พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4041/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดสรรที่ดินสร้างภารจำยอม แม้ไม่ขออนุญาตจัดสรรก็ถือเป็นการจัดสรรตามกฎหมายได้
การที่ ป.ได้แบ่งแยกที่ดินของตนออกเป็นแปลงย่อยประมาณ300 แปลงเพื่อขาย และได้สร้างโรงภาพยนตร์โดยมีทางพิพาท อยู่ด้านข้างทั้งสองด้านของโรงภาพยนตร์และอยู่หน้าอาคาร ของโจทก์ทั้งสิบสี่แสดงโดยชัดแจ้งว่า ป.จัดทำทางพิพาทเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนเพชรเกษมอันเป็นทางสาธารณะเป็นการแสดงออกโดยปริยายแล้วว่า ป.เจตนาจัดให้มีสาธารณูปโภค คือทางพิพาท ถือได้ว่าเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515ข้อ 30 แม้ ป. จะมิได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ก็ไม่ทำให้การดำเนินการ ของ ป. กลับไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายไปแต่อย่างใดไม่ ส่วนการจัดสรรที่ดินอันฝ่าฝืนต่อประกาศของ คณะปฏิวัติดังกล่าวจะมีผลตามกฎหมายเป็นประการอื่นอย่างไรบ้าง เป็นอีกกรณีหนึ่ง ฉะนั้นทางพิพาทจึงเป็นภารจำยอมแก่ที่ดิน ของโจทก์ทั้งสิบสี่โดยผลของกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2645/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดสรรที่ดินพร้อมสาธารณูปโภค การตกอยู่ในภารจำยอมตามประกาศคณะปฏิวัติ และสิทธิของผู้ซื้อ
กรณีที่จะถือว่าเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 นั้น สาระสำคัญอยู่ที่การจัดจำหน่าย ที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวน ตั้งแต่ 10 แปลงขึ้นไป และมีการให้คำมั่นหรือการแสดงออกว่าจะจัดให้มี สาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะหรือปรับปรุงให้ที่ดินนั้น เป็นที่อยู่อาศัย ที่ประกอบการพาณิชย์ หรือที่ประกอบ การอุตสาหกรรม ส่วนผู้จัดสรรจะขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดิน ต่อคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากจะเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ก็ไม่ทำให้การดำเนินการของผู้จัดสรรไม่เป็นการจัดสรร ที่ดินตามกฎหมาย จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้นำที่ดินของตนมาแบ่งเป็นแปลงย่อย คนละ 5 แปลง รวมเป็น 10 แปลง แล้วให้บริษัท ส.ทำการจัดจำหน่ายที่ดินและบ้านโดยที่ดินที่แบ่งเป็นแปลงย่อยรวม 10 แปลง ได้มีการก่อสร้างบ้านจำนวน 9 หลัง ลงในที่ดิน10 แปลง การจัดจำหน่ายที่ดินและบ้าน ทางผู้จัดสรรขายได้มีการแยกทำสัญญาเป็น 3 ฉบับ คือให้ผู้ซื้อทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับจำเลยที่ 3 หรือที่ 4 ส่วน การปลูกสร้างบ้านให้ผู้ซื้อทำสัญญาว่าจ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. เป็นผู้รับจ้างปลูกสร้างบ้าน และให้บริษัท ส. เป็นผู้รับจ้าง ทำถนน น้ำ ไฟฟ้า ท่อระบายน้ำ ตลอดจนปรับปรุงที่ดิน เพื่อแบ่งเบาภาระในเรื่องภาษี แต่การดำเนินจัดจำหน่าย ที่ดินและบ้านของบริษัท ส.กับห้างหุ้นส่วนจำกัดว. ล้วนกระทำการโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ของบริษัท ส. อันมีจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 รู้เห็นและมีส่วนร่วมในการจัดสรรในโครงการ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้นำที่ดินซึ่งแบ่งเป็นแปลงย่อย รวม 10 แปลง เข้าโครงการเพื่อจัดจำหน่ายที่ดินและบ้าน ให้แก่โจทก์และผู้ซื้อทั่วไป อีกทั้งยังได้มีการโฆษณาว่า จะจัดให้มีสโมสร สระว่ายน้ำ และสวนหย่อมบริการแก่ผู้ซื้อ ซึ่งต่อมาได้มีการจัดสร้างสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ ดังกล่าวขึ้นตามที่ได้โฆษณาหรือให้คำมั่นไว้แล้ว ดังนี้ สโมสร สระว่ายน้ำ และสวนหย่อม จึงตกอยู่ในภารจำยอม เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรของโจทก์ทั้งสามโดยผล แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว จำเลยทั้งหกได้กระทำการฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 โดยนำที่ดินอันเป็นที่ตั้งของสโมสรสระว่ายน้ำ และสวนหย่อม ในส่วนที่ตกอยู่ในภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรโอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 6 ทั้งห้ามมิให้โจทก์ทั้งสามใช้สโมสร สระว่ายน้ำ และสวนหย่อม กับได้สร้างกำแพงคอนกรีตปิดกั้นมิให้โจทก์ทั้งสามเข้าไปอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสาม เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสะดวกไปโจทก์ทั้งสามย่อมมีอำนาจฟ้องให้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตที่ปิดกั้นนั้นได้ แม้การจัดสรรจะปลูกสร้างบ้านขายเพียง 9 หลังแต่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ได้แบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อยจำนวนคนละ 5 แปลง จึงเท่ากับ 10 แปลง กรณีถือได้ว่าเป็นการจัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อมมีจำนวน10 แปลงขึ้นไป แม้บ้านเลขที่เดียวจะตั้งอยู่บนที่ดิน 2 โฉนดในพื้นที่จำนวน 1 แปลง เหมือนกับแปลงอื่น ๆ ก็ไม่ทำให้การดำเนินการของจำเลยไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 650/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนที่ดินสาธารณประโยชน์โดยมิชอบทำให้ผู้รับโอนไม่มีอำนาจฟ้องรุกล้ำที่ดิน
เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ประเด็นในเรื่องนี้จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นสืบพยานและพิพากษาใหม่แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่แล้ว จำเลยจะอุทธรณ์โต้แย้ง ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมอีกไม่ได้ เพราะเป็นการดำเนิน กระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยปริยายแล้ว การซื้อขายระหว่างโจทก์กับเจ้าของเดิมขัดต่อกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาครั้งแรกได้วินิจฉัยเพียงว่า ไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะขายที่ดินของตนที่จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทมาจากเจ้าของที่ดินเดิมโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โดยยังมิได้วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยปริยายหรือไม่ อันจะเป็นข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การปรับบทกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องตามที่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้หรือไม่ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยจะขอให้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทนี้อีกไม่ได้ เพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในครั้งแรกแล้วเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยประเด็นข้อนี้โดย ไม่ต้องย้อนสำนวน เจ้าของที่ดินเดิมได้อุทิศที่ดินส่วนที่เป็นถนนในโครงการศูนย์การค้าที่จัดสรรทุกสายซึ่งรวมถึงถนนที่ที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยผลของการแสดงเจตนาอุทิศดังกล่าว แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทาง ทะเบียนก็ตาม ก็ต้องถือว่าเจ้าของเดิมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและจะโอนแก่กันไม่ได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่ง บทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินก่อนโจทก์จะรับโอนที่ดินมา การรับโอนที่ดินพิพาทของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายโจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ทั้งไม่มีสิทธิยึดถือที่ดินพิพาทเอาเป็นของตนเอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8405/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรวมและแบ่งแยกโฉนดที่ดินกระทบภารจำยอมสาธารณูปโภค โจทก์มีสิทธิฟ้องเพิกถอน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดสรรที่ดินโดยมีเจตนาจะจัดให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 6534 เป็นถนนอันเป็นสาธารณูปโภคจึงเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286มาแต่ต้น ที่ดินโฉนดเลขที่ 6534 ก่อนมีการรังวัดเพื่อรวมและแบ่งแยกโฉนดจึงเป็นถนนที่เป็นทางภารจำยอมตามประกาศ ของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ข้อ 30 เมื่อการรวมกรรมสิทธิ์ และการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าวมีผลทำให้ เนื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 6534 ส่วนที่เป็นถนนอยู่เดิมขาดหายไป เป็นการทำให้ภารจำยอมเปลี่ยนแปลงไปและเป็นการ กระทบถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการรวมที่ดินโฉนดเลขที่ 6534 เข้ากับที่ดินแปลงอื่น และขอให้เพิกถอนการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 