พบผลลัพธ์ทั้งหมด 259 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7128/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิบังคับจำนองแม้หนี้ประธานขาดอายุความ และการคิดดอกเบี้ยตามสัญญาจำนอง
ทรัพย์จำนองถูกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีอื่นนำยึดออกขายทอดตลาดโดยติดจำนอง จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์ติดจำนองดังกล่าว ส่วนคดีที่โจทก์ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้จำนองศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดโจทก์มิได้บังคับคดีจนล่วงเลย 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์ย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่การจำนองหาระงับสิ้นไปไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 (1) (3) เพราะมิใช่กรณีหนี้ประกันระงับสิ้นไปด้วยเหตุประการอื่นใดมิใช่เหตุอายุความหรือผู้จำนองหลุดพ้น การจำนองจึงยังมีอยู่โจทก์จึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์จำนอง แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 เมื่อจำเลยซื้อทรัพย์ติดจำนอง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับจำนองแก่จำเลยจากทรัพย์นั้นได้ และตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติให้ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย (2) ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้ (3) ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนอง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในการบังคับจำนองได้ เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองมีข้อตกลงว่าผู้จำนองยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในการบังคับจำนองทรัพย์พิพาทได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญาจำนองได้ แม้จำเลยไม่ใช่ผู้กู้และมิได้เป็นคู่สัญญาจำนองกับโจทก์ก็ตาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำนองจากการขายทอดตลาด: สิทธิของเจ้าหนี้มีประกัน และขอบเขตการบังคับชำระหนี้เกินทรัพย์ประกัน
จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งโดยติดจำนองย่อมมีฐานะเป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนอง หาทำให้มีฐานะเป็นผู้จำนองไม่ จำเลยมีสิทธิไถ่ถอนจำนองโดยเสนอรับใช้เงินเป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น หากโจทก์ไม่ยอมรับก็ต้องฟ้องต่อศาลภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำเสนอ เพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดตาม ป.พ.พ. มาตรา 738 และ 739 แต่ถ้าจำเลยไม่ได้ใช้สิทธิไถ่ถอนจำนองดังกล่าว โดยโจทก์จะบังคับจำนองก็ต้องมีจดหมายบอกกล่าวแก่จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองล่วงหน้าหนึ่งเดือนก่อนแล้วจึงจะบังคับจำนองได้ตามมาตรา 735 หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ โจทก์ก็ชอบที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้และผู้จำนองตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง อันเนื่องมาจากข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่ว่า หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ผู้จำนองยอมรับผิดชดใช้หนี้จนครบถ้วน โจทก์จะอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองให้รับผิดในฐานะผู้จำนองแก่โจทก์ด้วยหาได้ไม่ แม้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองโดยขอให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ย่อมเป็นคำขอที่เกินเลยไปกว่าสิทธิที่โจทก์พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย และแม้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาไปตามคำขอของโจทก์คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันศาลในคดีล้มละลาย เนื่องจากกฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองที่จำเลยรับโอนจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 แต่โจทก์คงมีสิทธิบังคับจำนองได้เฉพาะจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองเท่านั้น หากได้เงินสุทธิน้อยกว่าที่ค้างชำระและยังขาดอยู่เท่าใด จำเลยผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองไม่จำต้องรับผิดในหนี้นั้น โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันที่เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยเกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน โจทก์จะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายไม่ได้ ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5563/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนสิทธิหนี้และการคิดดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมหลังการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2541 มาตรา 30 ตรี บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีการโอนทรัพย์สินที่ได้ขายตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 ทวิ แล้ว... (3) ผู้ซื้อทรัพย์สินมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามวิธีการและตามอัตราในสัญญาเดิม" เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ค. ตกลงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 21 ต่อปี และโจทก์ได้รับโอนสิทธิทั้งหมดตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาจำนอง ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงยอมปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งจำเลยที่ 1 ยอมรับดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ตามสัญญากู้เงินและบันทึกต่อท้ายสัญญากู้ยืมเงิน ประกอบกับตามบทบัญญัติดังกล่าวรับรองให้โจทก์มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราเดิมที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้แบบพิมพ์ในคดีล้มละลาย: การปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลและความถูกต้องของเอกสาร
ตามประกาศและข้อกำหนดคดีล้มละลาย เรื่องแบบพิมพ์ของศาลล้มละลายกลาง กำหนดแบบพิมพ์ต่างๆ เพื่อใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย สำหรับคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย (คดีสาขา) ซึ่งรวมถึงการคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในหนังสือยืนยันหนี้ต่อศาลเพื่อให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เช่นกรณีของผู้ร้อง จะต้องใช้แบบพิมพ์ ล.27 ของศาลล้มละลายกลาง หรือเอกสารที่มีรูปแบบแห่งแบบพิมพ์อย่างเดียวกัน การที่ผู้ร้องใช้แบบพิมพ์ ล.8 อันเป็นแบบพิมพ์สำหรับคำร้องทั่วไป และมีรูปแบบแตกต่างจากแบบพิมพ์ ล.27 ผิดข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2549 เมื่อศาลล้มละลายกลางตรวจพบในชั้นตรวจคำคู่ความจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้ผู้ร้องไปดำเนินการแก้ไขมาใหม่ให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดได้ ผู้ร้องทราบคำสั่งศาลแล้วไม่ดำเนินการภายในเวลาที่ศาลกำหนด ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่รับคำร้องคัดค้านของผู้ร้องจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1146/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิฟ้องคดีหลังศาลสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ แม้หนี้เกิดระหว่างฟื้นฟูกิจการ
