คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ภาภูมิ สรอัฑฒ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 101 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5473/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้จำหน่ายดีวีดีที่ไม่ใช่ผู้สร้างภาพยนตร์ ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ หากไม่ได้นำภาพยนตร์ไปตรวจพิจารณา
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 การประกอบกิจการภาพยนตร์ ซึ่งต่อเนื่องมาจากมาตรา 20 ถึงมาตรา 24 ที่บัญญัติในเรื่องเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์และผู้สร้างภาพยนตร์ มาตรา 26 ถึงมาตรา 29 บัญญัติในเรื่องเกี่ยวกับการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และบทกำหนดโทษตามมาตรา 78 ดังกล่าวมุ่งประสงค์เอาความผิดแก่ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 25 ซึ่งหมายความเฉพาะผู้สร้างภาพยนตร์ที่นำภาพยนตร์นั้นออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร โดยมิได้นำไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก่อนเท่านั้น มิใช่บทบัญญัติที่ประสงค์จะเอาความผิดแก่ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์ทั่วไปที่มิใช่ผู้สร้างภาพยนตร์ เมื่อฟ้องโจทก์ปรากฏชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ประกอบกิจการจำหน่ายแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยจำเลยมิใช่ผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีหน้าที่จะต้องนำภาพยนตร์นั้นไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 25 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยตามฟ้องย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 78
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินย้อนหลังที่ไม่สมเหตุสมผล โดยอ้างอิงราคามาตรฐานที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและราคาตลาด
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 30 บัญญัติว่า การแจ้งคำชี้ขาดไปยังผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติให้มีแบบพิมพ์หรือต้องทำในลักษณะใด เมื่อพิจารณาหนังสือของจำเลยฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 เป็นเรื่องแจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ถึงผู้จัดการของโจทก์ แม้หนังสือฉบับดังกล่าวลงชื่อโดยปลัดเทศบาลของจำเลย แต่ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการลงชื่อในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีของจำเลย เมื่อหนังสือฉบับนี้ได้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าจำเลยได้พิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่แล้วมีมติให้จัดเก็บตามการแจ้งประเมิน จึงถือได้ว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการแจ้งคำชี้ขาดที่นายกเทศมนตรีของจำเลยแจ้งไปยังโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรตามมาตรา 30 และถือได้ในทำนองเดียวกันว่าได้?มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องยื่นฟ้องคดีนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 31 ส่วนที่นายกเทศมนตรีของจำเลยมีหนังสือในครั้งหลังแจ้งคำชี้ขาดพร้อมกับส่งใบแจ้งคำชี้ขาด ตามมาตรา 30 อันเป็นการแจ้งคำชี้ขาดที่มีการนำแบบพิมพ์ ภ.ร.ด. 11 มาใช้ แต่หาได้มีการยกเลิกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขความที่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบตามหนังสือฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 ในครั้งแรกนั้นไม่ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับแรกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4796/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบของกลางในคดียาเสพติด: ต้องพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด หากพิสูจน์ไม่ได้ต้องคืนเจ้าของ
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 233/2554 ของศาลชั้นต้น แต่ น. ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้แยกฟ้องจำเลยที่ 2 และพิพากษาลงโทษ น. ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง และรถจักรยานยนต์ของกลาง ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีเดียวกันกับคดีดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อ น. ในเรื่องซื้อขายเมทแอมเฟตามีนและให้ น. นำรถจักรยานยนต์ไปติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยและรถจักรยานยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจริบได้ แม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์ดังกล่าวตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 233/2554 แต่เมื่อฟังไม่ได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้ จะต้องคืนแก่เจ้าของ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และมีอำนาจสั่งคืนแก่เจ้าของได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 ประกอบมาตรา 186 (9), 215 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4521/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหลีกเลี่ยงการรับหมายเรียกราชการทหาร และการเพิ่มโทษเนื่องจากเคยต้องโทษจำคุก
ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 มาตรา 25 วรรคหนึ่งและวรรคสาม กำหนดให้ ทหารกองเกินเมื่อมีอายุย่างเข้ายี่สิบเอ็ดปีในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนภายในพุทธศักราชนั้น ผู้ใดไม่สามารถจะไปรับหมายเรียกด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและพอจะเชื่อถือได้ไปรับหมายเรียกแทน ถ้าไม่มีผู้แทนให้ถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงขัดขืน เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 แม้จำเลยอยู่ในระหว่างต้องรับโทษซึ่งไม่สามารถไปรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหารได้ก็ตาม จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องมอบหมายให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและพอจะเชื่อถือได้ไปรับหมายเรียกดังกล่าวแทนระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาหลีกเลี่ยงขัดขืน
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1009/2557 ของศาลจังหวัดสุรินทร์ ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ในระหว่างที่จำเลยยังจะต้องรับโทษในคดีดังกล่าว จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นอ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การว่ารับสารภาพตามฟ้อง คำให้การที่จำเลยที่รับสารภาพย่อมหมายรวมถึงการรับว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนตามที่โจทก์กล่าวหาในฟ้อง ตลอดจนรับตามบทบัญญัติที่ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามฟ้องด้วย เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จึงต้องเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยอีกหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2802/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อยังไม่เกิด จำเลยไม่ต้องรับผิด แม้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์รถก่อนอนุมัติ
การก่อให้เกิดสัญญาต้องเกิดขึ้นโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย พยานโจทก์ปาก ธ. และ ณ. ต่างเบิกความว่า พนักงานของจำเลย สาขาปทุมธานี แจ้งแก่พยานโจทก์ทั้งสองว่า หากไม่โอนเล่มทะเบียนต้องมีคนค้ำประกัน และหากจะให้ได้รับอนุมัติอย่างแน่นอนต้องโอนเล่มทะเบียนไปเป็นชื่อของจำเลย และได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปาก ณ. เพิ่มเติมว่า พยานได้ติดต่อสอบถามความคืบหน้าจากพนักงานของจำเลยโดยตลอดว่ามีการอนุมัติสินเชื่อแล้วหรือยัง ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานจำเลยปาก ด. ว่า ฉ. ผู้จัดการกลุ่มดูแลลูกค้า และการจัดสัญญาในเขตปทุมธานีของจำเลยได้มาปรึกษาพยานเรื่องที่โจทก์ติดต่อขอสินเชื่อโดยประสงค์จะทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์สามคัน ฉ. ได้แนะนำโจทก์ว่า ระหว่างที่รอการอนุมัติจากสำนักงานใหญ่ของจำเลยให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ทั้งสามคันเป็นชื่อของจำเลยก่อน ต่อมาสำนักงานใหญ่ตรวจสอบข้อมูลแล้วไม่อนุมัติคำขอสินเชื่อเช่าซื้อให้แก่โจทก์ ฉ. จึงแจ้งให้โจทก์ทราบและคืนเอกสารประกอบคำขอสินเชื่อเช่าซื้อ สมุดคู่มือจดทะเบียนรถและเงินค่าโอนและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่รับคืนโดยประสงค์จะทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ต่อไป จึงแสดงให้เห็นว่า การอนุมัติสินเชื่อและทำสัญญาเช่าซื้อเป็นหน้าที่ของสำนักงานใหญ่ของจำเลย สำนักงานสาขาปทุมธานีของจำเลยไม่มีอำนาจอนุมัติและทำสัญญาเช่าซื้อแต่มีหน้าที่ติดต่อกับลูกค้าแล้วส่งสัญญาที่ลูกค้าขอสินเชื่อให้สำนักงานใหญ่ของจำเลยพิจารณาอนุมัติสินเชื่อและทำสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ปรากฏว่า ฉ. มีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อด้วยแต่อย่างใด ตามพฤติการณ์ของ ฉ. ดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่า ฉ. เป็นตัวแทนในการอนุมัติสินเชื่อของจำเลย การที่โจทก์ยื่นแบบคำขอสินเชื่อต่อจำเลย และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่จำเลยไปก่อน ไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายในการทำสัญญา เพราะสำนักงานใหญ่ของจำเลยยังไม่ได้พิจารณาอนุมัติคำขอสินเชื่อเช่าซื้อของโจทก์ จึงเป็นเพียงคำเสนอเท่านั้น สัญญาให้สินเชื่อเช่าซื้อให้โจทก์จึงยังไม่เกิด จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญาและกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดพยายามฆ่า, พยานหลักฐาน, และการสอบสวนโดยไม่จัดหาทนายความ
ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้" ปรากฏตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้จำเลยทราบ และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวนแล้ว จำเลยให้การว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้ตามคำให้การดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะจัดหาหรือไม่จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พินัยกรรมสมบูรณ์ ผู้ถูกตัดสิทธิมรดก ไม่มีสิทธิคัดค้านการจัดการมรดก
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ผู้คัดค้านยอมรับว่าผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าว แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่ว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมโดยถูกหลอก และมีการสมคบกัน ขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ผู้ตายไม่ได้แจ้งข้อความที่ตนประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพญาไท พยานในพินัยกรรมมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ ก. ผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม และพินัยกรรมมีพิรุธ ผู้คัดค้านจึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นตามข้อกล่าวอ้างของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ผู้ร้องหามีหน้าที่ต้องนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำพินัยกรรมและแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์มาเป็นพยาน