คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ทองธาร เหลืองเรืองรอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 64 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1607/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานพาและพรากเด็กเพื่อการอนาจาร การกระทำอนาจารเด็ก และการพิพากษาคดีอาญา
คำว่า "พา" หมายความว่า นำไปหรือพาไป ส่วนคำว่า "พราก" หมายความว่า การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอม อันเป็นการมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดด้วยการพาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่ากระทำด้วยวิธีการใดและไม่คำนึงระยะทางใกล้ไกล ความผิดฐานพาและพรากไปเพื่อการอนาจาร สาระสำคัญอยู่ที่ว่าการพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร
จำเลยจอดรถอยู่ใต้ต้นมะม่วงริมถนนหน้าบ้าน โจทก์ร่วมที่ 3 วิ่งเล่นอยู่บริเวณนั้น จำเลยชวนโจทก์ร่วมที่ 3 เข้าไปดูการ์ตูนในรถด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลย จากนั้นอุ้มโจทก์ร่วมที่ 3 เข้าไปในรถให้โจทก์ร่วมที่ 3 นั่งบนตัก และกระทำอนาจารโดยใช้มือล้วงอวัยวะเพศของโจทก์ร่วมที่ 3 โดยปิดประตูแต่เปิดกระจกฝั่งคนขับไว้เพียง 1 ใน 4 ส่วน ก็เพื่อหาโอกาสล่วงละเมิดทางเพศต่อโจทก์ร่วมที่ 3 โดยไม่ให้มีคนพบเห็น แม้จำเลยไม่ได้พาไปจากบ้านที่เกิดเหตุ โดยรถยังจอดอยู่ห่างจากวงสุราประมาณ 15 เมตร และมิได้ติดเครื่องยนต์ในลักษณะที่จะพาตัวโจทก์ร่วมที่ 3 ไปก็ตาม แต่การที่จำเลยชวนโจทก์ร่วมที่ 3 ไปกระทำอนาจารราว 40 นาที จนต้องตามหาตัว เป็นการพาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปแล้ว และเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดาให้ถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย โดยปราศจากเหตุอันสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1068/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย, มีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต, และการปรับบทกฎหมายอาวุธปืนที่ถูกต้อง
ในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7 นั้น โจทก์บรรยายฟ้องระบุว่า อาวุธปืนซึ่งจำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นอาวุธปืนพกสั้น ไม่ทราบชนิดและขนาด จำนวน 1 กระบอก จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชัดเจนว่าอาวุธปืนซึ่งจำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองดังกล่าว เป็นอาวุธปืนที่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้หรือไม่ กรณีต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ว่า อาวุธปืนซึ่งจำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสาม ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้มาตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาการปรับบทกฎหมายดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานดังกล่าวจะยุติเพราะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่า ศาลฎีกาจึงชอบที่จะหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นเพื่อแก้ไขโดยปรับบทลงโทษในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การในชั้นฎีกาและการสละปัญหาข้อกฎหมาย ผลกระทบต่อการพิจารณาคดีเช็ค
จำเลยยื่นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเสียเองเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น และรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา และถือว่าจำเลยสละปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 444/2563 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 444/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดสิทธิฎีกาในคดีอาญาเมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยรวมทุกกระทงแล้วจำคุก 28 ปี 56 เดือน ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) แต่เมื่อโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามคู่ความมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5922/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบปากคำผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาในคดีอาญา และการสนับสนุนการข่มขืน
ในการสอบปากคำผู้เสียหายซึ่งมีความบกพร่องทางสติปัญญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้บัญญัติการสอบไว้เฉพาะเหมือนดังเช่นการสอบปากคำผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบแปดปีในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศตามมาตรา 133 ทวิ ว่า จะต้องมีสหวิชาชีพร่วมอยู่ด้วยในการสอบปากคำเด็กนั้น ด้วยเหตุนี้พนักงานสอบสวนจึงชอบที่จะใช้วิธีการสอบปากคำผู้เสียหายคดีนี้ซึ่งมีความบกพร่องทางสติปัญญาเช่นเดียวกับการสอบปากคำบุคคลปกติ เมื่อไม่ปรากฏว่าการสอบปากคำผู้เสียหายของพนักงานสอบสวนได้ให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับหรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใดๆ เพื่อจูงใจให้ผู้เสียหายให้การ ก็ถือเป็นการสอบสวนโดยชอบเพื่อนำไปสู่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 2 ได้แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงตามคำให้การของผู้เสียหายซึ่งไม่มีแพทย์ด้านจิตเวชศาสตร์และนักจิตวิทยาคลินิกและชุมชนเข้าร่วมฟังการสอบสวนจะมีความน่าเชื่อถือและรับฟังได้มากน้อยเพียงใด ถือเป็นดุลพินิจของศาลในขั้นตอนการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของโรงเรียนและบุคลากรต่อความเสียหายจากการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำ และการพิสูจน์ภาระหน้าที่ตามกฎหมาย