แม้มูลแห่งหนี้ตามสัญญาจ้างแรงงานของผู้ร้องเกิดขึ้นหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนจนถึงก่อนศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและมิได้กำหนดไว้ในแผน ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขออนุญาตฟ้องลูกหนี้ต่อศาลที่มีเขตอำนาจ แต่เมื่อปรากฏต่อมาว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนและมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้พื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ย่อมมีผลให้การถูกจำกัดสิทธิในการที่ผู้ร้องจะฟ้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) สิ้นไป ตามมาตรา 90/12 วรรคแรก ตอนต้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิฟ้องลูกหนี้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลล้มละลายกลาง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 926/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข่มขืนกระทำชำเรา: พยานหลักฐานเพียงพอ, ฟ้องไม่เคลือบคลุม, ความร่วมมือในการกระทำผิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยทั้งห้ากับพวกโดยร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย กอดปล้ำชกต่อยท้องผู้เสียหาย 2 ครั้ง และช่วยกันจับแขนขาของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายไม่สามารถขัดขืนได้ และผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง แม้ไม่ได้บรรยายรายละเอียดว่า จำเลยที่ 5 กระทำการอย่างใดบ้างแต่ก็ถือว่าโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 5 ได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 5 เข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11654/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมเดียวผิดหลายบท: ฆ่าและพยายามลักทรัพย์ ศาลฎีกาลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุด
จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายและฐานพยายามลักทรัพย์ จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้ตายเพียงอย่างเดียว จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 289 (7) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 91 เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ให้ลงโทษจำเลย ป.อ. มาตรา 289 (7) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10653/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิถอนคำร้องทุกข์ของผู้เยาว์ที่มีความรู้สึกผิดชอบดีแล้ว และผลกระทบต่อการดำเนินคดีอาญา
เมื่อผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ที่มีความรู้สึกผิดชอบดีแล้วก็มีสิทธิยื่นคำร้องทุกข์หรือถอนคำร้องทุกข์เองได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้ แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10323/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
พยานหลักฐานไม่เพียงพอพิสูจน์ความผิดจำเลย แม้มีคำให้การผู้เสียหายและพยานบอกเล่า ศาลฎีกาให้ยกฟ้อง
โจทก์ขอหมายเรียกผู้เสียหายมาศาลในวันนัดสืบพยานครั้งแรก ผู้เสียหายมาศาลในวันดังกล่าวแล้ว แต่ไม่อาจสืบพยานได้เพราะโจทก์นำพยานปาก ส. เข้าเบิกความต่อศาลยังไม่แล้วเสร็จและขออนุญาตเลื่อนคดีไปสืบพยานปากผู้เสียหายในวันอื่น ศาลจึงให้ผู้เสียหายลงชื่อทราบนัดไว้ แต่หลังจากนั้นผู้เสียหายก็ไม่มาศาลอีกจนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์แถลงเพียงว่าโจทก์ได้ติดตามและสอบถามเจ้าพนักงานตำรวจทราบว่าผู้เสียหายอยู่กับมารดาซึ่งมีอาชีพรับจ้าง มีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง จึงไม่ทราบว่าผู้เสียหายอยู่ที่ใด โดยไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่า ไม่สามารถติดตามตัวผู้เสียหายมาศาลได้อย่างแน่นอน แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์ก็เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นเนื่องจากเห็นว่าโจทก์ขอเลื่อนคดีมาหลายครั้ง ไม่แน่ว่าจะสามารถติดตามผู้เสียหายมาสืบได้หรือไม่เท่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่ามีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การผู้เสียหายเสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคสี่ คำให้การของผู้เสียหายและม้วนวีดิทัศน์การถามปากคำผู้เสียหายในชั้นสอบสวนจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า แม้ตามมาตรา 226/3 มีข้อยกเว้นให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าได้ แต่ศาลต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดีหรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตามมาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง แต่พยานหลักฐานโจทก์อื่นๆ ที่จะรับฟังประกอบวีดิทัศน์การถามปากคำผู้เสียหายล้วนแต่เป็นพยานบอกเล่า ซึ่งข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่าไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความจริงว่า จำเลยเป็นคนร้ายกระทำชำเราผู้เสียหายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9246/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับฟังพยานหลักฐานทางวิดีโอ: เหตุจำเป็นและการติดตามตัวผู้เสียหาย
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย ศาลจะรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานได้ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความต่อศาล แต่ทางพิจารณาได้ความว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์สืบพยานได้ 2 ปาก และส่งวีดีโอเทป 2 ม้วน เป็นพยาน แล้วแถลงว่าพยานปากผู้เสียหายไม่สามารถส่งหมายให้ได้เพราะไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ย้ายไปเรื่อยๆ ติดต่อทางโทรศัพท์แล้วผู้เสียหายรับ พอรู้ว่าต้องมาเบิกความต่อศาลก็ปิดเครื่อง ไม่สามารถติดต่อได้อีก ขอเลื่อนคดีเพื่อตามตัวให้เบิกความอีกครั้ง ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์แถลงว่า ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่าติดต่อผู้เสียหายได้แล้ว แต่ผู้เสียหายไม่ยอมมาเบิกความที่ศาล ขอให้ศาลสั่งตามที่เห็นสมควร ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแม้ผู้เสียหายจะย้ายที่อยู่ไปเรื่อยๆ ไม่สามารถส่งหมายให้ได้ก็ตาม ก็ถือว่าโจทก์ยังติดต่อผู้เสียหายทางหมายเลขโทรศัพท์ที่เคยให้ไว้ได้ และแม้ผู้เสียหายจะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมมาเบิกความที่ศาลโดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นอย่างไร ก็ถือว่ายังอยู่ในวิสัยที่โจทก์หรือพนักงานสอบสวนจะติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลได้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่ศาลจะรับฟังสื่อภาพและเสียงของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนเสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลได้