คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ขวัญชัย ปิ่นรอด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 45 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6519/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาจากการทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส แม้ไม่มีเจตนา
ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา 295 ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทำโดยที่ผู้กระทำไม่จำต้องมีเจตนาต่อผลที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น ดังนั้น เมื่อจำเลยใช้ท่อนไม้ขว้างปาผู้เสียหายถูกบริเวณศีรษะทำให้ผู้เสียหายตกรถจักรยานยนต์ได้รับบาดเจ็บ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส คงมีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เสียหายก็ตาม จำเลยก็ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6454/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินจากคดียาเสพติด: ต้องมีหลักฐานการกระทำความผิดฐาน 'มีไว้เพื่อจำหน่าย' เท่านั้น จึงจะริบได้
ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 3 ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึงการสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย และมาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บรรดาเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ลงโทษ จำเลยทั้งสองฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองและเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยยกฟ้องในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ ในอันที่จะขอให้ริบรถยนต์กระบะของกลาง ตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4959/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษคดีทำร้ายร่างกายและพาอาวุธ การแก้ไขโทษปรับที่ไม่สามารถกักขังแทนค่าปรับได้
ในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 50 บาท แต่ ป.อ. มาตรา 30 บัญญัติว่า ในการกักขังแทนค่าปรับให้ถืออัตรา 200 บาทต่อหนึ่งวัน ฉะนั้น การบังคับค่าปรับจึงกักขังแทนค่าปรับไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยแก้เป็นว่า "...ปรับ 50 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 แต่ประการเดียว..."

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4887/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิซื้อคืนที่นาหลังการโอนโดยไม่ชอบตาม พ.ร.บ.เช่าที่ดินฯ ราคาซื้อขายเป็นธรรม และกรอบระยะเวลาชำระราคา
โจทก์เป็นผู้เช่านา เมื่อผู้ให้เช่าโอนขายที่นาที่เช่าให้แก่จำเลยทั้งสองโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมมีสิทธิซื้อที่นาคืนจากจำเลยทั้งสองได้ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว การที่โจทก์และสามีโจทก์มีอายุมากแล้วกับได้ให้บุตรเขยทำนาแทนหรือใกล้จะเลิกทำนา ไม่เป็นข้อที่จะทำให้จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธการขายที่นาคืนแก่โจทก์ ทั้งไม่พอฟังว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดเวลาให้โจทก์ต้องชำระราคาภายใน 6 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิฉะนั้นให้ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจขอซื้อที่นาคืนนั้น ก็เพื่อให้การบังคับตามคำพิพากษามีผลสมบูรณ์ กรณีเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้มีคำขอ ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) จึงมิใช่เรื่องนอกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4838/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่ชอบ เนื่องจากยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นและยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2546 ว่าถือไม่ได้ว่าจำเลยยากจน จึงยกคำร้อง หากจำเลยประสงค์ที่จะอุทธรณ์ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระภายใน 15 วัน ต่อมาวันที่ 23 มิถุนายน 2546 จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ เพื่ออนุญาตให้จำเลยนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าจำเลยเป็นคนยากจน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งเกิน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4815/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความของสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: สิทธิเรียกร้องมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยรับว่าได้นำเช็คมาขายลดให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. จำนวน 490,000 บาท และยอมรับว่าเป็นหนี้จริง กับตกลงยอมชำระหนี้โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน ไม่น้อยกว่าเดือนละ 16,400 บาท จนกว่าจะชำระเงินจำนวน 490,000 บาท ครบถ้วนนั้น เป็นการที่โจทก์กับจำเลยระงับข้อพิพาทที่มีขึ้นตามมูลหนี้ขายลดเช็คให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้กันและกัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 การที่จำเลยผ่อนชำระเงินแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จ. จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 จึงไม่ใช่เป็นกรณีการชำระเงินเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ซึ่งจะมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2) แต่สิทธิเรียกร้องดังกล่าวตั้งฐานขึ้นโดยสัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีอายุ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4621/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตเลื่อนคดี และการพิจารณาคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา การประวิงคดี
การที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีและถือว่าจำเลยทั้งสามไม่มีพยานเข้าทำการไต่สวนให้น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสามมีฐานะยากจน โดยจำเลยทั้งสามขอให้ยกคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามต่อไปนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ซึ่งจะต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดเวลา 7 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย จำเลยทั้งสามชอบที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนดเวลา 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2)
ทนายจำเลยทั้งสามมอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนโดยอ้างว่าป่วย โดยในครั้งแรกศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้เลื่อนคดีและกำชับให้เตรียมพยานมาให้พร้อมทั้งกำชับว่าหากมีพยานเพียงใดถือว่าติดใจเพียงเท่านั้น หากไม่มีพยานมาศาลจะงดสืบพยานและให้ทนายทั้งสามส่งใบรับรองแพทย์ ครั้งถึงวันนัดทนายจำเลยทั้งสามมอบฉันทะให้เสมียนทนายนำคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนอีก อ้างว่าป่วยโดยไม่มีใบรับรองแพทย์และไม่ส่งใบรับรองแพทย์ในครั้งก่อนโดยอ้างว่าไม่ได้ไปหาแพทย์ พฤติการณ์ของทนายจำเลยดังกล่าวจึงส่อไปในทางประวิงคดี ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4293/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถือเป็นการส่งโดยชอบ ผู้รับแทนที่อายุเกิน 20 ปี และอยู่บ้านเดียวกันมีผลผูกพันกับจำเลย
คดีนี้หมายเรียกและสำเนาคำฟ้องได้ส่งให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ จึงมีผลเสมือนว่าเจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ เมื่อ ร. ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุเกิน 20 ปี และอยู่บ้านเดียวกันได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2546 ตามรายงานเจ้าหน้าที่และใบตอบรับในประเทศ ย่อมถือได้ว่ามีการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 โดยชอบแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 อาจยื่นคำให้การได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 18 พฤษภาคม 2546 การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การในวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 จึงเป็นการยื่นคำให้การเกินกำหนด 15 วัน ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเช่นนี้ หาใช่เป็นการส่งโดยวิธีอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4043/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุนทรัพย์ฎีกาไม่เกินสองแสนบาท, ข้อจำกัดการฎีกาในข้อเท็จจริง, การแยกคำนวณทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคน
คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน 688,295 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสี่ตามความเสียหายของแต่ละคน ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ทั้งสี่ฎีกาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ทั้งสี่ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสี่จึงต้องถือตามทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคน แม้จะฟ้องรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์แต่ละคนแยกกัน เมื่อทุนทรัพย์ชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสี่แต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3635/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องถูกจำกัดเมื่อประเด็นข้อพิพาทถึงที่สุดแล้วในคดีก่อน แม้คู่ความต่างกัน แต่สืบสิทธิ์กัน
คดีก่อน ส. เจ้าของเดิมในที่ดินพิพาทเป็นโจทก์ฟ้องเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชกับพวกเป็นจำเลยโดยมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินแปลงพิพาทนี้ทับที่สาธารณประโยชน์คูขวางหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งแปลงทับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง ส่วนคดีนี้แม้โจทก์และจำเลยจะเป็นคนละคนกับโจทก์และจำเลยในคดีก่อนก็ตามแต่โจทก์ได้รับที่พิพาทมาจากโจทก์ในคดีก่อนโจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิ์มาจากโจทก์ในคดีก่อน ส่วนจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและจำเลยคดีนี้ต่างมีหน้าที่ดูแลสาธารณประโยชน์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีก่อน เมื่อโจทก์คดีนี้ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาท ซึ่งเป็นการฟ้องโดยอาศัยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนในประเด็นที่ว่าที่ดินแปลงพิพาททับที่สาธารณประโยชน์คูขวาง หรือไม่ และคดีก่อนถึงที่สุดไปแล้ว ดังนี้โจทก์และจำเลยคดีนี้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 อันต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
of 5