แม้จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ทำนองว่า การที่โจทก์ที่ 3 ไม่บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 6 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างจึงขาดสาระสำคัญและศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ ทำให้การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพราะผลของการกระทำของจำเลยที่ 6 ลูกจ้างเป็นการนอกประเด็นตามคำฟ้องและประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ก็ตาม แต่ในชั้นฎีกาจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุที่ฟ้องของโจทก์ที่ 3 ไม่ได้ตั้งข้อหาเพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 6 กระทำในฐานะลูกจ้าง เป็นการบรรยายฟ้องไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์มาตรา 172 แห่ง ป.วิ.พ. เป็นฟ้องที่ไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ประกอบกับในคดีผู้บริโภคไม่มีเรื่องคำฟ้องไม่ชัดแจ้งหรือฟ้องเคลือบคลุม เนื่องจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 20 ให้ศาลมีอำนาจแก้ไขได้ หากศาลเห็นว่าคำฟ้องนั้นไม่ถูกต้องหรือขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความจะมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 51 ปัญหานี้จำเลยที่ 1 จะได้รับอนุญาตให้ฎีกา แต่เมื่อเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาก็ไม่อาจวินิจฉัยให้ได้
แม้ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์ที่ 1 ว่า นับแต่เกิดเหตุ โจทก์ที่ 3 ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง พูดไม่ได้ ไม่สามารถทำตามคำสั่ง ไม่สามารถกินอาหารหรือลุกไปขับถ่ายด้วยตนเอง ปัจจุบันโจทก์ที่ 3 อยู่ในการดูแลรักษาของสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งศาลให้โจทก์ที่ 3 เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถก็ต้องถือว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุคคลที่มีความสามารถตามกฎหมาย ประกอบกับในการดำเนินคดีนี้ของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ มีโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองดำเนินคดีแทนมาตั้งแต่ต้น และตามคำฟ้อง โจทก์ที่ 2 แสดงชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 ฟ้องจำเลยทั้งหกในสองฐานะคือในฐานะส่วนตัวกับในฐานะที่เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 3 ผู้เยาว์ จึงเป็นคำฟ้องของโจทก์ที่ 3 โดยโจทก์ที่ 2 ผู้เป็นมารดาฟ้องแทนอีกด้วย กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ที่ 3 อีก
เหตุความเสียหายแก่ร่างกายและจิตใจของโจทก์ที่ 3 ในคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ที่ 3 เรียนวิชาว่ายน้ำซึ่งเป็นวิชาบังคับที่อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เกิดเหตุและจำเลยที่ 6 เป็นครูผู้สอน จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการ และจำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการของโรงเรียนจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการให้บริการหรือมาตรฐานในการเรียนการสอนที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
จำเลยทั้งหกไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้มีการให้บริการหรือดำเนินการตามมาตรฐานในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำแก่เด็กเล็กตามภาระการพิสูจน์ และเมื่อตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 กำหนดให้จำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้แทนของนิติบุคคลโรงเรียนจำเลยที่ 1 มีอำนาจในการแต่งตั้งผู้อำนวยการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการโรงเรียน แต่งตั้งผู้จัดการเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานด้านงบประมาณและการบริหารงานทั่วไป ตามมาตรา 37 และ 40 อันเป็นสถานะเจ้าของโรงเรียน จำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านงานงบประมาณและการบริหารงานทั่วไปของโรงเรียนตามมาตรา 40 (1) และ (2) จำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านวิชาการของโรงเรียน แต่งตั้งและถอดถอน ครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ควบคุมปกครองครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนของโรงเรียน ตามมาตรา 39 (1) (2) และ (3) ทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ยังมีฐานะเป็นคณะกรรมการบริหารโรงเรียนโดยตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่ออกระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ของโรงเรียน ให้คำแนะนำการบริหารและการจัดการโรงเรียนด้านบุคลากร แผนงาน งบประมาณ วิชาการ กิจกรรมนักเรียน อาคารสถานที่ กำกับดูแลให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในโรงเรียน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการ ตามมาตรา 30 และ 31 (1) (2) (3) (4) และ (5) อันเป็นหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารกิจการโรงเรียนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยของนักเรียนตามนโยบายการบริหารและเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมาย ส่วนการบริหารงานโรงเรียนจำเลยที่ 1 ในความเป็นจริงจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 5 จะมีการมอบหมายให้บุคคลอื่นทำแทนหรือมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ก็เป็นเรื่องการบริหารภายในขององค์กรจำเลยที่ 1 เอง ไม่อาจลบล้างอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายได้ ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 แต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนตามมาตรา 41 เป็นเพราะจำเลยที่ 2 ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเหตุใด จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงยังคงมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 6 การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ปล่อยปละละเลยให้การเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำเด็กเล็กไม่เป็นไปตามคำสั่งและนโยบายโดยในชั่วโมงเรียนมีจำนวนครูผู้สอนไม่ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 6 ทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 การไม่กำกับดูแลให้มีพนักงานอยู่ประจำห้องที่ควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณสระว่ายน้ำ รวมถึงการคัดเลือกบุคลากรที่มีประสบการณ์ในการทำงานไม่เหมาะสมกับการดูแลเด็กเล็กในการเรียนการสอนวิชาว่ายน้ำ ซึ่งโดยสภาพย่อมคาดเห็นได้ว่าอาจเกิดภยันตรายได้ตลอดเวลา การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในกรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่ามีส่วนประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 3 โดยตรง เป็นการละเมิดต่อโจทก์ที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แล้ว สำหรับจำเลยที่ 3 ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 40 นั้น ย่อมถือเสมือนว่าเป็นผู้แทนนิติบุคคล ตามมาตรา 24 และมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 3 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำด้วยตนเองและศาลได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ที่ 3 แล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 3 นำสืบว่า ไม่มีหน้าที่ในการบริหารกิจการจำเลยที่ 1 โดยมีหน้าที่เพียงแต่งตั้งหรือถอดถอนบุคลากรของจำเลยที่ 1 ตามที่คณะกรรมการบริหารจำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ซึ่งโจทก์ทั้งสามไม่อาจหักล้างให้ฟังเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดเป็นส่วนตัวกับโจทก์ที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 3
ขณะเกิดเหตุละเมิดโจทก์ที่ 3 ยังเป็นเด็กเล็กไม่สามารถทำงานได้ตามกฎหมายแรงงาน และก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้มอบหน้าที่ให้โจทก์ที่ 3 ช่วยทำการงานหรือดำเนินกิจการในครัวเรือน โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องทำงานให้เป็นคุณแก่ครัวเรือน กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 445 และมาตรา 1567 (3) ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะมีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4424/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทค่าใช้สนามบินและค่าที่จอดเครื่องบิน การสิ้นสุดการยกเว้นค่าธรรมเนียมตามประกาศกระทรวงฯ เมื่อกฎกระทรวงใหม่มีผลบังคับใช้
จำเลยได้รับอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมให้ประกอบกิจการค้าการเดินอากาศ และได้ทำสัญญากับโจทก์มีข้อตกลงกันให้จำเลยใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงบริการที่เก็บอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานกรุงเทพ และท่าอากาศยานเชียงใหม่ของโจทก์ และจำเลยตกลงชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ และค่าภาระต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของโจทก์ว่าด้วยอัตราภาระการใช้ ท่าอากาศยาน ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในกิจการของโจทก์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน หรือที่จะใช้ใหม่ในอนาคตแล้วแต่กรณี ข้อตกลงดังกล่าวมิได้เป็นกรณีที่โจทก์มีหน้าที่ต้องรับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่จำเลย แล้วเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ซึ่งจะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี แต่เป็นเรื่องที่โจทก์มีหน้าที่เพียงให้บริการการใช้ทรัพย์สิน บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่จำเลยเท่านั้น อันมีลักษณะเป็นสัญญาการให้บริการตามข้อตกลงซึ่งเป็นเรื่องที่มิได้มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ประกาศกระทรวงคมนาคมที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงฉบับที่ 30 (พ.ศ.2528) เป็นกฎหมายลำดับรองหรือเป็นส่วนของรายละเอียดของกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายที่มีลำดับสูงหรือกฎหมายแม่บทของประกาศกระทรวงนั้น เมื่อกฎกระทรวงดังกล่าวถูกยกเลิก ประกาศกระทรวงนั้นย่อมต้องถูกยกเลิกตามไปด้วย เว้นแต่จะมีบทเฉพาะกาลกำหนดให้ประกาศหรือกฎหมายลำดับรองให้ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษทางอาญาซ้ำซ้อน: ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เรื่องการเพิ่มโทษและแก้ไขโทษฐานพยายามฆ่า
คดีนี้แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่ศาลอุทธรณ์ก็ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าอันเป็นความผิดต่อชีวิต ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 มิได้ลงโทษและกำหนดโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด เช่นนี้จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 93 ได้ แต่เมื่อภายในห้าปีนับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้ จึงต้องเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 และถึงแม้คดีนี้โจทก์จะขอเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 93 ซึ่งเป็นบทหนักมา ศาลก็มีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 ซึ่งเบากว่าได้ ไม่เกินคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3042/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติ/ละเว้นหน้าที่โดยมิชอบ และการนับโทษต่อจากคดีอื่น
แม้ขณะศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นมิได้สอบจำเลยทั้งสองว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อหรือไม่ก็ตาม แต่หากปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจริง ก็ชอบที่จะนับโทษต่อตามที่โจทก์ขอได้ และเมื่อคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อคือคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1545/2555 ของศาลชั้นต้นนั้น สำนวนคดีดังกล่าวจำเลยทั้งสองยื่นฎีกาเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.12/2561 ของศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้ตรวจดูแล้วพบว่าจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั่นเอง จึงนับโทษต่อให้ตามที่โจทก์ร้องขอ
of 7