6534 เฉพาะส่วนที่นำมารวมกับที่ดินแปลงย่อย 7 แปลง และกลายเป็นที่ดินแปลงใหม่โฉนดเลขที่ 106708 ได้ ในคดีส่วนอาญา โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ว่าร่วมกับจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าวสนับสนุนจำเลยอื่นในคดีนั้นอีก 6 คน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประเด็นที่จะต้อง วินิจฉัยในคดีนั้นจึงมีว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ในคดีดังกล่าวสนับสนุนให้จำเลยอื่นกระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ ข้อเท็จจริง ที่นำไปสู่การวินิจฉัยว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6534 ที่เป็นถนน เป็นทางภารจำยอมหรือไม่นั้นจึงไม่ใช่ประเด็นโดยตรง ในคดีดังกล่าว การพิพากษาคดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งไม่จำต้อง ถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีดังกล่าว ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5238/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายที่ดิน: ค่าธรรมเนียมการโอนและอำนาจศาลในการห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดิน
โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ตกลงจะซื้อขายที่ดินพิพาทตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายโดยไม่ได้ตกลงในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมและค่าภาษีอากรในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นพิเศษแตกต่างไปจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยที่ 1 ผู้จะขายจึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าภาษีอากรในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสิ้นแทนโจทก์อันจะทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ผู้เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1เช่นนั้นด้วย โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์มิใช่ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์หรือฟ้องเรียกที่ดินพิพาทของโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสาม ศาลจึงไม่มีอำนาจพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสามและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4227/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจ้าของรวมมีสิทธิขาย/จำนอง/ก่อภาระได้ การโอนสิทธิไม่ถือเป็นเจตนาลวงและไม่ขัดต่อสิทธิเจ้าของรวมอื่น
เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิใช้ทรัพย์สินได้ หากการ ใช้นั้นไม่ขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ และจะ จำหน่ายส่วนของตนหรือจำนองหรือก่อให้เกิดภาระติดพันก็ได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 และ 1361จำเลยที่ 1 และที่ 3 โอนขายที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยอื่นและโอนขายให้แก่กัน เพื่อให้จำเลยทั้งเจ็ดเข้ามาใช้ที่ดินที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวม จึงเป็นสิทธิของเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆที่จะกระทำได้ แม้การโอนมีวัตถุประสงค์เพื่อให้จำเลยผู้รับโอนเข้ามาใช้ทรัพย์ก็ตาม แต่เมื่อเป็นสิทธิซึ่งกฎหมายรับรองให้มีขึ้นจากการเป็นเจ้าของรวม กรณีมิใช่เป็นเจตนาลวงหรือนิติกรรมอำพราง โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอน การที่โจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1675และ 1676 ร่วมกับจำเลย ก็เพื่อประโยชน์ในการที่โจทก์จำเลย จะสร้างถนนใช้ร่วมกันทั้งลักษณะของที่ดินทั้งสองโฉนดเป็น รูปยาวขนานกันไปประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ ส่วนที่เหลือจากการ สร้างถนนจึงไม่เหมาะสมที่จะใช้ประโยชน์อย่างอื่นอีกเมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีข้อตกลงให้โจทก์สร้างถนนยาวตลอดที่ดินเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยแปลงที่อยู่ด้านใน แต่โจทก์สร้างไม่เต็มตามที่ตกลงไว้ คงสร้างเฉพาะส่วนที่โจทก์ใช้ประโยชน์เท่านั้น ต่อมาจำเลยอื่นซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งได้สร้างถนนต่อไปจนตลอดเพื่อใช้ร่วมกัน โดยความรู้ความเห็น ยินยอมของจำเลยอื่นผู้เป็นเจ้าของรวมทุกคน ตรงตาม วัตถุประสงค์แห่งเจ้าของรวม