เมื่อได้ความว่าผู้ตายแจ้งข้อความที่ตนประสงค์ให้เจ้าหน้าที่จดต่อหน้าพยานสองคน เชื่อว่าเจ้าหน้าที่เห็นแล้วว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จึงทำพินัยกรรมให้ ฟังได้ว่าขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ประกอบกับผู้คัดค้านไม่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นตามข้ออ้าง พยานหลักฐานผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานผู้ร้อง เมื่อพินัยกรรมมีรายการถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 จึงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ตามพินัยกรรมข้อ 1 ระบุว่า ผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ ก. และข้อ 3 ระบุว่า ได้ตัดทายาทโดยธรรมคนอื่น ๆ มิให้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านย่อมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย จึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แจ้งความเท็จเกี่ยวกับรถหายเพื่อรับเงินประกันภัย ถือเป็นความผิดตามมาตรา 173 ป.อาญา
การที่จำเลยรู้ว่ามิได้เกิดเหตุลักทรัพย์รถกระบะ แต่กลับแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์รถกระบะที่จำเลยเช่าซื้อไป เพื่อจะนำเงินที่ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยไปชำระค่างวดแก่ธนาคาร ก. ผู้ให้เช่าซื้อ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 173 อันเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้ว ไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 137 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่ว ๆ ไปอีก และเมื่อไม่เกิดมีความผิดอาญาฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นในคดีนี้ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 172

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานไม่ยื่นแบบรายการภาษีสรรพสามิตและไม่ชำระภาษี จำเลยยังคงครอบงำดูแลกิจการแม้เปลี่ยนตัวกรรมการ
ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 14 บัญญัติให้คดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว และคดีที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของ กคพ. (คณะกรรมการคดีพิเศษ) เป็นคดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ. ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2547) เรื่อง การกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ ข้อ 3 กำหนดว่า คดีความผิดที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 147 มาตรา 161 มาตรา 162 มาตรา 165 และมาตรา 167 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีมูลค่าหรือปริมาณของสินค้าหรือบริการที่คำนวณเป็นเงินตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป ให้จัดเป็นคดีพิเศษ เมื่อคดีนี้มีมูลความผิดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 164 มาตรา 165 และมีมูลค่าของบริการคำนวณเป็นเงินเกินกว่าสิบล้านบาทจึงจัดเป็นคดีพิเศษอยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่คดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่จำต้องพิจารณาว่าจะต้องนำคดีนี้ไปขออนุมัติต่อ กคพ. ให้เป็นคดีพิเศษก่อนหรือไม่
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยเป็นข้อ ๆ โดยบรรยายถึงการกระทำของจำเลยในแต่ละรอบปี และสรุปจำนวนเงินภาษีที่จำเลยกับพวกมิได้ชำระในแต่ละปี มิได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยในแต่ละเดือนว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร จำนวนเงินภาษีที่มิได้ชำระในแต่ละเดือนเป็นเท่าไร ตามคำฟ้องโจทก์มิได้มีเจตนาให้ลงโทษจำเลยในความผิดแต่ละเดือน คงประสงค์ให้ลงโทษในความผิดแต่ละปีตามคำฟ้องแต่ละข้อ จำเลยคงมีความผิดตามคำฟ้องรวม 4 กรรม เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9996-9997/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับใบอนุญาตส่งออกข้าวและการอ้างเหตุผลทางกฎหมายที่โจทก์ทราบอยู่แล้ว
จำเลยมีหนังสือแจ้งระงับการออกใบอนุญาตส่งออกข้าวไปนอกราชอาณาจักรให้แก่บริษัท ร. โดยอ้างกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 และบริษัท ร. มีหนังสือขอสำเนากฎกระทรวงดังกล่าวจากจำเลยด้วย เมื่อกรรรมการบริษัท ร. เป็นกรรมการชุดเดียวกับโจทก์ทั้งสอง จึงถือได้ว่าข้อกฎหมายที่อ้างอิงตามกฎกระทรวงนั้นเป็นเหตุผลที่รู้กันอยู่แล้วตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคสาม (2) โดยจำเลยไม่จำต้องระบุในคำสั่งทางปกครองที่แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองอีก
แม้พระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง พุทธศักราช 2482 ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 แต่พระราชกฤษฎีกาควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2490 และประกาศกระทรวงเศรษฐการ เรื่อง การส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2509 ที่ออกตามพระราชบัญญัติที่ถูกยกเลิกยังมีผลใช้บังคับต่อไป เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ข้าวจึงคงเป็นสินค้าต้องห้ามมิให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเช่นเดิม ซึ่งตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง ผู้ใดจะส่งออกหรือนำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2523) ตามมาตรา 7 วรรคสอง และมาตรา 25 กำหนดคุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาตส่งออก พระราชกฤษฎีกาและประกาศกระทรวงเศรษฐการดังกล่าวจึงไม่ขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงนี้
of 11