คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จราจรทางบก ม. 157 ทวิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7064/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อหาจราจร เนื่องจากศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ยกฟ้องแล้ว การฎีกาซ้ำจึงขัดต่อกฎหมาย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,157 ทวิ วรรคหนึ่งและให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย ซึ่งความผิดข้อหาดังกล่าว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าวอีกไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ต้องห้าม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6413/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เปลี่ยนแปลงสถานะยาจากวัตถุออกฤทธิ์เป็นยาเสพติดให้โทษต่อความผิดตามกฎหมายจราจร
ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "วัตถุออกฤทธิ์ หมายความว่าวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา" ฉะนั้นวัตถุสิ่งใดหรือวัตถุออกฤทธิ์ใดจะเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ต้องเป็นสิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเป็นข้อสำคัญ ดังนี้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 97(พ.ศ. 2539)ให้ยกเลิกประกาศฉบับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตัวยาบางประเภทโดยเฉพาะเมทแอมเฟตามีนและแอมเฟตามีนเสียแล้วและตามบัญชีท้ายประกาศก็มิได้ระบุว่ายาทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์ แต่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) และบัญชีท้ายประกาศ ข้อกำหนดดังกล่าวย่อมมีผลไปถึงกฎหมายฉบับอื่นที่ได้ระบุไว้เป็นการทั่ว ๆ ไปของคำว่า วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไปด้วยในตัวการที่จำเลยขับรถยนต์ในขณะเสพเมทแอมเฟตามีน จึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,157 ทวิ วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงประเภทของวัตถุจากวัตถุออกฤทธิ์เป็นยาเสพติดกระทบต่อความผิดตามกฎหมายจราจร และการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่
การที่ศาลมีคำสั่งพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยเกิดขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยกระทำความผิดต่อ พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพหรือรับเข้าร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอย่างอื่นทีอธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งนอกจากต้องถูกลงโทษตามมาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว ยังมีบทบัญญัติในวรรคนี้เองบัญญัติให้ศาลสั่งพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่า6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีการยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135(พ.ศ.2539) เรื่องระบุชื่อและประสาทของยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศ ลำดับที่ 20 ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 การที่พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่งห้ามผู้ขับขี่เสพหรือรับเข้าร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ เฉพาะวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีน หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอย่างอื่นที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น เมื่อต่อมาภายหลังเมทแอมเฟตามีนเปลี่ยนจากวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 มาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ ซึ่งมีผลนับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับคือวันที่ 16 ตุลาคม 2539ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง อีกต่อไป ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ฎีกาขึ้นมาแต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185,195 วรรคสอง,215 และ 225 และมีผลให้การเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 57 ต้องรับโทษตามมาตรา 91อันเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1วางโทษจำคุก 1 ปีลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ อันเป็นกฎหมายขณะกระทำความผิดซึ่งมีโทษเบากว่าเป็นคุณแก่จำเลยจึงชอบแล้วเมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่งศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท-เสพ-ขับรถ-เมทแอมเฟตามีน-พักใช้ใบอนุญาต-ความสงบเรียบร้อย
แม้ความผิดฐานเสพวัตถุออกฤทธิ์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายและ ฐานเป็นผู้ขับขี่เสพวัตถุออกฤทธิ์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นการกระทำความผิดต่างกัน แต่ความมุ่งหมายในการกระทำเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อจำเลยได้เสพวัตถุออกฤทธิ์และปฏิบัติหน้าที่ขับรถยนต์ในเวลาเดียวกันจึงเห็นได้ชัดแจ้งว่าลักษณะและสภาพความผิดการกระทำของจำเลยไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จำเลยขับรถยนต์บรรทุกขณะเสพวัตถุออกฤทธิ์กลุ่มเมทแอมเฟตามีน ซึ่งอาจก่อให้เกิดภยันตรายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่นได้ พฤติการณ์ของจำเลยนับว่าร้ายแรง การไม่รอการลงโทษจำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518ไม่มีบทบัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน จึงไม่ถูกต้อง และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6142/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เปลี่ยนแปลงบทกฎหมายที่ใช้ลงโทษ: จากวัตถุออกฤทธิ์เป็นยาเสพติดให้โทษ และอำนาจศาลในการยกฟ้อง
ขณะจำเลยกระทำความผิด การเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 62 ตรี ต้องรับโทษตามมาตรา 106 ตรี ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97(พ.ศ. 2539)ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ระบุชื่อและจัดแบ่งประเภทวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ เดิมทุกฉบับและให้วัตถุออกฤทธิ์ที่ระบุชื่อในบัญชีท้ายประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ตามความในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวมิได้ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์อีกต่อไป ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539) เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศลำดับที่ 20 ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ เท่านั้น จึงมีผลให้การเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 57ต้องรับโทษตามมาตรา 91 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาทไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ อีกต่อไป อันเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 วรรคหนึ่ง เมื่อระวางโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ มาตรา 106 ตรี และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 91 ต่างเป็นคุณต่อผู้กระทำความผิดคือถ้าดูในโทษขั้นสูงแล้วพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ มาตรา 106 ตรีเป็นคุณกว่า เพราะจำคุกอย่างสูงเพียงห้าปี แต่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 91 ลงโทษอย่างสูงได้ถึงสิบปีแต่ถ้าดูโทษขั้นต่ำแล้ว พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯมาตรา 91 เป็นคุณกว่าเพราะจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปแต่พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯมาตรา 106 ตรี จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ฉะนั้นถ้าศาลลงโทษจำคุกในอัตราขั้นสูงต้องใช้พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ เพราะเป็นคุณแก่จำเลยแต่ถ้าจะจำคุกจำเลยในอัตราขั้นต่ำต้องใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ เพราะเป็นคุณแก่จำเลย คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วางโทษจำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน การวางโทษอยู่ในระดับที่ใช้กฎหมายขณะกระทำความผิด คือ พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ ก็ได้ หรือใช้กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด คือ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯก็ได้ เช่นนี้ควรใช้กฎหมายขณะกระทำความผิดที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ จึงชอบแล้ว ข้อหาความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพวัตถุออกฤทธิ์ ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,157 ทวิ วรรคหนึ่งนั้น เมื่อภายหลังการกระทำความผิดเมทแอมเฟตามีนไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทแต่ได้เปลี่ยนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135(พ.ศ. 2539)และ พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ไม่มีบทบัญญัติลงโทษผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษดังเช่น พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แล้ว จำเลยจึงไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ปัญหานี้แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมาศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185,215 และ 225 การเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์ในทางสาธารณะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุเป็นผลให้บุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บล้มตายซึ่งเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม นับได้ว่าเป็นภยันตรายที่ร้ายแรงปรากฏให้เห็นเป็นประจำในสังคมปัจจุบัน การลงโทษสถานหนักโดยให้จำคุกเป็นมาตรการหนึ่งในการป้องกันและปรามปรามหยุดยั้งมิให้มีการกระทำความผิดเช่นนี้อีก จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย