คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
จิระ โชติพงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 109 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานโสตทัศนวัสดุ ศาลแก้ไขบทลงโทษและพิพากษาเกินคำขอ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายด้วยการนำแผ่นเพลงซีดีคาราโอเกะเพลงโดเรมี ขับร้องโดย พ. ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกแพร่เสียงภาพให้ประชาชนฟังและชม โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้าย่อมมีความหมายว่า จำเลยได้นำซีดีคาราโอเกะที่บันทึกภาพและเสียงไว้ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณะชนเพื่อการค้า อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (2) แม้โจทก์จะอ้างฐานความผิดและบทกฎหมายผิดไปเป็นว่า จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายเพื่อการค้า อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (3) ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดและบทกฎหมายที่ถูกต้องดังกล่าวข้างต้นได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 855/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาข้อเท็จจริงที่ขัดกับการรับสารภาพ และการพิจารณาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดหลังฟ้องคดี
จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าไม่มีเจตนาต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการจับกุมจำเลยตามหน้าที่ รวมทั้งมิได้มีเจตนาใช้กำลังประทุษร้ายกัดมือซ้ายสิบตำรวจโท ข. นั้น ปรากฏว่าคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยจะกลับเถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นมิได้ เพราะมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้เพราะกรณีที่จะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ต้องเป็นกรณีที่ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 218 มาตรา 219 และมาตรา 220 แห่ง ป.วิ.อ. เท่านั้น
พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดฯ มีเจตนารมณ์ในการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดในขั้นที่ถูกกล่าวหา ตามความในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง เพื่อเยียวยาแก้ไขเสียก่อนเข้าสู่กระบวนพิจารณาในชั้นศาล เมื่อจำเลยถูกฟ้องต่อศาลแล้ว มิใช่ผู้มีสถานภาพเป็นเพียงผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด จึงล่วงพ้นเวลาและไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่อาจได้รับการพิจารณาเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเล กรณีสินค้าเสียหายจากการบรรจุและขนส่ง
ผู้ซื้อและผู้ขายตามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศตกลงซื้อขายกันตามเงื่อนไข INCOTERMS แบบ EX WORKS ผู้ขายจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบสินค้าที่หน้าโรงงานของผู้ขาย ส่วนผู้ซื้อมีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งไปรับสินค้าจากที่หน้าโรงงานของผู้ขาย
เมื่อการซื้อขายครั้งนี้ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันให้ผู้ขายมีหน้าที่เพียงส่งมอบสินค้าที่หน้าโรงงานของผู้ขาย และโจทก์มีพนักงานของบริษัทผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ส่งมาเบิกความยืนยันว่าได้มีการตกลงกันตามสัญญารับขนให้จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ จึงเชื่อได้ว่าหน้าที่ความรับผิดชอบในการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ตามสัญญารับขนซึ่งเป็นสัญญาที่เป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้นั้นเป็นของผู้ขนส่ง ดังนั้น ไม่ว่าการบรรจุสินค้าเข้าตู้ที่แท้จริงผู้ส่งจะช่วยบรรจุด้วยหรือไม่ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าความเสียหายของสินค้าเกิดจากความผิดของผู้ส่งในการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์
จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง และจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งอื่นซึ่งตกลงรับผิดชอบดูแลสินค้าตลอดช่วงการขนส่งจากเมืองท่าลา สเปเซียถึงกรุงเทพมหานคร ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายของสินค้า ไม่ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นในระหว่างช่วงการรับขนของช่วงใดก็ตาม ส่วนจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นซึ่งตกลงรับผิดชอบดูแลสินค้าในช่วงการขนส่งจากประเทศสิงคโปร์มายังกรุงเทพมหานคร แม้ต้องรับผิดเฉพาะในช่วงการรับขนของตน แต่เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่าความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นนอกช่วงการขนส่งดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุตัดสิทธิของผู้ขนส่งตามมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 จำเลยทั้งสามจึงได้รับประโยชน์จากข้อจำกัดความรับผิดคือต้องรับผิดเพียงไม่เกิน 30 บาท ต่อหนึ่งกิโลกรัม ตามมาตรา 58

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 712/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าเดิมที่สืบทอดทางครอบครัว ไม่ถือเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
เครื่องหมายการค้า ที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรของโจทก์ร่วมกับเครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกัน คือ เครื่องหมายการค้า ที่ถุงพลาสติกบรรจุยาฉุนที่จำเลยขายให้แก่ ร. และ จ. มีสาระลำคัญและลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่คำว่า "ยี่ห้อกีเส็ง" และคำว่า "ตราวัวชนกัน" กันรูปวัว 2 ตัว ชนกันเหมือนกัน เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ใช้กับสินค้ายาฉุนซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันแล้วย่อมเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองนั้นคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าและแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เมื่อฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร โจทก์และโจทก์ร่วมจึงต้องมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิด แต่โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานนี้
การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัว 2 ตัวชนกัน คือเครื่องหมายการค้า เป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า ซึ่งปู่จำเลยเป็นผู้คิดขึ้นและใช้กับตัวสินค้ายาเส้นมาตั้งแต่ปี 2490 ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ถึงประมาณ 46 ปี และเป็นการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า ที่บิดาจำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของปู่จำเลยได้รับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น และไม่ปรากฏว่าบิดาจำเลยและ ส. ป้าจำเลยทายาทอีกคนหนึ่งได้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้า จึงมิใช่การจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้า ของโจกท์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 712/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ไม่ถือเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้ว
การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกันเป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าซึ่งปู่จำเลยเป็นผู้คิดขึ้นและใช้มาก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนถึงประมาณ 46 ปี และเป็นการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่บิดาจำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของปู่จำเลยได้รับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น ไม่ปรากฏว่าบิดาจำเลยและป้าจำเลยซึ่งเป็นทายาทอีกคนหนึ่งได้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 548/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักกระบือเวลากลางวัน ความผิดตามมาตรา 335(7) วรรคสาม และ 336 ทวิ
กระบือ ๑๓ ตัว หายไปจากทุ่งเลี้ยงตั้งแต่เวลาประมาณเที่ยงวัน น. พยานโจทก์ไปตามคืนมาได้ 11 ตัว เมื่อเวลาประมาณ 17 นาฬิกา แสดงว่ากระบือ 2 ตัว สูญหายไปในเวลากลางวัน แม้จะมีการขนถ่ายขึ้นรถยนต์บรรทุกของ ณ ในตอนค่ำ ก็เป็นเวลาหลังจากการลักกระบือสำเร็จลงแล้ว เหตุจึงมิได้เกิดในเวลากลางคืน การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคสาม ประกอบมาตรา 336 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 535/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. - การเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่อเนื่อง 90 วัน
เดิมผู้คัดค้านเป็นสมาชิกพรรค ช. เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2547 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค ช. เนื่องจากพรรค ช. รวมเข้ากับพรรค ท. ดังนั้น ความเป็นสมาชิกพรรค ช. ของผู้คัดค้านจึงสิ้นสุดลงตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 22 (5) และผู้คัดค้านเป็นสมาชิกพรรค ท. ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เป็นหลักตั้งแต่วันดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 73 วรรคสอง ประกอบมาตรา 72 วรรคหนึ่ง
การที่ผู้คัดค้านส่งหนังสือลาออกไปยังที่ทำการของพรรค ช. ในวันที่ 30 กันยายน 2547 ไม่ได้ส่งไปยังที่ทำการของพรรค ท. จะถือว่าหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ท. ของผู้คัดค้านถึงที่ทำการของพรรค ท. แล้วไม่ได้ จึงไม่มีผลทำให้การเป็นสมาชิกพรรค ท. ของผู้คัดค้านสิ้นสุดลง ซึ่งพรรค ท. ได้รับหนังสือลาออกของผู้คัดค้านในวันที่ 21 มกราคม 2548 ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค ท. ในวันดังกล่าว ผู้คัดค้านสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดอุดรธานี สังกัดพรรค ป. เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2548 ผู้คัดค้านจึงเป็นสมาชิกพรรค ป. เพียงพรรคเดียวเป็นเวลาติดต่อกันถึงวันสมัครรับเลือกตั้งไม่ถึง 90 วัน ผู้คัดค้านเป็นผู้ขาดคุณสมบัติมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 107 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 481/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับชำระหนี้และช่วยเหลือลูกหนี้
จำเลยที่ 1 และบิดาเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าเป็นการหักหนี้ที่จำเลยที่ 1 และบิดามีต่อ พ. และที่ พ. เป็นหนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งไม่สมเหตุผล เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานใดน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และบิดาเป็นหนี้ พ. ต่อมาอีกประมาณ 2 เดือน จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นมารดาเลี้ยงของจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยที่ 2 โดยไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการชำระเงินค่าซื้อที่ดินพิพาท ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามีการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 กันจริง การรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการรู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ โจทก์ชอบที่จะขอให้เพิกถอนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องมีคำสั่งเป็นหนังสือ การมีเพียงมติของ กกต. ยังไม่ถือเป็นการเพิกถอนสิทธิ
การเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของบุคคลหนึ่งบุคคลใดคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องทำคำสั่งเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่พิจารณาวินิจฉัยทุกคน แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ไม่ปรากฏว่าภายหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของผู้ร้องแล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ร้องเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่พิจารณาวินิจฉัยทุกคน มติของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ร้องเป็นเพียงกระบวนการเพื่อนำไปสู่การออกคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ร้อง ตราบใดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่มีคำสั่งดังกล่าว มติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของผู้ร้องยังไม่มีผลทางกฎหมาย จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 106 (4) แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 อันจะเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 109 (3) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนชื่อผู้เสียสิทธิสมัคร ส.ส. กรณีเจ้าหน้าที่ละเลยหน้าที่ ทำให้ผู้มีสิทธิไม่ได้รับการพิจารณาแจ้งเหตุไม่อาจใช้สิทธิเลือกตั้ง
ผู้ร้องยื่นหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อนายอำเภอไว้โดยชอบแล้ว นายอำเภอซึ่งเป็นนายทะเบียนอำเภอตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 8 (4) ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นบุคคลรับแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการพิจารณาการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2543 ข้อ 3 มีหน้าที่พิจารณาเหตุของการไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าเป็นเหตุอันสมควรหรือไม่ ตามข้อ 6 กับข้อ 12 แล้วแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้แจ้งเหตุทราบโดยเร็ว แต่นายทะเบียนอำเภอไม่ได้พิจารณาคำร้องของผู้ร้องเพราะเจ้าหน้าที่อำเภอไม่ได้นำหนังสือของผู้ร้องเสนอต่อนายทะเบียนอำเภอ เนื่องจากหนังสือดังกล่าวสูญหาย อันเป็นความผิดพลาดของฝ่ายนายทะเบียนอำเภอที่ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีชื่อในบัญชีรายชื่อผู้เสียสิทธิตามมาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ดังนี้ การจัดให้ผู้ร้องมีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้เสียสิทธิตามมาตรา 68 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ของฝ่ายผู้คัดค้านจึงไม่ชอบ ผู้ร้องจึงไม่เสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 23 (3) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541
of 11