คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 15 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3513-3526/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อลูกจ้างกรณีบำนาญ การคำนวณดอกเบี้ยและการปรับเงินบำนาญตามระเบียบ
ระเบียบโรงเรียนของมูลนิธิจำเลยที่ 1 ว่าด้วยบำนาญ พ.ศ. 2549 ข้อ 15 ระบุไว้ว่า ครูที่ได้รับบำนาญจะได้รับการพิจารณาขึ้นเงินบำนาญทุกปีการศึกษาใหม่ในอัตรา 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินบำนาญที่ได้รับในเดือนพฤษภาคม ข้อกำหนดดังกล่าวชัดแจ้งว่า การจะได้รับการปรับขึ้นเงินบำนาญในทุกปีการศึกษาใหม่จะต้องได้รับการพิจารณาเสียก่อน
คำว่า "พิจารณา" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายความว่า ตรวจตรา ตริตรอง สอบสวน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการตรวจตรา หรือตริตรอง หรือสอบสวน ก็ย่อมต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้พิจารณาเป็นสำคัญว่า สมควรปรับเพิ่มเงินบำนาญแก่ครูผู้มีสิทธิรับบำนาญหรือไม่ ระเบียบโรงเรียนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวหาใช่บทกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือที่ 3 ต้องปรับขึ้นเงินบำนาญให้แก่โจทก์ทั้งสิบสี่ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินบำนาญทุกปีการศึกษาใหม่ไม่
ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในระบบและเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนและจำเลยที่ 1 เป็นผู้แทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 มาตรา 24 เมื่อ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชนในระบบมีฐานะเป็นผู้แทนของโรงเรียน และการดำเนินกิจการของโรงเรียน ให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริหารเพื่อบริหารกิจการโรงเรียนโดยที่ไม่ได้กำหนดเรื่องความรับผิดของผู้รับใบอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะต่างหาก จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820
โจทก์ทั้งสิบสี่ซึ่งเป็นครูโรงเรียนเอกชนและเป็นลูกจ้างฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับใบรับอนุญาตและฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะโรงเรียนเอกชนและเป็นนายจ้าง เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1704/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โรงเรียนเอกชนไม่ใช่กฎหมายคุ้มครองแรงงาน การฟ้องเลิกจ้างไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน
พระราชบัญญัติ โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 มีวัตถุประสงค์ควบคุมโรงเรียนเอกชนให้เป็นระเบียบและมีประสิทธิภาพ มิใช่กฎหมายซึ่งให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้าง หรือเพื่อแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับการจ้างหรือกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอันเป็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แม้ใน พระราชบัญญัติ ดังกล่าวจะกำหนดการคุ้มครองการทำงานและการสงเคราะห์ครูใหญ่และครู หรือกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงาน และการอุทธรณ์ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายที่จะขจัดข้อพิพาทระหว่างครูใหญ่และครูกับผู้รับอนุญาตหรือผู้จัดการแต่อย่างใด ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนเอกชนฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกรณีถูกจำเลยเลิกจ้างจึงหาจำต้องดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติ โรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 แต่อย่างใดไม่.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
of 2