การใช้สิทธิของจำเลยและ จำเลยอื่นจึงไม่ขัดต่อสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 และ 1361 และไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ คดีไม่มีทุนทรัพย์ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีเรื่องเดียวและโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีจำเลยทั้งเจ็ด การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทุกคนเป็น รายคน คนละ 2,500 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็น การไม่ถูกต้องเนื่องจากเกินกว่า 3,000 บาท ซึ่งเป็นอัตรา ที่กฎหมายกำหนดตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกาใน ปัญหานี้ศาลฎีกาก็เห็นสมควรกำหนดใหม่ให้ถูกต้องเป็นให้ โจทก์ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนจำเลยทั้งเจ็ดรวม 3,000 บาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4717/2539 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ภารจำยอมในที่ดินจัดสรร: แม้ยังมิได้จัดสร้างสวนหย่อม แต่แสดงเจตนาชัดเจนและแบ่งแยกที่ดินแล้ว ถือเป็นสาธารณูปโภคตกอยู่ในภารจำยอม
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดสรรที่ดิน ได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทไว้เพื่อจัดทำเป็นสวนหย่อมสำหรับเป็นที่พักผ่อนของผู้ที่อาศัยอยู่ในที่จัดสรร ถึงแม้ผู้จัดสรรยังไม่ได้จัดทำ สวนหย่อม แต่การที่โฆษณาว่าจะจัดให้มีสวนหย่อม และได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทไว้เป็นส่วนสัดแน่นอนเพื่อดำเนินการดังกล่าวก็ถือได้ว่าการทำสวนหย่อมได้จัดให้มีขึ้นแล้ว และสาธารณูปโภคตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24พฤศจิกายน 2515 ข้อ 30 เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น สวนหย่อมย่อมเป็นสาธารณูปโภคตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวจึงตกอยู่ในภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรที่โจทก์ซื้อมา แม้จำเลยที่ 2 จะซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ไม่ทำให้ภารจำยอมนั้นสิ้นไป จำเลยที่ 2ไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2539 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดสรรที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาต ทางภารจำยอมเกิดขึ้นได้เมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินและจัดสาธารณูปโภค
แม้จะไม่ปรากฏว่าบริษัทก.เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 และที่ดินโฉนดเลขที่ 31569 ส่วนที่เป็นทางพิพาทนั้นเป็นที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตก็ตาม ก็ถือได้ว่าการกระทำของบริษัท ก. ที่แบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อย 90แปลง เพื่อขายนั้น เป็นการแสดงออกโดยปริยายแล้วว่าบริษัทก. จัดให้มีสาธารณูปโภคคือทางพิพาทอันถือได้ว่าเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 30 การที่บริษัทก. จะขออนุญาตจัดสรรที่ดินหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก หากจะเป็นการดำเนินการฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวก็ไม่ทำให้การดำเนินการของบริษัทก. ไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย ดังนั้นทางพิพาทจึงเป็นภารจำยอมตามกฎหมายแก่ที่ดินที่จัดสรรและที่ดินที่โจทก์ซื้อจากบริษัทก. จำเลยซึ่งเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ต่อจากบริษัทก.ย่อมอยู่ในบังคับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 ที่จะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ โจทก์ซึ่งซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวในที่ดินจัดสรรดังกล่าว ย่อมมีสิทธิใช้ทางพิพาทได้ การที่มีการก่อสร้างโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางภารจำยอม ย่อมเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเมื่อที่ดินแปลงที่ทางภารจำยอมตั้งอยู่โอนมาเป็นของจำเลยโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากทางภารจำยอมได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3463/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ภารจำยอมในที่ดินจัดสรร: การเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างบนที่ดินสาธารณูปโภคที่จัดสรร
