พบผลลัพธ์ทั้งหมด 32 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2819/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีแพ่งต้องมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย การฟ้องเพื่อทำลายพยานหลักฐานในคดีอาญาจึงไม่ถือว่ามีอำนาจฟ้อง
ผู้ที่จะฟ้องคดีแพ่งต่อศาลจะต้องถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อรับรองว่าตนมีสิทธิหรือหน้าที่หรือจะต้องใช้สิทธิทางศาล เมื่อโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 110214 การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงโฉนดดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ก็เพียงเพื่อต้องการทำลายพยานหลักฐานในคดีอาญาที่โจทก์ถูกจำเลยฟ้องข้อหาบุกรุกที่ดินแปลงนี้ ซึ่งในคดีนั้นโจทก์ในฐานะจำเลยย่อมมีสิทธินำพยานหลักฐานมานำสืบต่อสู้คดีได้หากจำเลยนำหลักฐานเท็จมาแสดง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากคำสั่งศาลดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายหรือมีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2633/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาหลอกลวงเพื่อเอาเงิน ไม่ถือเป็นความผิดฐานจัดหางาน
โจทก์บรรยายคำฟ้องในตอนแรกว่า จำเลยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งแปด ซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศโดยเรียกและรับค่าบริการเป็นเงินตอบแทนจากคนหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่คำฟ้องตอนหลังบรรยายว่า จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยบอกและรับรองว่า จำเลยสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งแปดไปทำงานต่างประเทศโดยได้รับค่าจ้างตอบแทนได้ ความจริงจำเลยเพียงแต่ดำเนินการให้ผู้เสียหายทั้งแปดเดินทางไปต่างประเทศได้เท่านั้น ไม่สามารถจัดให้ผู้เสียหายทั้งแปดได้ทำงานโดยได้รับค่าจ้างตอบแทนตามที่อ้าง การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์แสดงว่า จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งแปด แต่อ้างเอาเรื่องการจัดหางานขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งแปดเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตไม่ได้: ขนาด .223 (5.56 มม.) ไม่เข้าข้อยกเว้นชนิดเจาะเกราะ/กระสุนเพลิง
แม้ผู้ชำนาญที่ตรวจพิสูจน์จะมีความเห็นว่า กระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11ฯ ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ และอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองนั้นเป็นอาวุธปืนที่จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตก็ตาม แต่เมื่อกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ข้อ 3 กำหนดว่า "เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามมาตรา 7 หรือมาตรา 24 ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนตามข้อ 2 ที่ได้รับอนุญาต แต่ต้องไม่เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง" อันหมายความว่าเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้นั้นต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ข้อ 2 เว้นแต่เครื่องกระสุนปืนนั้นเป็นชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงแล้ว ก็เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ซึ่งเมื่อเครื่องกระสุนปืนของกลางมีขนาดเพียง .223 (5.56 มม.) ไม่เกินขนาดอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวง ข้อ 2 (1) ที่กำหนดว่า "อาวุธปืนชนิดลำกล้องมีเกลียวที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่เกิน 11.44 มม." และข้อ 2 (2) กำหนดว่า "อาวุธปืนชนิดลำกล้องไม่มีเกลียว ดังต่อไปนี้ (ก) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่ถึง 20 มม. (ข) ปืนบรรจุปาก ปืนลูกซองและปืนพลุสัญญาณ" แล้วจึงเห็นได้ในเบื้องต้นว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จำนวน 1 นัด ของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ ดังนั้น ถึงหากจะให้รับฟังว่าเครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จำนวน 1 นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนเล็กกลดังเช่นที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าเครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จำนวน 1 นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ข้อ 3 ตอนท้าย ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ศาลก็ต้องยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1354/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ตัวการร่วมฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา: การวิ่งไล่ตามผู้ตายพร้อมคนร้ายถืออาวุธถือเป็นเล็งเห็นผล
จำเลยเป็นพวกเดียวกับคนร้ายอีกสองคนซึ่งเป็นผู้วิ่งไล่ถืออาวุธคล้ายมีดเป็นของมีคมยาวประมาณ 1 ศอก แทงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย การที่จำเลยชกต่อยผู้ตายก่อนเมื่อผู้ตายวิ่งหนีจำเลยก็วิ่งไล่ตามผู้ตายไปพร้อมๆ กับคนร้ายทั้งสองที่ถืออาวุธไปด้วย สภาพอาวุธเห็นได้ชัดเจนว่าอาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ หากจำเลยไม่มีเจตนาร่วมกับคนร้ายทั้งสอง เมื่อจำเลยชกต่อยผู้ตายครั้งแรกแล้ว จำเลยอาจหยุดกระทำโดยไม่วิ่งไล่ตามผู้ตายไปก็ได้ แต่จำเลยหากระทำไม่ การที่จำเลยวิ่งไล่ตามไปทำร้ายผู้ตายกับพวกของจำเลยซึ่งวิ่งถืออาวุธดังกล่าวไปด้วย จึงย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าอาจมีการทำร้ายผู้ตายให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งเป็นการที่อยู่ในภาวะที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ พฤติการณ์การกระทำของจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดกับคนร้ายทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 858/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิสูจน์ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้จำหน่าย ต้องมีหลักฐานประกอบคำรับสารภาพและคำนวณสารบริสุทธิ์
แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาของศาล แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่นำพยานหลักฐานเข้าสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยให้ศาลรับฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงจะลงโทษจำเลยได้ ลำพังแต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนไม่อาจจะยกขึ้นมาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ อีกทั้งเมทแอมเฟตามีนของกลางมีน้ำหนักเพียง 13.50 กรัม และไม่ปรากฏว่าคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้จำนวนเท่าใด จึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) ที่จะถือว่าจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องของผู้จัดการมรดกในการแบ่งทรัพย์มรดก เจ้าของรวมมีหน้าที่ส่งมอบโฉนด
ป.พ.พ. มาตรา 1719 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก" ตามบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาท เมื่อ ส. เจ้ามรดกเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทคนหนึ่ง โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทได้เพื่อนำที่ดินส่วนที่เป็นมรดกดังกล่าวมาแบ่งปันให้ทายาทต่อไป
โจทก์ทั้งสองขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ส. แต่จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วยได้นำโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินดังกล่าว ก่อนฟ้องโจทก์ทั้งสองได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 4 ส่งมอบโฉนดที่ดินเพื่อนำมาแบ่งแยก แต่จำเลยที่ 4 เพิกเฉยไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินให้ ถือว่าจำเลยที่ 4 โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ทั้งสองขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ส. แต่จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วยได้นำโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินดังกล่าว ก่อนฟ้องโจทก์ทั้งสองได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 4 ส่งมอบโฉนดที่ดินเพื่อนำมาแบ่งแยก แต่จำเลยที่ 4 เพิกเฉยไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินให้ ถือว่าจำเลยที่ 4 โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 803/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลในการงดกระบวนพิจารณาที่ไม่จำเป็น เพื่อความรวดเร็วและยุติธรรมในการพิจารณาคดี
ศาลมีอำนาจพิเคราะห์ว่า กระบวนพิจารณาใดจำเป็นจะต้องกระทำเพียงใดหรือไม่ ถ้าเห็นว่ากระบวนพิจารณาใดเป็นการฟุ่มเฟือยเกินสมควรหรือประวิงให้ชักช้าหรือไม่เกี่ยวแก่ประเด็น ศาลย่อมมีอำนาจงดดำเนินกระบวนพิจารณาในทำนองนั้นเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง คดีนี้จำเลยขอเลื่อนนัดไต่สวนมาหลายนัดแล้ว ประกอบกับการเดินเผชิญสืบอาคารพิพาทก็ไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ทั้งการออกคำสั่งกำหนดเดินเผชิญสืบก็เป็นเรื่องดุลพินิจของศาลโดยเฉพาะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 99 วรรคแรก เมื่อศาลชั้นต้นไม่เห็นประโยชน์ที่จะทำการไต่สวนพยานจำเลยต่อไปโดยเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว การเดินเผชิญสืบตามคำขอของจำเลยก็มีแต่จะทำให้เกิดความล่าช้า ประวิง และยุ่งยาก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องและไม่อนุญาตให้เดินเผชิญสืบอาคารพิพาท จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 687/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนมรดกที่ดินพิพาท: สิทธิในที่ดินเป็นของผู้ครอบครองทำประโยชน์ ไม่ใช่ผู้รับพินัยกรรม
คดีก่อนมีประเด็นว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลหรือไม่ และมีเหตุสมควรที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ ฟ. หรือไม่ จึงมีประเด็นต่างกัน แม้ในคดีก่อนศาลจะฟังว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 312 เป็นของ ฟ. ผู้ตายเพียงผู้เดียว ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วในคดีก่อน จึงไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวในคดีก่อนมาผูกพันจำเลยในคดีนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 687/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิสูจน์ความเป็นทรัพย์มรดก: จำเลยมีสิทธิในที่ดินก่อนพินัยกรรม ศาลยกฟ้อง
คดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้วมีประเด็นว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลหรือไม่ และมีเหตุสมควรที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ จึงมีประเด็นต่างกัน แม้ในคดีก่อนศาลจะฟังว่าที่ดินเป็นของผู้ตายเพียงผู้เดียว ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วในคดีก่อน จึงไม่อาจนำผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวมาผูกพันจำเลยในคดีนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66-67/2547
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การยึดหน่วงชำระราคาซื้อขายเนื่องจากทรัพย์สินชำรุด ผู้ซื้อมีสิทธิยึดหน่วงได้หากผู้ขายไม่ซ่อมแซม
บ้านที่จำเลยซื้อจากโจทก์ชำรุดบกพร่อง และโจทก์ไม่ได้ซ่อมแซมให้เรียบร้อย เมื่อเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ซื้อขาย ผู้ขายต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 ส่วนจำเลยผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่ผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 488 ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องโดยสุจริตไม่เกี่ยวข้องกับสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านระหว่างบริษัทกับจำเลย และจำเลยสามารถไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทดังกล่าวได้นั้น เห็นว่าโจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวและเป็นผู้กระทำแทนบริษัทตลอดมา ทั้งในขณะทำบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้อง โจทก์ได้รับรองว่าจะซ่อมแซมความเสียหายทั้งหมดด้วยตนเอง แม้เช็คทั้งห้าฉบับจำเลยจะสั่งจ่ายชำระหนี้ตามบันทึกการโอนสิทธิเรียกร้อง แต่ก็เป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากการวางเงินดาวน์ค่าที่ดินและบ้านตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้าน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบ้านที่ชำรุดบกพร่องโจทก์ไม่ซ่อมแซมให้เรียบร้อย จำเลยชอบที่จะยึดหน่วงไม่ชำระราคาที่ดินและบ้านโดยไม่นำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4