คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อำพันธ์ สมบัติสถาพรกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 107 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2081/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้บุริมสิทธิค่าใช้จ่ายส่วนกลางอาคารชุด: การบังคับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้จำนอง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านชำระหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเพื่อการออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง จากเงินที่ผู้คัดค้านได้รับจากการขายทอดตลาดห้องชุดพิพาททั้งสามห้องของจำเลย แม้หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางค้างชำระเป็นเงินค้างจ่ายซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) ก็ตาม แต่หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ที่ค้างชำระเกินเวลา 5 ปี ก็ยังไม่ระงับ เพราะสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความนั้น มีผลให้ลูกหนี้มีสิทธิจะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้เท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 ประกอบกับในการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ผู้ร้องจะต้องได้รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางครบถ้วนแล้วตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 29 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองประชาชนที่ซื้อห้องชุดเพื่อการอยู่อาศัย บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 จัตวา วรรคสอง (เดิม) ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่อาจอ้างเหตุขาดอายุความเพื่อปฏิเสธการชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มส่วนที่ย้อนหลังเกิน 5 ปี ได้
ป.วิ.พ. มาตรา 309 จัตวา วรรคสอง (เดิม) บัญญัติให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเพื่อชำระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้จำนอง ผู้ร้องแจ้งหนี้บุริมสิทธิอันเกิดจากค่าใช้จ่ายในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 41 วรรคท้าย ย่อมทำให้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิอยู่ในลำดับก่อนเจ้าหนี้จำนองด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 275/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยและขยายเวลาการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายสำหรับเจ้าหนี้ต่างประเทศ
ผู้ร้องเป็นชาวต่างประเทศมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักร ไม่มีตัวแทนในประเทศไทย ช่วงเวลาที่กำหนดให้เจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำขอรับชำระหนี้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย นับว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องไม่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้ ทั้งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มคลี่คลาย ผู้ร้องก็ได้รีบดำเนินการมอบอำนาจให้ อ. ยื่นคำขอรับชำระหนี้ทันที กรณีจึงมีเหตุอันสมควรที่จะให้ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5101/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลล้มละลายที่ไม่รับคำขอรับชำระหนี้หลังพ้นกำหนด ไม่เข้าข่ายคำสั่งที่อุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย
คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 25 (3) มีความหมายว่า คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้ มิได้หมายความรวมถึงคำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ยกคำร้องขออนุญาตยื่นคำขอรับชำระหนี้เนื่องจากพ้นกำหนดเวลาโดยที่เจ้าหนี้ยังมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แต่อย่างใด คำสั่งดังกล่าวคงวินิจฉัยเพียงว่า ตามคำร้องของเจ้าหนี้นั้น กรณีเป็นเหตุสุดวิสัยและมีเหตุผลอันสมควรที่จะทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้เข้ามาในคดีล้มละลายหรือไม่เท่านั้น แต่หาได้วินิจฉัยถึงสิทธิในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้หรือไม่เพียงใด เมื่อคดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91/1 ศาลล้มละลายกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง คำสั่งของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 25 (3) และมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า "คำสั่งยกคำร้อง" ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 25 (1) เพราะคำสั่งยกคำร้องตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงคำสั่งยกคำร้องขอให้จำเลยล้มละลาย อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ผู้ร้องอุทธรณ์โดยมิได้ยื่นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4050/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ตามคำพิพากษาและผลของการฟ้องล้มละลาย: การสะดุดหยุดอายุความ
แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าเจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องลูกหนี้ทั้งสามให้ล้มละลาย แต่หากศาลล้มละลายกลางพิจารณาสำนวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกอบสำนวนของศาลล้มละลายกลางตามกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย มาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ก็จะทราบว่าเจ้าหนี้ได้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องลูกหนี้ทั้งสามต่อศาลล้มละลายกลาง มูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมีอายุความ 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 เมื่อมูลหนี้ตามคำพิพากษาคดีถึงที่สุดวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 เจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องเป็นคดีต่อศาลล้มละลายกลางวันที่ 18 เมษายน 2551 ภายในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุด ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) มูลหนี้ตามคำพิพากษาจึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามมูลหนี้คำพิพากษาดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3884/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมรวบรวมทรัพย์สินในคดีล้มละลาย: การชำระหนี้แทนลูกหนี้ไม่ถือเป็นการรวบรวมทรัพย์สิน
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 (4) บัญญัติให้คิดค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินในอัตราร้อยละสามของเงินสุทธิที่รวบรวมได้ สำหรับทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้คิดในอัตราร้อยละสองของราคาทรัพย์สินนั้น แต่ถ้ามีการประนอมหนี้ให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละสามของจำนวนเงินที่ประนอมหนี้ ทั้งนี้แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ซึ่งการคิดค่าธรรมเนียมตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องคิดจากการที่ผู้คัดค้านที่ 1 รวบรวมทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 มาตรา 109 มาตรา 117 ถึงมาตรา 123 เพื่อนำมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลาย คดีนี้ ก่อนผู้ร้องเสนอเข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้โดยยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2214 และ 3656 รวม 2 แปลง ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 ไว้เท่านั้น จำเลยที่ 2 มิได้มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องเข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์และผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 138,614,320.12 บาท จึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายในคดีล้มละลายตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละสามจากยอดหนี้จำนวน 138,614,320.12 บาท ที่ผู้ร้องเข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์และผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3416/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล้มละลาย: การบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม และการตีความสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อพิสูจน์หนี้สิน
การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 คือต้องถือหลักตามความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายจะถือเอาเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวไม่ได้ นอกจากนี้ การตีความสัญญาเพื่อให้เห็นถึงการแสดงเจตนาของคู่สัญญานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรืออักษรตามมาตรา 171 สัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 2 กำหนดให้บุคคลฝ่ายโจทก์ผู้มีสิทธิได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทจากฝ่ายจำเลยไล่เรียงกันไป ก. (โจทก์ในคดีแพ่ง) ท. และโจทก์ ขึ้นอยู่กับการมีชีวิตอยู่ของบุคคลนั้น ๆ ในขณะที่ฝ่ายจำเลยโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกพิพาทให้ นอกจากนี้ ข้อ 3 ก็กำหนดให้ฝ่ายจำเลยแบ่งแยกที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้แก่ฝ่ายโจทก์ไล่เรียงลำดับกันไปโดยมีเงื่อนไขเดียวกันกับข้อ 2 แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายว่าบุคคลฝ่ายโจทก์ที่จะได้รับชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 เป็นลำดับไป การตีความข้อความตอนท้ายของสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 ที่ว่า "…หากว่าจำเลยที่ 2 (หมายถึงจำเลย) ไม่ไปดำเนินการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนจากบุคคลภายนอกและโอนให้แก่โจทก์ภายในกำหนดจำเลยที่ 2 (หมายถึงจำเลย) ยินยอมชำระเงินคืนให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน)" คำว่า "โจทก์" ดังกล่าว จึงต้องแปลความหมายว่าฝ่ายโจทก์ ซึ่งรวมถึงโจทก์ในคดีนี้ด้วยเนื่องจาก ก. และ ท. ได้ถึงแก่ความตายแล้วก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินคืนแก่โจทก์ 1,000,000 บาท เมื่อจำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (2)
เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์ได้ร้องขอต่อศาลให้บังคับคดีตามคำพิพากษาโดยศาลได้ออกหมายบังคับคดี และโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยพบว่าจำเลยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 มีราคาประเมินเพียง 58,800 บาท ไม่เพียงพอที่จะยึดมาชำระหนี้ได้กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว จำเลยให้การและส่งบันทึกถ้อยคำว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6329 มีราคาซื้อขายในท้องตลาดไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท แต่ไม่ได้ส่งหลักฐานใด ๆ จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว จำเลยไม่สามารถนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ จึงฟังว่าจำเลยมีหนี้สินพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (1)
แม้จำเลยจะรับราชการตำรวจและเคยเสนอจะโอนที่ดินตีใช้หนี้โจทก์ก็ตาม แต่ที่ดินที่จำเลยเสนอตีโอนใช้หนี้นั้นมีราคาประเมินเพียง 58,800 บาท ประกอบกับจำเลยไม่เคยชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์เลย กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3007/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องในคดีล้มละลาย: สิทธิในการรับชำระหนี้เฉพาะส่วนของเจ้าหนี้เดิม
จำเลยทั้งสองต่างเป็นลูกหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากเจ้าหนี้รายที่ 2 เฉพาะในส่วนจำเลยที่ 1 เท่านั้น จำเลยที่ 2 จึงยังเป็นลูกหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 อยู่ เจ้าหนี้รายที่ 2 ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน แต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 ตามความเห็นของผู้คัดค้าน คำสั่งดังกล่าว ถึงที่สุดแล้ว เจ้าหนี้รายที่ 2 จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแต่อย่างใด แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิในทรัพย์หลักประกัน คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 41348 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ร่วมกับเจ้าหนี้รายที่ 2 แต่ก็เป็นสิทธิในหลักประกันเฉพาะส่วนซึ่งประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น หากผู้ร้องเห็นว่าตนมีสิทธิเช่นไรผู้ร้องย่อมใช้สิทธิของตนได้ ผู้ร้องไม่อาจมาขอสวมสิทธิแทนเจ้าหนี้รายที่ 2 ซึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2958/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เป็นโมฆะ ผู้ร้องไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ พ. เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่กระทำไปโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 และเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว คำพิพากษาก็ไม่มีผลผูกพัน เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยกับ พ. เป็นโมฆะ ถือเสมือนไม่มีการทำนิติกรรม อันเป็นการเสียเปล่าไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ย่อมถือว่าคู่กรณียังคงอยู่ในฐานะเดิมเหมือนมิได้กระทำนิติกรรมต่อกัน และไม่มีผลให้ พ. มีสิทธิในที่ดินทั้ง 9 แปลงของจำเลย โดยไม่จำต้องให้ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่าสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะอีก ส่วนการที่ผู้ร้องในฐานะผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมของสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องก็ได้ใช้สิทธิดังกล่าวแล้ว เมื่อครั้งที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ผู้ร้องงดการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลย และผู้ร้องมีคำสั่งว่าไม่มีเหตุให้งดการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของจำเลยเนื่องจากสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างจำเลยกับ พ. เป็นโมฆะ เมื่อผู้ร้องได้ยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้าง ทั้งไม่มีการเพิกถอนรายการจดทะเบียน ผู้ร้องจึงไม่มีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลและไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2867/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แก้ไขคำขอรับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ไม่มีประกันเป็นเจ้าหนี้มีประกันได้ หากมีเหตุผลอันสมควรและไม่ขัดต่อกฎหมาย
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งปรากฏในคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลแพ่งกรุงเทพใต้แล้ว การที่ผู้ร้องมิได้ระบุโฉนดที่ดินเลขที่ 18874 เป็นหลักฐานประกอบไว้ในบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินและทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ก็จะฟังว่า ผู้ร้องไม่ประสงค์ที่จะขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันเสียทีเดียวหาได้ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องขอรับชำระหนี้โดยไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอและ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 97 มิได้กำหนดระยะเวลาในการขอแก้ไขข้อความในรายการคำขอรับชำระหนี้ไว้ ผู้ร้องจึงชอบที่จะขออนุญาตแก้ไขข้อความในรายการแห่งคำขอรับชำระหนี้จากการขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกันเป็นการขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2475-2476/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการเพิกถอนการโอนหุ้นในคดีล้มละลาย ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
หากการโอนหุ้นอันเป็นทรัพย์สินของผู้ร้องที่ 1 ที่มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 109 (1) ฝ่าฝืนข้อบังคับของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 และผู้คัดค้านที่ 1 แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนหุ้นเองได้นั้น ต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ไว้ การเพิกถอนการโอนหุ้นจึงต้องเป็นไปโดยผลของคำสั่งหรือคําพิพากษาของศาล ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นระหว่างผู้ร้องที่ 1 กับผู้ร้องที่ 2 และระหว่างผู้ร้องที่ 2 กับผู้ร้องที่ 3 และที่ 4 ได้ ผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องยื่นคําร้องในคดีล้มละลายเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่
การโอนหุ้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นคนละกรณีกับการจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ แม้การโอนหุ้นไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคหนึ่ง แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายห้ามมิให้ครอบครองปรปักษ์ในหุ้นดังกล่าว
of 11