จ. ได้นำที่ดินมาแบ่งแยกจัดสรรขายให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยได้กันเนื้อที่ดินบางส่วนทำเป็นถนนเพื่อให้บุคคลที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรรใช้เป็นทางสัญจรจากหมู่บ้านไปสู่ถนนสาธารณะ ต่อมาที่ดินที่เป็นทางบางส่วน จ. ได้รังวัดแบ่งแยกแล้วจดทะเบียนยกให้เป็นทางสาธารณประโยชน์คงเหลือเฉพาะที่ดินที่เป็นทางพิพาทซึ่ง จ. ได้ให้โจทก์เช่าปลูกสร้างอาคารและโจทก์ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารได้ ดังนี้ แม้ที่ดินที่โจทก์จะปลูกสร้างอาคารดังกล่าว จ. จะมิได้ยกให้เป็นสาธารณะ แต่เมื่อที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่มีสภาพเป็นสาธารณูปโภค ซึ่ง จ.ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นในที่ดินที่ได้รับอนุญาตจัดสรรจึงต้องด้วยบทบัญญัติของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่286 ข้อ 30ที่บัญญัติ ให้ถือว่าตกอยู่ในภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่จัดสรรและให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไปที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไปและจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไม่ได้ ดังนั้น จ. จะนำไปให้ผู้หนึ่งผู้ใดเช่าเพื่อปลูกสร้างอาคารอันเป็นการกระทำที่เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกไม่ได้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ไม่มีอำนาจออกใบอนุญาตให้มีการสร้างอาคารในที่ดินนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างที่ออกให้แก่โจทก์ ทั้งจำเลยที่ 3 ถึงที่ 11 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วก็ย่อมมีอำนาจให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ได้เช่นกัน คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 11จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น ประเด็นแห่งคดีย่อมเกิดจากคำฟ้องและคำให้การ เมื่อจำเลยได้ให้การต่อสู้ถึงสภาพของที่ดินที่โจทก์ก่อสร้างอาคารว่าเป็นภารจำยอมที่ผู้จัดสรรที่ดินจัดให้มีขึ้น ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าที่ดินดังกล่าวตกอยู่ในภารจำยอมหรือไม่รวมอยู่ด้วย หาใช่ประเด็นมีเพียงเท่าที่จำเลยที่ 3 ถึง 11ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยเท่านั้นไม่ และข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวก็ไม่ผูกมัดให้ศาลต้องถือตามแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1520/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดสรรที่ดินเป็นภารจำยอม, การใช้ภารจำยอมเกินขอบเขต, สิทธิเจ้าของภารยทรัพย์, การรื้อถอนกำแพง
การที่จำเลยแบ่งแยกที่ดินแปลงใหญ่ออกเป็นแปลงย่อย ปลูกสร้างตึกแถวออกจำหน่ายถึง 60 แปลง และจัดให้มีการทำถนนออกสู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และถนนอโศก-ดินแดง โดยจัดสร้างขึ้นพร้อม ๆกับการสร้างตึกแถวขายเพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อตึกแถวเป็นการจัดจำหน่ายที่ดินติดต่อกันเป็นแปลงย่อยมีจำนวนตั้งแต่สิบแปลงขึ้นไปซึ่งนาง ศ. กับพวกได้ซื้อตึกแถว 1 ห้อง และได้ขายให้โจทก์ภายหลังการกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าจำเลยได้จัดให้มีสาธารณูปโภค อันถือได้ว่าเป็นการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ข้อ 30 การที่จำเลยจะขออนุญาตจัดสรรที่ดินหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ก็ไม่ทำให้การดำเนินการของจำเลยไม่เป็นการจัดสรรที่ดินตามกฎหมาย ดังนั้น ถนนคอนกรีตหน้าตึกแถวของโจทก์ซึ่งเป็นของจำเลยจึงเป็นภารจำยอมแก่ที่ดินและตึกแถวของโจทก์ จำเลยหามีสิทธิปิดกั้นไม่ การที่โจทก์รื้อกำแพงของจำเลยด้านหลังตึกแถวโจทก์ออกและยอมให้บริษัท ง. จำกัด ใช้ถนนที่เป็นภารจำยอมโดยให้รถยนต์แล่นทะลุผ่านตึกแถวชั้นล่างของโจทก์เข้าออกถนนสาธารณะ ทำให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ต้องรับภาระมากเกินควรกว่าปกติต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1388 แต่ก็ไม่เป็นเหตุที่จะให้จำเลยปิดกั้นถนนภารจำยอมดังกล่าวได้ จำเลยคงมีสิทธิห้ามบุคคลอื่นใช้หรือเรียกค่าเสียหายหากเกิดมีขึ้นเท่านั้น ดังนั้นจำเลยจึงมีสิทธิที่จะให้โจทก์ก่อสร้างกำแพงของจำเลยตามเดิม เพื่อมิให้บุคคลอื่นใช้ถนนพิพาท