สั่งจ่ายเป็นเช็ค เงินสดแก่ผู้ถือ จึงไม่อาจชี้ ได้ ว่าใครเป็น ผู้รับเงินตาม เช็คฉบับ นี้คงมีแต่ ลายเซ็นภาษาจีนที่ด้านหลังเช็ค ซึ่ง มีลักษณะไม่ตรง กับลายเซ็นตัวอย่างของ ต. ที่มอบไว้แก่ธนาคารพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า ต. เป็นผู้รับเงินไป ถือ ว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายซึ่ง ผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ จึงถือ เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิจะนำเงินจำนวน 764,268 บาท มาหักออกจากรายรับได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2735/2532

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายจ่ายลงทุนสร้าง/ซื้อ/พิมพ์ภาพยนตร์ เป็นรายจ่ายต้องห้ามทางภาษี และรายจ่ายไม่มีหลักฐานผู้รับเงินก็เช่นกัน
โจทก์เป็นผู้สร้างภาพยนตร์ ซื้อภาพยนตร์จากต่างประเทศและเป็นผู้พิมพ์ฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวขึ้นมาใหม่เป็นหลายชุด ภาพยนตร์หรือฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวย่อมเป็นทรัพย์สินของโจทก์ หาใช่เป็นสินค้าที่มีลักษณะเป็นการขายภาพแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น รายจ่ายของโจทก์ในการสร้างภาพยนตร์ ซื้อภาพยนตร์มาจากต่างประเทศและพิมพ์ฟิล์มภาพยนตร์ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนหรือเป็นรายจ่ายในการขยายออกซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) รายจ่ายที่ไม่ปรากฏชื่อหรือที่อยู่ของผู้รับเงิน แม้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบรับรองว่าได้จ่ายไปจริงก็ตาม เมื่อโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินจำนวนดังกล่าวย่อมเป็นรายจ่ายที่ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(18).
of 2